11 ต.ค. 2023 เวลา 05:30 • ปรัชญา

ถอดบทเรียนจาก Benjamin Franklin การลงทุนที่คุ้มค่าที่สุดในชีวิตคือการลงทุนกับ ‘ความรู้’

หากคุณมีเงินสักหนึ่งก้อน คุณจะใช้เงินก้อนนั้นไปกับเรื่องอะไร?
เป้าหมายชีวิตของแต่ละคนไม่เหมือนกัน การให้คุณค่า (Value) ของสิ่งต่างๆ จึงแตกต่างกันไปด้วย หากเรามีโอกาสเป็นเจ้าของเงินสักหนึ่งก้อน สิ่งแรกที่เราอยากทำนั่นคือคุณค่าในชีวิตของเรา บางคนอยากนำเงินไปปลดหนี้ บางคนอยากซื้อบ้าน ซื้อรถ ท่องเที่ยว บางคนวางแผนลงทุนเพื่อผลกำไรที่มากขึ้น หรือบางคนอาจจะใช้เงินนั้นไปกับการเรียนรู้ก็ได้
แม้ว่ากระทรวงศึกษาธิการจะกำหนดให้เด็กๆ ได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานอยู่ที่ 12 ปี (ป.1-ม.6) หลังจากนั้นก็ขึ้นอยู่กับเป้าหมายชีวิตของแต่ละคนว่าอยากทำอะไรต่อ แต่ในโลกความเป็นจริงแม้ว่าเราจะจบการศึกษาแล้ว แต่เราก็ไม่เคยหยุดเรียนได้เลยด้วยซ้ำ
ในหนึ่งวันของเรานับตั้งแต่วินาทีที่ตื่นนอนจนถึงตอนหลับเต็มไปด้วยความรู้ใหม่ๆ มากมายจนเราสามารถเรียนรู้ไปได้ตลอดชีวิต แม้กระทั่งตอนที่เราฝัน สมองของเราก็ไม่หยุดเรียนรู้ แต่ตอนที่ยังเด็กทุกคนล้วนเคยผ่านความลำบากในช่วงวัยเรียนมาแล้วทั้งนั้น เมื่อกลายเป็นผู้ใหญ่หลายคนก็เลยกลัวการเรียนและมองข้ามความสำคัญของมันไป
โดยที่เราไม่ทันคิดเลยว่า ‘ความรู้’ นี่เองที่เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด และเป็นกุญแจสู่ชีวิตที่ดีกว่าเดิม
ผลตอบแทนจาก ‘ความรู้’ คือกำไรที่มีมูลค่ามหาศาลจนประเมินค่าไม่ได้
“หากคุณเปลี่ยนย้ายทรัพย์สินในกระเป๋าไปไว้ในหัวแทน จะไม่มีใครขโมยมันไปได้ การลงทุนในความรู้จะสร้างกำไรที่คุ้มค่าที่สุดให้แก่คุณ”
ข้อความนี้มาจากเบนจามิน แฟรงคลิน หนึ่งในผู้ก่อตั้งสหรัฐอเมริกา และเป็นข้อความตอนหนึ่งในหนังสือ The Way to Wealth ของเขา ถ้าพิจารณาจากชื่อหนังสือก็คงนึกว่าพูดถึงการสร้างสินทรัพย์ให้งอกเงย หรือเป็นเนื้อหาของเศรษฐศาสตร์ ซึ่งจะกลายมาเป็นต้นแบบตำราเรียนในยุคนี้แน่ๆ
แต่ใครจะรู้ว่าความจริงแล้วเบนจามินไม่ได้คิดถึงสินทรัพย์ที่มีมูลค่าเป็นตัวเงินเลย เขากลับคิดว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ‘ความรู้’ ต่างหาก ดังนั้นควรเลิกกอดเงินไว้กับตัว แล้วเอาเงินนั้นไปลงทุนกับการหาความรู้ดีกว่า!
