Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เหลาจนคม
•
ติดตาม
11 ต.ค. 2023 เวลา 19:51 • ประวัติศาสตร์
รัชกาลที่ 9 กับโดมิโน่ตัวที่ 6
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 (พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร) เป็นยุครัชสมัยที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยและในทวีปเอเชียสมัยใหม่ รวมถึงอันดับที่สามของโลก
รัชสมัยของพระองค์อยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงและความผันผวนต่างๆ ในประเทศและรอบนอกประเทศ เช่นการเผยแผ่ลัทธิคอมมิวนิสต์ในแถบเอเชียอาคเนย์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสงครามเย็น
เรามาดูกันว่า ยุคสมัยของรัชกาลที่ 9 ตรงกับบริบทใดในประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัยและใกล้เคียง โดยเฉพาะช่วงของสงครามเย็น รวมถึงบทบาทของพระองค์และรัฐบาลในการรักษาเอกราชของชาติให้รอดพ้นจากการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ตามทฤษฎีโดมิโน่ของสหรัฐอเมริกา
ทฤษฎีโดมิโน่ เป็นแนวคิดของฝ่ายโลกเสรีซึ่งภายใต้การนำของสหรัฐอเมริกา เริ่มขึ้นในช่วงแรกของสงครามเย็น ด้วยความเชื่อที่ว่าเมื่อประเทศใดประเทศหนึ่งปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์แล้ว ประเทศรอบข้างก็จะถูกครอบงำจากลัทธิคอมมิวนิสต์ตามไปด้วย เปรียบดั่งตัวโดมิโน่ที่กำลังล้มระเนระนาดไปทีละตัว
โดมิโน่ตัวแรกคือ จีน พรรคคอมมิวนิสต์จีนของเหมาเจ๋อตุง ล้มล้างรัฐบาลพรรคก๊กมินตั๋งของเจียงไคเช็คจนล่าถอยไปเกาะไต้หวัน
โดมิโน่ตัวที่สองคือ เกาหลี เกิดจากการแบ่งแยกเกาหลีบนพื้นที่เส้นขนานที่ 38 โดยฝ่ายคอมมิวนิสต์ของสหภาพโซเวียตและจีนยึดครองเกาหลีเหนือ ส่วนฝ่ายโลกเสรีของสหรัฐอเมริกายึดครองเกาหลีใต้ เป็นจุดเริ่มต้นของสงครามเกาหลี
โดมิโน่ตัวที่สามคือ เวียดนาม ขบวนการเวียดมินท์ของโฮจิมินท์ ประกาศอิสรภาพต่อฝรั่งเศสและสถาปนาสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนาม เวียดมินท์ได้ทำการสู้รบกับฝรั่งเศสจนได้รับชัยชนะที่เดียนเบียนฟู
หลังจากการรบที่เดียนเบียนฟู และการประชุมเจนีวาในปี 1954 (พ.ศ.2497)
เวียดนามได้ถูกแบ่งแยกออกเป็นสองส่วนบนเส้นขนานที่ 17 ฝ่ายคอมมิวนิสต์ของโฮจิมินท์ปกครองเวียดนามเหนือ จักรพรรดิบ๋าวดั๋ย และโงดิ่ญเสียม ปกครองเวียดนามใต้ ต่อมาสงครามเวียดนามก็ได้เริ่มขึ้น
โดมิโน่คอมมิวนิสต์ตัวต่อไปที่รอวันล้ม ได้แก่ ลาว กัมพูชา ไทย มาเลเซีย อินโดนิเซีย พม่า และอินเดีย
การรบที่เดียนเบียนฟู
มาที่โดมิโน่ตัวที่ 6 ก็คือประเทศไทย หลังจากประเทศไทยรอดพ้นจากการถูกยึดครองของฝ่ายสัมพันธมิตรหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และการกลับมาของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม รัฐบาลไทยจับมือเป็นพันธมิตรกับฝ่ายโลกเสรีของสหรัฐอเมริกา มีการส่งทหารไปปฏิบัติภารกิจร่วมกับสหประชาชาติในสงครามเกาหลี ขณะเดียวกันรัฐบาลออกกฎหมายการปราบปรามคอมมิวนิสต์ในปี พ.ศ.2495 เป็นจุดเริ่มต้นของการจับกุมและกวาดล้างคอมมิวนิสต์ในไทยที่รุนแรงและเด็ดขาด
ต่อมาปี พ.ศ.2497 ไทยได้ลงนามเข้าร่วมเป็นสมาชิกขององค์การสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEATO) ที่ประเทศฟิลิปปินส์ เพื่อต่อต้านการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ในเอเชียอาคเนย์ พร้อมกับตั้งสำนักงานฯ ขึ้นในประเทศไทย
มาจนถึงสมัยรัฐบาลทหารของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งปกครองประเทศแบบเผด็จการทหารเบ็ดเสร็จ จัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อวางโครงสร้างพื้นฐานทั้งในเมืองและชนบท ออกนโยบายปราบปรามคอมมิวนิสต์อย่างเด็ดขาดและรุนแรงเช่นเดียวกันกับรัฐบาลชุดก่อนหน้า (จอมพล ป. 2) แต่ทวีความรุนแรงและเด็ดขาดมากขึ้น ขณะเดียวกันกองทัพสหรัฐฯ เริ่มเข้ามาตั้งฐานทัพในประเทศไทย
อีกหนึ่งนโยบายสำคัญของรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ คือการฟื้นฟูบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ พระราชพิธี โบราณราชประเพณีต่างๆ ที่ล้มเลิกไปหลังจากการปฏิวัติโดยกลุ่มคณะราษฎร
สถาบันพระมหากษัตริย์ในฐานะพระประมุขของชาติ จึงมีบทบาทสำคัญในการรักษาเอกราชของชาติ ทรงนำพาประเทศชาติเดินหน้าอย่างมั่นคง และสามารถชี้แนะจุดตกบกพร่องให้รัฐบาลได้โดยไม่แทรกแซงกิจการภายในของรัฐบาล
รัชกาลที่ 9 และ โงดิ่ญเสียม ประธานาธิบดีเวียดนามใต้
ในช่วงนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จเยือนประเทศต่างๆ อย่างเป็นทางการ เพื่อเจริญพระราชไมตรีและเพื่อทรงทราบสถานการณ์ความเป็นไปของประเทศนั้นๆ ประเทศแรกที่เสด็จเยือนคือ เวียดนามใต้ เมื่อวันที่ 18-21 ธันวาคม พ.ศ.2502 ซึ่งขณะนั้นประเทศไทยได้ให้การสนับสนุนเวียดนามใต้ ก่อนหน้านั้น โงดิ่ญเสียม ประธานาธิบดีของเวียดนามใต้เดินทางมาเยือนประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ.2500 เวียดนามใต้จึงเป็นประเทศแรกที่เสด็จเยือนหลังจากครองราชสมบัติ
พ.ศ.2503 พระองค์ได้เสด็จเยือนพม่า อินโดนิเซีย ในปีนั้นเองพระองค์เสด็จเยือนสหรัฐอเมริกา ประเทศมหาอำนาจของฝ่ายโลกเสรี และเป็นนิวาสสถานเดิมของพระองค์ ต่อมาได้เสด็จเยือนประเทศในทวีปยุโรปอีก 13 ประเทศรวมเป็น 14 ประเทศ เมื่อเสด็จนิวัติพระนครหลังจากเสร็จสิ้นพระราชกิจการเสด็จเยือน 14 ประเทศตะวันตก ก็ได้มีพระราชพิธีสมโภชอย่างยิ่งใหญ่ในปลายเดือนมกราคม พ.ศ.2504
พ.ศ.2505-พ.ศ.2506 เสด็จเยือนปากีสถาน นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ (ประเทศสมาชิกขององค์การ SEATO) ญี่ปุ่น สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) โดยในขณะนั้นประเทศไทยยังคงมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐจีนอยู่ ประเทศสุดท้ายที่เสด็จเยือนอย่างเป็นทางการคือ แคนาดา ในปี พ.ศ.2510 และครั้งสุดท้ายจริงๆ คือการเสด็จเยือน สปป.ลาว (พ.ศ.2537)
หลังจากนั้น พระราชอาคันตุกะของประเทศดังกล่าว ก็ได้เสด็จมาเยือนไทยเป็นระยะ พระองค์ก็จะนำองค์ความรู้จากประเทศที่ได้เสด็จเยือน มาปรับใช้ในการพัฒนาประเทศ เช่น การเลี้ยงโคนม เป็นต้น
สำหรับพระราชกรณียกิจในประเทศ พระองค์ได้เสด็จเยี่ยมราษฎรในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทย ทรงทอดพระเนตรสภาพความเป็นไปของแต่ละพื้นที่และรับฟังปัญหาของราษฎร พระองค์ได้ริเริ่มพระราชทานโครงการนำร่องแก่หน่วยงานภาครัฐเพื่อนำไปพัฒนาต่อยอด ก่อเกิดเป็น "โครงการพระราชดำริ" มากมาย เช่น โครงการหลวง ที่ทรงให้ชาวเขาปลูกพืชเมืองหนาวแทนการปลูกฝิ่น โครงการฝนหลวงเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง เป็นต้น
พระองค์ยังได้สร้างพระตำหนักขึ้นในส่วนภูมิภาคเพื่อแปรพระราชฐานขณะทรงงานและใกล้ชิดกับราษฎรให้ได้มากที่สุด เช่น พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จังหวัดสกลนคร ซึ่งบริเวณนั้นเป็นเขตอิทธิพลของคอมมิวนิสต์ อีกทั้งพระองค์ในบทบาทของจอมทัพไทย ได้เสด็จเยี่ยมทหารและตำรวจที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ในการสู้รบกับคอมมิวนิสต์อีกด้วย
ประเทศไทยสามารถรักษาเอกราชของชาติจากลัทธิคอมมิวนิสต์ ตามทฤษฎีโดมิโน่เอาไว้ได้ ส่วนนึงก็มาจากการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 (พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร) ที่มุ่งเน้นการสร้างคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนในพื้นที่ห่างไกลความเจริญซึ่งอยู่ภายใต้อิทธิพลของคอมมิวนิสต์ และเต็มไปด้วยปัญหาความยากจน มิให้ประชาชนถูกครอบงำและสามารถสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาได้
รัชกาลที่ 9 เสด็จออกเยี่ยมทหารในปฏิบัติการรบกับกองกำลังคอมมิวนิสต์
7 สิงหาคม พ.ศ.2508 การก่อการกำเริบที่บ้านนาบัว จังหวัดนครพนม โดยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เป็นการเปิดฉากการรบระหว่างคอมมิวนิสต์และรัฐบาล เหตุการณ์นี้เรียกกันโดยทั่วไปว่า "วันเสียงปืนแตก"
8 สิงหาคม พ.ศ.2510 ถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในสมัยรัฐบาลทหารจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นตัวแทนของไทยร่วมกับตัวแทนจาก 4 ชาติ ได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนิเซีย และฟิลิปปินส์ ร่วมกันลงนามใน "ปฏิญญากรุงเทพ" ก่อตั้งสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) เพื่อสร้างความมั่นคงในด้านต่างๆ ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ขณะเดียวกัน รัฐบาลได้ส่งกำลังทหารไทยเข้าไปสนับสนุนภารกิจการรบในสงครามเวียดนาม ตั้งแต่ปี พ.ศ.2510-พ.ศ.2515 ในช่วงนี้สหรัฐฯ เริ่มทยอยถอนทัพออกจากเวียดนาม เนื่องจากกระแสต่อต้านสงครามเวียดนามในสหรัฐฯ เอง
ตุลาคม พ.ศ.2516 เกิดการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยโดยขบวนการนักศึกษา ในวันที่ 14 ตุลาคม รัฐบาลใช้กำลังอาวุธเข้าสลายการชุมนุม ทำให้ผู้นำรัฐบาลทหารอย่างจอมพล ถนอม กิตติขจร ลาออกจากตำแหน่งและลี้ภัยออกนอกประเทศ เป็นการสิ้นสุดของระบอบเผด็จการทหารและเริ่มต้นการฟื้นฟูประชาธิปไตย
เหตุการณ์วันมหาวิปโยค 14 ตุลาคม พ.ศ.2516
พ.ศ.2518 ลัทธิคอมมิวนิสต์ในอินโดจีนขยายอิทธิพลอย่างรุนแรงจากการที่เวียดนามเหนือเข้ายึดกรุงไซง่อนและรวมชาติได้สำเร็จ เป็นการสิ้นสุดสงครามเวียดนาม
1
ทางด้านกัมพูชา กลุ่มเขมรแดงได้บุกยึดกรุงพนมเปญในวันที่ 17 เมษายน พร้อมกวาดต้อนประชาชนไปชนบทและทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
