17 ต.ค. 2023 เวลา 11:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

Space Critical Uncertainties: ปัจจัยความไม่แน่นอนในห้วงอวกาศ

ในช่วงการเปิดตัวงานวิจัย Futures of Space Movement in 2060 ที่ผ่านมา เราได้พูดถึง ‘Critical Uncertainties’ หรือปัจจัยความไม่แน่นอน ที่มีส่วนสำคัญในการกำหนด Scenario หรือฉากทัศน์ที่เป็นไปได้ในอนาคต สำหรับอนาคตของการสำรวจอวกาศในปี 2060 มีปัจจัยความไม่แน่นอน 2 เรื่องที่ส่งผลต่อการวาดภาพอนาคตของเรา:
1. Resource Dependency : การพึ่งพาทรัพยากร
การพึ่งพาทรัพยากรจากโลก หมายถึงการที่ภารกิจทางอวกาศต้องอาศัยทรัพยากรจากโลกในการปฏิบัติการ ที่มาของทรัพยากรในการสำรวจอวกาศนั้นเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบในการวิจัยและวางแผนโครงการอวกาศต่างๆ โดยต้องพิจารณาเรื่องค่าใช้จ่ายที่สมเหตุสมผล ความเหมาะสมต่อโครงการ และความยั่งยืน อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มว่าการตั้งถิ่นฐานในอวกาศอาจจะค่อยๆหันไปใช้ทรัพยากรจากดาวดวงอื่นมากขึ้น
1.1 Earth Supply Resources : การพึ่งพาทรัพยากรจากโลก
การพึ่งพาทรัพยากรจากโลก หมายถึงโครงการที่ต้องอาศัยทรัพยากรจากโลกในการปฏิบัติภารกิจในอวกาศ โครงการทางอวกาศที่ใช้ทรัพยากรในรูปแบบนี้สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ โครงการเพื่อขยายพรมแดนความรู้ (Frontier Exploration) และโครงการเพื่อการใช้งานอวกาศ (Space Utilization)
โครงการเพื่อขยายพรมแดนความรู้คือโครงการอวกาศที่มุ่งมั่นขยายพรมแดนความรู้ทางวิทยาศาสตร์และการสำรวจอวกาศของมนุษยชาติ อย่างเช่น จรวดและยานที่เข้าไปสำรวจดาวต่างๆ กล้องโทรทรรศน์สำหรับสังเกตและบันทึกภาพในอวกาศ โดรนที่ปฏิบัติหน้าที่ในระบบสุริยะที่ไกลออกไป โครงการเหล่านี้ต้องอาศัยการสนับสนุนจากโลกเป็นหลัก อาทิเช่น การสื่อสาร และการรับส่งข้อมูล รวมทั้งอุปกรณ์ สิ่งของเครื่องใช้ และทรัพยากรต่างๆ
1.2 In Situ Resources : การพึ่งพาทรัพยากรที่หาได้จากในอวกาศ
การพึ่งพาทรัพยากรที่หาได้จากในอวกาศ หมายถึงโครงการที่ถูกออกแบบมาให้สามารถพึ่งพาตนเองได้และใช้ทรัพยากรและการสนับสนุนจากโลกให้น้อยที่สุด เช่นโครงการที่มีเป้าหมายในการสร้างสิ่งปลูกสร้างอิสระบนดาวดวงอื่นๆ อย่างดวงจันทร์หรือดาวอังคาร
โครงการเหล่านี้จะอาศัยทรัพยากรที่ผลิตได้จากในอวกาศ โดยดึงเอาทรัพยากรจากดาวดวงอื่นๆหรือดวงจันทร์ที่อยู่ในอวกาศมาใช้ หรืออาจรวมถึงการวิจัยด้านการผลิตข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ในอวกาศโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาทรัพยากรจากโลก
อย่างไรก็ตาม การนำทรัพยากรจากดาวหรือวัตถุอื่นๆในอวกาศมาใช้ก็มีความท้าทายที่ต้องเผชิญ เพราะต้องอาศัยการพัฒนาเทคโนโลยีและระบบการจัดการที่มีความล้ำหน้ากว่าในปัจจุบัน และต้องสามารถดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆได้โดยอัตโนมัติ ซึ่งอาจทำให้มีความไม่แน่นอนในเรื่องของประสิทธิภาพและผลผลิต
ดังนั้น โครงการที่อาศัยทรัพยากรจากนอกโลกจึงอาจจะไม่สามารถขยายพรมแดนความรู้ด้านการสำรวจอวกาศได้กว้างไกลหรือรวดเร็วเท่ากับโครงการที่พึ่งพาทรัพยากรจากโลก แต่ก็ยังมีความสำคัญต่อการพัฒนาความเป็นไปได้ในการตั้งถิ่นฐานถาวรบนดาวอื่นและทำให้มนุษยชาติกลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่เดินทางท่องอวกาศได้อย่างแท้จริง
2. Dominance Roles : ผู้มีบทบาทสำคัญ
การเดินทางสำรวจอวกาศและการตั้งถิ่นฐานคือการสำรวจดวงดาวและวัตถุอื่นๆในระบบสุริยะจักรวาลและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในพื้นที่เหล่านั้น ซึ่งอาจรวมถึงภารกิจไปเยือนดวงจันทร์ ดาวอังคาร หรือดาวอื่นๆในระบบสุริยะ พร้อมๆกับการพัฒนาเทคโนโลยีและกลยุทธ์ใหม่ๆเพื่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ในห้วงอวกาศเป็นระยะเวลานานๆ คำถามคือ ในอนาคต ใครจะเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในกระบวนการเหล่านั้น
2.1 Government Dominance : รัฐคือผู้มีบทบาทสำคัญ
แนวคิดนี้หมายถึงโครงการทางอวกาศที่ถูกขับเคลื่อนโดยภาครัฐ โครงการเหล่านี้เกิดจากส่วนผสมของปัจจัยทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ซึ่งรวมถึงความปรารถนาที่จะแสดงถึงความภาคภูมิใจในชาติและประกาศความยิ่งใหญ่ในระดับนานาชาติ สำหรับโครงการที่นำโดยรัฐ รัฐจะมีบทบาทสำคัญในการกำหนดขอบเขตและวัตถุประสงค์ของโครงการ พร้อมทั้งเป็นผู้สนับสนุนด้านเงินทุนและทรัพยากรต่างๆ
หน่วยงานเอกชนอาจจะได้รับการว่าจ้างให้ส่งมอบสินค้าหรือบริการบางอย่างเพื่อสนับสนุนโครงการ แต่อำนาจในการตัดสินใจขั้นสุดท้ายรวมทั้งความรับผิดชอบทั้งหมดจะตกอยู่ที่ภาครัฐ การสำรวจอวกาศที่นำโดยภาครัฐมักจะเกี่ยวข้องกับการวิจัยขั้นสูงหรือการพิสูจน์แนวคิดบางอย่าง เช่นกล้องโทรทรรศน์อวกาศหรือยานอวกาศหุ่นยนต์ที่ส่งออกไปในระบบสุริยะรอบนอก ซึ่งอาจจะไม่ได้ขึ้นอยู่หรือสัมพันธ์กับระบบทุนนิยมหรือความต้องการของตลาด
2.2 Private Dominance : เอกชนคือผู้มีบทบาทสำคัญ
แนวคิดนี้หมายถึงโครงการทางอวกาศที่ถูกขับเคลื่อนและสนับสนุนเงินทุนโดยภาคเอกชน โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อสร้างกำไร อย่างไรก็ตาม โครงการเหล่านี้อาจยังได้รับการสนับสนุนจากทางภาครัฐ ซึ่งทำหน้าที่เสมือนผู้เบิกทางหรือผู้วางกรอบข้อบังคับทางกฏหมายเพื่อส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจอวกาศ แนวคิดนี้ก่อให้เกิดการเติบโตอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจอวกาศ ที่ขับเคลื่อนโดยระบบทุนนิยม ซึ่งนำไปสู่การแข่งขันที่สูงขึ้นระหว่างบริษัทต่างๆในอุตสาหกรรมอวกาศ
ในท้ายที่สุด การแข่งขันนี้อาจจะช่วยลดค่าใช้จ่ายของปฏิบัติการในอวกาศต่างๆ และพัฒนาเทคโนโลยีและความรู้ที่เกี่ยวข้องให้ดียิ่งขึ้น โครงการที่นำโดยเอกชนนี้มีผู้เล่นหลากหลาย ซึ่งรวมทั้งบริษัทเอกชน นักลงทุน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ ที่อาจจะมีเป้าหมายและวิสัยทัศน์แตกต่างกันไป และมักจะใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่แล้ว หรือร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดที่หลากหลาย โครงการเหล่านี้อาจจะไม่ล้ำหน้าเท่ากับโครงการที่นำโดยภาครัฐ เนื่องจากยังคงมีความกังวลเรื่องผลกำไรเป็นที่ตั้ง
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสำรวจอวกาศได้ที่: https://www.futuretaleslab.com/research/futureofspacemovement2060
อยากรู้จักเรามากขึ้น คลิก www.futuretaleslab.com และ https://web.facebook.com/FutureTalesLABbyMQDC
#FutureTalesLAB #Space #FuturePossible #FutureofSpace #SpaceExploration #WellBeing #MQDC
โฆษณา