16 ต.ค. 2023 เวลา 03:48 • หนังสือ

@รีวิวหนังสือบนชั้นตู้@

ลำดับที่ 9. เดินป่าเสาะหาชีวิตจริง
ผู้เขียน : เสกสรร ประเสริฐกุล
จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์สามัญชน พิมพ์ครั้งที่ 10 พ.ศ.2540 | ราคาปก : 75 บาท
สำหรับวันนี้ยังคงอยู่ในกลิ่นอายของวรรณกรรมเดือนตุลา กับหนังสือเรื่องเดินป่าเสาะหาชีวิตจริง ที่เขียนโดย เสกสรร ประเสริฐกุล ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในแกนนำนักศึกษาปัญญาชน 14 ตุลาคม 2516 ในขณะนั้นครับ
โดยหนังเล่มนี้เป็นการบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายหลังจาก เสกสรร ประเสริฐกุล ได้เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย มุ่งหวังปฏิวัติต่อต้านระบอบเผด็จการทหาร หลังจากเข้าป่าจับปืนสู้รบกับรัฐบาล ทั้งยังบอกเล่าถึงความผิดหวังในขบวนการของพรรคคอมมิวนิสต์ที่ล้มเหลว ไม่แน่วแน่ในอุดมการณ์ในขณะนั้น จนทำให้เขาต้องยอมวางปืนมอบตัวกับทางรัฐ ปิดฉากชีวิตนักปฏิวัตินับแต่นั้น...
หนังสือชุดนี้ร้อยเรียงจากบันทึกช่วงเป็นทหารคอมมิวนิสต์ของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล เล่าถึงภารกิจหาแนวร่วมในป่า ได้พบเจอชาวบ้านชาวป่ามากมาย บางคนเห็นความหวังที่พรรคคอมมิวนิสต์จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงชีวิตแร้นแค้นของพวกเขา หากเพราะสถานการณ์ภายในพรรคคอมมิวนิสต์เองที่ทำให้เสกสรรค์รู้สึกสิ้นหวังที่จะเห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างที่ตนและชาวบ้านคาดหวังไว้
ทั้งนี้ เหตุการณ์เดือนตุลาคม 2516 ไม่เพียงแต่กำหนดอนาคตของสังคมไทยในห้วงยามถัดจากนั้นเท่านั้น หากแต่ได้กำหนดวิถีชีวิตของหลาย ๆ คน อีกด้วย และหนึ่งในจำนวนนั้นก็คือ เสกสรร ประเสริฐกุล ผู้แต่งหนังสือเล่มนี้ครับ
ผลพวงจากการใช้ชีวิตภายใต้ชะตากรรมหลังกรณี 14 ตุลาคม 2516 เขาได้ระหกระเหินไปบนเทือกเขาภูไพรนานกว่าครึ่งทศวรรษ จวบจนตัดสินใจวางปืนคืนสู่เมือง นับเนื่องได้ว่าเป็นช่วงสำคัญช่วงหนึ่งของนักเขียนนักคิดผู้ถือได้ว่ามีบทบาทสำคัญต่อสังคมไทย อย่างยากจะปฏิเสธ
“เดินป่าเสาะหาชีวิตจริง” จึงกลายเป็นเอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์สังคมไทยไปโดยปริยาย ขณะที่มันได้บรรจุข้อคิดนานาไว้อย่างคมคายเฉียบแหลมในหลาย ๆ ประเด็น เหนืออื่นใดยังกลายเป็นต้นสกุลการสร้างสรรวรรณกรรมแนวใหม่ให้กับวงวรรณกรรมไทยในการต่อมาอีกด้วย
สำหรับเล่มนี้ได้เข้ามาอยู่ในส่วนหนึ่งของตู้หนังสือผมเมื่อประมาณ 4-5 ปีที่แล้วนี่เองครับ เป็นการสั่งซื้อจากเว็ปขายหนังสือมือสองน่าจะได้มาประมาณเล่มละ 100-150 บาทครับ สภาพหนังสือยังดูใหม่เกือบ 100 % ไม่มีตำหนิใด ๆ ให้เคืองตาครับสำหรับเล่มนี้
ปัจจุบันหนังสือเล่มนี้ยังพอหาได้ครับ ขึ้นอยู่กับว่าจะได้ปกไหน สำนักพิมพ์ไหนครับ โดยส่วนตัวสำหรับเรื่องนี้ชอบบทส่งท้ายของเรื่องที่มีชื่อว่า ฝ่าลมหนาว : เยือนภูผาแห่งความหลัง ที่เสกสรรค์กับไปเยือนภูหินร่องกล้าอีกครั้ง หลังจากเหตุการณ์ในบ้านเมืองต่าง ๆ สงบลงแล้วครับ
พอชาวบ้านระแวกใกล้เคียงที่เคยร่วมต่อสู้ในอดีตได้ทราบข่าวว่าเสกสรรค์กลับมายังภูหิวร่องกล้าก็พากันเดินมาพบกับ เสกสรรค์ ที่นั่น และการพบกันในครั้งนี้เอง มันทำให้เห็นภาพสะท้อนการต่อสู้ของเสกสรรค์ในช่วงอดีตที่ผ่านมาได้อย่างน่าสะเทือนใจเป็นอย่างยิ่งครับ
“...ผมเคยไปถามที่อยู่สหายไทที่อำเภอ เขาบอกว่ารู้ชื่อเสกสรรค์ แต่ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน...”เขาเอ่ยขึ้นเป็นคำแรก
“เป็นใง เดี๋ยวนี้ลำบากหรือเปล่า?”ผมถาม
“ลำบากมาก...ที่ดินไม่พอทำกิน ตอนลงมามอบตัวเขาให้พ่อผมสิบห้าไร่ พอลูก ๆ แยกครอบครัวก็เหลือคนละสองสามไร่เท่านั้น”
“ถางใหม่ได้มั้ย?”
“เขาห้าม เดี๋ยวนี้เป็นวนอุทยานฯ”
“ซื้อที่ข้างล่างเพิ่มล่ะ ได้หรือเปล่า?”
“ไม่มีเงิน”
พอได้ยินคำนี้ผมต้องนั่งเงียบอีกเช่นเคย เงิน ๆ ๆ ๆ ทุกอย่างในสังคมนี้ชี้ขาดอยู่ที่เงิน และมันเป็นสิ่งที่ผมไม่มีเสียด้วย ความรู้สึกผิดคืบคลานเข้ามาในหัวใจผมราวมกับอรพิษร้ายซึ่งแผ่แม่เบี้ยอยู่เบื้องหน้า ไม่นานอดีตคนนำทางของผมก็ลากลับไป เพื่อนของเขาซึ่งยังคงนั่งคุยต่ออยู่กับเราเอ่ยประโยคร้ายที่สุดประโยคหนึ่งขึ้นมา
“เขาถือสหายไทเหมือนพี่ชาย เมื่อเดือดร้อนก็อยากให้สหายไทช่วยเหลือบ้าง”
คำพูดนี้ก้องอยู่ในหูผมตลอดเส้นทางที่นั่งรถไฟกลับจากกรุงเทพ ผมนึกถึงการที่ตัวเองเที่ยวไปห้ามผู้คนในหมู่บ้ายห้วยตีนตั่งซึ่งยังคงเรียกผมว่าสหายไทด้วยความเคยชิน...สหายไทตายไปแล้วจริง ๆ ทุกวันนี้เหลือเพียงนายเสกสรรปัญญาชนที่ทำได้อย่างมากก็แค่พูดเขียนไปวัน ๆ
“อ่านหนังสือมานับพันเล่ม เดินทางมาหลายหมื่นลี้ แต่ก็ไม่อาจทำให้คนเพียงหยิบมือเดียวมีชีวิตที่ดีขึ้น...”
หนังสือเล่มนนี้จบลงแบบนี้ ถือว่าเป็นบทส่งท้ายที่บีบอารมณ์ผู้อ่านได้ดีทีเดียวครับ ใครที่อ่านแล้วประทับใจในตอนไหน นำมาแลกเปลี่ยนกันครับ
ส่วนท่านใดที่สนใจจะอ่านเนื้อหาด้านในต่อ หรืออยากเก็บไว้บนชั้นตู้ ลองเข้าไปหาดูในอินเตอร์เน็ตครับ ยังพอมีให้เห็นอยู่พอสมควรครับ หรือใครที่มีแล้วอยากแบ่งปันสามารถสอบถามคนที่ต้องการได้ที่ใต้โพสต์นี้ได้เลยครับ
@หนังฉันบนชั้นตู้
เพราะหนังสือคือฝันที่เราสามารถจับต้องได้...
โฆษณา