Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เหลาจนคม
•
ติดตาม
9 ต.ค. 2023 เวลา 17:16 • ประวัติศาสตร์
รัชกาลที่ 9 และยุคบุกเบิกกิจการดาวเทียมของไทย
ดาวเทียม เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่มนุษย์คิดค้นขึ้นเพื่อโคจรรอบโลกเช่นเดียวกันกับดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ สำหรับใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย เช่น การโทรคมนาคม การสำรวจอวกาศ ธรณีวิทยา การทหาร เป็นต้น
สหภาพโซเวียต เป็นชาติแรกที่ผลิตดาวเทียม โดยมีชื่อว่า "Sputnik" ถูกส่งขึ้นไปโคจรรอบโลกในปี 1957 (พ.ศ.2500) ปีถัดมาสหรัฐอเมริกาได้ส่งดาวเทียมที่ชื่อ "Explorer" ขึ้นไปโคจรรอบโลกเช่นเดียวกัน สหภาพโซเวียต (รัสเซียในปัจจุบัน) และสหรัฐอเมริกา ก็ยังถือว่าเป็นประเทศมหาอำนาจในด้านการสำรวจอวกาศอีกด้วย
กิจการดาวเทียมในประเทศไทย แต่เดิมไทยเรายังไม่มีดาวเทียมเป็นของตนเอง ต้องเช่าบริการดาวเทียมจากต่างประเทศ
ตั้งแต่ปี พ.ศ.2526 รัฐบาลมีนโยบายที่จะมีกิจการดาวเทียมขึ้นมาในประเทศไทย พร้อมกับจัดสร้างดาวเทียมเป็นของตนเองเพื่อรองรับการขยายตัวของระบบโทรคมนาคมในประเทศ โดยมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมศึกษาความเป็นไปได้ คณะรัฐมนตรีลงความเห็นว่า การสร้างดาวเทียมต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ควรให้บริษัทเอกชนเข้ามาถือสัมปทานแทนการใช้งบประมาณของภาครัฐ ในที่สุด บริษัท ชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด (ในขณะนั้น) ของนายทักษิณ ชินวัตร ได้รับสัมปทานดาวเทียมเมื่อปี พ.ศ.2534
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 (พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร) ทรงสนพระทัยในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นอย่างมาก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อดาวเทียมในประเทศไทยถึงสามดวง ซึ่งมีบทบาทสำคัญในด้านการโทรคมนาคม การสำรวจทรัพยากร การศึกษาทางไกล ได้แก่
●
ดาวเทียมไทยคม
●
ดาวเทียมไทพัฒ
●
ดาวเทียมไทยโชต
อีกทั้งทรงมีพระราชดำริจัดตั้ง "มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม" เพื่อเพิ่มศักยภาพการเรียนการสอนอย่างทั่วถึง และลดปัญหาการขาดแคลนครู การเรียนการสอนที่ไม่ตรงตามหลักสูตร โดยเฉพาะโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล โรงเรียนวังไกลกังวลทำหน้าที่เป็นแม่ข่ายในการถ่ายทอดสดการเรียนการสอน ทำการออกอากาศเป็นปฐมฤกษ์ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม พ.ศ.2538
สำหรับดาวเทียมสัญชาติไทย ที่ได้รับชื่อพระราชทาน มีประวัติโดยสังเขป ดังนี้
●
ดาวเทียมไทยคม
ดาวเทียมไทยคม (Thaicom) ดาวเทียมเพื่อการสื่อสาร ประเทศไทยเริ่มมีการดำเนินงานเกี่ยวกับการสร้างดาวเทียมนี้ขึ้นในปี พ.ศ.2534 และดำเนินงานสำเร็จจนใช้งานได้ในปี พ.ศ.2538 ภายใต้ชื่อที่ว่า “ไทยคม” ให้บริการด้านการสื่อสาร ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน มีการจัดส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรที่ยังทำงานอยู่ในอวกาศมี 5 ดวง จากจำนวนทั้งหมด 8 ดวง
โดยดาวเทียมไทยคม 8 ซึ่งเป็นดาวเทียมบรอดคาสต์ ให้บริการถ่ายทอดสัญญาณรายการโทรทัศน์ ครอบคลุมประเทศไทย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ และแอฟริกา นอกจากนี้ ยังมีดาวเทียมสำหรับการสื่อสารบรอดแบนด์ หรือดาวเทียมไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) ซึ่งเป็นดาวเทียมบรอดแบนด์ดวงแรกของโลก
●
ดาวเทียมไทพัฒ
ดาวเทียมไทพัฒ (Thaipat) ดาวเทียมขนาดเล็กสัญชาติไทย ออกแบบพัฒนาและจัดสร้างโดยศูนย์วิจัยดาวเทียมไทพัฒ ภาควิชาวิศวกรรมโทรคมนาคม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร ร่วมกับมหาวิทยาลัยเซอร์เรย์ (University of Surrey) ประเทศอังกฤษ
โดยในปี พ.ศ.2539 คณะอาจารย์ของไทยเดินทางไปร่วมดำเนินการเรียนรู้พื้นฐานการ ออกแบบดาวเทียม การสร้าง และการทดสอบดาวเทียมจนสำเร็จออกมาได้ดาวเทียมที่มีชื่อในตอนแรกว่า TMSAT (Thai Micro-Satellite) เสร็จสิ้นในปี พ.ศ.2540
นับเป็นดาวเทียมดวงแรกที่ออกแบบและสร้างโดยคนไทย ดาวเทียมไทพัฒมีการส่งสัญญาณแบบไมโครเวฟ ถูกนำมาใช้เพื่อประโยชน์ทางการทหาร การพยากรณ์อากาศ การค้นหาทรัพยากรธรณี และการสื่อสาร
●
ดาวเทียมไทยโชต
ดาวเทียมไทยโชต หรือดาวเทียมที่มีชื่อเดิมว่า ดาวเทียมธีออส THEOS (Thailand Earth Observation Systems) เป็นดาวเทียมเพื่อสำรวจทรัพยากร โดยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลฝรั่งเศส
ดาวเทียมไทยโชต เป็นดาวเทียมขนาดเล็ก ทำงานโดยอาศัยแหล่งพลังงานจากดวงอาทิตย์ สามารถบันทึกภาพได้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วโลกเพื่อสำรวจ และถ่ายภาพทรัพยากรบนผืนโลก และมีการติดตั้งอุปกรณ์ถ่ายภาพแบบออฟติคคอลที่สามารถถ่ายภาพในคลื่นแสงที่ตามองไม่เห็นได้ด้วย
1 ตุลาคม พ.ศ.2551 ดาวเทียมไทยโชต 1 (THEOS-1) ขึ้นสู่อวกาศเป็นครั้งแรก และเช้าวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ.2566 ได้ทำการปล่อยดาวเทียมไทยโชต 2 (THEOS-2) ขึ้นสู่อวกาศ เป็นการสานต่อภารกิจของดาวเทียมไทยโชต
แหล่งที่มาและเรียบเรียง :
https://www.scimath.org/article-earthscience/item/7740-2017-12-04-04-38-45
http://www.rspg.org/thaikom.htm
เทคโนโลยี
ดาวเทียม
วิทยาศาสตร์
บันทึก
2
1
2
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย