20 ต.ค. 2023 เวลา 00:40 • ท่องเที่ยว
มหาวิหารเซนต์อัลบัน

เยี่ยมบ้านนักบุญอัลบัน นักบุญองค์แรกของอังกฤษ

เพียงมุ่งขึ้นเหนือ ด้วยระยะทาง 19 ไมล์ หรือประมาณ 30.5 กิโลเมตร จากใจกลางกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร เราจะได้พบกับเมืองเล็กๆ เมืองหนึ่ง ซึ่งในอดีตเมื่อเกือบ 2 สหัสวรรษก่อน เมืองนี้เป็นเมืองโรมัน ชื่อ เวอร์รูลามิอัม (Verulamium) แต่ในปัจจุบัน เมืองนี้ได้ชื่อว่า เป็นเรือธงของคริสเตียน เมืองของนักบุญอัลบัน (St.Albans City) นักบุญองค์แรกแห่งอังกฤษ
ที่เมืองเซนต์อัลบันส์ เรายังพอได้เห็นร่องรอยของสิ่งก่อสร้างจากยุคโรมัน ที่พอจะหลงเหลืออยู่บ้าง แต่สถาปัตยกรรมที่โดดเด่นที่สุดของเมือง คือ มหาวิหารเซนต์อัลบัน (The Cathedral and Abbey Church of St Alban) ด้วยหอคอยที่เด่นตระหง่าน สูงถึง 144 ฟุต ทำให้สามารถมองเห็นมหาวิหารแต่ไกล
มหาวิหารเซนต์อัลบัน
มหาวิหารเซนต์อัลบัน สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึก และแสดงคาราวะแด่ นักบุญอัลบัน ซึ่งเคยเป็นชายหนุ่มที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองเวอร์รูลามิอัม ช่วงประมาณคริสตศรรตวรรษที่ 3
แต่เดิมนั้น อัลบันก็เป็นเหมือนชาวบ้านแถบนั้นทั่วๆ ไป ที่นับถือทวยเทพ และให้ความจงรักภักดีต่อจักรวรรดิโรมัน อย่างไรก็ตาม ในระหว่างนั้น ความเชื่อในพระเจ้าองค์เดียวตามหลักศาสนาคริสต์ ได้เริ่มแผ่ขยายเข้ามาอย่างช้าๆ หนึ่งในการแทรกซึมนั้น คือ นักบวชนามแอมฟิบาลัส (Amphibalus) ที่ได้พยายามเผยแผ่ศาสนา จนกลายเป็นคนนอกรีต ที่ถูกหมายหัวจากพวกโรมันที่ปกครองอยู่
ผู้ปกครองเมืองในขณะนั้น มีคำสั่งให้จับกุมหลวงพ่อแอมฟิบาลัส และในระหว่างที่หลวงพ่อหลบหนีนั่นเอง ก็ได้พบอัลบัน ชายผู้อารีที่ได้มอบที่พักพิงให้นักบวชผู้เพื่อหลบภัย
ระหว่างที่อัลบันได้ให้ความช่วยเหลือแอมฟิบาลัสนั่นเอง คุณพ่อก็ได้ใช้เวลาไปในการเล่าเรื่องตามของคริสเตียน ทำให้อัลบันได้ซึมซับคำสอน และเปลี่ยนความเชื่อของตัวเองจากเทพเจ้าโรมัน เป็นคริสตศาสนิกชนคนหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ในเวลาไม่นานนัก ความลับที่ซุกซ่อนบาทหลวงเกิดแตกขึ้น เจ้าหน้าที่ทางการรู้ถึงการหลบหนีของแอมฟิบาลัส จึงนำกำลังเข้ามา หมายจะจับกุมท่าน ถึงตอนนี้ อัลบันเกิดความคิดที่แยบยล และเต็มไปด้วยการเสียสละ ชายหนุ่มจัดแจงเปลี่ยนเสื้อผ้ากับแอมฟิบาลัส เปลี่ยนตัวเองจากชาวบ้านธรรมดาๆ เป็นนักบวช ก่อนจะแอ่นอกให้ทหารเข้าจับคุมตัว เพื่อให้เวลาแก่แอมฟิบาลัสได้โอกาสหลบหนีไป
อัลบันในคราบของนักบวช ถูกนำตัวไปเผชิญหน้ากับผู้พิพากษาโรมัน ซึ่งเดือดดาลเป็นอย่างมาก เมื่อได้พบความจริงว่า นักโทษที่ถูกนำตัวมานั้น ไม่ใช่คนที่ตามจับกุมอยู่ แต่ถึงแม้จะโกรธจนหนวดกระดิก แต่ผู้พิพากษาก็ยังให้โอกาสสุดท้ายแก่อัลบัน ด้วยการให้ทางเลือกที่ชัดเจนว่า หากอัลบันยอมประกาศตัวเป็นผู้นับถือเทพโรมัน ก็จะไม่ถูกลงโทษ แต่หากดื้อดึง ประกาศตัวเป็นคริสเตียน โทษทัณฑ์ที่จะได้รับ ก็มีเพียงสถานเดียว คือ ต้องตายแทนบาทหลวงที่อัลบันช่วย
ถ้าเป็นคนอื่น หากได้รับข้อเสนอนี้ ก็อาจจะลนลาน รับปากรับคำ ว่าจะกลับไปนับถือเทพโรมัน แต่อัลบันไม่ใช่คนอย่างนั้น เขาเป็นชายผู้กล้าหาญพอ ที่จะแสดงตัว และกล่าวแถลงความเชื่อ ความศรัทธาของตัวเอง ว่า “ข้าถวายความสักการะ และนบนอบแก่พระเจ้าที่แท้จริง พระผู้สร้างสรรพสิ่ง”
ด้วยประโยคนี้ ด้วยคำว่า พระเจ้าที่แท้จริง ทำเอาท่านผู้พิพากษาโรมันหนวดกระดิกคำรบสอง แต่ก็ยังให้โอกาสอีก นั่นคือ แทนที่จะสั่งกุดหัวเสียในทันทีทันใด ก็สั่งให้ลงโทษอัลบันผู้ที่ท่านผู้พิพากษาคงเห็นว่า ช่างมีวาจาวสามหาวเสียเหลือเกิน ด้วยการเฆี่ยนอย่างหนัก ด้วยหวังจะสั่นคลอนความเชื่อให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่คนอื่นๆ จะได้ไม่ต้องมาแข็งข้อกันให้มากนัก
ทว่า อัลบันก็ยังกัดฟัน ยอมรับความเจ็บปวดอย่างอดทน และยินดี ไม่ยอมกล่าวละทิ้งความเชื่อเพื่อกลับไปหาเทพเจ้าโรมันแม้แต่คำเดียว จนทำให้ท่านผู้พิพากษาเกินจะอดกลั้นต่อไปได้ งานนี้ คำสั่งประหารชีวิตก็ถูกงัดขึ้นมาใช้จนได้
ด้วยคำสั่งตาย อัลบันถูกทหาร และมือเพชรฆาตนำตัวออกไปนอกเมือง ระหว่างเดินไปสู่สถานที่ประหาร ต้องข้ามแม่น้ำเวอร์ (River Ver) แต่ก็เกิดเหตุการณ์ อังกฤษมุง ผู้คนที่ทราบข่าว แห่มาออกันเต็มสะพาน ทำให้ทหารไม่สามารถพาอัลบันเดินข้ามแม่น้ำไปได้ ระหว่างที่รีๆ รอๆ ไม่รู้จะทำยังไงกันดี อัลบันก็แหงนหน้าขึ้นมองท้องฟ้า ปรารภว่า อยากจะไปถึงตะแลงแกงเสียเร็วๆ ทันใดนั้นเอง ก็เกิดปาฏิหาริย์ น้ำเต็มแม่น้ำเวอร์กลับเหือดแห้งหายไป เหลือเป็นทางชื้นๆ ให้เดินข้ามไปอีกฝั่งหนึ่งได้อย่างสะดวก
อัลบันถูกทหารโรมันจับตัวไปสู่แท่นประหาร (ภาพโมเสค ในพิพิธภัณฑ์เก่าของเมืองเซนต์อัลบันส์, ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์เก่าได้ถูกแทนที่ด้วยสถานที่ก่อสร้างใหม่แล้ว)
เพชรฆาตมือหนึ่งเห็นอัศจรรย์นี้ ถึงกับตะลึง ดาบที่ถือกระชับอยู่หลุดร่วงลงจากมือแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว ก่อนจะทรุดลง หมอบแทบเท้าอัลบัน แสดงความประสงค์ที่จะขอเป็นฝ่ายยอมรับความเจ็บปวด หรือตายแทนก็ได้
แต่อัลบันก็มิได้รับคำนั้น ยังคงเดินตามทหารที่เกาะกุมไปจนถึงเนินเตี้ยๆ ที่พวกโรมันใช้เป็นสถานที่ประหารนักโทษ
ตำนานเล่าขานสืบต่อกันมาว่า บนเนินนั้น อัลบันที่เดินมาไกลเกิดกระหายน้ำ จึงได้วิงวอนต่อพระผู้เป็นเจ้า เพื่อขอน้ำมาประทังความกระหาย และทันใดนั้น ก็ได้บังเกิดเป็นน้ำพุพุ่งขึ้นมาโดยปาฏิหาริย์ เพื่อช่วยให้อัลบันได้ดื่มเป็นครั้งสุดท้ายในชีวิต
ถึงตอนนี้ เวลาแห่งการประหารชีวิตกำลังจะเริ่มต้นขึ้น แต่ดังได้กล่าวแล้วว่า เพชรฆาตมือหนึ่งเกิดเปลี่ยนใจหลังจากได้เห็นปาฏิหาริย์อันน่าอัศจรรย์ พวกทหารโรมันเลยต้องเรียกหาเพชรฆาตมือสองมาทำหน้าที่แทน และผู้ที่ลงมือบั่นศีรษะอัลบันนั้น ก็ได้รับผลกรรมในทันที เพราะเมื่อเขาได้ตวัดดาบลงไป นอกจากหัวของอัลบันจะหลุดร่วงแล้ว ลูกตาทั้งสองของเพชรฆาตก็กระเด็นหลุดจากเบ้าตาออกมาด้วย ในขณะที่หัวของอัลบันกลิ้งหลุนๆ มายังปลายเนิน ก่อให้เกิดเป็นบ่อน้ำใสเย็นขึ้น เป็นอนุสรณ์แก่มรณสักขีครั้งแรกของอังกฤษ
ภาพการประหารอัลบัน ซึ่งทันทีที่เพชรฆาตบั่นคอ ดวงตาของเขาก็หลุดร่วงลงมา (ภาพเก่าแก่จากคริสตศตวรรษที่ 13 ปัจจุบันอยู่ในครอบครองของห้องสมุดวิทยาลัยทรินิตี้ ดับลิน(Trinity College Library, Dublin)
ครั้นเมื่อผู้พิพากษาผู้ให้โทษตายแก่อัลบันได้ยินเรื่องราวทั้งหมด ก็ถึงกับตื่นตะลึง รีบลนลานสั่งให้ยกเลิกการทารุณต่อคริสเตียน พร้อมๆ กับประกาศยกย่องให้เกียรติอัลบัน
ในเวลาต่อมา อัลบันได้รับการยกย่องให้เป็นนักบุญ ถือเป็นนักบุญองค์แรกของอังกฤษ ส่วนสถานที่ซึ่งท่านถูกบั่นคอนั้น ได้มีการสร้างโบสถ์เล็กๆ ขึ้น เพื่อระลึกถึงมรณสักขีอันสำคัญ และเมื่อเวลาผ่านไป โบสถ์เล็กๆ ของนักบุญอัลบันก็ขยับขยายใหญ่ขึ้น จากศรัทธาที่ท่วมท้น และในที่สุด ก็กลายเป็นมหาวิหารอันใหญ่โตโอฬารเช่นปัจจุบัน ในขณะที่ชื่อเมืองเอง ก็ถูกเปลี่ยนการเรียกขาน เป็นเมืองเซนต์อัลบันส์ ตราบทุกวันนี้
มหาวิหารเซนต์อัลบัน
มหาวิหารเซนต์อัลบัน
มหาวิหารเซนต์อัลบัน ขึ้นชื่อในเรื่องของการเป็นสถานที่ซึ่งคริสศาสนิกชนจะมาใช้เวลาเพื่อแสวงหาความสงบ ผู้เจ็บไข้ได้ป่วยต่างๆ มากันเพื่ออ้อนวอนขอปาฏิหาริย์แห่งการเยียวยา ในขณะที่แท่นบูชาของนักบุญอัลบัน (Shrine of Saint Alban) ก็เพิ่งจะได้รับการลงคะแนนจากชาวอังกฤษ เมื่อเดือนพฤษจิกายน พ.ศ.2557 ให้เป็น 1 ใน 5 ของสถานที่ซึ่งมีคุณค่าที่สุดทางจิตวิญญาณในสหราชอาณาจักร (Top 5 favourite spiritual places in UK) จากการสำรวจความคิดเห็นซึ่งดำเนินการโดย บรรษัทแพร่ภาพกระจายเสียงอังกฤษ หรือ บีบีซี
แท่นบูชาเซนต์อัลบัน ซึ่งได้รับการลงคะแนนจากชาวอังกฤษ ให้เป็น 1 ใน 5 ของสถานที่ซึ่งมีคุณค่าที่สุดทางจิตวิญญาณในสหราชอาณาจักร
ภาพวาดของเซนต์อัลบัน หน้าแท่นบูชา
แท่นบูชาของนักบุญอัลบันนี้ สร้างขึ้นมาครั้งแต่คริสตศตวรรษที่ 14 หากมองเผินๆ อาจจะทำให้คิดไปได้ว่า เป็นสถานที่เก็บพระศพของนักบุญอัลบันด้วย แต่ตามหลักฐานแล้ว มิได้เป็นเช่นนั้น เพียงแต่มีพระธาตุ (กระดูก) บางส่วนของท่านได้รับการเก็บรักษาไว้ที่นี่
เรื่องนี้คงต้องย้อนอดีตกันอีกเล็กน้อย กล่าวคือ อาจจะมีความเป็นไปได้ว่า โบสถ์เซนต์อัลบันในสมัยก่อน ได้เคยฝังพระศพที่สมบูรณ์ของท่านเอาไว้ แต่ต่อมาเมื่อนักบุญอัลบันได้รับการนับถือมากขึ้นเรื่อยๆ ชื่อเสียงและความศักดิ์สิทธิ์ของท่านแผ่ขยายไปสู่หลายประเทศในยุโรป ก็เลยมีการแบ่งปันพระธาตุของท่านบางส่วนไปให้โบสถ์อื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โบสถ์เซนต์แพนทาเลียน (Church of St.Pantaleon) ในเมืองโคโลญ ประเทศเยอรมณี ที่ได้รับพระธาตุส่วนหนึ่งไปบูชา
ครั้นเมื่อเกิดเหตุใหญ่ใน ค.ศ.1539 อันเป็นยุคแห่งการปกครองของพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 (Henry VIII) จอมกษัตริย์มีปัญหากับคริสตจักร และในที่สุดก็มีพระบัญชาให้กวาดล้างทำลายสถานที่สำคัญของคริสเตียน โบสถ์เซนต์อัลบันก็เป็นหนึ่งในสถานที่สำคัญที่พลอยฟ้าพลอยฝนถูกถล่มไปด้วย
ทำให้คาดกันว่า ในช่วงนั้นเอง ที่ผู้เคารพนักบุญอัลบันได้เห็นแววไม่ดี ก็เลยจัดการลักลอบนำเอาพระธาตุส่วนที่เหลือออกนอกประเทศ พร้อมๆ กับสมบัติมีค่าทางคริสตศาสนาอื่นๆ อีกมาก ที่ถูกนำออกจากอังกฤษในระยะนั้น ทำให้โบสถ์เซนต์แพนทาเลียน น่าจะได้พระธาตุเกือบทั้งหมดไปไว้ในครอบครอง
จนเเดือนมิถุนายน ค.ศ.2002 โบสถ์เซนต์แพนทาเลียนก็ได้ส่งคืนพระส่วนกระดูกหัวไหล่ และสะบักของนักบุญอัลบันที่เก็บรักษาไว้นานหลายร้อยปี คืนสู่แผ่นดินแม่ และพระธาตุเท่าที่มี ก็ถูกเก็บไว้ที่แท่นบูชาดังกล่าว (นอกจากนี้ มีรายงานว่า พระธาตุส่วนอื่นