14 ต.ค. 2023 เวลา 04:09 • ประวัติศาสตร์

ดาวหางที่ว่าโรแมนติก ทำไมขอพรแล้วไม่เคยสมหวังสักที?: ดาวหางฮัลเลย์กับมุมมองวัฒนธรรมจีน (在中国文化中的哈雷彗星)

🎶💫 “และมีดาวหางดวงหนึ่งที่ยังโคจรในอวกาศ…”
ท่อนหนึ่งของเพลงที่ฮิตในช่วงนี้นี้ให้เราเห็นว่า หลายคนมองดาวหางฮัลเลย์ว่าโรแมนติกไปแล้ว
แต่ก็เป็นแค่มุมมองของคนปัจจุบันเท่านั้น เพราะถ้าเป็นสมัยก่อนแล้วล่ะก็ว้าวุ่นแน่นอน เพราะพวกเขาไม่ได้มองว่าโรแมนติกเลย แต่มองว่าเป็นสัญญาณของหายนะที่จะมายังบ้านเมืองต่างหาก อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้พูดถึงในมุมมองของคนไทย แล้วคนจีนล่ะ? พวกเขามองดาวหางฮัลเลย์อย่างไร ตามมาอ่านกันครับ
🎶💫 ดาวหางฮัลเลย์ ตัวแทนสุดโรแมนติกของวัฒนธรรมสมัยใหม่ทั้งไทยและจีน
ทุกวันนี้ดาวหางฮัลเลย์ (Halley’s Comet) ถูกมองว่าเป็นตัวแทนของความรักที่อาจจะฟังดูโรแมนติกยิ่งกว่าพระจันทร์ เพราะในขณะที่ดวงจันทร์ลอยล่องอยู่บนท้องฟ้าในยามค่ำคืนให้เราได้เห็นเกือบทุกวัน ดาวหางฮัลเลย์นั้นเดินทางไปไกลหลายล้านกิโลเมตรและวนกลับมาที่เดิม ราวกับได้ทำพันธสัญญากับโลกใบนี้ว่าจะกลับมาหาทุกๆ 75 ปี เลยทำให้วัยรุ่นมองว่าเหมือน “ความรักที่ซื่อสัตย์ มั่นคง ไม่เปลี่ยนแปลง” นั่นเอง
หากพูดถึงดาวหางฮัลเลย์ในวัฒนธรรมไทยปัจจุบัน ก็คงหนีไม่พ้นเพลง “ดาวหางฮัลเลย์” ของ Fellow Fellow อยู่แล้ว เป็นที่นิยมขนาดที่ยอดวิวสูงถึง 30 ล้านวิว นอกจากดนตรีจะเรียบเรียงมาดีแล้ว เนื้อเพลงยังโรแมนติกกินใจ เช่นท่อนฮุคของเพลงที่ร้องว่า
"ขออยู่ในชีวิตที่เหลือของเธอได้ไหม
อยากลืมตาแล้วได้พบเธอจนวันสุดท้าย
อยากเป็นคนที่ได้นอนดูดาวข้างเธออีกหมื่นวัน
และเอนไปจุมพิตเธอสักล้านครั้ง
อยู่กับฉันไปนานๆ นะเธอ”
และยังมีท่อนร้องช่วงที่ 2 (verse 2) อีกที่เรียกได้ว่าเป็นการบอกรักแบบไม่มีคำว่ารักเลย
"และมีดาวหางดวงนึงที่ยังโคจรในอวกาศ
ในช่วงชีวิตจะมีหนึ่งครั้งที่มองเห็นได้ด้วยตา
ดาวที่ฉันยังไม่เคยเห็นมาก่อน
ขอให้ถึงวันนั้น
ได้มีเธอรอดูมันด้วยกันกับฉัน”
ส่วนทางจีนเองก็มีการใช้ดาวหางเป็นกิมมิกในซีรีส์ที่ชื่อว่า 彗星来的那一夜 (The Night of the Comet) ในปี 2019 และมีภาคสองตามมาในปี 2020 ซึ่งจุดร่วมของทั้งสองภาคก็คือ มีการใช้ดาวหางเข้ามาเป็นต้นเหตุของปรากฏการณ์ของคู่พระนาง และก่อให้เกิดความรักในเวลาต่อมา ถ้าให้สรุปก็คืออารมณ์หนัง “อุบัติรักดาวหาง” อะไรทำนองนั้น
แต่ในความเป็นจริง ทั้งคนไทยและคนจีนในสมัยโยราณไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องโรแมนติกเลย แต่กลับมองว่าเป็นลางร้าย เช่น ในทางทฤษฏีห้าธาตุ (五行) ดาวหางเป็นการบ่งชี้ถึงการเสียสมดุลของหยินและหยาง นอกจากนี้ยังเชื่อว่านำพาภัยพิบัติมายังบ้านเมืองอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ในบทความนี้จะขอพูดถึงความเชื่อของคนจีนเป็นหลักและจะอธิบายอย่างละเอียดในหัวข้อถัดไป
💫 ความซวยที่(อาจ)มาพร้อมกับดาวหาง(ฮัลเลย์) ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
อย่างที่ได้บอกกันไปแล้วว่าในความเชื่อของคนจีน ช่วงที่ดาวหางปรากฎความซวยก็บังเอิญมาเยือนบ้านเมืองพร้อมๆ กันตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มาลองดูตัวอย่างบางช่วงเวลาตลอดประวัติศาสตร์จีนกันว่าดาวหางฮัลเลย์โผล่มาที่จีนแล้วเกิดโชคดีโชคร้ายอะไรบ้าง
หมายเหตุ: ทั้งนี้เรื่องโหราศาสตร์เป็นความเชื่อส่วนบุคคล โปรดใช้พิจารณญาณในการอ่าน
240 ปีก่อน ค.ศ. อารยธรรมจีนค้นพบดาวหางที่คาดว่าคือดาวหางฮัลเลย์เป็นครั้งแรก ในเวลาต่อมาเซี่ยไท่โฮ่ว (夏太后) ผู้มีศักดิ์เป็น “ย่า” ของ อิ๋งเจิ้ง 嬴政 (ชื่อเดิมก่อนที่จะขึ้นเป็นจิ๋นซีฮ่องเต้) ก็เสียชีวิตลง
87 ปีก่อน ค.ศ. พบดาวหางฮัลเลย์ในสมัยจักรพรรดิฮั่นอู่ตี้ 汉武帝 และเป็นปีเดียวกันที่ฮั่นอู่ตี้สวรรคต
ค.ศ. 218 พบดาวหางฮัลเลย์ในช่วงยุคสามก๊ก อีกสองปีให้หลัง ฮั่นเซี่ยนตี้ (汉献帝) ก็ถูกโจผี (曹丕) บังคับให้สละราชสมบัติ สิ้นสุดราชวงศ์ฮั่น
ค.ศ. 451 ดาวหางฮัลเลย์ถูกพบในช่วงราชวงศ์เหนือใต้ (南北朝) ณ ขณะนั้นกำลังเกิดสงครามระหว่างราชวงศ์เว่ยเหนือและซ่งใต้ ในปี 452 ราชวงศ์ซ่งใต้พ่ายแพ้ยับเยิน แต่ไท่อู่จง (太武宗) จักรพรรดิของราชวงศ์เว่ยเหนือก็ถึงแก่กรรม
ค.ศ.712 ดาวหางปรากฏในสมัยของจักรพรรดิถังรุ่ยจง (唐睿宗) ด้วยความเชื่อเรื่องโหราศาสตร์ จึงตัดสินใจสละราชสมบัติให้ถังเสวียนจง (唐玄宗) (แต่เรื่องราวจริงๆ ซับซ้อนซ่อนเงื่อนมาก เดี๋ยวไว้เล่าให้ฟังวันหลัง หรือตามอ่านได้ในลิงก์นี้)
ค.ศ. 837 สมัยจักรพรรดิถังเหวินจง (唐文宗) ปรากฏดาวหางฮัลเลย์ขึ้นอีกครั้ง เจ้าตัวมองว่าเป็นการสื่อสารจากสวรรค์ถึงตน พระองค์ตระหนักดีว่าที่ผ่านมาปกครองบ้านเมืองได้ไม่ดีนัก จึงอยากปรับปรุงตัวให้ดีขึ้น แต่ก็ไม่ได้มีโอกาสเพราะในปี 840 พระองค์ก็สวรรคต
ค.ศ. 1222 ดาวหางฮัลเลย์มาเยือนช่วงที่เจงกิสข่าน (成吉思汗) ครองราชย์ จะบอกว่าซวยก็คงไม่เชิง เพราะดาวหางครั้งนั้นเหมือนคำบอกจากจักรวาล ให้ตัดสินใจยกทัพไปบุกยุโรป และถึงแม้เขาจะถึงแก่กรรมไปในปี 1227 แต่ในที่สุดอาณาจักรมองโกลก็สามารถพิชิตแดนตะวันตกได้
ค.ศ. 1910 ดาวหางฮัลเลย์กลับมาเยือนโลกอีกครั้ง ตรงกับรัชสมัยของปูยี (溥仪) จักรพรรดิองค์สุดท้ายของราชวงศ์ชิง ดาวหางฮัลเลย์ถูกใช้เป็นเครื่องมือของฝ่ายปฏิวัติ และในปี 1912 ราชวงศ์ชิงก็ล่มสลายลงในที่สุด
ค.ศ. 1986 เป็นครั้งล่าสุดที่ดาวหางฮัลเลย์มาเยือนโลก ประเทศจีนกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน แต่ในอีก 3 ปีต่อมา วันที่ 4 มิถุนายน ปี 1989 ประเทศจีนเกิดเหตุการณ์ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน
หลายคนอาจสงสัยว่าลางไม่ดีที่เกิดจากดาวหางนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไรจากไทม์ไลน์ที่ร่ายมาก็น่าจะเห็นถึงความบังเอิญของเหตุการณ์กับการปรากฎของดาวหางแล้ว จึงไม่แปลกที่จะเข้าใจไปแบบนั้น
ส่วนที่เกี่ยวข้องกับจักรพรรดิมากเป็นพิเศษได้อย่างไร คำตอบที่พอจะตอบได้ก็คือ เพราะคนจีนมีความเชื่อว่าปรากฏการณ์บนท้องฟ้าอย่างดาวหาง ดาวตก หรือสุริยุปราคาเป็นสิ่งผิดปกติบนท้องฟ้า จึงเชื่อว่าเป็นลางร้าย และจักรพรรดิตามความเชื่อของจีนคือ “โอรสสวรรค์” (天子) การที่ท้องฟ้าเกิดปรากฏการณ์บางอย่างขึ้น ก็เหมือนกับเป็นการสื่อสารจากสวรรค์กับจักรพรรดิโดยตรง ซึ่งแต่ละพระองค์จะรับรู้ว่าอย่างไรบ้างก็คงขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล
💫 เห็นแสงเเวบรีบขอพร ร้อยวันพันปีไม่เคยจะให้พรใดๆ เพราะขอผิดดวงหรือเปล่า?
ว่ากันว่าถ้าดาวพาดผ่านท้องฟ้า ให้รีบขอพรขอพรแล้วจะสมหวัง แต่เคยเช็กกันหรือเปล่าว่าเป็นดาวหางหรือดาวตกกันแน่ บางทีอาจเป็นเพราะว่าเราไปขอพรดาวหางที่ขึ้นชื่อว่าเป็นลางร้ายก็เป็นได้
แล้วดาวหาง (彗星) กับดาวตก (流星) ต่างกันอย่างไร ตามมาอ่านกันต่อเลย
📌 ดาวหาง (彗星) คือวัตถุที่มีหินและน้ำแข็งเป็นส่วนประกอบ เมื่อเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ ส่วนที่เป็นน้ำแข็งจะระเหิดกลายเป็นแก๊ส หลังจากนั้นแสงอาทิตย์จะผลักให้แก๊สเหล่านั้นกระจายกลายเป็นหาง และถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นว่าดาวหางมี 2 หาง ก็คือ หางแก๊สและหางฝุ่น และลักษณะการกระจายตัวของหางคล้ายกับไม้กวาด และคำว่า 慧 จริงๆ แล้วความหมายเดิมคือ ‘ไม้กวาด’ (扫把) จึงเป็นที่มาของการเรียกดาวหางในภาษาจีนว่า 彗星 นั่นเอง
📌 ส่วนดาวตก (流星) คือสะเก็ดดาวที่ลอยอยู่ในอวกาศ แล้วถูกแรงดึงดูดของโลกดูดเข้ามาให้เราเห็นบนท้องฟ้า เมื่อผ่านชั้นบรรยากาศสะเก็ดดาวจะลุกไหม้ ทำให้เกิดแสงสว่างเป็นเส้นตรงอย่างที่เราเห็นกัน หากมีสะเก็ดดาวหลายดวงถูกดูดเข้ามา เราก็จะเห็นเป็นฝนดาวตก (流星雨) นั่นเอง
แต่อย่างที่รู้กัน ปัจจุบันในยุคที่วิทยาศาสตร์พัฒนาแล้ว ผู้คนก็ไม่ได้มองว่าดาวหางเป็นลางร้ายเหมือนสมัยก่อนอีกต่อไป ฉะนั้นใครจะขอพรจากดาวหางหรือดาวตกก็ขอไป ใครจะให้ดาวหางเป็นสัญลักษณ์ของพันธสัญญาแห่งความรักก็ไม่มีปัญหา เพราะเอาจริงๆ มันคือความสวยงามทั้งบนท้องฟ้า วัฒนธรรมและภาษาที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลา
บทความนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง @kan_tsing และ Tutustory เพื่อถ่ายทอดมุมมองภาษาและวัฒนธรรมที่คุณอาจจะไม่ทันคิด
อยากอ่านเนื้อหาผสมผสานภาษาและวัฒนธรรมติดตาม IG: @kan_tsing ได้เลย
เขียนและเรียบเรียงโดย @kan_tsing
เรียบเรียงและภาพโดย Tutustory
----------
โฆษณา