17 ต.ค. 2023 เวลา 05:30 • อาหาร

ทัวร์ลงฉ่ำ! เชฟเกาหลีสอนคนไทยกินหมูกระทะ กับความต่างทางวัฒนธรรมที่อ่อนไหวเป็นพิเศษ

คุณจะสู้กับคนไทยด้วยเรื่องอะไรก็ได้
แต่อย่าล้อเล่นกับคนไทยด้วยเรื่อง ‘อาหารไทย’!
เมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านี้โลก X หรือที่เราคุ้นเคยกันดีในชื่อทวิตเตอร์ ได้หยิบยกประเด็นเรื่องอาหารมาสร้างสีสันให้กับหน้าฟีดของชาว X จนกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง เมื่อผู้ใช้งาน X รายหนึ่งได้โพสต์ข้อความว่าเชฟแบคบอกวิธีการกินหมูกระทะไม่ให้เตาย่างไหม้
1
พร้อมกับแนบคลิปวิดีโอส่วนหนึ่งของรายการ “หิวจัง กรุงเทพฯ” (배고파 방콕) ซึ่งผู้ดำเนินรายการ ‘แบคจงวอน’ หรือ ‘เชฟแบค’ เชฟชื่อดังจากประเทศเกาหลีได้กินหมูกระทะร้านดังแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ โดยในรายการเชฟแบคแสดงวิธีกินหมูกระทะแบบไม่ให้กระทะไหม้ ด้วยการนำเนื้อสัตว์และผักลงไปต้มในน้ำ แล้วนำทั้งหมดขึ้นมาย่างต่อ ซึ่งขัดกับนิสัยของคนไทยสายปิ้งย่างบางคนที่ชื่นชอบเนื้อกรอบนิดๆ เกรียมหน่อยๆ จากการย่างมากกว่าต้มให้หมูนุ่มก่อนแล้วค่อยย่างอีกที
6
นอกจากนี้ยังมีข้อมูลที่ผิดพลาดอยู่หลายประการ เช่น ข้อมูลที่ทีมงานเล่าตอนต้นรายการว่าคนไทยสมัยก่อนเรียกหมูกระทะว่า “หมูย่างเกาหลี” คำพูดของทีมงานและเชฟแบคที่กล่าวว่าเตาหมูกระทะเหมือนกับเตาปิ้งย่างของประเทศเกาหลี และคำพูดจากเชฟแบคเองที่บอกว่าตัวเขาน่าจะเป็นลูกค้าที่ย่างได้เก่งที่สุดของร้านนี้แล้ว รวมถึงคำพูดที่แสดงให้เห็นว่าคนไทยไม่รู้วิธีกินหมูกระทะ ทำให้เตาหมูกระทะไหม้
13
สิ่งที่เรียกทัวร์จนทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ก็คือการตัดต่อของรายการที่ใส่คำบรรยายภาษาเกาหลีทับบนใบหน้าพนักงานและลูกค้าชาวไทย เป็นข้อความมีความหมายในเชิงชื่นชมว่าเชฟแบคเก่งที่มีวิธีกินหมูกระทะไม่ให้กระทะไหม้ รวมถึงข้อมูลแบบผิดๆ ที่ทีมงานชาวเกาหลีพูดออกมานั้นมีเนื้อหาชาตินิยมมากเกินไป
5
หลังจากรายการนี้ได้ถูกเผยแพร่ออกไปก็เกิดกระแสตีกลับจากคนไทยทันที เนื่องจากเนื้อหาในรายการทำให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ ‘หมูกระทะ’ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็น Local Food ประจำประเทศไทยไปหลายเรื่องทีเดียว
2
เรื่องแรก คนไทยมีวัฒนธรรมการกินที่หลากหลายมากๆ ถ้าเราต้องการกินอาหารประเภทต้ม คนไทยก็จะเลือกเข้าร้านชาบู หรือไม่ก็ร้านสุกี้ ร้านจิ้มจุ่ม ร้านหมาล่า แต่ถ้าอยากกินเนื้อย่าง เกรียมๆ กรอบๆ มันฉ่ำๆ ก็จะเข้าร้านประเภทปิ้งย่างหรือหมูกระทะแทน โดยคนไทยหลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าหากไปกินหมูกระทะกับเพื่อน การทำหมูย่างตกลงไปในส่วนที่เป็นน้ำซุปจะถือว่าหมูชิ้นนั้นเสียรสชาติทันที และถ้าเราอยากต้มหมูก็คงเดินเข้าร้านชาบูตั้งแต่แรกแล้ว
12
เรื่องที่สอง ส่วนใหญ่ร้านหมูกระทะมีบริการเปลี่ยนเตาได้ฟรีหากลูกค้ากินไปสักพักจนเตาไหม้ ซึ่งผิดกับที่เชฟแบคพูดว่าเราไม่รู้วิธีการกินไม่ให้เตาไหม้ ความจริงแล้วคนไทยไม่จำเป็นต้องสนใจเพราะเราสามารถขอเปลี่ยนกระทะได้ตลอดเวลาอยู่แล้ว
7
เรื่องสุดท้ายคือ ‘วิวัฒนาการของหมูกระทะไทย’ แท้จริงแล้วเริ่มมีการตั้งร้านหมูกระทะมาตั้งแต่ช่วง พ.ศ. 2500 และเมนูนี้ดัดแปลงมาจากเมนู ‘เนื้อย่างเจงกิสข่าน’ ซึ่งเป็นต้นตำรับอาหารจากชนชาติมองโกล โดยจะย่างเนื้อลงบนกระทะทรงโดม แล้วใส่ผักไว้รอบๆ ก่อนจะกลายมาเป็นเตาหมูกระทะที่เราคุ้นเคยในปัจจุบัน ซึ่งในตอนนั้นเองกระแสเกาหลียังเดินทางมาไม่ถึงประเทศไทยเลยด้วยซ้ำ
8
แม้ว่าคนไทยหลายคนจะแสดงความคิดเห็นว่าตนเองก็กินเหมือนเชฟแบค แต่การเคลมว่าข้อมูลที่ตัวเองรู้นั้นเป็นเรื่องที่ถูก และไม่ทำความเข้าใจอาหารและคนท้องถิ่น หรือมีความคิดชาตินิยมในประเทศตัวเอง แล้วนำเสนอข้อมูลของประเทศอื่นๆ ออกไปแบบผิดๆ ก็ทำให้คนไทยอีกหลายคนไม่พอใจเช่นกัน
1
อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจสงสัยว่าแค่เรื่องหมูกระทะสามารถทำให้เป็นเรื่องเป็นราวได้ขนาดนี้เลยหรือ สิ่งที่ทำให้คนไทยต้องสู้ยิบตาขนาดนี้ก็เพราะว่า ‘อาหารการกิน’ ถือเป็นวัฒนธรรมที่ผูกติดกับอัตลักษณ์ของผู้คนไว้ได้ดีที่สุด มันแสดงให้เห็นถึงมิติหลายๆ ด้านของสังคมแต่ละที่ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเชื้อชาติ พฤติกรรมการกิน ทรัพยากรในธรรมชาติ ความรุ่มรวยทางอาหาร ความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ พื้นเพทางวัฒนธรรม รวมถึงมิติทางการเมืองด้วย
4
ดังนั้นเมื่อวัฒนธรรมที่คนไทยคุ้นเคยและปฏิบัติกันมาอย่างยาวนานถูกมองว่าเป็นความไม่เชี่ยวชาญ เป็นความไม่รู้ หรือถูก ‘คนต่างถิ่น’ ตัดสินว่าเราไม่มีภูมิปัญญาเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว เมื่อสองวัฒนธรรมมาปะทะกันทำให้เกิดเป็นความอ่อนไหวทางวัฒนธรรม (Cultural Sensitivity) ขึ้นมาได้ จึงไม่แปลกที่คนไทยจะพร้อมสู้สุดใจเพื่อหมูกระทะขนาดนี้
1
เหมือนกับตอนที่เรารู้สึกขัดใจเมื่อไปกินอาหารไทยที่ต่างประเทศ แล้วพบว่าทั้งวัตถุดิบ รวมถึงเชฟทำอาหารไม่ได้มีส่วนเสี้ยวของความเป็นไทยเลยแม้แต่นิดเดียว ทำให้อาหารไทยถูกเปลี่ยนแปลงไปตามมุมมองและการตีความของเชฟที่เป็นชาวต่างชาติ
3
เช่นเดียวกันกับกรณีของเชฟแบคที่ใช้ความคิดของคนเกาหลี ซึ่งคุ้นเคยกับอาหารปิ้งย่างแบบเกาหลีมาตัดสินวัฒนธรรมการกินหมูกระทะของคนไทย ถึงแม้ว่าเชฟแบคจะชี้แจงอย่างชัดเจนว่าตนชื่นชอบและเคารพการกินหมูกระทะของคนไทย แต่ภาพที่ปรากฏในรายการก็สร้างความเข้าใจผิดต่อวัฒนธรรมการกิน รวมถึงหมูกระทะของคนไทยมากอยู่ดี
2
หากเรากำลังคาดหวังให้โลกเคารพความแตกต่างทางวัฒนธรรม และให้ความสำคัญกับความอ่อนไหวทางวัฒนธรรม (Cultural Sensitivity) กันให้มากขึ้น การเคารพในอาหารของประเทศอื่น หรือ Local Food จึงเป็นอีกวิธีหนึ่งในการแสดงความเคารพต่อวัฒนธรรมของคนท้องถิ่นนั้นๆ ด้วยเช่นเดียวกัน
1
อ้างอิง
- [배고파_방콕_EP.08] 무까타 (รายการ หิวจัง กรุงเทพฯ ตอนที่ 8 หมูกระทะ) : Paik Jong Won - https://bit.ly/3rPBxEH
- What is Cultural Sensitivity and How Does it Develop? : Winston Sieck, Global Cognition - https://bit.ly/3SiGy3x\
- Cultural appropriation: Why is food such a sensitive subject? : Helier Cheung, BBC - https://bbc.in/3Q5tqvU
2
#trend
#culture
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
โฆษณา