12 ต.ค. 2023 เวลา 07:06 • หุ้น & เศรษฐกิจ

BANPU กับโอกาสการเติบโต หลังคว้าโรงงานแบตฯ รองรับรถยนต์ไฟฟ้า

ในปีนี้ตลาดหุ้นไทยถือเป็นอีกหนึ่งปีที่ดัชนี มีความเคลื่อนไหวในแดนลบเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งแน่นอนว่าราคาหุ้นของหลายบริษัทเองก็มีปรับตัวไปในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้น และบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU ก็เป็นหนึ่งหุ้นที่มีการปรับลดลงมาอย่างรุนแรง หรือตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน กับ (ณ วันที่ 10 ต.ค.66) ปรับตัวลดลงถึง 42.34%
ทำให้นักลงทุนหลายคนตั้งคำถามขึ้นว่า เกิดอะไรขึ้นและจะเป็นโอกาสเหมาะสมที่จะเข้าลงทุนได้หรือไม่ ในวันนี้ทาง Wealthy Thai จะพามาดูพื้นฐานของธุรกิจและโอกาสการเติบโตในอนาคตผ่านมุมมองของนักวิเคราะห์กัน
ล่าสุดได้ประกาศข่าวดี บริษัท บ้านปู เน็กซ์ จํากัด (Banpu NEXT) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทและบริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จํากัด (มหาชน) หรือ BPP ที่ถือหุ้นในสัดส่วนที่เท่ากันคือ 50% ได้ลงนามในสัญญาเพื่อเข้าซื้อหุ้น 40% ในบริษัท เอส โวลต์ เอเนอร์จี้ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จํากัด (SVOLT Thailand)
โดยมีมูลค่าการลงทุน 750 ล้านบาท จากผู้ถือหุ้นเดิม คือ SVOLT Energy Technology (Hongkong) ซึ่งจะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ร้อยละ 60 ใน SVOLT Thailand ทั้งนี้คาดว่าจะทํารายการซื้อขายหุ้นแล้วเสร็จภายในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2566
SVOLT Thailand ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2566 ที่อําเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ประเทศไทย เพื่อจัดตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ (Module pack Factory) มุ่งเน้นเรื่องการวิจัยและพัฒนา ดําเนินการผลิตและจัดจําหน่ายแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน รวมทั้งธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการนําเข้าและส่งออกแบตเตอรี่ การบริการแบบครบวงจร
อีกทั้งการให้บริการด้านเทคนิค การบริการ ให้คําปรึกษาแนะนําพร้อมเสนอโซลูชันเรื่องแบตเตอรี่และการจัดเก็บพลังงานตามความต้องการของลูกค้า (ทั้งนี้ไม่ได้รวมการให้บริการในด้านการขอใบอนุญาตต่างๆ)
ความน่าสนใจของการลงทุนในครั้งนี้ SVOLT Thailand มีกําลังการผลิตเริ่มต้นที่ 60,000 ชุดต่อปี ซึ่งจะเริ่มส่งมอบในช่วงไตรมาสแรกปี 2567 มีกลุ่มลูกค้าหลักเป็นยานยนต์ไฟฟ้าชื่อดัง ทั้ง GWM และ Hozon และในอนาคตยังสามารถขยายกําลังการผลิตเพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น
ดีลการลงทุนดังกล่าว นักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด ได้ให้มุมมองว่า การเข้าลงทุนของบริษัท บ้านปู เน็กซ์ จํากัด ทำให้ BANPU เป็นโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในไทยรายแรกที่ซัพพลายให้แก่ผู้ประกอบการรถยนต์ไฟฟ้าจีน
ขณะเดียวกันในระยะยาวหากมีผู้ประกอบการต่างชาติเข้ามาทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในไทยและเข้าร่วมกับโครงการ EV ของภาครัฐ ภายใต้เงื่อนไขที่ต้องมีกำลังการผลิตเป็น 2.5 เท่าของยอดขายในประเทศ และต้องใช้ซัพพลายเออร์ในประเทศ ก็มีโอกาสที่ BANPU จะได้รับประโยชน์ดังกล่าว
พร้อมกันนี้ ประเมินว่าธุรกิจดังกล่าวจะช่วยต่อยอดให้แก่บริษัท บ้านปู เน็กซ์ จํากัด ที่มุ่งเน้นการทำในธุรกิจพลังงานสะอาดและยานพาหนะไฟฟ้าประเภทต่างๆ รวมถึงจะช่วยหนุนให้บริษัทมีศักยภาพได้ดีในอนาคต และสามารถเข้าตลาดหุ้นไทยได้ในระยะถัดไป
ส่วนราคาก๊าซธรรมชาติในยุโรปที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากปัจจัยด้านฤดูกาลและการหยุดงานประท้วงในอุตสาหกรรมก๊าซธรรมชาติ ส่งผลให้เกิดความกังวลด้านซัพพลายที่อาจไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในฤดูหนาว ทำให้เกิดการเร่งสต๊อกมากในช่วงนี้
พร้อมกันนี้ จีนยังได้เตรียมพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม โดยการเพิ่มการขาดดุลมากขึ้นในปีนี้ (เกิน 3%) ซึ่งจะออกพันธบัตรรัฐบาล เพิ่มเติม 1 ล้านล้านหยวน หรือราว 1.37 แสนล้านดอลล่าร์ (0.7% ของ GDP) สำหรับการใช้จ่ายในโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนได้ราคาถ่านหินและราคาก๊าซปรับตัวขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญ
ขณะที่ราคาก๊าซธรรมชาติในสหรัฐฯที่ทรงตัวได้ในระดับสูง ซึ่งหากสามารถแกว่งตัวขึ้นในระดับ 4 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู จะเป็นตัวช่วยให้กรอบระยะเวลาของ BKV เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯเกิดได้เร็วขึ้น ซึ่งบริษัทเคยพิจารณากรอบราคาก๊าซธรรมชาติหากยืนที่ 3 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู ได้ในไตรมาส 4/66 ก็จะสามารถทำไอพีโอได้ในทันที
สำหรับแนวโน้มผลประกอบการของ BANPU ในไตรมาส 3/66 คาดจะทยอยฟื้นตัวจากไตรมาสก่อนหน้า โดยมีปัจจัยสนับสนุนตามการเพิ่มขึ้นของปริมาณขายถ่านหิน–ราคาก๊าซธรรมชาติ, อัตราภาษีจ่ายกลับเป็นปกติ และการเริ่มรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าTemple II
โดยหากมองข้ามไปช่วงไตรมาส 4/66 ประเมินว่าผลประกอบการจะเป็นจุดสูงสุดของปี หนุนจากการสู่ไฮซีซั่นของการใช้ก๊าซธรรมชาติ–ถ่านหิน โดยบริษัทจะได้อานิสงส์จากการพุ่งขึ้นของราคาพลังงานเต็มที่เพราะช่วงที่เหลือของปีมีสถานะป้องกันความเสี่ยงราคาถ่านหินไม่ถึง 1 แสนตัน และราคาก๊าซธรรมชาติเพียง 9% ของปริมาณขาย
นอกจากนี้ หุ้นยังมีปัจจัยบวกที่เรายังไม่ได้รวมไว้ในประมาณการ ได้แก่ ความคืบหน้าการผลักดัน BKV เข้าเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ช่วงปลายปี 2566 – ต้นปี 2567 (ขึ้นอยู่กับราคาก๊าซธรรมชาติ) และการเริ่มเปิดใช้งานโครงการ CCS แห่งแรก อย่างไรก็ดียังคงประมาณการกำไรสุทธิปี 2566 ที่ 1.30 หมื่นล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้า 84%
ทั้งนี้ ได้มีการปรับคำแนะนำเป็น “ซื้อ” ราคาเป้าหมายที่ 10 บาท เนื่องจากความผันผวนของราคาหุ้นกำลังสิ้นสุดลง อ้างอิงจากข้อมูลเชิงสถิติทั้งหลังหุ้นแปลงสภาพเข้าซื้อขายและการเข้าสู่ช่วง Golden Week ของจีนหุ้นมักจะกลับมาเคลื่อนไหว Outperform ได้ดี
พร้อมกับหากมองข้ามไปไตรมาส 4/66 จะเป็นช่วงเวลาที่ดีของราคาก๊าซธรรมชาติ–ถ่านหินจากการเข้าสู่ไฮซีซั่นในฤดูหนาว จากเหตุผลข้างต้น มองว่าปัจจุบันเป็นจังหวะดีในการเข้าสะสมเหมาะสำหรับนักลงทุนแบบ High Risk High Return และประกอบกับราคาปัจจุบันหุ้นมีอัพไซด์ที่เปิดกว้าง
ขณะที่บทวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ให้มุมมองว่า ช่วงที่ผ่านมาราคาก๊าซธรรมชาติ Henry Hub อยู่ที่ 3.33 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู เป็นจุดสูงสุดในรอบ 9 เดือน ด้วยแรงหนุนจาก EIA รายงานตัวเลขสต๊อกในคลังที่ต่ำกว่าคาด สะท้อนถึงอุปทานที่มีแนวโน้มตึงตัว ขณะที่กำลังเข้าสู่ฤดูหนาวซึ่งจะมีความต้องการใช้ก๊าซของภาคไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นมาก
โดยประเมินประเด็นดังกล่าวเป็นบวกโดยตรงต่อ BANPU ซึ่งมีแหล่งก๊าซธรรมชาติจำนวนมากในสหรัฐฯ โดยราคาก๊าซฯที่ปรับขึ้นจะส่งผลดีโดยตรงต่อรายได้และกำไร ในไตรมาส 4/66 รวมถึงแผนการเข้าจดทะเบียนของ BKV ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ
ทั้งนี้ราคาหุ้น BANPU ที่ลดลงแรง เป็นระดับการลดลงมากที่สุดในกลุ่มพลังงาน ช่วยให้ปัจจุบันซื้อขายด้วย P/B เพียง 0.6 เท่า และ P/E เพียง 3.5 เท่า นอกจากนั้น BANPU เพิ่งได้รับเงินเพิ่มทุนจากการแปลงสภาพ BANPU-W5 สูงถึง 1.2 หมื่นล้านบาท ช่วยให้ฐานะการเงินแข็งแกร่งขึ้น และเพิ่มโอกาสขยายธุรกิจใหม่ ดังนั้น จึงแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 9 บาท
โฆษณา