16 ต.ค. 2023 เวลา 12:22

ชาวกลิงคะ/ทมิฬ คือ ชาวมิลักขะในคัมภีร์พระไตรปิฏก?

ในหลักสูตรนักธรรม ประเทศอินเดียโบราณ ถูกเรียกว่า “ชมพูทวีป” โดยพลเมืองที่อาศัยอยู่ในชมพูทวีป มีอยู่ ๒ พวกด้วยกัน คือ
๑. พวกมิลักขะ แปลว่า ผู้เศร้าหมอง ผู้มีสีผิวดำ คือ ชนชาวพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในดินแดนถิ่นนั้นมาก่อน
๒. พวกอริยกะ คือ พวกผิวขาว หน้าคม อพยพเข้ามาภายหลัง แล้วรุกไล่พวกมิลักขะซึ่งเป็นเจ้าของถิ่นเดิมให้ถอยร่นลงมาทางใต้ จากนั้นพวกอริยกะจึงเข้าตั้งถิ่นฐานในชมพูทวีปแทน พวกอริยกะนี้ฉลาดกว่าพวกมิลักขะ ทำให้มีอำนาจมากกว่าพวกมิลักขะเจ้าของถิ่นเดิม จึงสามารถตั้งบ้านเมืองและปกครองได้ดีกว่า
โปรดกรุณาอย่าลืมว่ามนุษย์สมัยดึกดำบรรพ์ ต่างหาเลี้ยงชีพด้วยวิธีการหรือระบบหาอยู่หากินกันทั้งนั้น (Hunting Gathering) ผู้ชายล่าสัตว์หาปลา ผู้หญิงเก็บเกี่ยวผักผลไม้ อีกทั้งเห็ดนานาชนิดที่มีอยู่ตามธรรมชาติ พร้อมหาฟืนหาไม้ในป่ามาก่อไฟหุงต้มอาหารบริโภค ผู้ที่อยู่ตามทะเลทรายก็ล่าสัตว์ทะเลทรายมาประกอบอาหารเลี้ยงชีพเป็นระยะเวลายาวนานเป็นร้อยๆ พันๆ ปี
ต่อมามีมนุษย์กลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่ตามริมแม่น้ำสำคัญของโลก อาทิ แม่น้ำไนล์ แม่น้ำยูเฟรติส-ไทกรีส แม่น้ำเหลือง แม่น้ำสินธุ ได้รู้จักการปลูกพืชผักไว้กิน มีการนำสัตว์มาเลี้ยงเพื่อบริโภคเป็นอาหารแทนการออกไปล่าสัตว์ จึงเกิดสังคม เกษตรกรรม หรือสังคมอารยะขึ้นครั้งแรกในโลก
ประมาณ 5000 กว่าปีมาแล้ว เกิดภาวะโลกร้อนขึ้น ทำให้หิมะบนยอดเขาอันเป็นแหล่งต้นน้ำของแม่น้ำสำคัญของโลก คือ ยูเฟรติส ในบริเวณเทือกเขาและที่ราบสูงเตอรกี ละลายหมด ทำให้แม่น้ำยูเฟรติสขาดน้ำหล่อเลี้ยงและเหือดแห้งในที่สุด เหมือนดังที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบัน
ดินแดนอารยะ (Civilization) ที่อยู่ระหว่างแม่น้ำไทกริสและยูเฟรติส ที่เรียกว่าเมโสโปเตเมีย เกิดภาวะแห้งแล้งขาดน้ำเพื่อการปลูกอยู่ปลูกกิน เลี้ยงอยู่เลี้ยงกิน พลเมืองที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้น ต่างก็สอบถามเสาะแสวงหาแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์เพื่อการเกษตรกรรม ได้รับคำตอบจากชาวอาหรับเพื่อนบ้าน ว่าแม่น้ำหรือจะสู้มัวซิม (Mausim)
