17 ต.ค. 2023 เวลา 09:57 • ท่องเที่ยว

ปราสาทสด๊อกก๊กธม จังหวัดสระแก้ว

ปราสาทสด๊กก๊อกธม ตั้งอยู่ในพื้นที่ติดต่อกับไทย-กัมพูชา อ.โคกสูง จ.สระแก้ว เป็นปราสาทหินศิลปะเขมรที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออก รวมถึงเป็นปราสาทบนฐานสูงที่สุดในไทย
ฉันเคยไปเยี่ยมชมปราสาทแห่งนี้เมื่อราว 20 ปีที่แล้ว ปราสาทอยู่ในสภาพที่ชำรุดทรุดโทรมมาก ชิ้นส่วนของเสานางเรียง ยอดปราสาทประธาน และส่วนประกอบอื่นกระจัดกระจายอยู่ทั่วบริเวณ .. แต่ก็เป็นช่วงที่กรมศิลปากรได้เข้ามาดำเนินการบูรณะแล้วอย่างต่อเนื่องหลายปี
กรมศิลปากรเริ่มต้นการบูรณะ จากปราสาทที่มีสภาพพังทลาย หินหล่นกระจัดกระจาย นำหินเก่าแต่ละก้อนจัดเรียงประกอบคืนตำแหน่งเดิมและใช้หินใหม่ทดแทนส่วนที่ขาดหายไป ด้วยวิธีอนัสติโลซิส (anastylosis)
เพื่อคืนความสมบูรณ์กลับมาให้ได้มากที่สุด จนเอกลักษณ์สถาปัตยกรรมปราสาทสด๊กก๊อกธมเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาทุกคนเช่นทุกวันนี้ และจัดตั้งเป็นอุทยานประวัติศาสตร์เมื่อปี 2562
สมเด็จพระกษิฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ไปทรงเปิดอุทยานประวัติศาสตร์สด๊กก๊อกธม เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา
.. มีศูนย์บริการข้อมูลอุทยานประวัติศาสตร์สด๊กก๊อกธมที่จัดสร้างใหม่ นำเสนอเรื่องราวการค้นพบปราสาท และศิลาจารึกจากปราสาทเขมรแห่งนี้ อารยธรรมเขมรโบราณ และปราสาทเขมรในประเทศไทยอย่างครบถ้วน มีแบบจำลองของสด๊กก๊อกธมในอดีตเมื่อครั้งยังสมบูรณ์น่าชม
.. หุ่นจำลอง 3 มิติ การสร้างปราสาทในห้องนิทรรศการ
.. แบบจำลองสด๊กก๊อกธมภายในศูนย์บริการข้อมูล
... การได้กลับมาเยือนปราสาทแห่งนี้อีกครั้งหนึ่ง จึงเป็นความรู้สึกที่ยอดเยี่ยมมากๆ
คำว่า "สด๊กก๊อกธม" เป็นภาษาเขมร หมายถึง “กกกอใหญ่” เป็นชื่อที่ชางกัมพูชาใช้เรียกปราสาทแห่งนี้ เนื่องจากเห็นต้นกกขึ้นอยู่มากมายภายในบาราย .. ในอดีตคนไทยเรียกปราสาทแห่งนี้ว่า “ปราสาทเมืองพร้าว” เนื่องจากมีต้นมะพร้าวขึ้นอยู่มากในบริเวณปราสาท
.. อย่างไรก็ดี ในจารึกสด๊กก๊กธมหลักที่ 2 กล่าวถึงชื่อปราสาทว่า “ภัทรนิเกตน” มีความหมายว่า “ที่อยู่ที่ดี”
บาราย สระน้ำขนาดใหญ่รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้านอกกำแพงแก้วด้านทิศตะวันออกของปราสาท หน.อุทยานฯ บอกว่า ชาวเขมรโบราณนำความรู้เรื่องการชลประทานผสมกับความเชื่อทางศาสนา สันนิษฐานว่า อาจมีการนำน้ำไปใช้อุปโภคบริโภคและประกอบพิธีกรรมสำคัญ จนกลายเป็นประเพณีการสร้างบารายคู่กับเทวสถาน
“ปราสาทสด๊กก๊อกธม” นับเป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดูแบบ “ไศวนิกาย” ซึ่งนับถือ พระศิวะ เป็นใหญ่ .. สร้างขึ้นด้วยหินทรายและศิลาแลง เมื่อ พ.ศ.1595 ตามพระราชบัญชาของ “พระเจ้าอุทยาทิตยวรมันที่ 2” (Udayadityavarman II พ.ศ.1593- 1609) กษัตริย์เขมร