ในความคิดของเบนจามิน ถ้าเราเก็บสินทรัพย์หรือลงทุนเพื่อให้ได้กำไรเป็นตัวเงิน นอกจากจะถูกขโมยไปได้แล้ว ยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงมากมายมหาศาลที่จะทำให้เราหมดเนื้อหมดตัวได้สักวัน หากว่าเราวางแผนการเงินพลาดไป
แต่ถ้าเรานำเงินที่มีอยู่ไปลงทุนกับการเรียนรู้ให้มันติดตัวเราไปจนตาย นอกจากจะไม่มีใครขโมยความรู้ไปจากเราได้แล้ว เรายังสร้างประโยชน์จากมันได้อย่างไม่สิ้นสุดอีกด้วย ลองนึกถึงบุคคลที่เป็นต้นแบบของความรู้แขนงต่างๆ ก็จะเข้าใจได้มากขึ้น
หากไม่มีวินเซนต์ แวน โก๊ะ หรือเลโอนาร์โด ดา วินชี เราก็คงไม่มีงานศิลปะที่ทรงคุณค่าในพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ ถ้าโลกนี้ไม่ชาร์ลส์ ดาร์วิน ก็คงไม่รู้สักทีว่าเราเป็นใคร และวิวัฒนาการมาอย่างไร และถ้าไม่มีนักคิด นักเขียน นักประดิษฐ์หรือนักการเมืองอย่างเบนจามิน แฟรงคลินในวันนั้น ก็คงไม่มีสหรัฐอเมริกาอย่างในวันนี้เช่นกัน
1
ทุกๆ การเรียนรู้จะสร้างองค์ความรู้ให้แก่มนุษยชาติได้อย่างไม่รู้จบ และองค์ความรู้นั้นก็จะย้อนกลับมาสร้างคุณค่า สร้างชื่อเสียง สร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ตัวเรา บุคคลสำคัญและผู้ยิ่งใหญ่ที่เรารู้จักกันในทุกวันนี้ก็ล้วนแล้วแต่ใช้ความรู้ของตัวเองสร้างนวัตกรรมและโลกใบใหม่ให้เราได้ใช้ชีวิตอยู่ทุกวันนี้ทั้งนั้น
การสร้างองค์ความรู้ใช้เครื่องมือแค่ 2 ชิ้นเท่านั้น คือ ‘การศึกษาและประสบการณ์’
ความรู้ไม่ได้อยู่แค่ในหนังสือเท่านั้น แต่ยังหมายถึงสิ่งที่เราได้จากประสบการณ์ส่วนตัวของเราได้ด้วย คุณไม่จำเป็นต้องเป็นนักอ่านที่มีหนังสือเต็มบ้าน หรือหมกตัวอยู่ในหอสมุดขนาดใหญ่เพื่อหาความรู้ เพียงแค่ใช้ชีวิตและเก็บเกี่ยวประสบการณ์รอบๆ ตัวก็นับว่าได้เรียนรู้แล้ว
ถ้าคุณเป็นคนไม่ถูกโรคกับหนังสือหรือตัวอักษรที่ยาวเป็นพืดสักเท่าไร คุณก็ยังหาความรู้ได้จากบทสนทนาระหว่างผู้คน การมีส่วนร่วมกับสถานการณ์ หรือแม้กระทั่งการสังเกตและทักษะกระบวนการคิดเล็กๆ น้อยๆ ก็ทำให้คุณเป็นคนมีความรู้ได้แล้ว
โดยเฉพาะในโลกยุคข้อมูลข่าวสาร เทคโนโลยีและนวัตกรรมได้เปลี่ยนองค์ความรู้ให้อยู่ในรูปแบบที่คุณจะสามารถสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่สนุกสนานมากยิ่งขึ้นได้ง่ายๆ แค่คลิกนิ้วเข้าไป บางทีมันก็อยู่ในรูปแบบของแชนเนลสารคดีในยูทูบ บางทีก็เป็นคลิปสั้นๆ บางทีก็เป็นบทความให้เราได้อ่าน
2
นอกจากนี้เทคโนโลยียังเอื้อให้เราส่งต่อความรู้ได้อย่างง่ายดายอีกด้วย เพียงแค่มีสมาร์ตโฟนและอินเทอร์เน็ตก็สามารถกดแชร์หรือส่งต่อความรู้ด้วยตัวเราเอง ในรูปแบบของคอนเทนต์ให้คนอื่นรับชมได้แล้ว ยังไม่นับรวมการเพิ่มทักษะต่างๆ ที่จำเป็นในการทำงาน รวมถึงทักษะอื่นๆ ในชีวิตประจำวันก็เป็นการหาความรู้ได้เช่นกัน
คนยุคใหม่เริ่มให้ความสนใจกับการเพิ่มทักษะมากขึ้น เราเริ่มเห็นสถาบันสอนทักษะที่หลากหลายเกิดขึ้นเยอะมาก เช่น สถาบันสอนบุคลิกภาพ หรือบริษัทที่ดูแลเกี่ยวกับทักษะทางสังคมต่างๆ ในหน้าฟีด นอกจากนี้บทความจาก The Philippine Daily Inquirer ยังชี้ให้เห็นถึงผลการสำรวจ โดยระบุว่า 75% ของประชากรชาวฟิลิปปินส์กลุ่ม Millennials หรือ Gen Y ซึ่งนับเป็นสัดส่วน 60% ของชาวฟิลิปปินส์ทั้งหมดใช้จ่ายเงินส่วนตัวไปกับการเพิ่มพูนทักษะมากที่สุด
ผลการสำรวจนี้เองที่สามารถสรุปได้ว่านอกจากวัตถุแล้ว ความรู้และทักษะยังเป็นสิ่งที่เติมเต็มคุณค่าทางใจของคนยุคนี้อีกด้วย
การสั่งสมความรู้ทำให้เราสร้างคุณค่าให้กับตัวเองและสังคมได้ การลงทุนกับความรู้แทบไม่มีความเสี่ยงอะไรเลยเมื่อเทียบกับการลงทุนแบบอื่นๆ ข้อเสียของความรู้ก็มีเพียงสองข้อเท่านั้น นั่นก็คือมันสามารถเลือนหายไปจากความคิดและความทรงจำของเราได้ และมันยังเป็นข้อมูลที่มีวันหมดอายุอีกด้วย แต่ตราบใดที่เรายังคงมุ่งมั่นที่จะหาความรู้ต่อไป มันก็จะยังคงสร้างกำไรให้เราต่อได้ตลอดกาล
แม้ว่าคำกล่าวของเบนจามินจะเกิดขึ้นก่อนหน้านี้หลายร้อยปี แต่ความรู้ก็ยังคงเป็นเครื่องมืออันทรงพลังที่สร้างแรงขับเคลื่อนให้กับโลกใบนี้ และไม่ว่าเวลาจะผ่านไปอีกกี่พันปี ความจริงที่ว่า “การลงทุนในความรู้จะสร้างกำไรที่คุ้มค่าที่สุดให้แก่คุณ” ก็จะยังคงเป็นอย่างนั้นไม่เปลี่ยนแปลง
อ้างอิง
- Ben Franklin’s best inventions and innovations : NCC Staff, National Constitution Center - https://bit.ly/3RybNqU
- Why Invest in Knowledge? Any Value? : Afije Stephen, LinkedIn - https://bit.ly/3EOaY5z
- The importance of investing in knowledge : Randell Tiongson, Inquirer - https://bit.ly/3rmTHgD
- “An investment in knowledge always pays the best interest” Benjamin Franklin : zioxi - https://bit.ly/3ENEmsB
#selfdevelopment
#inspiration
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
โฆษณา