19 ต.ค. 2023 เวลา 04:09 • ธุรกิจ

ทำไมต้อง Tim Cook กับเคสการส่งไม้ต่อการบริหารที่ยอดเยี่ยมที่สุดในประวัติศาสตร์องค์กรธุรกิจ

Tim Cook ได้เข้าร่วมงานกับ Apple เมื่อวันที่ 11 มีนาคม ปี 1998 สถานการณ์ของ Apple ในขณะนั้น ไม่ใช่บริษัทที่น่าไปร่วมงานแต่อย่างใด สถานการณ์ทางการเงินอยู่ใกล้ภาวะล้มละลายเต็มที และขวัญกำลังใจของเหล่าพนักงานก็เริ่มต่ำเตี้ยเรี่ยดินมาก ๆ
ตัว Steve Jobs เองเพิ่งกลับมาร่วมงานกับ Apple อีกครั้ง ในฐานะ CEO ชั่วคราว หรือ iCEO เรียกได้ว่าสิ่งเดียวที่ Apple เหลืออยู่ในขณะนั้นก็คือจิตวิญญาณ “Think Different” ที่กำลังมาอีกครั้งจาก Jobs แต่บริษัทมีการเปลี่ยนแปลงภายในมากมาย และสูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาดให้กับคู่แข่งในอัตราที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะสินค้าหลักอย่างคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล
ส่วนแบ่งทางการตลาดในตลาดคอมพิวเตอร์ของ Apple นั้นลดลงจากร้อยละ 10 เหลือมาอยู่เพียงแค่ร้อยละ 3 เท่านั้น CEO ในขณะนั้นอย่าง Amelio ต้องทำการดึงตัว Steve Jobs กลับมากู้วิกฤติที่แสนสาหัสนี้อีกครั้ง
Jobs ต้องนำพา Apple กลับไปสู่จุดเริ่มต้นอีกครั้ง และเริ่มแก้ไขสถานการณ์โดยยอมรับความจริงที่ว่าซีอีโอคนก่อนหน้าอย่าง Amelio นั้น ทำสิ่งที่ผิดพลาด
Jobs เริ่มจัดการเหล่าผลิตภัณฑ์ที่ไม่ทำกำไร เช่น นิวตัน คอมพิวเตอร์มือถือรุ่นแรก ของ Apple ผลงานการสร้างสรรค์ของ John Sculley ผู้ซึ่งเป็นคนทำให้ Jobs ต้องออกจาก Apple ไปในครั้งแรก
John Sculley (กลาง) ผู้ที่ทำให้ Jobs ต้องระเห็จออกจาก Apple ในครั้งแรก (CR:Apple Insider)
Jobs เริ่มตัดสายของผลิตภัณฑ์ที่ไม่จำเป็นออกไปจนเหลือเพียงแค่ 4 รุ่น โดยสองรุ่นแรกคือเครื่องคอมพิวเตอร์ Desktop สำหรับผู้บริโภคทั่วไป และ มืออาชีพ ส่วนอีกสองจะเป็นส่วนของเครื่องแบบพกพา แม้จะดูเสี่ยงมาก ๆ เพราะถ้าตัดเหลือ 4 รุ่นแล้วล้ม ความหมายก็คือ Apple คงเหลือไว้เพียงแค่ชื่อ เข้าสู่ภาวะล้มละลายอย่างแน่นอน
และแน่นอนว่าปัญหาใหญ่ของ Apple ที่เผชิญมาตลอดนั่นก็เรื่องของการวางแผนการผลิต รวมถึงเรื่องการจัดการสินค้าคงคลังต่าง ๆ ส่วนใหญ่นั้น Apple มักจะจ้างซัพพลายเออร์เฉพาะของตัวเองเท่านั้น เนื่องจากส่วนใหญ่จะเป็นชิ้นส่วนประกอบที่กำหนดเองและมีประสิทธิภาพสูง ไม่มีการวางจำหน่ายให้คู่แข่ง และ ไม่สามารถคัดลอก หรือ เลียนแบบได้ง่าย
แต่มันเหมือนเป็นดาบสองคม เพราะ การวางแผนการผลิตจะยากมาก ๆ ความยืดหยุ่นในการผลิตน้อย การประเมินคำสั่งซื้อล่วงหน้าเป็นไปได้ยาก และจะเกิดหายนะขึ้นทันทีหากมีการคาดการคำสั่งซื้อที่ผิดพลาด
เกิดเหตุการณ์ที่เหล่านักลงทุนของ Apple เกลียดอยู่บ่อยครั้ง นั่นก็คือ เมื่อยามที่ Apple มีผลิตภัณฑ์ที่ร้อนแรง แต่มันไม่สามารถส่งไปถึงมือลูกค้าได้เนื่องจากปัญหาเรื่องการผลิตของ Apple นั่นเอง
งานที่ใช่กับคนที่ใช่
และเมื่อ Jobs กลับมาอีกครั้งในปี 1997 เขาตั้งใจแน่วแน่ ว่าจะไม่ให้เห็นความผิดพลาดเดิมเกิดขึ้นซ้ำอีก และเริ่มมองหาการเปลี่ยนแปลงทุก ๆ ด้านในเรื่องการปฏิบัติการของ Apple
แม้ก่อนหน้านั้น Cook จะปฏิเสธนายหน้าของ Apple หลายต่อหลายครั้งแล้วก็ตาม เพราะตัว Cook เองก็มีความสุขดีที่ บริษัทเก่าของเขาอย่าง Compaq แต่อย่างน้อยเขาคิดว่าควรจะเข้าไปเจอ Jobs ซักครั้งเพราะชายผู้นี้ เป็นหนึ่งในตำนานผู้สร้างอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์นี้ขึ้นมานั่นเอง
แต่เมื่อเขาได้เข้าไปนั่งฟังกลยุทธ์และวิสัยทัศน์ของ Jobs สำหรับ Apple ในการพบกันจริง ๆ ครั้งแรก เขาก็ถูกโน้มน้าวโดย Jobs ให้มามีส่วนร่วมของภารกิจเปลี่ยนโลกครั้งใหม่ของ Jobs ซึ่งจะเปลี่ยนแนวคิดของคอมพิวเตอร์ให้กลายเป็นแนวคิดที่ไม่เหมือนกับคอมพิวเตอร์ที่เคยเห็นมาก่อน
และเมื่อ Jobs ได้เจอกับ Cook นั้น เขาก็เข้าใจทันทีว่าพวกเขาแบ่งปันมุมมองเดียวกันในเรื่องการผลิต ซึ่งสุดท้ายทำให้ให้ Cook คล้อยตามและมาร่วมเปลี่ยนแปลงโลกกับ Jobs ในที่สุด และถือเป็นการจับคู่ที่สมบูรณ์แบบที่สุดครั้งนึงในวงการคอมพิวเตอร์โลก
ในขณะนั้น Cook มีอายุ 37 ปี ได้เข้ามาร่วมงานกับ Apple ในตำแหน่ง รองประธานอาวุโสฝ่ายปฏิบัติการทั่วโลก ซึ่งเขาได้รับงานใหญ่มาก ๆ ในการรื้อระบบการผลิต และจำหน่ายของ Apple ทั้งหมด และุถือว่าเป็นงานที่ท้าทายเขาที่สุดตั้งแต่เริ่มทำงานมาเลยก็ว่าได้
2
ซึ่งเพียงแค่ 7 เดือนหลังจากที่ Cook ได้เข้ามาร่วมงานกับ Apple เขาก็สามารถที่จะลดสินค้าคงคลัง จากราวๆ 30 วัน เหลือเพียงแค่ 6 วันเท่านั้น ซึ่งในช่วงเวลาสั้น ๆ เขาได้ทำการปรับปรุงระบบการปฏิบัติการของ Apple โดยให้ความสำคัญกับรายละเอียดแทบจะทุกขั้นตอนการผลิต
1
Cook นั้นได้เน้นการลดซัพพลายเออร์ลงให้เหลือเพียงไม่กี่ราย เขาไปเยี่ยมซัพพลายเออร์แต่ละราย ตัวอย่างที่ชัดเจนเรื่องนึงเช่น การที่ Cook โน้มน้าวให้ NatSteel ผู้ผลิตแผงวงจรที่เป็น Outsource ของ Apple ย้ายมาตั้งโรงงานใกล้กับโรงงานของ Apple ใน ไอร์แลนด์ แคลิฟอร์เนีย และ สิงคโปร์
ซึ่งการย้ายซัพพลายเออร์เข้ามาใกล้โรงงานนั้นทำให้กระบวนการ JIT (Just-in-time) ทำได้ง่ายขึ้นมาก เนื่องจากส่วนประกอบสามารถส่งมอบได้รวดเร็วขึ้นและมีความถี่ที่มากขึ้นนั่นเอง
และอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญก็คือการ outsource ออกไปให้ได้มากที่สุด ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของ Apple นั่นคือ ปัญหาเรื่องสินค้าคงคลัง ซึ่งสร้างภาระค่าใช้จ่ายมหาศาลให้กับ Apple ซึ่งต้นทุนสินค้าคงคลังเหล่านี้เองที่ทำให้ Apple เกือบเข้าสู่ภาวะล้มละลายมาแล้ว
2
และเพื่อรองรับการคาดการณ์การผลิต Cook ได้ลงทุนในระบบวางแผนทรัพยากรองค์กร (ERP) ที่ทันสมัยที่สุดจาก SAP ที่สามารถเชื่อมโยงโดยตรง เข้าสู่ระบบไอที ที่เหล่าซัพพลายเออร์ชิ้นส่วนของ Apple ใช้งานอยู่
ไม่ว่าจะเป็นโรงงานประกอบ หรือ ทางฝั่งร้านค้าปลีก ระบบที่ซับซ้อนทำให้ทีมปฏิบัติงานของ Cook ได้เห็นมุมมองที่ชัดเจนของห่วงโซ่อุปทานทั้งหมด ตั้งแต่วัตถุดิบ จนถึงคำสั่งซื้อของลูกค้าที่ร้านค้าออนไลน์ใหม่ของ Apple ซึ่งเพิ่งเปิดตัวไปเพียงไม่นาน
2
R/3 ERP เป็นระบบประมวลผลส่วนกลางของการผลิตแบบใหม่ ที่รวดเร็วและทันเวลาของ Apple ชิ้นส่วนถูกสั่งจากซัพพลายเออร์เมื่อจำเป็นเท่านั้น และโรงงานผลิตก็สามารถสร้างกำลังการผลิตที่เพียงพอที่จะตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้ทันที
R/3 ERP ของ Sap ที่ช่วยให้ Apple เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต (CR:Fasttrack Solution)
ภายใต้การนำของ Cook เวลาในสินค้าคงคลังของ Apple ลดลังจากเป็นเดือน ๆ เหลือเพียงไม่กี่วัน เพียงแค่ 7 เดือน ต้นทุนในการจัดการเรื่องสินค้าคงคลังลดลงจาก 400 ล้านเหรียญ เหลือเพียงแค่ 78 ล้านเหรียญ
Cook ได้รับเครดิตเป็นอย่างมาก ในการมีบทบาทสำคัญให้ Apple สามารถกลับมาทำกำไรได้สำเร็จ ซึ่งระบบที่เขาได้วางไว้นั้นเป็นตัวกระตุ้นการเติบโตของ Apple ในอีกหลายปีต่อมา ซึ่งเป็นที่ชัดเจนว่า Apple จะไม่มีวันเติบโตอย่างยิ่งใหญ่และมั่นคงมาได้จนถึงทุกวันนี้หากปราศจากความเป็นเลิศของชายที่ชื่อ Tim Cook ที่ช่วยกู้สถานการณ์ด้านการปฏิบัติการในเรื่องการผลิตของ Apple ไว้ได้สำเร็จ
ความเปลี่ยนแปลงอย่างมากในช่วงปีแรกที่ Cook ได้เข้ามาร่วมงานกับ Apple เห็นผลอย่างชัดเจนกับผลิตภัณฑ์เรือธงตัวใหม่อย่าง iMac ซึ่งทำให้ Apple สามารถสร้างกำไรได้ 309 ล้านเหรียญ เมื่อสิ้นปี 1998 ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปีที่ Apple สามารถสร้างการเติบโตได้เร็วกว่าบริษัทอื่น ๆ ในอุตสาหกรรม
แม้จะมีกำไร แต่ Cook ก็ยังพยายามหาวิธีที่จะประหยัดในทุกวิถีทาง Cook ได้ตรวจสอบความสามารถของผลิตภัณฑ์แต่ละตัวของ Apple และทำการถ่ายเทงานออกไปให้กับซัพพลายเออร์ภายนอกให้มากที่สุด โดยไม่ให้สูญเสียคุณภาพของผลิตภัณฑ์ดั่งที่ Jobs ต้องการ
เดิมพันกับ Foxconn
ผลิตภัณฑ์ตัวหลักอย่าง iMac นั้นเดิมที Apple ได้ว่าจ้างให้ LG บริษัทจากเกาหลีใต้ที่ตอนแรกทำเพียงแค่หน้าจอและส่วนประกอบอื่น ๆ บางส่วนก่อนที่ LG จะควบคุมการผลิตของ iMac แบบเบ็ดเสร็จในปี 1999
แต่เมื่อคำสั่งซื้อเริ่มมากขึ้น Apple จึงมองหาลู่ทางอื่นโดยการหาผู้ผลิตมือดีในใต้หวันอย่าง Hon Hai Precision Industry Company Ltd. หรือที่รู้จักกันดีในนาม Foxconn และสัญญาของ iMac นี่เองที่เป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ที่กำลังจะเปลี่ยนโฉมหน้าบริษัททั้งสองไปตลอดกาล ซึ่งมี Cook เป็นหัวหอกในการดูแลเรื่องดังกล่าว
Foxconn นั้นก่อตั้งขึ้นในเวลาเดียวกันกับการถือกำเนิดของ Apple แต่ห่างออกไปอีก 6,000 ไมล์ ที่อีกฟากหนึ่งของโลก Terry Gou ที่ตอนนั้นอายุได้ 24 ปี ได้ยืมเงิน 7,500 เหรียญ ( เทียบได้กับ 37,000 เหรียญสหรัฐในปัจจุบัน) จากแม่ของเขาเพื่อมาเริ่มต้นธุรกิจ
Gou นั้นมีความมุ่งมั่นอย่างสูงในเรื่องการผลิตแบบมีคุณภาพ เขาจึงได้สร้างวัฒนธรรมที่ Foxconn ที่จะไม่อดทนต่อความผิดพลาดใด ๆ หรือความไร้ประสิทธิภาพในการทำงาน หากมีแรงงานที่ทำงานผิดพลาด จะถูกต่อว่าต่อหน้าคนอื่นทันที และหากผิดพลาดซ้ำสองก็จะถูกไล่ออก และที่ Foxconn มีชื่อเสียงในเรื่องการทำงานหนัก คนงานมักต้องทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ หรือบางครั้งอาจจะต้องทำถึง 7 วันเลยทีเดียวหากเป็นงานเร่งด่วน
1
Terry Gou กับการสร้างวัฒนธรรมสุดโหดในแบบฉบับ Foxconn (CR:ET Telecom)
ความสำเร็จที่สำคัญของ Foxconn นั้นไม่ใช่เพียงแค่เรื่องแรงงานราคาถูกเพียงอย่างเดียวเหมือนที่ทั่วโลกมอง เพราะพวกเขามีกระบวนการผลิตที่มีความยืดหยุ่น Foxconn มีแรงงานหลายแสนคนอยู่ในที่ทำงาน จึงมีความยืดหยุ่นมากในการรวบรวมกองทัพคนงานได้ในชั่วข้ามคืน หรือ จ้างแรงงานเพิ่มเติมในระดับหมื่น ๆ คนได้ในไม่กี่ชั่วโมง
ตัวอย่างที่น่าสนใจในเรื่องความยืดหยุ่นนี้ เกิดขึ้นกับ iMac เมื่อวิศวกรออกแบบของ Apple ได้เพิ่มปุ่มใหม่สำหรับเครื่องในยามดึก และปุ่มนั้นยังไม่ได้ทำการทดสอบดีนัก และวิศวกรก็กังวลว่าอาจจะมีปัญหาได้หากมีการผลิตออกมาจริง ๆ
แต่ที่ Foxconn พวกเขาสามารถเรียกคนงานมาได้ตลอดเวลา และสั่งให้ทดสอบปุ่มดังกล่าวตลอดทั้งคืนได้เพื่อให้ Apple สบายใจ ซึ่งรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดเวลาในยุคของ Jobs ที่มักจะปรับเปลี่ยนสิ่งต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลาในนาทีสุดท้าย และ Foxconn ก็สามารถทำให้ Apple ได้นั่นเอง
ในปี 2002 เป็นเวลา 4 ปีหลังจากที่ Cook ได้เข้ามาปรับเปลี่ยนอะไรหลาย ๆ อย่างใน Apple เขาได้รับการมอบหมายจาก Jobs ให้มาดูแลเรื่องการขายและการดำเนินงานควบคู่กันไปด้วย รวมถึงยังให้ไปดูแลงานด้านฮาร์ดแวร์ของ Macintosh เพิ่มอีกหนึ่งงาน
ก่อนที่ในปี 2005 Cook จะได้รับโปรโมตขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดที่เป็นรองเพียงแค่ Jobs คนเดียวเท่านั้น นั่นก็คือ ตำแหน่ง COO กลายมาเป็นมือขวาของ Jobs อย่างเป็นทางการ ซึ่งถือเป็นก้าวที่สำคัญมาก ๆ ของ Cook ในอาชีพการทำงาน หลังฝากผลงานไว้มากมายจนเป็นที่ไว้วางใจของ Steve Jobs มากขึ้นเรื่อย ๆ
1
ต้องบอกว่า Cook นั้นรับผิดชอบมากกว่า COO ขององค์กรทั่วไป เนื่องจากต้องดูแลพนักงานกลุ่มใหญ่ที่สุด ที่มีขอบเขตงานกว้างขวางมาก ๆ แม้ Apple นั้นจะไม่ได้เปิดเผยผังองค์กรที่ชัดเจนออกมา
แต่ทุกคนใน Apple รู้กันว่า ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ (COO) ที่ Cook ดูแลอยู่นั้น มีเหล่าพนักงานในสังกัดกว่า 40,000 คน จากพนักงาน 50,000 คนที่ทำงานอยู่ในฐานบัญชาการหลักของ Apple ที่ คูเปอร์ติโน ซึ่งแน่นอนว่า Cook จะมีอิทธิพลอย่างมากต่อวัฒนธรรมของบริษัททั้งหมดนั่นเอง
ความแตกต่างที่ลงตัวของสองผู้นำ
แม้ว่า Jobs และ Cook นั้นจะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเป็นเวลาหลายปีก็ตาม แต่พวกเขาก็มีความแตกต่างกันอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องการจัดการอารมณ์ และวิธีในการจัดการและบริหารบริษัท
Jobs เป็นหนึ่งในคนอารมณ์ร้อน และเอาแต่ใจตัวเองมาก ๆ มีความเป็นศิลปินสูง ความคิดของเขาค่อนข้างเด็ดขาด หากมีปัญหากับซัพพลายเออร์ เขาก็จะยกหูโทรศัพท์ เพื่อโทรไปด่าได้ทันที และอาจจะด้วยคำที่หยาบเคยเลยด้วยซ้ำ ซึ่งเขาทำบ่อยมากในช่วงที่ยังดำรงตำแหน่ง CEO ของ Apple
ส่วน Cook นั้น ต่างกันสุดขั้ว เขาเป็นผู้นำที่เงียบขรึมมาก ๆ เป็นคนที่สงบนิ่ง และ มั่นคง แต่จะพยายามค้นหาคำตอบผ่านคำถาม เพื่อรับรู้ปัญหาได้อย่างแท้จริง Cook มักจะเจาะลึกลงไปในปัญหาและให้แน่ใจว่าเหล่าพนักงานต้องรู้ตัวว่ากำลังทำอะไรอยู่ และผิดพลาดตรงไหน
ในฐานะ COO นั้น Cook คาดหวังว่าทีมงานของเขาจะทำงานอย่างหนักเป็นเชิงรุกและใส่ใจในทุกรายละเอียด เหล่าผู้จัดการภายใต้การบริหารของ Cook ก็ใช้เทคนิคหลาย ๆ อย่างในการเป็นผู้นำที่ได้เรียนรู้จาก Cook นั่นเอง
แต่แม้ Cook จะเน้นถึงความสำคัญของการใส่ใจในรายละเอียด และการแก้ปัญหา แต่ Cook ก็ไว้วางใจและมอบอำนาจให้พนักงานของเขาในการตัดสินใจด้วยตัวเอง เขาได้สร้างแรงบันดาลใจให้พนักงานของเขา เชื่อว่า ทุกอย่างเป็นไปได้ และใช้ความพยายามให้มากขึ้น ใช้ความคิดสร้างสรรค์ เพื่อแก้ไขกับปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น
และสิ่งที่น่าสนใจที่สุดของ Cook ก็คือ เขาทำงานกับ Apple ให้เหมือนกับกีฬา งานของ Cook คือ รูปแบบของความอดทดในกีฬา และเห็นได้ชัดเจนว่าทุกสิ่งที่เขาทำแม้กระทั่งวิธีที่เขาตัดผมสั้น ทำให้นึกถึงวีรบุรุษนักกีฬาคนหนึ่งของ Cook อย่าง แลนซ์ อาร์มสตรอง
ในปี 2010 หนึ่งปีก่อนที่เขาจะกลายมาเป็น CEO เต็มตัวของ Apple เขาเคยกล่าวสุนทรพจน์ที่ Auburn Unversity ไว้ว่า “ในโลกของธุรกิจก็เปรียบเหมือนกีฬา ชัยชนะส่วนใหญ่จะถูกกำหนดก่อนเริ่มเกม เราไม่สามารถจะควบคุมจังหวะเวลาของโอกาสได้ แต่เราสามารถควบคุมการเตรียมการของเราได้” ต้องเรียกได้ว่าความหลงใหลในเรื่องกีฬาของ Cook เป็นกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จของเขาที่ Apple นั่นเอง
สิบปีแรกในอาชีพของ Cook ที่ Apple แม้จะดูเหมือนค่อนข้างเงียบ แทบจะไม่มีคนรู้จัก เพราะทุกสายตาต่างจับจ้องไปที่ชายที่ชื่อ Steve Jobs แต่ Cook นั้นซ่อนตัวอยู่หลังม่านลับของ Apple อยู่ตลอดเวลา
1
แต่จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่เขาต้องออกมาอยู่ฉากหน้า ก็คือ เมื่อ Jobs ถูกบีบบังคับให้ลาพักรักษาตัวในปี 2009 มันก็ถึงเวลาของ Cook เสียทีที่ต้องออกมาแสดงศักยภาพที่ตัวเขามี ให้โลกได้รู้ แน่นอนว่าเมื่อถึงตอนนั้น Jobs ก็ไว้วางใจ Cook ถึงระดับสูงสุดแล้ว และได้ส่งมอบตำแหน่งที่สำคัญที่สุดในการนำพา Apple เข้าสู่ยุคต่อไปให้กับเขาในท้ายที่สุดนั่นเองครับผม
References :
หนังสือ Tim Cook The Genius Who Took Apple to Next Level โดย Leander Kahney
1
◤━━━━━━━━━━━━━━━◥
หากคุณชอบคอนเทนต์นี้อย่าลืม 'กดไลก์'
หากคอนเทนต์นี้โดนใจอย่าลืม 'กดแชร์'
คิดเห็นอย่างไรคอมเม้นต์กันได้เลยครับผม
◣━━━━━━━━━━━━━━━◢
The original article appeared here https://www.tharadhol.com/why-tim-cook/
ติดตามสาระดี ๆ อัพเดททุกวันผ่าน Line OA ด.ดล Blog
คลิกเลย --> https://lin.ee/aMEkyNA
รวม Blog Post ที่มีผู้อ่านมากที่สุด
——————————————–
ติดตาม ด.ดล Blog เพิ่มเติมได้ที่
=========================
โฆษณา