Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ปรัชญาแห่งการดำรงอยู่
•
ติดตาม
18 ต.ค. 2023 เวลา 13:58
อัญเจียแขฺมร์ : ภาษาเขมรถิ่นไทยใต้และรูปรอยในอดีต
ที่มามติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 23 - 29 ธันวาคม 2559คอลัมน์อัญเจียแขฺมร์เผยแพร่วันอังคารที่ 27 ธันวาคม พ.ศ.2559
สมัยเด็กๆ ฉันไม่เคยสงสัยเลยว่าทำไมเด็กบ้านนอกอย่างพวกเราจึงเรียกปากกาบิ๊กสีน้ำเงิน (และปากกาอื่นๆ ทั่วไป) ว่า “ปากกาเขียว”
บางทีสั้นกว่านั้น ก็กันแค่ “บิ๊กเขียว”
เขียวที่ว่า คือปากกาลูกลื่นสีน้ำเงิน (ซึ่งส่วนใหญ่คือยี่ห้อบิ๊ก) ที่ส่วนมากได้แจกฟรีจากโรงเรียน
แต่ครูประถมปลายชอบบ่นว่า มันทำให้ลายมือเราวิบัติ จึงประกาศให้เราใช้ปากกาคอแร้งแบบจุ่มหมึกราคาถูกที่เขียนได้ทีละไม่กี่หยด
ส่วนยางลบอีกอย่างหนึ่ง คือสิ่งที่ฉันจำได้วัยเด็ก เพราะไม่เคยเรียกว่ายางลบ
แต่เรียกว่า “ชุ-ลบ!”
เมื่อถิ่นชนบทเดิมก็หายไปแล้ว และเมืองใหญ่ที่อาศัยก็เหมือนไม่มีตัวตนของฉันอยู่ แต่ปัญหาก็คือ ฉันกลับไม่ลืมเจ้า 2 วลีนั่น!
กระทั่งเข้าไปในกัมพูชาจึงพบว่า อ้า! เด็กๆ ที่นั่นพากันเรียกบิ๊กเขียวกันถ้วนทั่ว (บิก/บิจ=ปากกา) ส่วนคำว่าเขียวแปลว่าสีน้ำเงิน เหมือนเขมรน้ำเงิน=ขะแมร์เขียว
และยางลบว่า ชุ-ลบ-ชุ-ลบและชุ-ลบเท่านั้นไม่มีคำอื่น!
พลันอาการติดค้างทางภาษาถิ่นแบบเก่าๆ ก็วนกลับมา คล้ายการพัดผ่านของช่วงชีวิตวัย รื่นรมย์และคลี่คลายอย่างมิได้ปรุงแต่ง
บางครั้ง จิตสำนึกแบบเดิมๆ ก็ยังวนกลับมาและพาให้มีอาการตกค้างในจิตใจ คล้ายกับฝนที่หายไปหลายสิบฤดู แต่พอฝนตกมาซู่ใหญ่ จู่ๆ ก็เห็นไอ้ทุยเพื่อนยากมันยืนเล็มหญ้าคาอ่อนอยู่ชายทุ่ง
พลันความสุขเก่าๆ ที่อยู่ในจินตนาการก็หวนกลับมา ราวกับบทเพลงนาพื้นถิ่น เพลงพื้นบ้าน มโนราห์ หนังตะลุง นู่นนี่นั่น ที่หายไปเหมือนผู้เฒ่ายายตาที่ล้มหายตายจาก
ถ้าไม่ได้นักปราชญ์อย่างท่าน รศ.ประพนธ์ เรืองณรงค์ ซึ่งทุ่มเทวิจัยและช่วยคลายปมขี้สงสัยของฉัน ต่อผลงานวิจัยเรื่อง : “วรรณกรรมและภาษาถิ่นใต้” (สถาพรบุ๊คส์ : 2559) ที่เผยให้เห็นถึงอัตลักษณ์เชื่อมโยงระหว่างเขมร-ภาคใต้ของไทยในอีกมิติหนึ่ง โดยอิทธิพลบางส่วนของภาษาเขมรที่อยู่ในรูปวรรณกรรม และภาษาพื้นถิ่นของแดนใต้
วรรณกรรมพื้นถิ่นและพื้นเพประเพณีพื้นบ้านแห่งแดนใต้นี้ มีปรากฏตั้งแต่ชุมชนพุทธในพุทธศตวรรษที่ 19 และชาวมุสลิมกับจีนโพ้นทะเลผู้มาตั้งรกราก
แต่เหตุใด ภาษาเขมรจึงไปปรากฏในวรรณกรรมท้องถิ่นซึ่งมีอัตลักษณ์เฉพาะตนของภาคใต้ตอนล่าง?
อีกความเชื่อมโยงนี้ยังไปไกลกว่านั้น กล่าวคือ ในเขตกัมพูชาใต้หรือกัมปูเจียกรอมในเวียดนามปัจจุบันก็ปรากฏร่องรอยทางตัวอักษรที่มีบางตัวคล้ายกับอักษรแดนใต้ที่เขียนหรือพูดอยู่ในวรรณกรรมท้องถิ่นเมื่ออดีต
น่าทึ่งนัก ราวกับนี่คือการปมเปลอ่อนของเด็กที่ผูกไว้บนขื่อข่าเดียวกัน
อาทิ การสวดสัดดีบูชาพระคุณครูบาอาจารย์ของวรรณกรรมมุขปาฐะในไทยใต้ ที่สอนให้นักเรียนอ่านเขียนตัว “นโม พุทธา ย สิทธํ อ อา อิ อี อึ อุ อู ฤ ฤๅ ฦ ฦๅ เอ แอ ใอ โอ เอา อำ อะ” (น.56)
แลขนบนี้เอง ที่พบอยู่ในบทสรรเสริญครูบาอาจารย์ในหมวดสรรเสริญพระไตรลักษณ์นี้เอง ที่ยังพอเห็นอยู่ในหมู่ชาวอุษาคเนย์-เถรวาทในปัจจุบัน
หากแต่การดำรงองค์รู้ด้านนี้ในกัมพูชากลางดูจะอ่อนล้าและเปลี่ยนไปหาพลวัตใหม่ๆ ในแบบตะวันตกปัจจุบัน
ขณะที่ชาวกัมปูเจียกรอมในเวียดนามซึ่งแม้ทางการจะเข้มงวดและไม่เปิดกว้างด้านการศึกษาในชนกลุ่มน้อยกลับดูเหมือนว่า พวกเขาจะรักษาอัตลักษณ์ด้านนี้ได้ดีกว่าระดับหนึ่ง
แต่ความอ่อนล้านี้ ก็มีแนวโน้มจะถดถอยไปตามวิถีใหม่ในโลกาภิวัตน์
โดยจากอดีตเพื่อเป็นหน่วยหลักทางสังคมที่ต้องจดจารแผ่นหิน ผืนผ้า สมุดข่อย ใบลานก็กลายเป็นปัจเจกวิถีที่ถูกนำไปใช้ในกาละต่างๆ ไม่ต่างกับวรรณคดีที่ถูกบันทึกในแบบต่างๆ เช่น สมุดข่อย ใบลาน และมุขปาฐะนักเล่า
เช่น บทสวดสัดดี “นโม พุทธา ย” ที่เริ่มเลือนหายไปแล้ว และน่าแปลกที่พบว่า อาจจะไม่จมหายแต่กลายเป็นอื่นๆ เช่น พิธีถือครูบูชาเชิงพาณิชย์ที่พบการดัดแปลงอักษรขอมในแบบต่างๆ ทั้งบนผืนผ้ายันต์ พระเครื่อง และเรือนร่างของมนุษย์
ผู้ปรารถนาจะจดจารบทสวดบูชาสรรเสริญคุณครูบาไว้บนร่างกาย (และบ้างก็เป็นความเชื่อว่าให้ตนมีชีวิตที่ดีขึ้น บ้างก็เห็นแค่เป็นงานศิลป์ และบ้างก็เป็นแค่สิ่งร่วมสมัย)
ทั้งหมดทั้งมวลคือ “สังคหกรรมแห่งยุคสมัย”
ดังนายโชเฟอร์แท็กซี่ น้องเอ็มมี่-is happy และที่พ่อของฉัน
และดังที่ยกมาเรื่องปากกา-ยางลบที่หายไปจากภาษาภาคใต้ตอนบน (ชุมพร) แต่กลับไปมีตัวตนอยู่ในภาษาปัจจุบันของกัมพูชากลาง (พนมเปญ)
กระนั้นก็ยังพอพบว่า มีคำเขมรที่อยู่ในวรรณกรรมมุขปาฐะของไทยที่มีความหมายเดียวกัน ตั้งแต่ชื่อของสัตว์ ตัวอย่าง :
รักน้องคนใส่เสื้อดำ เจ้าเกี่ยวข้าวยังค่ำไม่ผันหน้ามาแล
ทำเหมือนปลาโสด โดดออกจากแหฯ (น.80)
(ปลาโสด = ชื่อปลาชนิดหนึ่ง ในกัมพูชา ปลาชนิดนี้พบมากในทะเลสาบใหญ่)
กลับมายังหมวดเครื่องเขียน เช่นคำว่า สมุด สันนิษฐานกันว่ามาจาก สัมปุฏ (สันสกฤต) สัมปุโฏ (บาลี) ที่ผ่านเข้าไปในกัมพูชาได้เปลี่ยนรูปเป็น สมปุตร หรือ สมบุฎ (ออกเสียงว่า สมบด) ที่หมายถึง แผ่นกระดาษสำหรับเขียนอักษร คำเขมรดังกล่าวนี้ต่อมาแปลงรูปเป็น “สมุด” ในภาษาไทย ซึ่งมีความหมายตรงกันคือหนังสือ (น.110)
และด้วยฐานของการกลายคำจาก บ. เป็น ม. นี้เอง ยังมีคำพ้องเขมร-ไทยใต้อื่นๆ เช่น สมบุก/สมบก (รัง, รังนก) เป็นต้น
ซึ่งตามหลักสัทศาสตร์แล้ว ยังอธิบายถึงเสียงนาสิกที่เข้าใจผิดๆ ว่า มีอยู่ใน “ฐานกรณ์” ของภาษาเขมรเท่านั้น
แต่ลืมไปว่า ทางการไทยตะหากล่ะที่เป็นฝ่ายยกเลิกไปเอง
นอกจากคำพ้องเสียงเหล่านี้ ยังมีการเขียนภาษาเขมรในแบบตัวเจิงอีกด้วย เช่น ฉายา-ไชยา หรือภาษาเดิมที่ไทยเลิกใช้แต่ยังอยู่ในราชาศัพท์ภาษาเขมรปัจจุบัน เช่น กระสัดตรา/กษัตรา นักค็รา/นครา เษดจ/เสด็จ บุกรีย/บุรี ท็หาร/ทหาร (น.120)
ตรงกว่านั้นอีก คือรูปอักษรขอมที่เขียนเป็นตัวเชิง ตามการออกเสียงแบบเขมร และการสะกดคำ แต่ถูกเปลี่ยนมาใช้เป็นตัวเต็มในปัจจุบันแบบไทย เช่น เพชญ, โรงเรียน, ก็มี/ก็ใม (น.126)
และตามลักษณะการอ่านแบบเขมรในรูปพยัญชนะและการสะกดสระในแบบต่างๆ เช่น จังไร=จงงไรย, ฉบัง=ฉ่บังง, โต่นด=โตนด, ไป=ใปย, ฤทธี=ริฏธืว, ไฟ=ใฟย (น.120-130)
โดยนอกจากเรื่องมุขปาฐะแล้ว ยังมีนิทานชาดกเขมรปัจจุบัน ที่แต่เดิมเข้าใจว่า เป็นการรับไปจากราชสำนักสยาม (ระหว่างสมัยอาณานิคม) เช่น เรื่องรถเสนชาดก พระรถเมรี (นางกงไร) สรรพสิทธิ์ชาดก หรือนิราศ นิทานชาวใต้อื่นๆ
ตัวอย่างนิราศชุมพร นคร พัทลุง ตอนหนึ่ง :
ถึงไชยาบ่ายหน้าไหว้พระธาตุ เกิดทุกชาตอย่าระคางและห่างหอ
จะขึ้นเหนือลงใต้ได้เคลียคลอ เช่นถมอหลักไชยเมืองไชยา (น.195)
อันนี้เต็มๆ คนใต้เรียกหินว่าถมอมาก่อน
พอขำๆ แต่การสืบเรื่องดั้งเดิมแบบนี้ดูจะไม่เร้าใจเท่าวรรณกรรมสมัยใหม่ในศตวรรษที่ 21 ที่เต็มไปด้วยความกระชับ สั้น และบางครั้งก็กระชากแบบโพสต์โมเดิร์น
เครื่องมือบันทึกที่เหลือเฟือด้วยจินตนาการแบบปัจเจกชน
แบบเดียวกับที่พ่อฉันมียันต์บนศีรษะ คุณโชเฟอร์พระเครื่อง และเลดี้บอยเอ็มมี่กับแท็ตทูบนแผ่นหลังที่เธออิสแฮปปี้
พอคิดได้อย่างนี้ ให้ตายเถอะ
ฉันอยากจะแล่นไปสักยันต์เดี๋ยวนี้เลย
อย่างหนึ่งที่นอกจากประเพณีวันสารทเดือนสิบหรือวันรับและส่งยายตา (ระหว่างแรม 1 ถึงแรม 15 ค่ำ) ซึ่งตรงกับเดือนพัตบต (แปลว่าเดือนสิบ) ในพิธีรำลึกบรรพบุรุษผู้ล่วงลับของกัมพูชาแล้ว
ที่เหมือนกันจนน่าตื่นตะลึงยิ่งกว่า นั่นก็คือ วิธีเรียกทิศ ดังที่ชาวมลายูและชาวใต้ทั่วไปเรียกทิศใต้ว่า “ทิศหัวนอน” แบบเดียวกับที่ชาวกัมพูชามีภาษาพูดเรียกทิศนี้ว่าทิศหัวนอน (ข้างตะโบง) ที่พวกเขาหันศีรษะเวลานอนไปทางทิศดังกล่าว
ส่วนทิศเหนือ “ภาษามลายูเรียก อุยงกากี (อุยง = ปลาย, กากี = ตีน) หมายถึงทิศปลายตีน ซึ่งตรงกับคำเรียกของชาวใต้ที่เรียกทิศปละตีน = ทิศเหนือ” (น.234)
และตรงกับทิศปลายเท้า-ทิศข้างเจิง (เจิง = ตีน/เท้า) ของกัมพูชา
เจิง! ที่ทำให้ฉันแจ่มใส คิดถึงปากกา-สมุด-ยางลบ-อักษรขอม-ยันต์-เอ็มมี่-แท็กซี่-บิดา-และอะไรอีกนานา
รวมๆ ว่าเป็นหนึ่งความรื่นรมย์ของชีวิต
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 23 - 29 ธันวาคม 2559
https://www.matichonweekly.com/column/article_19265
บันทึก
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย