12 ต.ค. 2023 เวลา 02:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ถอดบทเรียน 4 ประเทศหนี้ท่วมหัว จนล้มละลาย ในช่วง 20 ปี ที่ผ่านมา

การที่ประเทศก่อหนี้สาธารณะนั้น ถ้ามีการบริหารที่ดี ก็จะทำให้ประเทศเหล่านั้น เติบโตอย่างก้าวกระโดด จนอาจถึงขั้นกลายเป็น ประเทศพัฒนาแล้ว ได้
แต่ในอีกด้านหนึ่ง ถ้าหากหนี้ที่กู้มา ไม่ได้มีการนำไปใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ หนี้สินเหล่านั้นที่รัฐบาลก่อขึ้น ก็จะกลายเป็นปัญหา โดยมีประชาชนคนธรรมดาเป็นผู้รับกรรม
2
เหมือนอย่างเช่น ประเทศอาร์เจนตินา, กรีซ, เวเนซุเอลา และศรีลังกา ที่ประสบปัญหากับวิกฤติหนี้ จนถึงขั้นล้มละลาย ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมานี้
1
แล้ววิกฤติของ 4 ประเทศนี้ มีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร ?
MONEY LAB จะเล่าเรื่องการเงิน ที่โรงเรียนไม่เคยสอนให้เข้าใจ
1
แม้ว่าทั้ง 4 ประเทศที่กล่าวมาข้างต้น จะประสบกับวิกฤติหนี้ จนทำให้ประเทศล้มละลายเหมือนกัน แต่ถ้าหากเราลองดูในรายละเอียด ก็จะพบว่าแต่ละประเทศ มีรายละเอียดที่ค่อนข้างแตกต่างกันอยู่
1
- อาร์เจนตินา นักเบี้ยวหนี้ตัวยง
2
รู้หรือไม่ว่า ในอดีต อาร์เจนตินา เคยเป็นประเทศที่ร่ำรวยเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก จนกระทั่งประสบกับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจ Great Depression ในช่วงปี 1930 นำไปสู่ความวุ่นวายทางการเมือง และรัฐประหาร
หลังจากนั้นเป็นต้นมา ประเทศอาร์เจนตินา ก็วนเวียนอยู่กับการทำนโยบายประชานิยม เพื่อรักษาอำนาจ ประกอบกับการทำสงครามฟอล์กแลนด์กับสหราชอาณาจักร ที่ต้องใช้เงินมหาศาล
3
ส่งผลให้รัฐบาลอาร์เจนตินา จำเป็นต้องกู้เงินจากต่างประเทศจำนวนมาก รวมไปถึงการพิมพ์เงิน เพื่อเป็นงบประมาณในการใช้จ่ายด้วย และทำให้หนี้สาธารณะพุ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ
จนสุดท้ายนำไปสู่การผิดนัดชำระหนี้กว่า 3.1 ล้านล้านบาท ในปี 2001 ตามมาด้วยการลอยตัวค่าเงินเปโซอาร์เจนตินา และค่าเงินอ่อนลงกว่า 100 เท่า เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เพราะนักลงทุนพากันขาดความเชื่อมั่น จนรุมถอนเงินทุน ออกจากอาร์เจนตินา
1
และตามมาด้วยอัตราเงินเฟ้อ ปีละหลายสิบเปอร์เซ็นต์ตลอดมา
5
ในปัจจุบันนี้ ประเทศอาร์เจนตินา กลายเป็นลูกหนี้ยอดแย่ ที่ไม่มีใครอยากให้กู้อีกแล้ว เพราะรัฐบาลอาร์เจนตินาผิดนัดชำระหนี้ไปแล้วถึง 4 ครั้ง มากกว่าทุกประเทศ ในช่วง 20 ปีนี้
4
