17 ต.ค. 2023 เวลา 14:23 • ประวัติศาสตร์

ธรรมยุติกนิกาย พุทธนิกายใหม่ที่สถาปนาโดย "พระเจ้ากรุงสยาม"

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) แห่งราชวงศ์จักรีของกรุงรัตนโกสินทร์ ยุคสมัยของพระองค์เป็นยุคที่สยามเกิดการเปลี่ยนผ่านจากรัฐจารีต สู่รัฐชาติสมัยใหม่ (Nation State) จากแรงกดดันของการล่าอาณานิคมโดยชาติตะวันตก พระองค์ได้นำสรรพวิทยาการความรู้จากตะวันตกที่ได้ร่ำเรียนมาเมื่อครั้งทรงผนวช มาปรับใช้ในการริเริ่มโครงสร้างสาธารณูปโภคของประเทศ เป็นแนวทางในการปฏิรูปประเทศให้ทันสมัยในรัชกาลต่อๆ มา
หนึ่งในพระราชกรณียกิจสำคัญของพระองค์ นั่นคือการสถาปนา "ธรรมยุติกนิกาย" ซึ่งได้รับอิทธิพลจากรามัญนิกายของมอญ และแนวคิดวิทยาศาสตร์จากตะวันตก มาประยุกต์ใช้โดยมุ่งเน้นในเรื่องของหลักเหตุและผล ความมีระเบียบวินัย มาใช้ในการปฏิรูปพระพุทธศาสนาจนเกิดเป็นนิกายหลักของพระพุทธศาสนาในประเทศไทย
แต่เดิมนั้นพระพุทธศาสนาในประเทศไทยยังไม่ได้แบ่งแยกเป็นนิกาย โดยส่วนใหญ่มาจากนิกายเถรวาทสายลังกาวงศ์ซึ่งมาเผยแผ่ในประเทศไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัย หลังจากรัชกาลที่ 4 ทรงสถาปนาธรรมยุติกนิกาย และต่อมามีการจัดระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 กำหนดให้เรียกนิกายเถรวาทสายลังกาวงศ์ว่า "มหานิกาย" นอกจากนี้ยังมีนิกายมหายานจากจีนและญวน ซึ่งเป็นนิกายหลักของพระพุทธศาสนาในประเทศไทยเช่นกัน
1
รัชกาลที่ 4 เมื่อคราวทรงผนวช ได้เสด็จออกธุดงค์ตามหัวเมืองต่างๆ
  • กำเนิดธรรมยุติกนิกาย
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้นพระชนมายุ 20 พรรษา ได้ทรงผนวช ทรงพระนามว่า พระวชิรญาณเถระ และเสด็จไปจำพรรษา ณ วัดสมอราย (วัดราชาธิวาส) แต่เมื่อทรงผนวชได้ 15 วัน พระบรมชนกนาถเสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงขึ้นครองราชย์ พระองค์จึงทรงอยู่ในสมณเพศต่อมาถึง 27 พรรษา
ในระหว่างที่ทรงผนวชอยู่นั้น ได้ทรงเรียนรู้ภาษาและวิทยาการสมัยใหม่ทางตะวันตกจากมิชชันนารีชาวตะวันตกผู้เข้ามาเพื่อเผยแพร่คริสตศาสนาแก่ประชาชนในโลกตะวันออก เช่น ทรงเรียนภาษาละตินกับสังฆราชปาลเลอกัวซ์ ประมุขมิซซังสยามตะวันออก และยังได้ทรงศึกษาวิทยาการตะวันตกเช่น ภูมิศาสตร์ ดาราศาสตร์ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ รวมทั้งภาษาอังกฤษจากหมอสอนศาสนาชาวอเมริกัน 3 คน ได้แก่ หมอแคสเวลล์ (Jesse Caswell) หมอบลัดเลย์ (Dan Beach Bradley) และหมอเฮาส์ (Samuel Reynolds House) อันเป็นมิตรที่ดีของพระองค์ยิ่งนัก
ด้วยความที่ทรงสนิทสนมกับหมอสอนศาสนาชาวตะวันตกนั้น ทำให้พระองค์ได้รับอิทธิพลทางความคิดมาจากชาวตะวันตก รวมถึงโลกทัศน์ทางวิทยาศาสตร์ ที่ให้ความสำคัญกับสิ่งที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาและสามารถพิสูจน์ได้ หรือคือแนวคิดสัจนิยมนั่นเอง
ประกอบกับได้ทรงเห็นถึงความหย่อนยานทางพระวินัยของพระภิกษุสงฆ์ในขณะนั้น เมื่อทรงพบกับพระสุเมธมุนี (ซาย พุทธวํโส) พระเถระแห่งรามัญนิกายที่มีข้อวัตรปฏิบัติที่น่าเลื่อมใส จึงก่อให้เกิดธรรมยุติกนิกาย อันได้รับแรงบันดาลใจมาจากรามัญนิกาย และสีหลนิกาย ที่ทรงเชื่อว่าเป็นต้นกำเนิดของคณะสงฆ์นิกายเถรวาททั้งปวง ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงตามแนวความคิดของพระองค์ขึ้น
พระวชิรญาณเถระ (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ได้ทรงตีความพุทธธรรม พุทธวจนะใหม่ด้วยทัศนะแบบวิทยาศาสตร์ คือมองโลกด้วยความจริงที่เน้นการใช้เหตุผลและสิ่งที่สามารถประจักษ์ได้ด้วยตนเอง ให้ความสำคัญกับโลกนี้ และผลที่จะเกิดขึ้นในโลกนื้ จึงทรงเน้นคำสอนที่เป็นโลกิยธรรม เช่น ทาน ศีล เมตตา ซึ่งทำให้เกิดความสำเร็จทางโลกอันได้แก่ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณะ รวมทั้งทรัพย์สมบัติ ที่จะให้ประโยชน์สุขแก่เราในภพภูมินี้
1
ทำให้โลกุตตรธรรม ซึ่งเป็นธรรมขั้นที่เลยการรับรู้ได้ของปุถุชนธรรมดาทั่วไป เช่นการตั้งจิตปรารถนาพระนิพพาน ปรารภพุทธภูมิที่พระมหากษัตริย์ในอดีตทรงเห็นว่าเป็นสิ่งที่ปุถุชนทั่วไปควรหวัง และสามารถเข้าถึงได้ค่อยๆ หายไปจากคำสอนของพระองค์ที่ทรงมีต่อพุทธศาสนิกชนทั่วไป ดังจะเห็นตัวอย่างหลักคำสอนด้านโลกุตตรธรรมของสมเด็จพระบูรพมหากษัตริย์ไทยได้จาก พุทธศาสนาไทยในอนาคต แนวโน้มและทางออกจากวิกฤต โดย พระไพศาล วิสาโล ความว่า
ยังมีอิทธิพลในความคิดของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แม้ในหมายรับสั่งประกาศสงกรานต์ ซึ่งทรงมีถึงประชาชนทั่วไป ก็ทรงแนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรว่า...
ผู้มีปัญญาให้รำพึงดูสิ่งใดเปนฝักฝ่าย บาปกำม์แลอกุศลกำม์ละวางเสีย สิ่งใดที่เปนกุศลให้อุสาหะ ปรนิบัติไปตามสติปัญญา กว่าวาศนาบารมีจแก่ขึ้น ก็จะปลงลงเห็นพระไตรลักษณญาณ คือทุกขัง อนิจจัง อนัตตา แล้วก็บ่ายหน้าไปสู่พระนิพพาน
พุทธธรรมที่เป็นรากฐานสังคมไทย ก่อนสมัยสุโขทัยถึงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดย สุภาพรรณ ณ บางช้าง
1
และการใช้ทัศนะและการให้เหตุผลทางวิทยาศาสตร์นี่เอง ที่ทำให้อิทธิฤทธิ์ปาฏิหารย์ถูกตัดไปจากพุทธศาสนาด้วย ทั้งยังดึงพระพุทธเจ้าให้ทรงใกล้ชิดกับมนุษย์มากขึ้น อันเป็นมูลเหตุให้เกิดพุทธศิลป์แนวใหม่ขึ้น อีกสิ่งหนึ่งที่นับได้ว่าเห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนได้แก่พุทธลักษณะของพระพุทธรูป
1
อันพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังยังทรงเป็นพระวชิรญาณเถระได้ทรงค้นคว้าพระอรรถกถาบาลีเพื่อหาพุทธลักษณะและขนาดพระวรกายของพระพุทธเจ้าที่แท้จริง ทำให้พระวชิรญาณเถระได้ทรงสร้างพระพุทธปริตรจากไม้ไผ่สาน ซึ่งเชื่อกันว่ามีขนาดของพระวรกายที่คล้ายคลึงกับพระพุทธเจ้า และพระสัมพุทธพรรณีขึ้นในปีพ.ศ. 2373 ให้มีริ้วจีวรเป็นริ้วผ้าตามธรรมชาติ ตามแนวคิดสัจนิยมอันได้รับอิทธิพลจากตะวันตกและที่สำคัญคือไม่มีพระเกตุมาลา แต่ก็ยังคงรักษามหาปุริสลักษณะ 32 ประการไว้อย่างครบถ้วน
พระนิรันตราย พระพุทธรูปที่รัชกาลที่ 4 ทรงสร้างครอบพระกริ่งทองคำองค์เดิมที่ทรงได้มากจากดงพระศรีมหาโพธิ์ เมืองปราจีนบุรี
จนเมื่อพระวชิรญาณเถระทรงขึ้นเถลิงราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ก็ได้ทรงสร้างพระพุทธรูปในธรรมยุติกนิกายอีกหลายองค์ แต่องค์ที่เป็นที่รู้จักกันอย่างดีที่สุดคือ พระนิรันตราย อันทรงสร้างครอบพระกริ่งทองคำที่ทรงได้มาจากดงพระศรีมหาโพธิ เมืองปราจีนบุรี ซึ่งเป็นการปรับแก้พุทธลักษณะในธรรมยุติกนิกายครั้งสุดท้ายในช่วงพระชนมชีพของพระองค์ กล่าวคือ ปลายพระกรรณของพระพุทธองค์เริ่มสั้นเท่ามนุษย์ปกติ และจีวรยังดูเป็นธรรมชาติมากกว่าที่ปรากฏในพระพุทธสัมพรรณี
แต่จะถือว่าพุทธศิลป์ในธรรมยุติกนิกายนั้นได้รับอิทธิพลมาจากตะวันตกทั้งหมดเลยมิได้ เพราะมหาปุริสลักษณะ อันเป็นความเชื่อของอินเดียที่ว่าด้วยลักษณะของมหาบุรุษนั้นก็ยังคงอยู่
และอีกสิ่งหนึ่งที่เป็นพระราชนิยมของพระองค์คือ ทรงฟื้นฟูเจดีย์ทรงลังกา ดังจะเห็นตัวอย่างได้จากพระเจดีย์ประธานวัดบวรนิเวศ เพราะทรงถือว่าพระเจดีย์ทรงลังกานั้นเป็นเจดีย์ที่มีการสร้างมาแต่ครั้งแรกประดิษฐานพระพุทธศาสนา ณ ลังกาทวีป อันเป็นเจดีย์ที่มีความถูกต้องมากกว่าเจดีย์รูปแบบอื่นในทัศนะของพระองค์
  • พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงวางระเบียบแบบแผนเกี่ยวกับธรรมยุติกนิกายในการปฏิรูปพระพุทธศาสนา ต่อมาเมื่อครองราชสมบัติได้ยึดมาเป็นแบบแผนสำหรับขนบธรรมเนียมในราชสำนัก เห็นได้จากดังนี้
1. ทรงตั้งธรรมเนียมนมัสการพระเช้าค่ำ ที่เรียกว่าทำวัตรเช้า ทำวัตรค่ำ เป็นประจำ และทรงพระราชนิพนธ์บทสวดเป็นภาษาบาลี เป็นคาถา เป็น จุณณิยบท ซึ่งใช้แพร่หลายมาจนถึงปัจจุบันนี้ มีการรักษาศีลอุโบสถ และแสดงพระธรรมเทศนาเวลาเก้าโมงเช้าและบ่ายสามโมงเย็น ในวันธรรมสวนะและวันอุโบสถ เดือนละ 4 ครั้ง
2. ทรงปฏิรูปการเทศน์และการอธิบายธรรมทรงเริ่มการเทศนาด้วยฝีพระโอษฐ์ ชวนให้ผู้ฟังเข้าใจง่ายและเกิดศรัทธา ไม่โปรดเขียนหนังสือไว้เทศน์นอกจากนี้ยังทรงฝึกหัดศิษย์ให้ปฏิบัติตาม ทรงอธิบายเพื่อให้คนเข้าใจในเนื้อหาของหลักธรรม เผยแพร่หลักธรรมสู่ราษฎร อธิบายหลักอันยุ่งยากซับซ้อน คณะสงฆ์ธรรมยุตได้เพิ่มบทสวดมนต์ภาษาไทยลงไป ทำให้คนนิยมฟังเป็นอันมาก
3. ทรงกำหนดวันมาฆบูชาเป็นวันสำคัญทางศาสนา เพิ่มขึ้นจากวันวิสาขบูชา ทรงพระราชนิพนธ์คำบูชา และวางระเบียบให้เดินเวียนเทียนและสดับพระธรรมเทศนา ทรงชักนำให้บำเพ็ญกุศลตามเทศกาลต่าง ๆ เช่น ถวายสลากภัตร ตักบาตรน้ำผึ้ง ถวายผ้าจำนำพรรษา
4. ทรงแก้ไขการรับผ้ากฐินให้ถูกต้องตามพุทธบัญญัติ คือเริ่มแต่การซัก ตัด เย็บ ย้อม ให้เสร็จภายในวันเดียวกัน
5. ทรงแก้ไขการขอบรรพชา และการสวดกรรมวาจาในอุปสมบทกรรมให้ถูกต้องยิ่งขึ้น เช่น ระบุนามอุปสัมปทา และนามอุปัชฌายะ ซึ่งเป็นภาษาบาลีในกรรมวาจา การออกเสียง อักษรบาลี ทรงให้ถือหลักการออกเสียงให้ถูกฐานกรณ์ของอักขระตามหลักบาลีไวยากรณ์
6. ทรงวางระเบียบการครองผ้า คือการนุ่งห่มของภิกษุสามเณร ให้ปฏิบัติไปตามหลักเสริยวัตรในพระวินัยเพื่อให้สุภาพเรียบร้อย (เดิมพระธรรมยุตครองจีวรห่มแหวก แต่ตอนปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เปลี่ยนมาห่มคลุม (ห่มหนีบ) ตามแบบพระสงฆ์มหานิกาย ครั้นถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสวยราชย์ จึงได้กลับมาห่มแหวกตามเดิม) ทรงวางระเบียบการกราบไหว้ของพระภิกษุสามเณร และระเบียบอาจารยะมารยาท ต้องวางตัวให้น่าเลื่อมใสศรัทธา สังวรในกิริยามารยาทและขนบธรรมเนียม
7. ทรงให้พระสงฆ์ธรรมยุต ศึกษาพระปริยัติธรรมให้แตกฉาน สามารถแสดงธรรมเทศนา สั่งสอน สามารถแยกระหว่างความเชื่อที่มีเหตุผล และความเชื่อในสิ่งที่ไม่สามารถอธิบายได้ การศึกษาในด้านวิปัสสนาธุระ ไม่ใช่รับรู้เฉพาะสมถะวิธีอันเป็นเบื้องต้น แต่ให้รับรู้ไปถึงขั้นวิปัสสนากรรมฐาน การปฏิบัติตามพระวินัย ทรงให้ถือหลักว่าสิ่งใดที่สงสัยและน่ารังเกียจไม่ควรกระทำโดยเด็ดขาด พึงเคารพพระวินัยอย่างเคร่งครัด
8. ทรงเห็นความสำคัญในการศึกษาหา ความรู้สาขาอื่น ๆ ของพระสงฆ์ จึงทรงอนุญาตให้พระสงฆ์เข้าศึกษาภาษาอังกฤษกับหมอแคสเวล (Reverend Jesse Caswell) ตามความสนใจ ทำให้มีการสืบสานการเข้าศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมของพระสงฆ์มาจนถึงปัจจุบัน
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก (อัมพร อมฺพโร) สมเด็จพระสังฆราชองค์ปัจจุบัน ทรงดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าคณะใหญ่ธรรมยุติกนิกาย
  • ธรรมยุติกนิกายในประเทศกัมพูชา
สมัยรัชกาลที่ 4 ของไทย ซึ่งกัมพูชาในขณะนั้นก็ยังคงเป็นเมืองประเทศราชของไทย ดังนั้น อิทธิพลทางการเมืองและวัฒนธรรมต่างๆ ของไทยไม่ว่าจะเป็นขนบธรรมเนียมของราชสำนัก ดนตรีนาฏศิลป์ ศิลปกรรม พระพุทธศาสนา ฯลฯ เข้ามาและแทรกซึมเข้าไปในกัมพูชาด้วย พระพุทธศาสนาแบบธรรมยุติกนิกายของไทย ก็เป็นหนึ่งในนั้น
สมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี (นักองค์ด้วง) ได้ทูลขอพระราชทานคณะธรรมยุติกนิกาย เพื่อนำพระพุทธศาสนาธรรมยุติกนิกายของสยาม (ไทย) ไปเผยแผ่ในกัมพูชา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พระอมรภิรักขิต (เกิด) และพระมหาปาน ปญฺญาสีโล พร้อมกับพระสงฆ์ 8 รูปและอุบาสก 4 คน เดินทางไปยังกัมพูชา นักองค์ด้วงโปรดเกล้าฯ นิมนต์พระมหาปานให้มาจำพรรษาที่วัดศาลาคู่ กรุงอุดงมีชัย เป็นจุดเริ่มต้นของธรรมยุติกนิกายในประเทศกัมพูชา
พระมหาปาน ปญฺญาสีโล ต่อมาได้รับการสถาปนาสมณศักดิ์ขึ้นเป็น "สมเด็จพระสุคนธาธิบดี" สังฆนายกองค์แรกของธรรมยุติกนิกายในกัมพูชา อีกทั้งพระองค์ทรงมีความรู้ความสามารถในเชิงกวี ได้ทรงพระนิพนธ์ชำระพระราชพงศาวดารกรุงกัมพูชา ร่วมกับออกญาสุนธรโวหาร (มุก)
สมเด็จพระสุคนธาธิบดี (ปาน ปญฺญาสีโล) สังฆนายกธรรมยุติกนิกายองค์แรกของกัมพูชา
แหล่งที่มาและเรียบเรียง
โฆษณา