.. เพื่อพระราชทานแด่ “พระกัมรเตงอัญศรีชเยนทรวรมัน” หรือ นามเดิมว่า “สทาศิวะ” พระราชครูของพระองค์ ซึ่งเป็นพราหมณ์ที่สืบเชื้อสายตระกูลพราหมณ์ประจำราชสำนักอาณาจักรเขมรโบราณ และพระครูผู้นี้มีศักดิ์เป็นพระชามาดาของพระเจ้าสูรยวรมันที่ 1 อีกทั้งยังเป็นผู้ประกอบพิธีบรมราชาภิเษกถวายแด่ พระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ ๒
ศิลาจารึกสด๊กก๊อกธม (หลักที่ 2) ซึ่งปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ปราจีนบุรี .. พรรณนาความเป็นมาของลัทธิเทวราช และตระกูลพราหมณ์ผู้เป็นเจ้าพิธี ลัทธิเทวราช เกี่ยวข้องพื้นที่และปราสาทสด๊อกก๊อกธม (โดยไม่พบในที่อื่น)
เสมือนเป็นหลักแหล่งสำคัญของตระกูลพราหมณ์เจ้าพิธีลัทธิเทวราช เป็นตระกูลพราหมณ์ปุโรหิต ผู้ประกอบพิธีบรมราชาภิเษกกษัตริย์กัมพูชาตามลัทธิเทวราช
ลัทธิเทวราช หมายถึง ระบบความเชื่อว่าพระราชามนุษย์เมื่อสวรรคต ผีพระขวัญจะขึ้นไปสถิตรวมเป็นหนึ่งเดียวกับเทวะบนสวรรค์ เรียกเทวราช มีพลังอํานาจปกป้องคุ้มครองให้คุณและโทษผู้มีชีวิตในราชอาณาจักร โดยเทวราชสามารถสื่อสารกับคนทั้งปวงผ่านพราหมณ์พิธี (หรือ หมอพราหมณ์) ในพิธีทรงเจ้าเข้าผี
จารึกสด๊กก๊อกธม .. เป็นการจดบันทึกเรื่องราว ประวัติศาสตร์ของชนชาติขอมเป็นช่วงระยะเวลานานถึง 200 ปี นับจากรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 (พ.ศ. 1345-1393) กษัตริย์ผู้สถาปนาอาณาจักรเมืองพระนคร (Angkor) และเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบเทวราช ในจารึกได้กล่าวถึงกษัตริย์อีกหลายพระองค์ จนถึงสมัยพระเจ้าอุทยาทิตยวรมันที่ 2
ศิลาจารึกสด๊กก๊อกธม (หลักที่ 2) เล่าเรื่องราวย้อนหลังถึงผู้สืบตระกูลพราหมณ์ประจำราชสำนัก เริ่มต้นจากสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ซึ่งครองราชย์ในพุทธศักราช 1345 จนกระทั่งถึงรัชกาลพระเจ้าอุทยาทิตยวรมันที่ 2 อันเป็นเวลาที่สร้างจารึก ในพุทธศักราช 1595
พระเจ้าชัยวรมันที่ 2 เสด็จกลับมาจากเกาะชวาเพื่อปกครองอาณาจักรเขมร ทรงแต่งตั้งพราหมณ์ ศิวไกวัลย์ เป็นราชปุโรหิต และทรงประกอบพิธีเทวราช เพื่อประกาศตนเป็นอิสระไม่ขึ้นต่ออำนาจชวาอีกต่อไป โปรดให้อัญเชิญพราหมณ์ หิรัณยทามะ พราหมณ์ผู้อาวุโสมาประกอบพิธี และถ่ายทอดวิชาการต่างๆ ให้กับพราหมณ์ ศิวไกวัลย์
.. ทรงมีพระประสงค์ให้พิธีเทวราชของกษัตริย์ทุกพระองค์มีแบบฉบับเดียวกัน จึงมีพระราชองค์การกำหนดให้พราหมณ์ผู้ทำพิธีเทวราช ต้องเป็นผู้สืบสกุลพราหมณ์ ศิวไกวัลย์ โดยกำหนดให้บุตรที่ถือกำเนิดจากสตรีในสกุลของ พราหมณ์ศิวไกวัลย์ เท่านั้นที่จะเป็นทายาทสืบสกุลต่อไปได้
“ปราสาทสด๊กก๊อกธม” มีคติการสร้างตามคติความเชื่อเรื่องภูมิจักรวาล กล่าวคือ เป็นการก่อสร้างที่มีทางเดินเข้าสู่จุดศูนย์กลาง วางผังตามแนวแกนตะวันออก-ตะวันตก ตั้งอยู่บนเนินดินสูงกว่าพื้นที่โดยรอบ ตัวปราสาทหันหน้าไปทางทิศตะวันออก โดยมีนัยยะความหมาย ดังนี้
ทางดำเนิน .. เปรียบเสมือนสะพานเชื่อมระหว่างสวรรค์ กับมนุษย์
สระน้ำ .. ตั้งอยู่ระหว่างกำแพงแก้วและระเบียงคด สัญลักษณ์ที่เปรียบเหมือนมหาสมุทร ที่ล้อมรอบเขาไกรลาส
ปราสาทประธาน .. เป็นจุดศูนย์กลางของปราสาทสด๊กก๊กธม เปรียบเสมือนเขาไกลาศอันเป็นที่ประทับของ พระศิวะ และภายในปราสาทประธานเป็นที่ประดิษฐาน ศิวลึงค์ อันเป็นรูปเคารพแทนพระองค์
เราเดินผ่าน ทางดำเนินที่ปูพื้นด้วยศิลาแลง มีเสานางเรียงตั้งเรียงรายขนาบทั้งสองข้าง เสานางเรียงเป็นแท่งสี่เหลี่ยมทำจากหินทราย สูงประมาณ 150 ซม. ฐานรูปทรงสี่เหลี่ยมสลักลวดลาย หัวเสาคล้ายดอกบัวตูม .. ว่ากันว่า เสานางเรียงมากที่สุดในไทยปัจจุบันอยู่ที่นี่ คือ 143 เสา
สุดทางดำเนิน เป็นส่วนของ “โคปุระ” หรือประตูทางเข้าชั้นใน ซึ่งมีซุ้มประตูเหลืออยู่เพียงด้านทิศตะวันออกอันเป็นทางเข้าหลัก
และทิศตะวันตกเท่านั้นซึ่งเป็นประตูหลอก ..
มีระเบียงคดล้อมรอบตัวปราสาท มีโคปุระอยู่กึ่งกลางกำแพงแก้วชั้นนอก .. ส่วนยอดของโคปุระมีลักษณะเป็นชั้นเชิงบาตร คือ ซ้อนลดหลั่นกัน 2 ชั้น ในแต่ละชั้นประกอบด้วยเรือนธาตุ ซุ้มประตู ทับหลัง และหน้าบัน .. หลังคาบริเวณซุ้มประตูรองพังทลายลงหมดแล้ว
หน้าบันที่ซุ้มประตูหลักของโคปุระชั้นนอก .. สลักภาพศิวะนาฎราช
หน้าบันที่ซุ้มประตูของโคปุระด้านทิศเหนือชั้นนอก .. สลักภาพวิษณุอนันตศายิน (นารายณ์บรรทมศิลป์)
ระเบียงคด ..
แนวระเบียงคด .. ด้านนอก และด้านใน สวยงาม
ผ่านโคปุระเข้ามาจะพบคูน้ำรูปตัวยูล้อมปราสาท 4 ด้าน มี มีกำแพงแก้ว 2 ชั้น ชั้นนอกทำด้วยศิลาแลง ชั้นในทำด้วยหินทราย
ปราสาทประธาน .. เป็นปราสาทที่ตั้งบนฐานเป็นชั้น เปรียบเสมือนเขาไกลาศ ที่ประทับของ “พระศิวะ .. ในบริเวณนี้มีอาคาร 3 หลัง คือ ปราสาทประธาน บรรณาลัย 2 หลัง
ปราสาทประธานหันหน้าไปทางทิศตะวันออก .. ตัวปราสาทก่อด้วยหินทรายและศิลาแลงตามลักษณะศิลปะเขมรแบบคลัง-บาปวน กำหนดอายุได้ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 16 สร้างขึ้นเนื่องในศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวนิกาย .. เป็นอาคารสำคัญจุดศูนย์กลางของปราสาทสด๊กก๊อกธม ล้อมรอบด้วยเสาเป็นปริมณฑลบ่งบอกว่าเป็น เขตศักดิ์สิทธิ์สูงสุด
ปราสาทประธานมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมเพิ่มมุม หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ประกอบด้วยส่วนสำคัญ ดังนี้
ส่วนฐาน .. เป็นฐานเขียงในผังสี่เหลี่ยม เพิ่มมุม 2 ชั้น สร้างจากศิลาแสงและหินทราย
ส่วนเรือนธาตุ .. คือ ส่วนที่ถัดขึ้นไปจากฐาน อยู่ในผังสี่เหลี่ยมเพิ่มมุม ส่วนล่างของเรือนธาตุเป็นบัวเชิงที่ประกอบด้วยบัวคว่ำและเส้นลวด ถัดขึ้นไปเป็นผนังมีประตู 4 ด้าน แต่สามารถเช้า-ออกทางด้านตะวันออกเพียงด้านเดียว ส่วนอีก 3 ด้านเป็นประตูหลอก ที่สลักลวดลายเลียนแบบประตูจริง
ห้องครรภคฤหะ .. คือ ห้องภายในปราสาทประธาน สำหรับประดิษฐาน ศิวลึงค์ อันเป็นรูปเคารพแทนองค์พระศิวะ หนึ่งในเทพสูงสุดสามองค์ของฮินดู บ่งบอกว่าปราสาทแห่งนี้เป็นศาสนสถานของศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย ซึ่งนับถือพระศิวะเป็นใหญ่ ปัจจุบันเหลือแต่เพียงฐานโยนีเท่านั้น ..
เรื่องเล่าจากศิลาจารึกสด๊กก๊อกธม หลักที่ 2 กล่าวถึงการสถาปนาศิวลึงค์ที่ปราสาทขอมโบราณนี้
“ศิวลึงค์” ที่เราเห็นในห้องครรภคฤหะ ของปราสาทประธานในปัจจุบันเป็นองค์จำลอง
ในสมัยโบราณ เมื่อมีการบูชาศิวลึงค์ ด้วยการสรงน้ำ .. เชื่อว่า จะทำให้น้ำสรงกลายเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ และไหลออกมาทางท่อโสมสูตร ซึ่งปราสาทสด๊กก๊อกธมปรากฎท่อโสมสูตรที่ทิศเหนือของปราสาทประธาน ระเบียงคดด้านทิศใต้ และทิศตะวันตก น้ำที่ไหลออกจากท่อนี้ส่วนหนึ่งแจกจ่ายให้คนที่มาสักการะเพื่อเป็นสิริมงคล
ยอดของปราสาทประธาน .. มีลักษณะซ้อนชั้นลดหลั่นกัน 4 ชั้น แต่ละชั้นประกอบด้วยเรือนธาตุ ซุ้มประตู ทับหลัง และหน้าบันซ้อนกันงดงาม สลักเป็นภาพบุคคลและลวดลายพรรณพฤกษา ซุ้มประตูประดับบรรพแถลง บริเวณมุมของแต่ละชั้นประดับด้วย นาคปัก ทำให้ยอดปราสาทประธานสอบลง จนลักษณะเป็นทรงพุ่ม ส่วนยอดบนสุดของปราสาทเป็นรูปทรงกฤศ (ภาชนะใส่น้ำเทพมนต์ของพราหมณ์)
สถาปัตยกรรมของปราสาทแห่งนี้ มีรูปแบบสถาปัตยกรรมเขมร เทียบเคียงได้กับศิลปกรรมโบราณแบบเกลียงผสมปาปวน .. กรอบหน้าบันสลักพญานาค 5 เศียร ภาพสลักซุ้มประตูประธาน ซุ้มประตูรอง ที่เหลือภาพสลักสมบูรณ์
บริเวณมุมระเบียงคดเป็นที่ตั้งของบรรณาลัยหินทราย 2 หลัง สันนิษฐานว่าเป็นที่เก็บตำรา คัมภีร์ปราสาทนี้หันหน้าไปทางทิศตะวันออกเช่นเดียวกับปราสาทขอมอื่นๆ ด้วยความเชื่อของขอมที่ว่า ทิศตะวันออกเป็นทิศแห่งพลังแสงสว่างและสิริมงคล ส่วนทิศตะวันตกเป็นทิศแห่งความตาย
สิ่งที่มีคุณค่าและสำคัญยิ่งของปราสาทสด๊กก๊อกธม คือ การพบหลักศิลาจารึกสด๊กก๊อกธม (หลักที่ 2) ซึ่งจดบันทึกเรื่องราว ประวัติศาสตร์ของชนชาติขอมเป็นช่วงระยะเวลานานถึง 200 ปี
ความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของปราสาทสด๊กก๊อกอีกอย่างหนึ่งคือ เป็นปราสาทเขมรที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออก เกิดก่อนปราสาทพิมาย และปราสาทพนมรุ้งกว่า 100 ปี มีส่วนยอดปราสาทเป็นทรงพุ่มยุคแรกๆ ที่ส่งอิทธิพลไปถึงปราสาทพิมาย และปราสาทพนมรุ้ง
โฆษณา