Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Thai VI
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
14 ต.ค. 2023 เวลา 09:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ลงทุนในหุ้น Top-Ten/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร : สมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย)
การลงทุนแบบ “Passive” หรือลงทุนซื้อหุ้นโดยไม่ต้องเลือกหุ้นเป็นรายตัว แต่อาศัยดัชนีหุ้นหรือเงื่อนไขบางอย่างเป็นตัวกำหนดในการซื้อหุ้น ซื้อแล้วก็ถือพอร์ตการลงทุนนั้นไว้ยาวนานโดยที่อาจจะมีการปรับจำนวนหุ้นบ้างตามระยะเวลาและตามเกณฑ์ที่กำหนด การทำแบบนี้มีข้อดีคือไม่ต้องใช้เวลาหรือความสามารถในการวิเคราะห์เลือกหุ้น ทำให้ต้นทุนของการลงทุนลดลง
2
นอกจากนั้นก็มักจะช่วยลดความเสี่ยงเพราะมีการกระจายการลงทุนออกไปในหุ้นหลาย ๆ ตัว ตัวอย่างของการลงทุนแบบ Passive ชัดเจนก็เช่นการลงทุนในกองทุนรวมอิงดัชนีตลาด เช่น ลงทุนใน SET50 หรือดัชนีที่รวมหุ้นใหญ่ที่สุด 50 ตัวในตลาดหลักทรัพย์ไทย หรือลงทุนในดัชนี S&P500 ในตลาดหุ้นสหรัฐ เป็นต้น
สถิติการลงทุนระยะยาวในดัชนีตลาดหุ้นหลัก ๆ ของประเทศนั้น ดูเหมือนจะดีกว่าการลงทุนแบบที่มีคนหรือ “ผู้เชี่ยวชาญ” เป็นผู้เลือกซื้อ-ขายหุ้น อานิสงค์ส่วนหนึ่งเพราะว่าต้นทุนในการจ้าง “เซียนหุ้น” มาบริหารนั้นค่อนข้างจะแพง เช่น ปีละ 2-3% ของมูลค่าหุ้นในพอร์ตในแต่ละปี เป็นต้น นอกจากนั้นแล้วก็ยังดูเหมือนว่าคนเลือกหุ้นนั้น ไม่ได้เป็นเซียนจริง ทำผลการลงทุนแพ้ “ค่าเฉลี่ย” ซึ่งก็คือตัวดัชนีตลาดหุ้นนั่นเอง
VI และนักลงทุนส่วนบุคคลจำนวนมากนั้น มีความเชื่อว่าตนเองมีความสามารถและมีความยืดหยุ่นและกล้าเสี่ยงกว่านักลงทุนสถาบันที่เป็นมืออาชีพ ดังนั้น เราจึงมักลงทุนเลือกหุ้นเองเป็นรายตัว เรากล้าที่จะลงทุนในหุ้นไม่กี่ตัว เช่น ตัวหลัก ๆ เพียง 5-6 ตัว ที่เราคิดว่าทำให้พอร์ตมีการกระจายหุ้นเพียงพอและไม่เสี่ยงเกินไป ในขณะที่ผลตอบแทนของเราก็จะเพิ่มขึ้นมากอย่างมีนัยสำคัญได้
2
ในกลุ่มของคนที่เป็นนักเลือกหุ้นลงทุนเองนั้น ถ้าจะมีกลุ่มหนึ่งที่แตกต่างจากกลุ่มอื่นค่อนข้างมากนั้น ผมคิดว่าคือคนที่ “ลงทุนระยะยาวมาก” อย่างวอเร็น บัฟเฟตต์ และตัวผมเองที่ยึดถือหลักการของเขา ที่ซื้อหุ้นแล้วแทบจะไม่ขายหุ้นเลย กล่าวคือ เลือกหุ้นแนว “ซุปเปอร์สต็อก” ที่มีความเข้มแข็งทางธุรกิจเพราะมีความได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืนและเป็นธุรกิจที่จะเติบโตต่อเนื่องไปยาวนาน
ดังนั้น พวกเขาจึงมีการเลือกหุ้นลงทุนจำนวนน้อยตัวมาก พอร์ตของบัฟเฟตต์ที่มีมูลค่าเป็นหลายล้าน ๆ บาทนั้น มีหุ้นนับตัวได้ บัฟเฟตต์เองก็เคยบอกเป็นนัยว่า นักลงทุนส่วนบุคคลนั้น ในชั่วชีวิตเลือกหุ้นลงทุนแค่ 20-30 ตัว ก็พอที่จะเปลี่ยนชีวิตแล้ว
1
ประสบการณ์ของผมเองนั้นพบว่า ถ้าลงทุนแล้วเลือกหุ้นแบบ “ซุปเปอร์สต็อก” ซัก 10 ตัวซื้อแล้วถือไว้ยาวนานเป็น 10 ปี และเลือกได้ “ถูกตัว” ซัก 2-3 ตัว ผลตอบแทนก็ยอดเยี่ยมและอาจจะเปลี่ยนชีวิตได้เลยโดยที่เรา “แทบจะไม่ต้องทำอะไรเลย” และอาจจะเรียกวิธีการลงทุนแบบนี้ว่าเป็นแนว “กึ่ง Passive” ซึ่งมีการซื้อ-ขายหุ้นน้อยมาก
2
ส่วนตัวผมเองนั้นพบว่า บางปีก็ไม่ได้ทำอะไรเลย ส่วนใหญ่แล้วก็มีการซื้อขายหุ้นน้อยมากเมื่อเทียบกับมูลค่ารวมของพอร์ต จะมีการซื้อขายหุ้นมากหน่อยก็ในปีที่ “สร้างพอร์ตใหม่” โดยเฉพาะในตลาดหุ้นใหม่เช่น ที่ตลาดเวียตนาม เป็นต้น
การถือหุ้นที่เลือกสรรไว้แล้ว ถือยาวนานไม่เปลี่ยนแปลงแม้ว่าสถานการณ์ตลาดจะเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา เป็นแนว Passive หรือแนว กึ่ง Passive ดังกล่าวนั้น ผมคิดว่าได้รับความสนใจมากขึ้นมาก อาจจะเนื่องจากว่ามันให้ผลตอบแทนดีกว่าวิธีการลงทุนเลือกหุ้นเองแบบ “Active” หรือแบบซื้อ ๆ ขาย ๆ หุ้นบ่อยที่ต้องเสียค่าคอมมิชชั่นสูงสำหรับบุคคลธรรมดา
นอกจากนั้น จังหะการเข้า-ออก ในการซื้อ-ขายหุ้นก็มีโอกาสที่จะผิดพลาด 50-50 ซึ่งทำให้ไม่มีประโยชน์ที่จะทำ เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ ในตลาดหุ้นปัจจุบันนั้น ดูเหมือนว่าจะมีการซื้อ-ขายหุ้นด้วยหุ่นยนต์หรือ “Robot Trade” มากขึ้นทุกที ซึ่งพวกเขาก็จะได้เปรียบทั้งในเรื่องความเร็วและต้นทุนของการซื้อ-ขายที่สามารถเอาชนะคนเทรดได้มากกว่า
ผมคงไม่พูดถึงการลงทุนแบบ Passive เต็มที่เนื่องจากว่ามีการพูดถึงมากแล้ว แต่เรื่องการลงทุนแนว “กึ่ง Passive” นั้น ผมคิดว่ากำลังมีมากขึ้น ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือ กองทุนที่ลงทุนในหุ้นเท็คยักษ์ใหญ่ของโลก 10 ตัว “Mega Ten” หรืออาจจะ 7 ตัวที่เรียกกันว่า “Magnificent 7” ที่เน้นลงทุนใน “หุ้นสุดยอด 7 ตัว” ซึ่งรวมถึงหุ้นอย่างแอปเปิล กูเกิล และไมโครซอฟท์ เป็นต้น
1
ในตลาดหุ้นเวียตนามเอง ก็มีกองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นที่ต่างชาติซื้อได้ยากหรือแพงและมี “Foreign Premium” คือต้องซื้อด้วยราคาที่สูงกว่าราคาตลาดจำนวนประมาณสิบกว่าตัวที่เรียกว่า “กองทุนไดมอนด์” ซึ่งทำให้นักลงทุนต่างชาติสามารถซื้อหุ้นเหล่านั้นได้ด้วยราคาปกติ และก็ซื้อทุกตัว ซึ่งก็คล้าย ๆ กับการลงทุนในหุ้นที่ดีในสายตาของนักลงทุนต่างประเทศที่เน้นการลงทุนใน “หุ้นพื้นฐาน” ที่ยังมีราคาถูกของเวียตนามก่อนที่ตลาดเวียตนามจะปรับขึ้นเป็น “ตลาดเกิดใหม่” จากที่เป็น “ตลาดชายขอบ” ในปัจจุบัน
2
ถ้าผมเข้าใจไม่ผิด กองทุนกึ่ง Passive ดังกล่าวทำผลตอบแทนได้ดีมากเมื่อเทียบกับการลงทุนอื่นในช่วงเวลาเดียวกันแม้ว่าช่วงเวลาจะยังไม่ยาวนัก และก็อาจจะยังไม่ใช่เป็นข้อพิสูจน์ว่านี่คือกลยุทธ์ที่ดีจริง ๆ อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่าคนที่ “ซื้อไอเดีย” เรื่องการลงทุนแบบนี้น่าจะยังเติบโตต่อไป คนที่ลงทุนเองก็อาจจะรู้สึกสนุกและตื่นเต้นกว่าการลงทุนในกองทุนอิงดัชนีที่มักจะให้ผลตอบแทนดีเช่นเดียวกัน แต่มักจะไม่ค่อยมี “แจ็คพ็อต” หรือช่วงเวลาที่ดีเยี่ยม แม้ว่าบางครั้งก็อาจจะเจ็บหนักกว่าเหมือนกัน
ถ้าสมมุติว่าเมื่อ 20 ปีก่อน คือเมื่อสิ้นสุดปี 2545 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยฟื้นจาก “วิกฤติต้มยำกุ้ง” อย่างสมบูรณ์แล้ว เศรษฐกิจกลับมาโตถึง 6% ต่อปี และดัชนีตลาดหุ้นเพิ่มขึ้น 17% ค่า PE ของตลาดอยู่ที่ 7-8 เท่า และเราตัดสินใจลงทุนในตลาดหุ้นเพราะเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะยังเติบโตขึ้นอีกมาก อย่างไรก็ตาม เราแทบไม่มีความรู้เกี่ยวกับการเลือกหุ้นเลย แต่เราก็เห็นว่าบริษัทขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศมีความแข็งแกร่งและมั่นคงมาก พวกเขาจะต้องเป็นผู้นำและเติบโตตามการเติบโตของประเทศ ซึ่งจะใหญ่ขึ้นอีกมาก
เราตัดสินใจซื้อหุ้นใหญ่ที่สุด 10 ตัวในวันนั้นและก็ถือยาวมาจนถึงวันนี้โดยไม่ขายเลย และเมื่อได้ปันผลมาก็ซื้อหุ้นตัวเดิมเพิ่มมาตลอด เริ่มต้นโดยการซื้อหุ้นตัวละ 1 ล้านบาทคิดเป็นพอร์ตหุ้น 10 ล้านบาท
หุ้นตัวใหญ่ที่สุดในตลาดในวันนั้นคือหุ้นปูนซีเมนต์ไทยหรือ SCC มีมูลค่าเพียง 144,640 ล้านบาท ถึงวันนี้ตกลงไปเป็นอันดับ 9 มีมูลค่าประมาณ 360,000 ล้านบาท มูลค่าหุ้น SCC จาก 1 ล้านบาทของเรา จะเพิ่มขึ้นมาเป็นประมาณ 4.48 ล้านบาท
1
หุ้นอันดับ 2 คือ PTT ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นหุ้นใหญ่อันดับ 3 ในตลาดหุ้นจะเติบโตขึ้นจาก 1 ล้านบาทเป็นประมาณ 14.16 ล้านบาท หุ้นอันดับ 3 คือ AIS จาก 1 ล้านบาทเป็น 11.23 ล้านบาท หุ้น PTTEP จาก 1 เป็น 12.71 ล้านบาท
3
หุ้นธนาคารกรุงไทยหรือ KTB ซึ่งปัจจุบันไม่อยู่ใน 10 อันดับแล้ว จาก 1 ล้านบาทเป็น 6.54 ล้านบาท หุ้นธนาคารกรุงเทพหรือ BBL จาก 1 ล้านเป็น 7.9 ล้านบาท หุ้น ธนาคารกสิกรไทยหรือ KBANK จาก 1 เป็น 8.75 ล้านบาท
1
หุ้นปูนกลาง SCCC จาก 1 ล้านบาทก็คงเท่าเดิมที่ 1 ล้านบาท หุ้นแลนด์แอนด์เฮ้าส์ LH จาก 1 เป็น 4.1 ล้านบาท และสุดท้ายก็คืออันดับ 10 หุ้นการบินไทย THAI ที่น่าจะกลายเป็น 0 บาท
1
รวมแล้วพอร์ตหุ้น 10 ล้านบาทที่ถือหุ้นใหญ่ที่สุด 10 ตัวในตลาดหุ้นไทยเมื่อประมาณ 20 ปีมาแล้วมีค่าประมาณ 70.87 หรือประมาณ 70 ล้านบาท คิดเป็นผลตอบแทนแบบทบต้น 9.9% ต่อปี โดยที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในเวลาเดียวกันเพิ่มขึ้นจาก 356.5 จุดเป็น 1,451 จุด คิดเป็นผลตอบแทน 7% เมื่อรวมปันผลประมาณเกือบ 3% ก็เท่ากับเกือบ 10% ต่อปี แบบทบต้น เท่า ๆ กับผลตอบแทนของพอร์ตพอดี
1
อย่างไรก็ตาม ถ้าลงทุนในกองทุนอิงดัชนีก็ยังต้องเสียค่าบริหารและการจัดการซึ่งทำให้ผลตอบแทนลดลง เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ ในช่วงปี 2545 ผมคิดว่าเรายังไม่มีกองทุนรวมอิงดัชนีด้วยซ้ำ
1
ข้อสรุปของผมก็คือ การลงทุนด้วยตนเองแบบ “กึ่ง Passive” หรือจะเรียกว่า “กึ่ง Active” ก็ได้ นั้น มีความน่าสนใจ สิ่งสำคัญก็คือ คงต้องเลือกว่าจะทำแบบไหน การลงทุนในหุ้น “ตัวใหญ่ที่สุด 10 ตัว” ในตลาดหุ้นที่ “กำลังโต” เป็นเพียงแนวทางหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร การเลือกให้ถูกต้องเป็นสิ่งที่สำคัญมาก
1
ในกรณีของตลาดหุ้นไทยนั้น ภายในเวลา 20 ปี หุ้นก็ยังอยู่ใน “Top Ten” ถึง 4 ตัว แสดงให้เห็นว่าหุ้นยักษ์ของไทยนั้นมีความสามารถและอยู่ได้ยาวมาก อย่างไรก็ตาม อนาคตก็จะต้องดูว่าจะเป็นอย่างไร บางทีการเข้าไปลงทุนในตลาดหุ้นเวียตนามที่ “กำลังโต” อาจจะให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าก็ได้
1
ประชาสัมพันธ์ - ตอนนี้เว็บบอร์ด Thai VI เปิดให้สมัครสมาชิกและทดลองใช้ได้ฟรี 30 วันแล้ว! เข้าไปสมัครกันได้เลยครับที่
www.ThaiVI.org
56 บันทึก
64
97
56
64
97
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย