Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เที่ยวไปตามใจ
•
ติดตาม
12 ต.ค. 2023 เวลา 05:59 • ท่องเที่ยว
อัฟกานิสถาน EP 03 - สู่เมืองศักดิ์สิทธิ์ มาซารีชารีฟ Mazar-e-Sharif
วันรุ่งขึ้น เราไปสนามบินเพื่อขึ้นเครื่องไปมาซารีชารีฟ(หรือเมืองมาซาร์) เมืองเอกของจังหวัดบัลค์หรือแคว้นบักเตรียในอดีต ใช้เวลาบินจากคาบูล 1 ช.ม. (ถ้านั่งรถจะใช้เวลาราว 8 - 9 ช.ม. ระยะทางประมาณ 430 ก.ม.) เมื่อรถแล่นถึงประตูทางเข้าชั้นนอกของสนามบิน เจอแท่งแบริเออร์คอนกรีตวางกีดขวาง ถูกบังคับให้เลี้ยวซ้ายไปเป็นกิโลเพื่อกลับรถ เสียเวลาอีกกว่าครึ่งชั่วโมง เมื่อวิ่งย้อนมาถึงประตูทางเข้าชั้นนอก ทุกคนต้องลงจากรถ เดินแยกเลนชาย-หญิง เข้าไปประมาณ 1 - 200 ม. ถึงจุดตรวจค้นร่างกายครั้งที่ 1
เดินต่ออีกราว 5 - 600 เมตรไปรอรับกระเป๋าเดินทางที่รถมาส่งใกล้ๆจุดตรวจจุดที่ 2 ทุกคนต้องยกกระเป๋าเดินทางกับสัมภาระทุกชิ้นเข้าเครื่องสแกน เอง และตรวจค้นร่างกาย ตอนบินไปมาซารีชารีฟ รถมารับเราและกระเป๋าจากจุดนี้ไปส่งที่ลานจอดรถบริเวณพื้นที่ชั้นกลาง แต่ตอนที่บินจากคาบูลกลับปากีสถาน ต้องเดินลากกระเป๋าจากจุดนี้ต่อไปจนถึงประตูรั้วชั้นใน ไกลเป็นกิโล โชคดีที่กระเป๋าเดินทางและกระเป๋าถือขึ้นเครื่องมีสี่ล้อและล้อแข็งแรง สภาพดี จึงเบาแรง ไม่ทุลักทุเลนัก
ตรงทางเข้าอาคารเที่ยวบินในประเทศ ต้องสแกนกระเป๋าและตรวจค้นร่างกายครั้งที่ 3 เมื่อตรวจเอกสารประจำตัวแล้ว เดินไปในอาคารอีกนิดเดียว ต้องตรวจเอกสารเดินทาง สแกนกระเป๋าและตรวจค้นร่างกายอีกเป็นครั้งที่ 4 ตรวจค้นเข้มข้นแบบลูบจริง จับจริง แต่เจ้าหน้าที่หญิงชายทุกจุดสุภาพดี
ระหว่างนั่งรอที่ประตูขึ้นเครื่อง มีชายอัฟกันหนวดเคราครบ อายุราว 50-60 ปี ท่าทางเป็นมิตร สื่อสารอังกฤษคล่อง ทักทายพวกเรา แสดงความดีใจที่เห็นคนต่างชาติมาเยือน บอกความในใจว่าอยากให้คนต่างชาติมาท่องเที่ยวกันเยอะๆ
สนามบินมาซารีชารีฟเป็นสนามบินระหว่างประเทศ แม้จะเป็นเที่ยวบินภาย ในประเทศ แต่มีเจ้าหน้าที่ยืนสอดส่องและชี้ให้ผู้โดยสารต่างชาติทุกคน (มีกลุ่มเรา กลุ่มฝรั่งเศส และคนจีนมาเดี่ยวอีก 2-3 คน) ไปแสดงเอกสารที่เคาน์เตอร์ตรวจคนเข้าเมืองอีก เสียเวลาเล็กน้อยเพราะเจ้าหน้าที่ไม่พูดภาษาอังกฤษ ไกด์ต้องรวบรวมพาสปอร์ตแล้วคุยกับเจ้าหน้าที่ จึงผ่านไปรับกระเป๋าได้เร็วขึ้น
ทุกคนต้องเข็นกระเป๋าเดินทางจากอาคารผู้โดยสารออกไปที่ลานจอดรถนอกประตูรั้วชั้นในของสนามบินมาซาร์ ระยะทางเกินครึ่งกิโล จึงถึงลานจอดรถ คงเป็นมาตรการรักษาความปลอดภัย
พวกเราไปเช็คอินที่โรงแรมก่อน เพราะเป็นเมืองเล็ก ไม่มีโรงแรมหลายๆดาวให้เลือกนัก จึงพักโรงแรม 2 ดาว (เราให้ดาวเอง) มี 6 ชั้นรวมชั้นใต้ดิน ไม่มีลิฟต์ ห้องน้ำแบบเปียก(และส้วมยอง) ความสะอาดโดยรวมถือว่าผ่าน
มาซาร์เป็นเมืองสงบเมื่อเทียบกับเมืองอื่น แม้กำแพงรั้วจะสูง แต่หน้าโรงแรมมีแค่ไม้กระดกกั้นไว้และปิดประตูรั้วตลอดเวลา ต้องโทรบอกคนที่โรงแรมให้เปิด คนเฝ้าประตูไม่มีอาวุธสงคราม
จากนั้นไปกินมื้อกลางวันที่ร้านมานซูร์ ท่าทางโด่งดังเอาการเพราะจัดโต๊ะให้ลูกค้าไว้ในอาคารทั้งสองฝั่งถนนในซอย มีรถเก๋งจอดเต็มหน้าร้าน ในร้านอีกฝั่งก็มีคนท้องถิ่นนั่งเต็ม
เมนูเนื้อแพะย่างนุ่มๆ รสกลมกล่อม ไม่มีกลิ่นสาบ เนื้อไก่ย่าง (เนื้อสัตว์ย่างของอัฟกันจะเสียบแท่งสเตนเลสแบนๆเหมือนที่ใช้ในเอเชียกลางและปากีสถาน) ข้าวผัดพลอฟ/พิลัฟเนื้อแกะ(pilaf)ที่เป็นอาหารประจำถิ่นเอเชียกลาง และแกงหรือซุปถั่วลูกไก่ อร่อยทุกอย่างโดยเฉพาะเนื้อแพะย่าง แถมไส้กรอกอีสานและส้มตำจากไทย ตบท้ายด้วยเมล่อนอัฟกัน รสชาติหวานกรอบ ชื่นใจ อัฟกานิสถานและประเทศเอเชียกลางมีชื่อเสียงเรื่องเมล่อน (แตงโมและแคนตาลูปรูปร่างยาวๆ) ถั่วชนิดต่างๆและผลไม้เมืองหนาว
แม้อัฟกาฯร่ำรวยน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ แต่ครัวตามร้านอาหารที่แวะหลายแห่งยังใช้ฟืน กลุ่มเราฝากท้องกับร้านมานซูร์ถึง 3 มื้อเพราะมื้อสุดท้ายอีก 2 ร้านที่แวะ ไม่เปิดบริการ แถวหน้าร้านมีเด็กๆมารุมขอเงินจากลูกค้า คนท้องถิ่นหลายคนรวมทั้งไกด์ให้เงินเด็กๆ แต่พวกเราแบ่งขนมให้เพราะไม่มีแบงก์ย่อย (เงินอัฟกานิสถาน 1 “อัฟกานี” เท่ากับประมาณ 50 สตางค์) ภาพเด็กมารุมแบมือขอ กลายเป็นสิ่งที่เจอบ่อยมาก ไกด์บอกว่าบ่อยครั้งก็ทำกันเป็นธุรกิจ (แต่ไกด์เองก็มักจะควักเงินให้เด็กเสมอๆ)
อิ่มท้องแล้วจึงเคลื่อนพลไปแสดงตัวที่กองอำนวยการข้อมูลและวัฒนธรรมของเมือง (The Information and Culture Directorate) ไกด์ถือเอกสารและพาสปอร์ตของพวกเราไปคุยกับเจ้าหน้าที่ก่อน สักพักจึงเรียกให้ตามเข้าไป
ด้านในของประตูรั้วมีคนของตาลีบันถืออาวุธสงครามเฝ้าอยู่ ช่วงที่เข้าไป เจอเด็กหนุ่มตาลีบันวัย 20 - 30 ปีนับสิบคนบังเอิญกรูออกมาจากห้องพักผ่อน ทุกคนไว้หนวดเครา เราเดินผ่านไปนั่งรอ(น่าจะเป็นห้องทำงานของผู้อำนวยการ)ครู่หนึ่ง มีชายวัย 50 ปีเศษเข้ามาคุยกับไกด์ สนทนากันสักพัก จึงให้พวกเรากลับไปขึ้นรถเพื่อเริ่มท่องเที่ยวสู่จุดหมายแห่งแรก
กำเนิดเมืองมาซารีชารีฟ
ช่วงคริสตวรรษที่ 9 – 19 ภูมิภาคแถบนี้(ช่วงแรกยังไม่มีเมืองมาซารีชารีฟ)เป็นส่วนหนึ่งของดินแดนที่เรียกว่าโฆราซาน (Khorasan) มักเกิดศึกสงครามช่วงชิงอำนาจและดินแดนกันเนืองๆ มีมุสลิมจากราชวงศ์ต่างๆ เช่น ตาฮีริด ซัฟฟาริด ซามานิด กาซนาวิด กูริด อิลคาเนต ติมูริด และรัฐสุลต่านบุคฮารา เปลี่ยนมือกันเข้ามาปกครอง
ชื่อ โฆราซาน (Khorasan) ใช้ครั้งแรกในสมัยซัสซาเนียน (จักรวรรดิแห่งที่สามของเปอร์เซีย) เพื่อเรียกดินแดนทางตะวันออกของจักรวรรดิ ได้แก่พื้นที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอิหร่านปัจจุบัน บางส่วนของอัฟกาฯปัจจุบัน และทางใต้ของเอเชียกลางปัจจุบัน
ในคริสตวรรษที่ 12 เมื่อมีการค้นพบสุสานอิหม่ามอาลีตามนิมิตของนักการศาสนาในท้องถิ่นท่านหนึ่ง สุลต่านอาห์เหม็ด สัญจาร์แห่งจักรวรรดิเซลจุกโปรดให้สร้างสุสานและพัฒนาพื้นที่โดยรอบขึ้นเรียกว่า มาซารีชารีฟ (แปลว่าสุสานของนักบุญ)
ค.ศ. 1751 (พ.ศ. 2294 ตรงกับสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ) มาซาร์และดินแดนทางใต้ของแม่น้ำอามู ดาร์ยา กลายเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิดูร์รานี ก่อนจะเปลี่ยนมือไปอยู่ในปกครองของอาณาจักรคุลม์ Khulm ในปี ค.ศ. 1790 - 1817 (พ.ศ. 2333 - 2360 ตรงกับ ร. 1 – ร. 2)
ปี ค.ศ. 1849 (พ.ศ. 2392 ตรงกับ ร. 3) ถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของ ”อัฟกา นิสถาน” ในคริสตวรรษที่ 19 เมื่อเศรษฐกิจตกต่ำและเกิดโรคระบาดขึ้นในภูมิภาคนี้มีการย้ายเมืองเอกจากบัลค์มายังมาซารีชารีฟ
ช่วงสงครามโซเวียต - อัฟกันในทศวรรษที่ 1980 มาซาร์เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ มีถนนเชื่อมกับโซเวียตเข้าทางสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตอุซเบกิสถาน โซเวียตใช้สนามบินที่นี่เป็นฐานบินโจมตีกลุ่มกบฏมูญาฮิดีน มาซาร์ยังเป็นฐานของกองทัพแห่งชาติอัฟกันที่โซเวียตหนุนหลังอีกด้วย
พ.ศ. 2535 ประมาณหนึ่งปีหลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลาย รัฐบาลของนายนาญิบุลลอห์ที่เคยได้รับการสนับสนุนจากโซเวียตหมดอำนาจลง ราชิด โดสตูมชาวอัฟกันเชื้อสายอุซเบกฯ ผู้บัญชาการกองทัพแห่งชาติอัฟกันยึดมาซาร์ เข้าบริหารเมืองโดยไม่ใช้หลักศาสนาปกครอง ส่งเสริมการศึกษาแบบสหศึกษาและพัฒนาเศรษฐกิจด้านต่างๆ มาซาร์กลายเป็นเมืองหลวงทางเหนือของประเทศโดยพฤตินัย
แต่ดังคำกลอน “สนิมเหล็กเกิดแต่เนื้อในตน” ในปี พ.ศ. 2540 อับดุล มาลิก ปาฮ์ลาวัน ผู้นำอีกคนของกองทัพซึ่งมีเชื้อสายอุซเบกฯเช่นกันมีความขัดแย้งส่วนตัวกับราชิด โดสตูม ปาฮ์ลาวันแอบไปร่วมมือกับตาลีบัน จนตาลีบันสามารถยึดมาซาร์ได้สำเร็จ ต่อมาปาฮ์ลาวันกลับเกรงภัยถึงตน จึงสังหารโหดฝ่ายตาลีบันหลายพันคน จนนำไปสู่โศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ในเวลาต่อมาที่ตาลีบันสังหารหมู่คนบริสุทธิ์จำนวนมากกว่าเท่าตัวในมาซาร์และบามิยัน
รัฐบาลตาลีบันถูกโค่นล้มเมื่อ พ.ศ. 2544 โดยกองกำลังนาโต้ภายใต้การนำของสหรัฐอเมริกา มีการเปิดสำนักงานข้าหลวงด้านสิทธิมนุษยชนแห่ง อัฟกันขึ้นในมาซารีชารีฟ และบามิยันในปี พ.ศ. 2546 เท่าที่อ่านและฟังข้อมูล แม้จะมีการปะทะต่อสู้ระหว่างฝ่ายต่างๆในมาซาร์ช่วงสงครามกลาง เมือง แต่โดยเปรียบเทียบ มาซาร์ยังสงบกว่าที่อื่น และถือว่าเป็นหนึ่งในเมืองที่ปลอดภัยที่สุดของประเทศ
สถานที่ท่องเที่ยวแห่งแรกที่เราไปชมคือ Chargent Gate หรือบางที่เรียก Shadian Porch ตามชื่อทิวเขาสูงชันที่ขนาบสองข้างยาวตลอดแนว ที่นี่ห่างจากเมืองมาซาร์ราว 20 ก.ม. ถนนช่วงแรกลาดยาง เมื่อออกนอกชุมชนเป็นถนนลูกรัง สองข้างทางเป็นทิวเขาแห้งแล้งดินแห้งผาก นานๆจึงจะเห็นหญ้าแห้งขึ้นเป็นหย่อมๆบนเนินเขา ไกด์เล่าว่าหุบเขาชาร์เก้นด้านในเป็นแหล่งเพาะปลูกองุ่น ผลไม้และถั่วบางชนิด
Chargent Gate เป็นป้อมประตูที่สร้างคร่อมช่องเขาชาเดี้ยน (Shadian) ที่เป็นปราการธรรมชาติอย่างดี เป็นจุดสกัดเส้นทางเข้าสู่หุบเขาชาร์เก้น ป้อมประตูนี้สร้างในคริสตวรรษที่ 10 ยุคจักรวรรดิซามานิดเพื่อป้องกันการรุกรานของข้าศึก สามารถต้านทานข้าศึกมาหลายสมัย ตั้งแต่การโจมตีของทัพมองโกลในคริสตวรรษที่ 13 การโจมตีของโซเวียตและตาลีบันในคริสตวรรษที่ 20 – 21
นับตั้งแต่คริสตวรรษที่ 7 - 8 ราชวงศ์มุสลิมอาหรับขยายอำนาจเข้ามาในเอเชียกลาง แว่นแคว้นหรืออาณาจักรต่างๆในแถบนี้ล้วนปกครองโดยชาวมุสลิมต่างชาติ ซามานิดหรือซามาเนียนเป็นราชวงศ์/จักรวรรดิมุสลิมของคนท้องถิ่นแห่งแรกในเอเชียกลางที่ต่อสู้ ยึดอำนาจและขับไล่ผู้ปกครองมุสลิมต่างชาติออกไป จักรวรรดินี้เรืองอำนาจระหว่าง ค.ศ. 819 - 999
คนท้องถิ่นเผ่าต่างๆในภูมิภาคนี้เป็นกลุ่มคนที่ได้รับอิทธิพลด้านต่างๆจากเปอร์เซียมาตั้งแต่ยุคก่อนคริสตกาล จักรวรรดิซามานิดเป็นส่วนหนึ่งของกระแสการฟื้นฟูอิทธิพลดั้งเดิมทางศิลปะ วัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ ภาษาและวรรณกรรมของเปอร์เซียขึ้นมาใหม่ที่เรียกว่า Iranian Intermezzo หรือ Persian Renaissance (ยุค Renaissance ในยุโรปเริ่มขึ้นประมาณคริสตวรรษที่ 14)
ต้นราชวงศ์ซามานิดเป็นเจ้าที่ดินในแคว้นบัลค์ ปี ค.ศ. 819 สี่พี่น้องของตระกูลช่วยปราบกบถ จึงได้อวยยศให้ครองตำแหน่งเจ้าเมืองซามาร์คันด์ เฟอร์กานา ทัชเคนต์และเฮรัตในฐานะประเทศราชของราชวงศ์อับบาสิด/อับบาซียะฮ์ ต่อมา ค.ศ. 892 อิสมาอิล ซามานีซึ่งเป็นรุ่นลูกหลานได้รวมดินแดนของ 4 พี่น้องเข้าด้วยกันและตั้งตนเป็นอิสระจากอับบาสิด
ปลายคริสตวรรษที่ 9 - ต้นคริสตวรรษที่ 10 เป็นช่วงที่จักรวรรดิซามานิดขยายดินแดนออกไปอย่างกว้างขวาง จากซามาร์คันด์ บุคฮารา ลงมาถึงบัลค์ และหลายพื้นที่ในอัฟกานิสถานปัจจุบัน อิสมาอิล ซามานีมีชัยเหนืออาณาจักรซัฟฟาริดในการรบใกล้บัลค์ และมีอำนาจปกครองทรานโซเซียเนีย (เอเชียกลาง) และโฆราซาน (เปอร์เซียตะวันออก)
ป้อมประตู Chargent Gate ที่เห็นในปัจจุบันบูรณะใหม่ มีสองชั้น ชั้นล่างด้านใน ทิ้งร่องรอยของผนังอิฐเดิมไว้บางจุด บันไดทางขึ้นทั้งสูงทั้งชันมาก บันไดด้านในมืดสนิท แม้จะถอดใจตั้งแต่แรกเห็นทางขึ้น แต่ในที่สุดทุกคนพากันทั้งปีนทั้งคลานขึ้นไปเริงร่า กินลม ชมวิวมุมสูงได้สำเร็จ
มัสยิดสีฟ้า Blue Mosque of Mazar-e-Sharif
มาซารีชารีฟแปลว่าสุสานของนักบุญ มีตำนานเล่าว่าหลายร้อยปีก่อนอิหม่ามอาลีปรากฏกายในนิมิตของนักการศาสนาอัฟกันคนหนึ่ง และบอกว่าที่ฝังศพของท่านอยู่ใกล้เมืองบัลค์ มีการค้นหาและพบสุสานของท่านตามนิมิต ในทศวรรษที่ 1130 สุลต่านอาห์เหม็ด สัญจาร์แห่งราชวงศ์เซลจุกซึ่งปกครองดินแดนนี้จึงโปรดให้สร้างเมืองและสุสาน (Shrine of Ali) ขึ้น ณ จุดดังกล่าว ซึ่งเป็นที่ตั้งในปัจจุบัน
ต่อมาราว ค.ศ. 1220 (พ.ศ.1763 ก่อนการก่อตั้งสุโขทัย 29 ปี) สุสานนี้ถูกกองทัพเจงกิสข่านทำลายและทิ้งร้างไว้จนกระทั่งปี ค.ศ. 1481 (พ.ศ. 2024 ตรงกับสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ) สุลต่านฮุสเซ็น เบย์คาราห์ มีร์ซาแห่งจักรวรรดิติมูริดโปรดให้สร้างอาคารขึ้นใหม่ในที่ตั้งเดิมด้วยสถาปัตย กรรมแบบติมูริด
เราไม่มีข้อมูลว่าอาคารทั้ง 5 หลังสร้างในยุคเดียวกันหรือทะยอยสร้าง ส่วนงานตกแต่งอาคารที่เห็นในปัจจุบันได้รับการบูรณะขนานใหญ่ในคริสตวรรษที่ 20 นี่เอง แม้จะเป็นที่ตั้งสุสานอิหม่ามอาลี แต่มาซารีชารีฟยังคงเป็นเพียงเมืองๆหนึ่งในแคว้นบัลค์เรื่อยมา จนกระทั่งมีการย้ายเมืองเอกจากเมือง บัลค์มายังมาซารีชารีฟในคริสตวรรษที่ 19
ชาวอัฟกัน(นิกายสุหนี่)เชื่อว่า ที่นี่เป็นสุสานของ ฮัซรัต อาลี อิบน์ อะบี ฏอลิบ หรืออิหม่ามอาลีซึ่งเป็นทั้งญาติ เพื่อนและบุตรเขยของพระศาสดาโมฮัมหมัด มาซาร์จึงเป็นเมืองศักดิ์สิทธิ์ ในเทศกาลเนารุส (ช่วงปลายเดือนมีนาคมของทุกปี เป็นเทศกาลวันขึ้นปีใหม่ในศาสนาโซโรแอสเตอร์) ชาวมุสลิมนิกายสุหนี่จะมาแสวงบุญที่มัสยิดแห่งนี้ แต่ชาวมุสลิมส่วนใหญ่รวมทั้งนิกายชีอะห์เชื่อว่าศพของอิหม่ามอาลีอยู่ที่มัสยิดอิหม่ามอาลีในเมืองนาจาฟ อิรัก
มัสยิดนี้มีอีกชื่อว่ามัสยิดสีฟ้าตามสีกระเบื้องที่กรุอาคารมัสยิดซึ่งตั้งบนพื้นที่ขนาดใหญ่ล้อมรอบด้วยสวนรอว์ซาที่ขยายเพิ่มเติมภายหลัง ที่นี่เป็นเมืองศักดิ์สิทธิ์และสถานที่ท่องเที่ยวที่ไม่ควรพลาด ต้องมาเยือน เรามาด้วยความคาดหวังเต็มเปี่ยมว่าจะได้คารวะสุสานอิหม่ามผู้วายชนม์และเยี่ยมชมความงามของสถาปัตยกรรมยุคติมูริด จินตนาการถึงความงามของหมู่อาคารทั้ง 5 หลังที่นี่เทียบกับกลุ่มมัสยิดที่ Registan Square ในซามาร์คันด์ อุซเบกิสถาน
แต่ได้รับการบอกเล่าจากไกด์วันนั้นว่า รัฐบาลเพิ่งเปลี่ยนกฎระเบียบใหม่ ห้ามสตรีเข้ามัสยิดนี้! จึงมีเพียงสามหนุ่มเท่านั้นที่ได้เข้าชมด้านใน ผิดหวังมากนะ สิ บอก ไห่
พวกเราเหล่าสตรีผู้ร่วมแบกโลกไว้ครึ่งใบไม่ลดละความพยายาม แม้ไม่ได้เข้าชม ก็พากันเดินทักษิณาวรรตเลียบรั้วเพื่อเก็บภาพมัสยิดด้านใน แต่ไม่ได้ภาพสวยสมใจนัก เดินกันเป็นกิโลๆเพราะพื้นที่มัสยิดใหญ่มาก ติมูร์ตากล้องประจำทริปจากบริษัททัวร์คอยตามดูแล เราจะหยุดหรือแวะตรงไหน ติมูร์จะคอยกวักมือเรียกมาดามๆให้เดินเกาะกลุ่ม ไม่แตกแถวไปไกลเพราะหลายปีก่อนเคยเกิดกรณีนักท่องเที่ยวถูกวิ่งราวกล้องหรือมือถือขณะถ่ายรูปอย่างเพลิดเพลิน
รอบๆรั้วมัสยิดมีพ่อค้าเร่นำสินค้าสารพัดชนิดมาวางขาย ทั้งรถเข็นทั้งแผงลอย ขายผลไม้ ของใช้ในบ้าน บ้างขึงเชือกแขวนเสื้อผ้าเรียงเป็นตับ เดินผ่านป้ายติดข้างทางว่ามี underground bazaar ก็อยากจะลงไปดูว่าคืออะไร แต่ติมูร์ห้ามไว้เพราะใกล้ถึงเวลานัดหมาย ระหว่างทาง เจอเด็กโตใช้กำลังรังแกเด็กที่เล็กกว่าแบบ”กำหมัดคือยุติธรรมจงจำไว้”โดยคนรอบข้างไม่ห้ามปรามหรือใส่ใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นเลย ปล่อยให้พวกเราเดินบ่นกับสิ่งที่เห็นอย่างไม่พอใจ
มัสยิดมีซุ้มประตูทางเข้าหลายทาง เจอผู้หญิงอัฟกันกลุ่มใหญ่ยืนออที่ประตูทางเข้าแห่งหนึ่ง พวกเธอส่งภาษามือภาษาใบ้ให้พวกเราร่วมต่อคิวเข้ามัสยิดด้วยกัน แต่สุดท้ายเจ้าหน้าที่พร้อมอาวุธปืนไม่ให้เข้า ฟังดูสับสนเหมือนว่า อนุญาตให้ผู้หญิงเข้าไปสักการะด้านในได้บางวัน แต่สื่อความกันไม่รู้เรื่อง
นอกจากสุสานของอิหม่ามอาลีแล้ว ในพื้นที่ของมัสยิดสีฟ้ายังมีสุสานเจ้าเมืองและนักการเมืองคนสำคัญ รวมทั้งอามีร์ โดสต์ โมฮัมหมัด ข่านแห่งคาบูลที่เคยประมือกับเจ้าอาณานิคมอังกฤษในสงครามแองโกล - อัฟกันด้วย ข้อมูลบางแห่งว่าด้านในยังมีอนุสาวรีย์ของอาห์หมัด ชาห์ มาซูด ผู้นำพันธมิตรฝ่ายเหนือที่ต่อต้านทหารโซเวียตซึ่งเข้ามาอัฟกาฯตามคำร้องขอของรัฐบาลขณะนั้นและยังมีบทบาทต่อต้านฝ่ายตาลีบันด้วย แต่ตอนนี้ฝ่ายตาลีบันเข้ามาบริหารประเทศแล้ว ไม่รู้ว่าจัดการกับอนุสาวรีย์ของมาซูดอย่างไร
เราไม่อาจบรรยายรายละเอียดความงามหรือความน่าสนใจของหมู่อาคารทั้ง 5 ได้เพราะไม่มีโอกาสได้เห็นด้วยตาตนเอง มีเพียงรูปถ่ายจากริมรั้วของเพื่อนๆ และรูปถ่ายด้านในของสามหนุ่มมาให้ชม
ขอบคุณภาพถ่ายของเพื่อนร่วมทริปทุกๆคนค่ะ
ท่องเที่ยว
บันทึก
6
2
5
6
2
5
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย