16 ต.ค. 2023 เวลา 05:30

"ความสุขของฉันสำคัญที่สุด" YOLO แนวคิดที่ทำให้คน ‘กล้าลาออก’

เคยไหม?
“อยู่ดีๆ ก็รู้สึกว่างานที่ทำอยู่ทั้งไร้ค่า ไร้ความหมาย”
“ไม่อยากตื่นขึ้นมาทำงาน”
“ไม่รู้สึกดีใจกับความสำเร็จ”
นี่เป็นข้อความส่วนหนึ่งจากบทสัมภาษณ์ในบทความของ New York Times โดยปัญหาเหล่านี้ที่เกิดขึ้นกับทนายความในบริษัทกฎหมายขนาดใหญ่ เกิดขึ้นกับนักข่าวที่มีประสบการณ์มาหลายปี เกิดขึ้นกับวิศวกรตำแหน่งสูงๆ และแน่นอนว่าอาจเกิดขึ้นได้กับคุณเช่นกัน
เรื่องทำนองนี้และอีกหลายๆ เรื่องที่แสดงสัญญาณของการหมดไฟ (Burn Out) เกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกสาขาอาชีพและทุกช่วงวัย ปัญหาของการหมดไฟอาจทำให้เราหลงทาง และจะร้ายยิ่งกว่าหากว่าเราหลงทางแล้วยังไม่กล้าเดินต่อ ได้แต่ค้างเติ่งอยู่ที่เดิม และต้องย่ำอยู่จุดเดิมไปอีกนานแค่ไหนก็ไม่มีใครรู้ได้
แต่ปัจจุบันปัญหาการหมดไฟก็ไม่ได้ส่งผลกระทบกับคนทำงานนานนัก เพราะเมื่อ ‘YOLO’ ได้ถือกำเนิดขึ้น ทำให้ทุกปัญหามีทางออกเสมอ
YOLO Economy ยุคใหม่ของคนรุ่นใหม่
คำว่า YOLO เกิดจากตัวอักษรย่อของวลีในภาษาอังกฤษที่ว่า “You Only Live Once” หมายถึง คนเราเกิดมาได้ใช้ชีวิตแค่ครั้งเดียวเท่านั้น ซึ่งเป็นประโยคที่ทำให้เราฉุกคิดถึงความหมายที่แท้จริงของการใช้ชีวิต และตระหนักถึงคุณค่าที่เราให้ความสำคัญมากขึ้น คำที่เปี่ยมไปด้วยแนวคิดเกี่ยวกับชีวิตคำนี้มีมานานแล้ว แต่เพิ่งจะมาเป็นเทรนด์ของคนทำงานเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เอง
YOLO Economy เป็นชื่อเรียกของยุคที่ผู้คนเริ่มหันมาสนใจกับคุณค่าด้านความสุขในชีวิตของตัวเองกันมากขึ้น โดยเฉพาะคนวัยทำงานกลุ่ม Millennials หรือคนเจน Y ซึ่งมีอายุตั้งแต่ 24-37 ปี คนกลุ่มนี้เป็นช่วงวัยที่กำลังก้าวหน้าในอาชีพการงาน มีทั้งประสบการณ์และโอกาสเติบโตในองค์กร แต่แทนที่จะพยายามอย่างหนักต่อไปเพื่อความสำเร็จนั้น พวกเขากลับเลือกที่จะลาออกลาออกจากงานที่มั่นคงเพื่อเปลี่ยนไปทำงานที่มีความเสี่ยงมากกว่าหรือมั่นคงน้อยกว่าเดิม แต่เป็นงานที่ให้ความสุขและคุณภาพจิตใจที่ดีกว่าเดิม
ถึงแม้เราไม่อาจเรียกได้ว่า YOLO Economy เป็นปรากฏการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่มากๆ ความจริงแล้วมันเริ่มเป็นกระแสในการทำงานเมื่อช่วง 2021 ซึ่งก็นับว่าผ่านมาสักพักแล้ว แต่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ก็ทำให้เห็นว่าปี 2021 ไม่ใจดีกับเราเลยสักนิด เพราะเราหมดไฟกับงานที่สร้างความมั่นคงให้กับชีวิตเรา ผลสำรวจในปี 2021 จาก Microsoft ระบุว่าคนทำงานจากทั่วโลกเกินกว่า 40% กำลังอยู่ในช่วงตัดสินใจลาออก
นอกจากนี้บทความปี 2021 จาก New York Times ยังเผยให้เห็นข้อมูลตัวเลขที่น่าสนใจว่าในคอมมิวนิตีออนไลน์สำหรับคนทำงานสายเทคโนโลยีที่ชื่อ Blind ว่ามีผู้ใช้ซึ่งเป็นพนักงานที่ได้งานใหม่มากถึง 49% นี่ถือเป็นตัวเลขที่สูงมากสำหรับการโยกย้ายในตลาดแรงงานและความคิดที่อยากหาตัวเลือกอื่นที่ดีกว่าก็ส่งผลมาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบันเช่นกัน
You Only Live Once ข้อดีอยู่ที่ ‘กล้าเสีย’
ถ้ามีใครสักคนถามคุณว่า “อยากทำงานอย่างมีความสุขไหม?”
คุณคงตอบว่า “แน่นอนสิ!” อย่างไม่ลังเล
แต่ถ้าต้องลาออกจากงานประจำที่มั่นคงในระดับหนึ่งและมีรายได้ที่สม่ำเสมอ ถ้าคุณได้ทำในสิ่งที่รัก ไม่มีแรงกดดันจากคนในบริษัท แต่ต้องแลกกับรายได้ที่ไม่สม่ำเสมอ หรืออาจต้องเจอกับตัวแปรจากภายนอกหลายอย่างที่ควบคุมไม่ได้ และต้องแก้ปัญหาทั้งหมดด้วยตัวเอง คุณจะยังตอบรับอย่างไม่ลังเลอยู่ไหม?
หากเป็นเวลาเมื่อหลายสิบปีก่อนก็คงตอบ ‘ปฏิเสธ’ อย่างไม่ลังเล แถมยังส่งสายตาประหลาดใจไปให้คนถามอีก แต่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะเมื่อเราผ่านช่วงที่ยากลำบากจากโรคระบาด ผ่านช่วงสงคราม และเผชิญกับความถดถอยของเศรษฐกิจ ความสุขของเราก็ยิ่งเด่นชัดและเพิ่มความสำคัญมากยิ่งขึ้น
ปฏิเสธไม่ได้หรอกว่าเงินและความมั่นคงทางอาชีพเป็นสิ่งที่สร้างรากฐานที่แข็งแรงให้กับเรา แต่เมื่อเทียบกับงานที่เติมเต็มคุณค่า งานที่เราทำมันด้วยความรู้สึกสนุกสนาน งานที่สร้างรายได้แต่ก็ยังเหลือเวลาให้เราได้ใช้ชีวิตกับตัวเอง เพื่อนฝูงและครอบครัว งานเหล่านี้กลายเป็นตัวเลือกที่ได้รับความสนใจมากขึ้น
3
เมื่อมาถึงทางที่ต้องเลือก คนจำนวนไม่น้อยเลือกที่จะลาออกจากงานที่มั่นคง งานที่มีรายได้สูงไปหางานที่สร้างคุณค่าและความสุขให้กับชีวิตได้อย่างแท้จริง แม้ว่าจะมีรายได้น้อยกว่าก็ตาม
การเปลี่ยนแปลงครั้งหนึ่งในชีวิตจะสร้างผลกระทบต่ออนาคตของเราอย่างแน่นอน แต่จะส่งผลอย่างไรนั้นก็ไม่มีใครรู้ล่วงหน้าได้ เวลาเราจะตัดสินใจเรื่องที่กระทบกับการเงิน ความมั่นคงหรือความเป็นอยู่ถึงได้ยากมากกว่าตัดสินใจเรื่องอื่น เหมือนกับเวลาที่เราเป็นที่ปรึกษาให้แก่เพื่อนหรือคนรอบข้าง เราสามารถตัดสินใจและให้คำแนะนำได้อย่างง่ายดายก็เพราะว่านั่นไม่ใช่สถานการณ์ของเรา แต่พอมันเป็นเรื่องของเราขึ้นมาก็ถึงได้เริ่มว้าวุ่นกับเขาบ้างไม่มากก็น้อย
1
แต่แนวคิด YOLO เป็นสิ่งที่ตรงข้าม การต้องเลือกทิ้งงานประจำที่เป็นแหล่งรายได้หลักของเรา เพื่อไปทำงานที่มีความสุข มีเวลาให้ตัวเองและครอบครัวมากขึ้น มีเป้าหมายและมีแพสชันมากขึ้นกลายเป็นสิ่งที่คนรอบข้างกังวล แต่คนเลือกกลับรู้สึกว่าได้ปลดล็อกตัวเองจากความคาดหวัง ความกดดันและการหลงทาง เพื่อไปสู่ทางเดินใหม่ที่เห็นเป้าหมายของตัวเองชัดเจนมากขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นเอกลักษณ์ที่เด่นชัดของ YOLO Economy ยุคของคนที่ ‘กล้าได้กล้าเสีย’ นั่นเอง
1
นอกจากเทรนด์ในการทำงานแล้ว YOLO ยังส่งผลต่อไลฟ์สไตล์การจับจ่ายซื้อของอีกด้วย เพราะคนเจน Y เป็นผู้บริโภคที่มีอำนาจการซื้อสูงกว่าคนกลุ่มอื่นๆ พวกเขาจึงเลือกซื้อของตามสไตล์ YOLO ที่เน้นคุณภาพและความพึงพอใจในคุณค่าของสินค้า และกล้าจ่ายแม้สินค้าจะมีราคาสูงมาก ด้วยเหตุนี้แบรนด์ต่างๆ ที่จับกลุ่มลูกค้าเจน Y จึงเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับคุณภาพสินค้าที่ตอบโจทย์คุณค่าที่คนเจน Y ตามหา ซึ่งเราเรียกลูกค้าที่กล้าจ่ายเพื่อความสุขของตัวเองว่า ‘YOLO Consumer’
1
ยิ่งไปกว่านั้นยังส่งผลต่อไลฟ์สไตล์ด้านอื่นๆ ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับหลายๆ กลุ่มธุรกิจด้วย ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวที่เน้นความสุข การตัดสินใจเลือกลงทุนและแง่มุมอื่นๆ ในชีวิตด้วยเช่นกัน และไม่ว่าคุณจะมีเป้าหมายในการทำงานอย่างไร วางแผนการเงินอย่างไร หรือชอบช็อปปิงอย่างไรก็ตาม อย่าลืมว่าความสุขเองก็เป็นสิ่งสำคัญในชีวิต อย่าปล่อยให้เป้าหมายกดดันความสุขของคุณนานเกินไปนัก และหาเวลาพักผ่อนให้กับตัวเองบ้าง
2
เพราะเราทุกคนเกิดมาได้ใช้ชีวิตแค่ครั้งเดียวเท่านั้น
2
อ้างอิง
- Welcome to the YOLO Economy : Kevin Roose, The New York Times - https://nyti.ms/3PrT6SM
- The Next Great Disruption Is Hybrid Work—Are We Ready? : Microsoft - https://bit.ly/3PD2svn
#worklife
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
โฆษณา