ชาวอารยัน/อิหร่านโบราณหรือที่ชาวตะวันเรียกว่า ชาวเปอร์เซียที่เป็นเพื่อนบ้านเมื่อได้ยินได้ฟังเช่นนั้น ต่างก็ลงมือค้นคว้าหาว่ามัวซิมอยู่ที่ไหน ได้ความว่าอยู่ข้ามเทือกเขาคิชฌกูฏไปก็จะพบดินแดนอุดมสมบูรณ์ของมัวซิม บางส่วนของชาวอารยันจึงออกเดินทางด้วยพลเดินเท้า อีกทั้งรถม้า ม้าเป็นพาหนะ ผ่านช่องแคบที่เรียกว่าช่องแคบไคเบอร์ (Khyber)
เมื่อข้ามปากช่องไป จึงพบความอุดมสมบูรณ์ของลมประหลาดที่เรียกว่ามัวซิม และได้พบแหล่งศิวิไลซ์ริมแม่น้ำสินธุ มีการปลูกอยู่ปลูกกิน เลี้ยงอยู่เลี้ยงกินอย่างที่ตนเคยทำในแถบเมโสโปเตเมีย จึงยึดหลักปักฐานที่นั่นอันเป็นดินแดนของอินเดียโบราณ
เมื่อ 2,500 ปี ก่อนคริสตกาล คนพื้นเมืองที่อยู่ ณ บริเวณนั้น เรียกตัวเองว่า ฮารับปัน
คณะผู้ขุดค้นโบราณวัตถุของสมามคมโบราณคดีอังกฤษในอินเดีย ในปี พ.ศ.2379 (ต้นฉบับ พ.ศ.1379)  ค้นพบได้ซากเมืองฮาร์รัปปา ในแคว้นปัญจาบ ต่อมาในปี พ.ศ.2380 (ต้นฉบับ พ.ศ.1380)  ค้นพบซากเมืองโมเหนโจ ทาโร ในแคว้นสินธุ บริเวณที่เป็นความเจริญของอารยธรรมนี้ อยู่บนแม่น้ำสินธุ และมีอาณาเขตกว้างขวางมากคือ ครอบคลุมพื้นที่จากตะวันตกไปตะวันออกถึง 1,500 กม. แสดงว่า อารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุครอบคลุมอาณาบริเวณกว้างใหญ่กว่า อารยธรรมที่รุ่งเรืองในสมัยเดียวกัน อันได้แก่ อารยธรรมอียิปต์ และอารยธรรมเมโสโปเตเมีย
ชาวอินเดียโบราณนี้ เรียกตัวเองว่าทมิฬ ชาวอังกฤษ เรียกว่า ดราวิเดียน (Dravidian) มาจากคำว่า ทราวิฑะ (ภาษาสันสกฤต) ที่พวกชาวอารยันใช้เรียกชาวทมิฬ ซึ่งเป็นชาวพื้นเมืองเดิมของอินเดียโดยดูถูกว่า ชาวพื้นเมืองที่มีความล้าหลัง มีวิถีชีวิต วัฒนธรรมประเพณีที่แปลกประหลาด และเป็นที่เกลียดชังของชาวอารยันผู้ดำรงอารยธรรมเมโสโปเตเมีย
เมื่อ 2,000 ปีก่อนพุทธกาล ชาวอารยันจากเมโสโปเตเมียได้หากันเข้ามาในอินเดียเป็นหลายระลอก ได้ทำลายอารยธรรมฮาริปันโบราณแล้วสร้างอารยธรรมใหม่ คืออารยธรรมพระเวท ต่อมากลายเป็นศาสนาฮินดู-พราหม์ในที่สุด
การสู้รบระหว่างเจ้าของถิ่น คือ แขกกาลิงคะกับแขกอารยันผู้มาใหม่ ได้ดำเนินการไปหลายระลอกถึงกับมีการแต่งเป็นนิยายเรื่องรามายณะ หรือที่เมืองไทยเรียกรามเกียรติ์ แสดงให้เห็นถึงความสามารถของแขกอารยะ พวกอารยันรุกรานชาวมิลักขะมาจากทางหนือจนต้องถอยร่นลงไปทางใต้ จนในที่สุดพวกอารยันก็สามารถขับไล่พวกมิลักขะออกไปจากตอนกลางของชมพูทวีปได้ อาศัยอยู่รอบนอกของประเทศอินเดียเรียกว่า "ปัจจันตะบท" เป็นกลุ่มชนชาติทมิฬ เตลูกู มาลายาลัม และกันนาดาอีกพวกหนึ่งก็ลงไปอยู่ที่ศรีลังกา
ส่วนปัจจันตะชนบทข้างบนก็เป็นประเทศปากีสถาน เนปาล อัฟกานิสถาน ฯลฯ
ส่วนอินเดียตอนกลางที่ชาวอารยันครอบครองได้เรียกว่า "มัชฌิมชนบท"
เมื่อพวกอริยกะชนะสงคราม จึงใช้ศาสนาพราหมณ์เป็นเครื่องมือในการแบ่งวรรณะเป็น 4 วรรณะ เพื่อให้ง่ายต่อการปกครอง โดยถือว่าแต่ละวรรณะเกิดจากอวัยวะของพระพรหมที่แตกต่างกันและมีหน้าที่ต่างกัน
สันนิษฐานว่า พวกนักบวช นักรบและพ่อค้า เผ่าอารยัน ได้กลายมาเป็นคนวรรณะกษัตริย์ พราหมณ์และแพศย์ พวกทาสของอารยันได้กลายมาเป็นวรรณะศูทร แน่นอนชาวทมิฬนั่นเองคือพวกทาส ชาวอารยันจะเรียกชาวทมิฬว่า ทัสสยุ มีหน้าที่รับใช้พวกอารยันดุจทาส ส่วนพวกเจ้าถิ่นและชนเผ่าล้าหลังอื่นๆ เป็นพวกนอกวรรณะก่อน และค่อย ๆ ถูกจัดรวมเข้าในวรรณะต่ำ ๆ
ชาวอารยันเห็นว่าคนพื้นเมืองมีสีผิวคล้ำกว่าพวกตนมาก จึงหวั่นเกรงว่าจะมีการผสมปนเปกันจนแยกสายเลือดไม่ออก จึงเกิดการเหยียดสีผิวขึ้น โดยเฉพาะการที่ชาวอารยันไปสมสู่กับคนต่างเผ่า เท่ากับเป็นการลดเกียรติภูมิของชาวอารยันอย่างยิ่ง พร้อมทั้งออกกฎห้ามการแต่งงานข้ามวรรณะเพื่อไม่ให้ชาวอารยันกับดราวิเดียนผสมผสานและกลืนกันไปได้
จากการขุดค้นพบอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ เมื่อต้นพุทธศตวรรษที่ 25 ทำให้ทราบว่าอารยธรรมของอินเดียนั้น มีมาก่อนพวกอารยันจะนำความเจริญเข้ามาสู่อินเดีย พวกมิลักขะเป็นผู้สร้างอารยธรรมที่ทำให้อินเดีย มีความเจริญอย่างสูง มาตั้งแต่ช่วงประมาณ 2,500 ปี ก่อนพุทธศักราช
ชาวทมิฬมีทั้งภาษาทมิฬ และอักษรทมิฬ บ่งบอกถึงความเป็นรัฐชาติในอดีต
ปัจจุบันกลายเป็นชนกลุ่มน้อยในประเทศอินเดีย ศรีลังกา บางส่วนก็หนีตายไปทั้งทางบกทางน้ำในเอเชียอาคเนย์ อาทิ มอญ เขมร ตลอดจนชนชาติจามของมลายู และอินโดนีเซีย เป็นต้น
โฆษณา