- กรีซ ระเบิดเวลาแห่งยุโรป
ประเทศกรีซ มีการทำประชานิยมอย่างเข้มข้น ซึ่งสืบเนื่องไปถึงช่วงทศวรรษ 1980 หลังจากที่กรีซหลุดพ้นจากรัฐบาลทหาร
รัฐบาลกรีซในช่วงเวลานั้น ก็ได้ทำนโยบายประชานิยมอย่างหนักหน่วง เพื่อฟื้นฟูประเทศ อย่างเช่น การลดภาษี, เพิ่มสวัสดิการสังคม และขยายขนาดราชการ
แน่นอนว่าทั้งหมดที่กล่าวมา ต้องใช้งบประมาณมหาศาล และตามมาด้วยการกู้เงิน จนประเทศกรีซ เกือบจะไม่ได้เข้าร่วมสหภาพยุโรป เพราะมีหนี้สูงกว่าเงื่อนไขที่กำหนดไว้
1
แต่ด้วยการตกแต่งหนี้สาธารณะ กรีซก็เข้าร่วมสหภาพยุโรปได้ในที่สุด และเข้าถึงแหล่งเงินทุนมหาศาล ที่กู้ยืมจากชาติสมาชิกผู้ร่ำรวย
รัฐบาลกรีซ กู้เงินจากเพื่อนร่วมสหภาพยุโรป มาทำนโยบายประชานิยมต่อ รวมไปถึงจัดงานโอลิมปิก เมื่อปี 2004 อย่างยิ่งใหญ่
2
แต่พอมาปี 2009 วิกฤติซับไพรม์ ได้ลุกลามจากสหรัฐอเมริกา ข้ามมายังยุโรป ทำให้เหล่าเจ้าหนี้ของกรีซ ได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า ถึงตอนนี้เมื่อประเทศกรีซจะกู้เงิน ก็ต้องเผชิญกับเงื่อนไขสุดโหดจากเจ้าหนี้
2
ที่ต้องการให้กรีซ ลดการใช้งบประมาณ พร้อมทั้งขึ้นภาษี เพื่อหาเงินมาจ่ายหนี้ จนนำไปสู่การตกงานจำนวนมาก และบ้านเมืองเกิดความวุ่นวาย ก่อนที่ประเทศกรีซ ก็ต้องผิดนัดชำระหนี้ไปในปี 2015
3
- เวเนซุเอลา ดินแดนอภิมหาเงินเฟ้อ
ปกติแล้วรายได้หลักของรัฐบาลในหลาย ๆ ประเทศ มักจะมาจากการเก็บภาษี แต่ไม่ใช่กับเวเนซุเอลา ที่รายได้หลักของรัฐบาล มาจากการขายน้ำมัน
2
บริษัทน้ำมันแห่งชาติของเวเนซุเอลา หรือ PDVSA กลายเป็นตู้กดเงิน ที่รัฐบาลเวเนซุเอลา ใช้สร้างสวัสดิการต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหาความยากจน ให้กับประชาชน โดยไม่ต้องเดือดร้อนกับการเก็บภาษี
แต่ราคาน้ำมันมีความผันผวนอยู่ตลอดเวลา ส่งผลให้ปีไหนที่ราคาน้ำมันตก รัฐบาลก็ต้องกู้หนี้ เพื่อให้สวัสดิการต่าง ๆ ยังคงเดินหน้าต่อไปได้
3
เมื่อเป็นแบบนี้ สัดส่วนหนี้ต่อ GDP ของเวเนซุเอลา ที่อยู่แค่ประมาณ 38% ในปี 2010 ก็พุ่งไปเป็นเกือบ 130% ด้วยเวลาเพียงแค่ 5 ปีเท่านั้น
1
หนี้ที่เพิ่มขึ้น สวนทางกับรายได้ของรัฐที่ลดลง เพราะตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมา ราคาน้ำมันก็มีแต่ดิ่งลง ทำให้รัฐบาลเวเนซุเอลาตัดสินใจพิมพ์เงินออกมาเพื่อใช้หนี้สาธารณะ
3
ผลสุดท้าย เงินเหล่านั้นที่พิมพ์ออกไป ก็ไหลกลับเข้ามาในระบบเศรษฐกิจของเวเนซุเอลาอยู่ดี จนเงินเฟ้อของเวเนซุเอลา พุ่งทะยานไปเกือบ 350,000% ในต้นปี 2019
- ศรีลังกา พิษเงินกู้ต่างประเทศ
1
หลังเผชิญสงครามกลางเมือง ที่ยืดเยื้อยาวนานกว่า 25 ปี ประเทศศรีลังกา ก็ได้เริ่มต้นฟื้นฟูประเทศใหม่อีกครั้ง ด้วยนโยบายของตระกูลราชปักษา ซึ่งเน้นไปที่การกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นหลัก
นโยบายดังกล่าว มีความเป็นประชานิยมสูงมาก เช่น ลดภาษีรายได้บุคคลธรรมดา และนิติบุคคล นอกจากนี้ ยังมีการลงทุนในเมกะโปรเจกต์ต่าง ๆ
รายจ่ายภาครัฐที่เพิ่มขึ้น สวนทางกับรายได้ที่น้อยลง จึงทำให้รัฐบาลศรีลังกา ต้องกู้เงินจากต่างประเทศ เพราะศรีลังกา เป็นประเทศเกาะเล็ก ๆ ที่ไม่มีแหล่งเงินทุนให้กู้ยืมมากนัก
นอกจากนี้ การเป็นประเทศเกาะ ยังทำให้ศรีลังกา ต้องพึ่งพาการนำเข้าอาหาร และน้ำมัน เพราะฉะนั้น ประเทศศรีลังกา จึงขาดดุลทั้งการค้า และการคลัง หรือที่เรียกว่า “การขาดดุลแฝด” นำไปสู่ค่าเงินอ่อนตัว
สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก เมื่อความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาอาหาร และน้ำมันทั่วโลกแพงขึ้น ประเทศศรีลังกาเอง ที่นำเข้าสินค้าทั้งสองอย่าง จึงได้รับผลกระทบไปเต็ม ๆ
1
สุดท้ายแล้ว รัฐบาลศรีลังกา จึงผิดนัดชำระหนี้ที่กู้ยืมจากต่างประเทศ เมื่อต้นปี 2022 ที่ผ่านมาในที่สุด เนื่องจากไม่เหลือเงินสกุลต่างประเทศให้จ่ายหนี้ เพราะใช้ไปกับการนำเข้าสินค้าจำเป็น ที่ราคาแพงขึ้น จนหมดแล้ว
2
ถ้าหากสังเกตจากทั้ง 4 ประเทศที่ยกตัวอย่างมานี้ แม้จะมีองค์ประกอบ ในการเกิดวิกฤติที่แตกต่างกัน แต่จะเห็นได้ว่า มีเส้นทางที่นำไปสู่การล้มละลายคล้าย ๆ กัน
อย่างแรกก็คือ การมีสภาพเศรษฐกิจ และสังคม ที่ไม่ค่อยแข็งแรง อันส่งผลให้มีประชาชนที่ทุกข์ร้อนอยู่เต็มไปหมด
ซึ่งสิ่งที่จะสามารถแก้ปัญหา ให้กับพี่น้องประชาชนได้อย่างทันตาเห็น ก็คือนโยบายประชานิยม แต่การจะทำแบบนั้น ก็ต้องตามมาด้วยค่าใช้จ่ายมหาศาล จนการกู้เงินเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
3
และถ้าหากกู้ในประเทศจนหมดแล้ว การกู้เงินจากต่างประเทศ ก็เป็นสิ่งที่จะตามมา
เมื่อถึงจุดที่ก่อหนี้จนท่วมหัวแล้ว ประเทศก็เหมือนยืนอยู่บนปากเหว รอเพียงแค่วิกฤติเศรษฐกิจ หรือการสูญเสียความเชื่อมั่นของนักลงทุนเท่านั้น
แล้วหลังจากนั้น ประเทศนั้น ก็จะเข้าสู่สถานะล้มละลาย ได้อย่างไม่ยากเย็น..
-Kiguel, M. (2011). Argentina’s Economic and Financial Crisis: Lessons for Europe.
-Glaeser, E. L., Di Tella, R., Llach, L. (2018). Introduction to Argentine exceptionalism.
-Matsaganis, M. (2013). The Greek Crisis Social Impact and Policy Responses.
3
โฆษณา