ในส่วนของลาว กลุ่มขบวนการปะเทดลาวของเจ้าสุพานุวง ทำการปฏิวัติโค่นล้มราชวงศ์ล้านช้างร่มขาวและสถาปนา สปป.ลาว ในวันที่ 2 ธันวาคม
โดมิโน่ตัวที่ 4 และ 5 อย่างกัมพูชาและลาว ได้ล้มลง
พิธีสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน 1 กรกฎาคม พ.ศ.2518
โดมิโน่ตัวที่ 6 (ไทย) ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เดินทางไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อกระชับความสัมพันธ์ และสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตขึ้นอย่างเป็นทางการขึ้นเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2518 ขณะเดียวกันในเมืองไทยเองมีการแยกมวลชนเป็นสองขั้วระหว่างฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา มีการชุมนุมของกลุ่มนักศึกษาเพื่อเรียกร้องให้สหรัฐฯ ถอนทัพออกจากไทยหลังจากสงครามเวียดนามสิ้นสุดลง
6 ตุลาคม พ.ศ.2519 เกิดการล้อมปราบด้วยกำลังอาวุธกับกลุ่มนักศึกษาที่ชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เย็นวันเดียวกัน คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินของ พล.ร.อ. สงัด ชลออยู่ ทำรัฐประหารและแต่งตั้ง ธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี
รัฐบาลของธานินทร์ใช้นโยบายปราบปรามคอมมิวนิสต์ที่เด็ดขาดและรุนแรงเช่นเดียวกันกับยุครัฐบาลทหาร ขณะเดียวกันขบวนการนักศึกษาที่รอดจากการถูกจับกุมก็ได้หลบหนีเข้าป่าเพื่อเข้าร่วมกองกำลังพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
มาถึงรัฐบาลของ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ออก "คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523" ใช้นโยบายหลักการเมืองนำการทหาร ปลดอาวุธกองกำลังคอมมิวนิสต์ มาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ขณะเดียวกันจีนยุติการสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย การก่อการกำเริบของลัทธิคอมมิวนิสต์ในไทยจึงได้ยุติลง
ในสมัยรัฐบาลของพลเอกเปรมยังต้องเผชิญกับการขยายอิทธิพลของกองทัพเวียดนามที่จะเข้ามารุกรานไทย หลังจากที่เวียดนามเข้าปลดปล่อยกรุงพนมเปญจากเขมรแดงในปี พ.ศ.2522 ไทยกับเวียดนามก็มีการสู้รบมาโดยตลอดช่วงที่พลเอกเปรมเป็นรัฐบาล
พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ผู้ออกคำสั่ง 66/2523
จนกระทั่ง พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รับช่วงต่อจากพลเอกเปรม รัฐบาลของ พล.อ.ชาติชาย ออกนโยบาย "เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า" โดยรัฐบาลไทยเป็นตัวกลางในการเจรจาเขมรสี่ฝ่ายเพื่อยุติสงครามกลางเมืองในกัมพูชาและสร้างสันติภาพในอินโดจีนด้วยวิธีการทางเศรษฐกิจ ต่อมาเวียดนามได้ถอนกำลังออกจากกัมพูชา ไทยก็ได้ฟื้นฟูความสัมพันธ์กับเวียดนามอีกครั้ง ทางด้านฝั่งเวียดนามเองก็ได้มีนโยบาย “โด่ยเหมย” หรือที่เรียกว่า ปฏิสังขรณ์ใหม่ เพื่อวางโครงสร้างทางเศรษฐกิจใหม่ของประเทศ
โดมิโน่ตัวที่ 6 (ไทย) และโดมิโน่ตัวอื่นๆ ก็ยังแข็งแกร่ง ยืนทะนงอย่างมั่นคง
ประวัติศาสตร์
ไทย
1 บันทึก
7
1
2
1
7
1
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย