17 ต.ค. 2023 เวลา 17:43 • ประวัติศาสตร์

ถนนเจริญกรุง ถนนฝรั่งสายแรกในสยาม

อีกหนึ่งพระราชกรณียกิจสำคัญของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการวางโครงสร้างสาธารณูปโภคเพื่อเป็นแนวทางการปฏิรูปประเทศในกาลต่อมา คือการสร้างถนนตามแบบตะวันตก
ในอดีต การคมนาคมของคนไทย จะเดินทางสัญจรด้วยเรือตามแม่น้ำลำคลองเป็นหลัก เมื่อโลกเข้าสู่ยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นยุคที่ริเริ่มสร้างสรรค์นวัตกรรมมากมาย ส่งผลการเปลี่ยนแปลงต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน รวมถึงด้านคมนาคมก็เช่นกัน ดังนั้น ในสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งเป็นยุคที่ชาวตะวันตกเข้ามาในสยาม พระองค์ทรงมีพระราชดำริที่ตัดถนนแบบตะวันตก เพื่อรองรับการการขยายตัวของเมือง การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการคมนาคม ประกอบกับมีกงสุลต่างประเทศเรียกร้องให้มีการสร้างถนนขึ้น
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างถนนแบบตะวันตกขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2404 โดยมีเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) หรือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เป็นแม่กองในการก่อสร้าง รับผิดชอบส่วนคูเมืองชั้นในและย่านบางคอแหลม
เฮนรี อาลาบาศเตอร์ รองกงสุลอังกฤษ เป็นผู้สำรวจและออกแบบถนน
เจ้าพระยายมราช (ครุฑ) เป็นแม่กอง รับผิดชอบการก่อสร้างในส่วนวัดพระเชตุพนฯ (วัดโพธิ์) จนถึงคูเมืองชั้นใน
ถนนเส้นนี้จึงถือว่าเป็นถนนสายแรกของไทยที่มีความยาวมากที่สุดในขณะนั้น (8,575 เมตร) ตั้งแต่ช่วงวัดพระเชตุพน (วัดโพธิ์) จนถึงช่วงถนนตก
เมื่อถนนสร้างเสร็จในปี พ.ศ.2407 ยังไม่มีการตั้งชื่อถนน ผู้คนจะเรียกถนนเส้นนี้ว่า "ถนนใหม่ (New Road)" ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานชื่อถนนเส้นนี้ว่า "ถนนเจริญกรุง" ซึ่งหมายถึงความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมือง ขณะเดียวกัน ได้มีการสร้างถนนขึ้นมาเพิ่มอีกสองสาย คือ ถนนบำรุงเมือง ถนนเฟื่องนคร
จนมาถึงสมัยรัชกาลที่ 5 (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) มีการสร้างรถรางสายแรกขึ้นตามที่มีชาวเดนมาร์กได้ทูลขอสัมปทานในปี พ.ศ.2430 โดยเส้นทางเดินรถของรถรางระยะแรกจะอยู่ที่ถนนเจริญกรุง
การเดินรถในระยะแรกจะใช้ม้าลากรถราง ต่อมาได้เปลี่ยนมาใช้ระบบไฟฟ้าในการเดินรถ รถรางค่อยๆ ลดความนิยมลงตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จนในที่สุดต้องยุติการเดินรถเป็นการถาวรในปี พ.ศ.2511 ประกอบกับการเจริญเติบโตของเมือง ที่ทำให้มียานพาหนะเป็นตัวเลือกในการเดินทางที่มากขึ้น
ถนนเจริญกรุง เป็นถนนที่มีผู้คนทุกเชื้อชาติเข้ามาตั้งรกราก ตั้งย่านทำการค้าขายอยู่มากมาย เช่นชาวจีนในย่านตลาดน้อย เยาวราช ชาวอินเดียในย่านพาหุรัด สีลม ชาวตะวันตกในย่านบางรัก เป็นต้น ถนนเจริญกรุงจึงมีความสำคัญในด้านประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ การคมนาคม ของกรุงเทพมหานครและประเทศไทยสืบมา
โฆษณา