14 ต.ค. 2023 เวลา 04:00 • ธุรกิจ

Tesla ทำอย่างไร จึง “ลดราคา” รถยนต์ไฟฟ้าของตัวเอง ลงได้เรื่อย ๆ ?

เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา Tesla เพิ่งจะเปิดตัว Tesla Model 3 รุ่นใหม่ ในประเทศไทย อย่างเป็นทางการ
โดยมีราคาถูกลงเล็กน้อย จาก 1.659 ล้านบาท ในรุ่นเดิม ลดลงเป็น 1.599 ล้านบาท ในรุ่นใหม่
แต่ที่น่าสนใจที่สุด ก็คงหนีไม่พ้น Tesla Model Y ที่มีการปรับราคาใหม่ จากเดิมที่มีราคาเริ่มต้น 1.959 ล้านบาท เหลือเพียง 1.699 ล้านบาท หรือมีราคาถูกลงมากถึง 260,000 บาท
3
ซึ่งการลดราคารถยนต์ไฟฟ้าของ Tesla มากถึงหลักแสนบาทนี้ ก็เป็นเพราะการแข่งขันในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในเมืองไทย ที่เป็นไปอย่างดุเดือด
และผู้บริโภคชาวไทย มีตัวเลือกในการซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงหลายปีก่อน จากการที่ในขณะนี้มีแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าหลายเจ้า ที่เข้ามาทำตลาดในประเทศไทย อย่างเป็นทางการ
เช่นเดียวกับในต่างประเทศ ที่ Tesla ก็มีการประกาศปรับราคารถยนต์ไฟฟ้าของตัวเองอยู่เรื่อย ๆ เพื่อแข่งขันกับรถยนต์ไฟฟ้าของแบรนด์อื่น ๆ
3
อย่างในสหรัฐอเมริกา Tesla ก็มีการปรับลดราคาอยู่หลายครั้ง และล่าสุดเพิ่งจะประกาศปรับราคา Tesla Model 3 รุ่นเดิมลงสูงสุด 2,250 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 83,000 บาท)
คำถามที่เกิดขึ้นคือ ทำไม Tesla จึงสามารถปรับราคารถยนต์ไฟฟ้าของตัวเอง ลงได้เรื่อย ๆ ?
เรื่องนี้ MarketThink จะพาไปหาคำตอบกัน..
การที่จะตอบคำถามนี้ได้นั้น ต้องพาไปดูกันก่อนว่า Tesla ได้กำไรจากรถยนต์ไฟฟ้า 1 คัน มากน้อยเพียงใด
สำนักข่าว Reuters เคยมีการประเมิน กำไรโดยเฉลี่ยจากการผลิตรถยนต์ 1 คัน ของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ต่าง ๆ
1
และพบว่าในปัจจุบัน Tesla ได้กำไรจากการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 1 คัน ราว ๆ 15,636 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 577,000 บาท)
5
ในขณะที่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายอื่น ๆ มีตัวเลขกำไร ที่ได้จากการผลิตรถยนต์ 1 คัน ตามหลัง Tesla อยู่อีกมาก
2
- Toyota ได้กำไรเฉลี่ย 3,925 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 141,000 บาท) ต่อคัน
- General Motors ได้กำไรเฉลี่ย 3,818 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 138,000 บาท) ต่อคัน
- Ford ได้กำไรเฉลี่ย 3,115 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 112,000 บาท) ต่อคัน
- Volkswagen ได้กำไรเฉลี่ย 6,034 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 218,000 บาท) ต่อคัน
- BYD ได้กำไรเฉลี่ย 5,456 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 197,000 บาท) ต่อคัน
- Nio ได้กำไรเฉลี่ย 8,036 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 290,000 บาท) ต่อคัน
7
จะเห็นว่า Tesla ได้กำไรจากการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าต่อคัน มากกว่าบริษัทผู้ผลิตรถยนต์อื่น ๆ เป็นอย่างมาก
เช่นหากเทียบกับ Toyota ก็จะพบว่า Tesla มีกำไรจากการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 1 คัน คิดเป็น 4 เท่าตัวของ Toyota เลยทีเดียว
7
ซึ่งอัตรากำไรที่สูง หรือส่วนต่างกำไรตรงนี้นี่เอง
จึงเป็นช่องว่างที่ Tesla สามารถหั่นราคาขายรถของตัวเองลงได้ โดยที่ไม่เจ็บตัวมากนัก เมื่อเทียบกับคู่แข่ง
1
หรือข้อมูลในอีกด้านหนึ่ง นั่นก็คือ “ต้นทุนการผลิต” รถยนต์ไฟฟ้าแต่ละคัน ของ Tesla ที่มีการประเมินไว้ว่า
1
ในปี 2017 Tesla มีต้นทุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 1 คัน
อยู่ที่ 84,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3,190,000 บาท)
แต่ในปี 2022 ต้นทุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 1 คันของ Tesla
ลดลงเหลือเพียง 36,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1,320,000 บาท)
1
ก็คือ ต้นทุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 1 คันของ Tesla นั้น “ลดลงเกินครึ่ง” ภายในระยะเวลาเพียง 5 ปี เท่านั้น
2
ซึ่งสอดคล้องกับแผนการทำตลาดของ Tesla ที่ในช่วงแรก ๆ เริ่มทำตลาดด้วย Tesla Model S และ Model X ซึ่งมีราคาแพงก่อน
4
แล้วค่อยเริ่มทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้า ที่มีราคาถูกลงมา ตามลำดับ อย่าง Tesla Model 3 และ Model Y
คำถามต่อมาที่เกิดขึ้นคือ แล้ว Tesla ทำอย่างไร จึงมีกำไรต่อการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 1 คัน ที่สูง
แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีต้นทุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 1 คัน ที่ต่ำลงเรื่อย ๆ
เรื่องนี้ต้องบอกว่า เป็นเพราะความเก่ง ในการลดต้นทุนการผลิต ของ Tesla นั่นเอง
เพราะนอกจาก Tesla จะได้ประโยชน์จากเรื่องของ Economies of Scale
หรือก็คือ การประหยัดต่อขนาด ที่เกิดจากการผลิตสินค้าในจำนวนมาก จนทำให้ได้เปรียบในด้านต้นทุนจากการที่ต้นทุนต่อหน่วยต่ำลง
โดยที่ผ่านมา Tesla ได้ขยายกำลังการผลิตขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากตั้งแต่หลักหมื่นคัน หลักแสนคัน จนทะลุ 1.3 ล้านคัน เมื่อปี 2022 และคาดว่าจะแตะ 1.8 ล้านคัน ในปี 2023 นี้
พูดง่าย ๆ ว่า ยิ่ง Tesla ผลิตรถเยอะมากเท่าไร ต้นทุนของการผลิตรถ 1 คัน ก็ยิ่งต่ำลงเท่านั้น
1
มากไปกว่านั้น Tesla ยังได้มีการ “ปรับปรุง” กระบวนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ให้มีต้นทุนที่ต่ำลงเรื่อย ๆ มาโดยตลอด
ทั้งการปรับไปใช้กระบวนการผลิตโครงสร้างตัวถังของรถยนต์ ที่ใช้เครื่องจักรที่เรียกว่า Tesla Giga Press ที่สามารถ “ปั๊ม” โครงสร้างตัวถังของรถยนต์ทั้งคัน ภายในขั้นตอนเดียว
และมีความสามารถในการปั๊มโครงสร้างตัวถังของรถยนต์ ได้ 40 - 45 คัน ในระยะเวลา 1 ชั่วโมง
1
จึงช่วยลดขั้นตอน ระยะเวลา และต้นทุน ที่ใช้ในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของ Tesla ไปได้มาก
รวมถึงยังมีการออกแบบ ที่ตัดชิ้นส่วน หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ไม่จำเป็นออกไป เพื่อลดต้นทุน อีกด้วย
ตัวอย่างที่ง่ายที่สุด ก็คือ ในช่วงที่ผ่านมา Tesla ประกาศเลิกติดตั้ง Ultrasonic Sensor ทั้งหมด ในรถยนต์ไฟฟ้าของตัวเอง โดยเปลี่ยนไปติดตั้งกล้องรอบคัน ที่สามารถทำงานทดแทน Ultrasonic Sensor ในระบบ Full Self-Driving ได้
1
ซึ่ง Ultrasonic Sensor นี้ คาดว่ามีต้นทุน ราว ๆ 114 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 4,100 บาท)
แม้จะดูเหมือนเป็นจำนวนเงินที่น้อย เมื่อเทียบกับรถทั้งคัน แต่หากสมมติให้ Tesla ผลิตรถยนต์ได้ปีละ 1 ล้านคัน นั่นหมายความว่า Tesla จะประหยัดต้นทุนส่วนนี้ ได้มากกว่า 4,100 ล้านบาทต่อปี เลยทีเดียว..
1
และแน่นอนว่า Tesla ไม่ได้ลดต้นทุน ด้วยการตัด Ultrasonic Sensor ออกไปอย่างเดียวแน่นอน
แต่ยังมีการออกแบบอื่น ๆ รวมถึงการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยี และกระบวนการผลิตต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ที่จะเข้ามาช่วยลดต้นทุนได้อีก
2
จากข้อมูลทั้งหมดนี้ จึงไม่น่าแปลกใจเลย ว่าทำไม Tesla จึงสามารถ ลดราคาขายรถยนต์ไฟฟ้าของตัวเอง ลงได้เรื่อย ๆ มาโดยตลอด
2
ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะ Tesla สามารถลดต้นทุนการผลิต ลงได้อย่างมหาศาล จนทำให้ Tesla มีความสามารถในการแข่งขัน กับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายอื่นในตลาด
1
และที่น่าสนใจไปมากกว่านี้ ก็คือ ในอนาคตอันใกล้นี้ Tesla กำลังวางแผนที่จะลดต้นทุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ ของตัวเอง ให้ได้อีกครึ่งหนึ่ง
ซึ่งนั่นก็หมายความว่า ในอีกไม่นาน เราอาจได้เห็นรถยนต์ไฟฟ้าของ Tesla มีราคาที่เข้าถึงง่าย มากกว่าตอนนี้ ในราคาหลักแสนบาท..
โฆษณา