9 ต.ค. 2023 เวลา 10:04 • ประวัติศาสตร์

งานศิลปะหรือแฟนตาซีบนซากศพ? หุ่นขี้ผึ้งกายวิภาคกับศิลปะของการแพทย์ในศตวรรษที่ 18

สุภาพสตรีผมสีทองสยายนอนบทเตียงตั่งแบบโบราณ เสื้อผ้าของเธอเล่าก็สีทองสดสวย ปักดิ้นประดับประดาตามแบบฉบับของสไตล์แฟชั่นโรโกโก ผิวพรรณที่เปล่งปลั่งของเธอดูสมจริงเหมือนประหนึ่งคนนอนหลับ แขนขวาของเธอยกขึ้นพาดก่ายเหนือศีรษะ เป็นทรวดทรงที่ดูมีจริตงอนงามน่าหลงใหล และเคยกระตุ้นแฟนตาซีของผู้ชายในศตวรรษที่ 18 มาเป็นเวลานาน เธอคนนี้ที่นอนทอดกายอยู่ในพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งมาดามทุสโซ กรุงลอนดอนนับว่าเคยเป็นผลงานประติมากรรมชิ้นเอกแห่งยุคโรโกโกที่เกิดขึ้นจากฝีมือการปั้นของชายที่มาดามทุสโซเรียกว่า “คุณลุงฟิลิปป์”
📌 “ฟิลิปป์ เคอร์เตียส” ประติมากรหุ่นขี้ผึ้งแห่งยุคสมัย
จริง ๆ แล้วฟิลิปป์ เคอร์เตียส (Philippe Curtius) ไม่ได้เป็นศิลปินมาตั้งแต่แรก เขาเป็นเพียงหมอจากสวิตเซอร์แลนด์ผู้มีความสามารถในการปั้นหุ่นเพื่อใช้ในการศึกษากายวิภาคเท่านั้น
ทว่าฝีมือของเขาก็ได้นำพาให้เขามายังปารีสและกลายเป็นประติมากรหุ่นขี้ผึ้งคนสำคัญไป โดยหนึ่งในงานชิ้นเอกของเขาก็คือ “เจ้าหญิงนิทรา” ซึ่งถอดแบบหน้าตามาจากชู้รักคนสุดท้ายของหลุยส์ที่ 15 อย่างมาดามดูบารี่
©Sleeping Beauty, Philippe Curtius, The MET, accessed from https://www.metmuseum.org/art/collection/search/736081.
ในช่วงเวลาที่เขายังอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์นั้น เขาก็มีแม่บ้านประจำ ซึ่งหอบเอาลูกน้อยของเธอมาอาศัยอยู่ด้วย เด็กน้อยคนนั้นชื่อมารีย์ ผู้ซึ่งจะถูกเรียกว่ามาดามทุสโซในอนาคต เคอร์เตียสเอ็นดูเด็กหญิงมารีย์เสมือนลูกแท้ ๆ ของตนโดยเขาได้ถ่ายทอดวิชาการปั้นหุ่นขี้ผึ้งและเป็นแรงบันดาลหลาย ๆ อย่างให้มาดามทุสโซกลายเป็นนักปั้นที่มีชื่อเสียงที่สุดได้
📌 “กายวิภาควีนัส”: อุปกรณ์การเรียนหรือของเล่นของพวกคลั่งศพ?
ผลงานเจ้าหญิงนิทราของเคอร์เตียสนับว่ามีรูปลักษณ์ใกล้เคียงกับสิ่งที่เรียกว่า “กายวิภาควีนัส” มาก ๆ แต่ด้วยอายุของเธอที่สร้างก่อนนานมาก จึงอาจจะเป็นไปได้ว่ากายวิภาควีนัสได้แรงบันดาลใจมาจากเจ้าหญิงนิทรา
กายวิภาควีนัสเป็นเสมือนกับอุปกรณ์หรือเครื่องมือการแพทย์อย่างหนึ่งที่ใช้ในการศึกษากายวิภาคศาสตร์ โดยเป็นหุ่นขี้ผึ้งในรูปลักษณ์ของสตรีเยาว์วัยที่ร่างกายเปลือยเปล่า และสามารถเลาะชั้นหนังกำพร้าของพวกเธอเพื่อเผยให้อวัยวะภายในต่าง ๆ ได้ พวกเธอเหล่านี้เกิดขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อทดแทนอาจารย์ใหญ่ที่ขาดแคลน
©Courtesy the Josephinum, Collections and History of Medicine, MedUni Vienna. Photo © Joanna Ebenstein. accessed from https://www.collectorsweekly.com/articles/sacred-anatomy/
แต่แทนที่ชาวศตวรรษที่ 18 จะรู้สึกกลัวเมื่อได้เห็นพวกเธอ แต่เปล่าเลย พวกเขากลับรู้สึกชื่นชอบพวกเธอเป็นอย่างมาก ถึงแม้ว่าจะมีอวัยวะภายในทะลักออกมา แต่ถึงอย่างนั้นยังมีความน่าทึ่ง มีเสน่ห์ น่าหลงใหลในคราวเดียวกัน ด้วยท่าทางที่นอนบิดตัวราวกับสุขสม
ในขณะเดียวกันก็ดูเป็นการยั่วยวนแบบแปลก ๆ กลายเป็นเฟติชของผู้ชมที่อยากมาดูหญิงสาวหน้าตาสะสวยที่ถูกผ่าท้องแหวกไส้ออกมาให้เห็น และมันก็นำมาสู่การคลั่งไคล้ศพ (Necrophilia) ของคนบางคนด้วย
แต่สำหรับในกรณีเจ้าหญิงนิทราของเคอร์เตียสนั้นต่างออกไป เพราะดูเหมือนว่าเธอไม่ได้มีฟังก์ชั่นแหวกตับไตไส้พุงแต่อย่างใด แต่ถึงจะมีเราก็ไม่อาจรู้ได้เนื่องจากเจ้าหญิงนิทราตัวจริงนั้น “ละลาย” ไปกับเหตุการณ์ไฟไหม้พิพิธภัณฑ์มาดามทุสโซในปี 1925 ไปเสียแล้วก่อนที่ทางพิพิธภัณฑ์จะสร้างตัวจำลองโดยยึดเอาแบบจากตัวจริงขึ้นมาในภายหลัง
📌ศิลปะของสตรีผู้หลับใหล
ถึงแม้ว่าเจ้าหญิงนิทราของเคอร์เตียสจะเกิดก่อนกายวิภาควีนัส แต่ก็ถูกจัดอยู่ในหมวดหมู่เดียวกัน โดยถูกมองว่าเป็นภาพประติมากรรมของสตรีที่อยู่ในภวังค์แห่งการหลับใหล ใกล้เคียงกับงานประติมากรรมความปิติยินดีของนักบุญเทเรซ่า(Ecstasy of Saint Teresa) ของแบร์นินี่ (Gian Lorenzo Bernini)
©Livioandronico2013 via common.wikimedia accessed from https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Cornaro_chapel_in_Santa_Maria_della_Vittoria_in_Rome_HDR.jpg
ซึ่งไม่ได้ดูสยองขวัญแต่น่าหลงใหลอย่างกายวิภาควีนัส กลับกันเธอถูกมองว่าเป็นสิ่งสวยงามล้วน ๆ ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาแต่อย่างใด นอกจากนี้สำหรับเหล่ากายวิภาควีนัสยังอาจจะถูกมองในฐานะของงานศิลปะประเภทมรณานุสติก็ได้ด้วย
เรื่องของเจ้าหญิงนิทราของเคอร์เตียสกับเหล่ากายวิภาควีนัสนับว่าเป็นอีกแง่มุมหนึ่งของงานประติมากรรมที่ไม่ได้มีแค่ความงามทางสุนทรีย์ศาสตร์ แต่สะท้อนให้เห็นถึงสิ่งที่ซ่อนอยู่ภายในจิตใจของมนุษย์ที่ลึก ๆ แล้วรู้สึกชื่นชอบในความหวาดเสียวและสยดสยองอยู่ไม่น้อย
ซึ่งก็เป็นพื้นฐานที่นำมาสู่ความสนใจของมนุษย์เกี่ยวกับความสยองขวัญและมองพวกมันในฐานะของความบันเทิงอย่างหนึ่งไป เหมือนกันกับที่เราดูหนังผี หรือเข้าบ้านผีสิงที่สวนสนุก
ปล. สุขสันต์เดือนแห่งฮาโลวีน
ที่มาภาพ:
หน้าปก
©Sleeping Beauty The Breuer, Regan Vercruysse via Flickr, accessed from https://www.flickr.com/.../rverc/26814458337/in/photostream/
เนื้อหา
©Sleeping Beauty, Philippe Curtius, The MET, accessed from
©Courtesy the Josephinum, Collections and History of Medicine, MedUni Vienna. Photo © Joanna Ebenstein. accessed from https://www.collectorsweekly.com/articles/sacred-anatomy/
อ้างอิง:
Macdonald, Fiona. “Why These Anatomical Models Are Not Disgusting.” BBC Culture, February 28, 2022. https://www.bbc.com/.../20160526-why-these-anatomical....
“New Morbid Anatomy Book on the Uncanny Allure of the Anatomical Venus!” Morbid Anatomy. Accessed September 29, 2023. https://morbidanatomy.blogspot.com/.../new-morbid-anatomy....
“Cadavers in Pearls: Meet the Anatomical Venus.” The Guardian, May 17, 2016. https://www.theguardian.com/.../anatomical-venus-anatomy....
“Philippe Curtius: Sleeping Beauty: French.” The Metropolitan Museum of Art. Accessed September 29, 2023.
โฆษณา