Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Timeless History (ประวัติศาสตร์ไร้กาลเวลา)
•
ติดตาม
15 ต.ค. 2023 เวลา 06:14 • ประวัติศาสตร์
“เลดีเจน เกรย์ (Lady Jane Grey)” ราชินีเก้าวันแห่งอังกฤษ
“เลดีเจน เกรย์ (Lady Jane Grey)” คืออดีตราชินีแห่งประเทศอังกฤษผู้ซึ่งไม่ค่อยเป็นที่พูดถึงหรือเป็นที่รู้จักเท่าไรนัก อาจจะเป็นเพราะพระองค์ครองราชย์เป็นระยะเวลาสั้นๆ เพียงแค่เก้าวันเท่านั้น
1
เลดีเจนเป็นเหมือนกับเครื่องมือของเหล่าผู้มีอำนาจ โดยพระองค์เป็นเชื้อสายของ “แมรี ทิวดอร์ สมเด็จพระราชินีแห่งฝรั่งเศส (Mary Tudor, Queen of France)” พระขนิษฐาของ “พระเจ้าเฮนรีที่ 8 แห่งอังกฤษ (Henry VIII)” และเลดีเจนก็ถูกมองว่าจะเป็นคู่ที่เหมาะสมกับ “พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 6 แห่งอังกฤษ (Edward VI)”
ต่อมาพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 6 ได้สวรรคตขณะมีพระชนมายุเพียง 15 พรรษา บัลลังก์ก็ได้ถูกส่งต่อมายังเลดีเจน ซึ่งส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อเรื่องราวในราชสำนัก
เลดีเจน เกรย์ (Lady Jane Grey)
ในไม่ช้า “เจ้าหญิงแมรี” หรือภายหลังคือ “สมเด็จพระราชินีนาถแมรีที่ 1 แห่งอังกฤษ (Mary I of England)” พระราชธิดาองค์ใหญ่ในพระเจ้าเฮนรีที่ 8 ก็ได้หาทางทวงสิทธิในบัลลังก์ และพระองค์ก็ทำสำเร็จ ทำให้เลดีเจนเป็นราชินีเพียงแค่เก้าวันเท่านั้น
ท้ายที่สุด เลดีเจนก็ถูกประหารด้วยพระชนมายุ 17 พรรษา
สำหรับพระราชประวัติของเลดีเจนนั้น พระองค์เสด็จพระราชสมภพราวปีค.ศ.1537 (พ.ศ.2080) โดยพระราชมารดาของพระองค์เป็นพระธิดาใน “แมรี ทิวดอร์ สมเด็จพระราชินีแห่งฝรั่งเศส (Mary Tudor, Queen of France)” พระขนิษฐาใน “พระเจ้าเฮนรีที่ 8 แห่งอังกฤษ (Henry VIII)”
แมรี ทิวดอร์ สมเด็จพระราชินีแห่งฝรั่งเศส (Mary Tudor, Queen of France)
ด้วยความที่เกิดมาเป็นเจ้า ทำให้เลดีเจนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีในรั้วในวัง ทรงได้รับการถวายการเรียนการสอน โดยพระองค์ทรงศึกษาภาษาต่างประเทศ ทั้งกรีก ละติน ฮีบรู และอิตาลี
และด้วยความที่พระองค์มีศักดิ์เป็นพระญาติกับพระเจ้าเฮนรีที่ 8 ทำให้เหล่าคนที่กระหายอำนาจต่างสนใจในตัวพระองค์ ต้องการจะแสวงประโยชน์จากพระองค์
ต่อมาเมื่อพระเจ้าเฮนรีที่ 8 สวรรคตในปีค.ศ.1547 (พ.ศ.2090) “เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด” พระราชโอรสในพระเจ้าเฮนรีที่ 8 ก็ได้ขึ้นครองราชย์เป็น “พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 6 แห่งอังกฤษ (Edward VI)” ด้วยพระชนมายุเพียงเก้าพรรษา ทำให้เหล่าขุนนางเข้ามาถวายความช่วยเหลือในการปกครอง
พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 6 แห่งอังกฤษ (Edward VI)
“จอห์น ดีดลีย์ (John Dudley)” หนึ่งในขุนนางได้จัดการให้เลดีเจนสมรสกับลูกชายของตนในปีค.ศ.1553 (พ.ศ.2096) เนื่องจากดัดลีย์ก็คาดว่าพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 6 นั้นไม่น่ามีพระชนมายุยืนยาวนักเนื่องจากพระพลานามัยไม่สมบูรณ์ มักจะทรงพระประชวรเสมอๆ
พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 6 ก็ทรงต้องการให้องค์รัชทายาทที่จะสืบทอดบัลลังก์ต่อจากพระองค์เป็นบุรุษ และต้องนับถือนิกายโปรเตสแตนต์ พระองค์จึงทรงตัดพระพี่น้องต่างพระราชมารดาอย่างเจ้าหญิงแมรีและเจ้าหญิงเอลิซาเบธออกจากลำดับการสืบราชบัลลังก์ และทรงตั้งพระทัยจะให้การสืบราชบัลลังก์ตกไปถึงพระราชโอรสของพระองค์กับเลดีเจน และหากเลดีเจนไม่มีพระราชโอรส ก็จะให้บัลลังก์ตกไปสู่พระโอรสของพระพี่น้องของเลดีเจน
1
วันที่ 6 กรกฎาคม ค.ศ.1553 (พ.ศ.2096) พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 6 สวรรคตด้วยพระชนมายุ 15 พรรษา และเป็นจุดเริ่มต้นของความโกลาหลในราชสำนัก
จอห์น ดีดลีย์ (John Dudley)
สามวันหลังจากพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 6 สวรรคต เลดีเจนก็ถูกเรียกองค์ให้เข้าประชุมลับ และในที่ประชุม พระองค์ก็ทรงทราบว่าพระองค์คือราชินีองค์ต่อไปของอังกฤษ
10 กรกฎาคม ค.ศ.1553 (พ.ศ.2096) เลดีเจนต้องเสด็จเข้าไปประทับใน “หอคอยแห่งลอนดอน (Tower of London)” โดยเป็นธรรมเนียมว่าพระประมุของค์ใหม่จะต้องเข้ามาประทับยังสถานที่แห่งนี้ รอเวลาในการเข้าพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
แต่ระหว่างการรอพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ความวุ่นวายก็บังเกิด
เจ้าหญิงแมรี พระราชธิดาองค์ใหญ่ในพระเจ้าเฮนรีที่ 8 ก็ได้ทรงส่งจดหมายถึงสภาองคมนตรี และได้แย้งว่าพระเจ้าเฮนรีที่ 8 ผู้เป็นพระราชบิดา ได้ทรงแต่งตั้งพระองค์เป็นรัชทายาทลำดับที่ 2 ต่อจากพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดทีี 8 ดังนั้นการแต่งตั้งเลดีเจนเป็นพระราชินีจึงเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
หอคอยแห่งลอนดอน (Tower of London)
และดูเหมือนเจ้าหญิงแมรีจะมีผู้สนับสนุนมากมายเลยทีเดียว หลายคนเข้าข้างพระองค์ ทำให้ในที่สุด วันที่ 19 กรกฎาคม ค.ศ.1553 (พ.ศ.2096) สภาองคมนตรีก็มีมติให้เจ้าหญิงแมรีเป็นพระราชินี และทำให้เลดีเจนจากที่จะเป็นราชินี กลับกลายเป็นนักโทษแห่งหอคอยแห่งลอนดอนทันที
1
สิงหาคม ค.ศ.1553 (พ.ศ.2096) เจ้าหญิงแมรีได้ประทับม้าพระที่นั่งเข้ามายังกรุงลอนดอนในฐานะราชินีองค์ใหม่
พฤศจิกายน ค.ศ.1553 (พ.ศ.2096) เลดีเจนและพระสวามีได้ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานกบฏ มีโทษประหารชีวิต
แต่เจ้าหญิงแมรี ผู้ซึ่งบัดนี้ได้กลายเป็น “สมเด็จพระราชินีนาถแมรีที่ 1 แห่งอังกฤษ (Mary I of England)” ก็ยังทรงมีพระเมตตาต่อเลดีเจนในฐานะพระญาติ พระราชินีแมรีจึงทรงละเว้นโทษตายแก่เลดีเจน ให้ประทับในหอคอยแห่งลอนดอนในฐานะนักโทษ
สมเด็จพระราชินีนาถแมรีที่ 1 แห่งอังกฤษ (Mary I of England)
แต่พระประมุของค์ใหม่อย่างพระราชินีแมรีก็ต้องพบเจอกับความท้าทาย โดยในขณะที่พระราชินีแมรีซึ่งนับถือนิกายคาทอลิกทรงเตรียมองค์จะอภิเษกสมรสกับ “พระเจ้าฟิลิปที่ 2 แห่งสเปน (Philip II of Spain)” ซึ่งก็เป็นคาทอลิกเหมือนกัน ก็ได้มีกลุ่มชาวโปรเตสแตนต์ลุกขึ้นก่อกบฏต่อพระราชินีแมรี
3
หนึ่งในกลุ่มกบฏนั้นมีพระบิดาของเลดีเจนอยู่ด้วย
กลุ่มกบฏถูกปราบปรามลงอย่างรวดเร็วในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1554 (พ.ศ.2097) แต่ถึงอย่างนั้น พระราชินีแมรีก็ตระหนักได้แล้วว่าการปล่อยให้เลดีเจนยังรอดอยู่เช่นนี้ย่อมเป็นอันตราย
แต่พระราชินีแมรีก็ยังทรงเมตตาเลดีเจน โดยพระองค์ทรงเสนอทางเลือกให้เลดีเจนและพระสวามี หากเลดีเจนและพระสวามียอมเปลี่ยนมานับถือนิกายคาทอลิก พระองค์จะทรงเว้นโทษประหาร
พระเจ้าฟิลิปที่ 2 แห่งสเปน (Philip II of Spain)
เลดีเจนและพระสวามีได้ทูลปฏิเสธ ทำให้จุดจบก็คือการประหาร
12 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1554 (พ.ศ.2097) เลดีเจนและพระสวามีถูกประหารชีวิตด้วยการตัดพระเศียร
ในเวลานั้น พระองค์มีพระชนมายุเพียงราว 17 พรรษา
ในเวลาต่อมา นิกายโปรเตสแตนต์เริ่มจะยกย่องให้เลดีเจนเป็นนักบุญ และเรื่องราวของพระองค์ก็เป็นประวัติศาสตร์บทหนึ่งของอังกฤษ
พระองค์ทรงตกอยู่ในวังวนของกลุ่มคนผู้กระหายอำนาจ และจบลงด้วยความตาย และจนถึงวันนี้ พระองค์ก็เป็นที่รู้จักในฐานะของราชินีผู้ครองอำนาจเพียงเก้าวันเท่านั้น
References:
https://allthatsinteresting.com/lady-jane-grey
https://www.hrp.org.uk/tower-of-london/history-and-stories/lady-jane-grey/#gs.6dcgbu
https://www.britannica.com/biography/Lady-Jane-Grey
https://www.historic-uk.com/HistoryUK/HistoryofEngland/Lady-Jane-Grey/
ประวัติศาสตร์
13 บันทึก
23
10
13
23
10
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย