16 ต.ค. 2023 เวลา 14:58 • ประวัติศาสตร์

จันทาโศก อโศกผู้ดุร้ายกับสงครามครั้งสุดท้ายที่แคว้นกลิงคะราษฏร์

ดินแดนกลิงคะราษฏร์ เป็นดินแดนที่อยู่ทางชายฝั่งตะวันออกของอินเดีย เป็นเส้นทางสำคัญสำหรับพ่อค้าชาวมคธ
เรือเดินทะเลที่เข้ามาที่ท่าเมืองกลิงคะมักจะนำเครื่องเพชรพลอยที่มีราคาเข้ามาจากต่างประเทศ
แต่ในสมัยที่พระเจ้าอโศกยกกองทัพเข้าโจมตีกลิงคะนั้น อาจจะเป็นช่วงที่ไม่มีเจ้าผู้ปกครองนคร ในศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกเองใช้คำว่า กลิงคะ ซึ่งอาจจะหมายถึงแคว้นกลิงคะซึ่งเป็นสถานที่ หรืออาจจะหมายถึงชาวกลิงคะ ไม่มีปรากฏพระนามของเจ้าครองแคว้นกลิงคะ สันนิษฐานว่าชาวกลิงคะปกครองแบบ "สามัคคีธรรม"
และเพราะไม่มีเจ้าผู้ครองแคว้นนี้เอง ที่ทำให้ชาวเมืองกลิงคะออกสู้รบเพื่อรักษาเอกราชเอง
ปรากฎว่า พระองค์ต้องทุ่มกำลังทหาร ทุ่มเวลาในการต่อสู้กับคนเมืองแคว้นกลิงคะเป็นเวลานาน ทุ้งสองฝ่ายรบกันอยู่เป็นเวลานาน ถึงแม้จะเป็นแคว้นเล็ก ๆ แต่ก็มีกองทัพที่เข้มแข็งและเอาชนะยากที่สุด เพราะคนเมืองนี้ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ๆ หรือแม้แต่ผู้หญิงต่างก็จับอาวุธต่อสู้กับกองทัพของพระองค์ จึงได้รับชัยชนะอย่างลำบากยิ่งนัก แต่ในที่สุด ฝ่ายพระเจ้าอโศกสามารถรบชนะตีแคว้นกาลิงคะได้สำเร็จ
การรบครั้งนี้นำมาซึ่งการสูญเสียชีวิตผู้คนเป็นแสน ๆ ว่ากันว่าแม่น้ำที่ไหลกลายเป็นสีเลือด และได้รับผลกระทบจากสงครามครั้งนั้นกว้างขวางมากถึง 4 แสนคน และยังมีผู้ที่ถูกจับเป็นเชลยศึกมากถึง 1.5 แสนคน
เรียกว่า ประชากรหนึ่งในสี่ ได้รับผลกระทบจากสงครามคราวนี้
เมื่อพิจารณาดูประชากรของกลิงคะที่มี 4 ล้านคน การกวาดต้อนผู้คนจำนวน 1.5 แสน เดินทางด้วยระยะทางไกลจากกลิงคะไปยังเมืองหลวงปาฏลีบุตร ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายๆ เลย
พระองค์เห็นศพของเหล่าทหารหาญของทั้งสองแคว้นที่นอนตายเกลื่อนสนามรบโลหิตไหลนองแล้วเกิดความสลดพระทัย พระองค์ทรงสานึกเสียพระทัยในการก่อสงครามเป็นครั้งแรก
ในศิลาจารึกแผ่นที่ 13 ระบุถึงความเศร้าโศกเสียพระทัยของพระเจ้าอโศกเมื่อได้เห็นจำนวนผู้คนที่ถูกฆ่าเป็นเบือ พระองค์ยังได้ทรงแสดงความเสียพระทัยออกมาให้เป็นที่ปรากฏแก่สาธารณชน และตรัสถึงความเจ็บปวดรวดร้าวอย่างสุดซึ้ง พระองค์ได้ทรงป่าวประกาศว่า "พระองค์จักไม่ทรงถอดพระแสงดาบออกมาเพื่อการพิชิตใด ๆ อีกต่อไป" พระเจ้าอโศกมหาราชไม่เพียงแต่ทรงประกาศล้างมือจากสงครามด้วยพระองค์เองเท่านั้น แต่ยังทรงแสดงพระราชประสงค์ว่า
"ลูกเราและหลานเหลนเราอย่าได้คิดว่าการพิชิตดินแดนเพิ่มขึ้นเป็นสิ่งที่มีค่าควรกระทำ ขอให้คิดถึงเฉพาะการพิชิตเพียงอย่างเดียว คือการพิชิตโดยธรรมเท่านั้น การพิชิตด้วยวิธีนี้เป็นความดีทั้งในโลกนี้และโลกหน้า"
ในศิลาจารึกระบุชัดเจนถึงพราหมณ์ และสมณะที่ต้องได้รับผลกระทบจากภัยสงครามครั้งนี้ ซึ่งหมายความว่า ท่านไม่ได้พูดถึงไพร่พลทหารในกองทัพของท่านที่ล้มตายในสงคราม เพราะในกองทัพของท่านมีแต่ทหาร ไม่มี พราหมณ์ และสมณะ
ซึ่งปัจจุบันแคว้นกลิงคะ คือรัฐโอริสสา ดินแดนทางฝั่งทะเลด้านตะวันออกของอินเดียปัจจุบัน
ประชาชนชาวกลิงคะได้แตกกระสานซ่านเซ็นหลังจากมหาสงครามครั้งนี้เข้าสู่แคว้นต่าง ๆ หลายแห่ง เช่น ในรัฐทมิฬนาดู ศรีลังกา ฝ่ายทึ่อพยพหนีสงครามไปทางบกเชื่อว่าเข้าสู่ดินแดนสุวรรณภูมิ ส่วนที่หนีไปทางทะเลเชื่อว่าเข้าไปตั้งภูมิลำเนาอยู่มาเลเซียก่อน และเข้าสู่ไทย แขกพวกนี้จะถูกคนเรียกติดปากว่า "แขกกลิงค์"
มติชนสุดสัปดาห์
โฆษณา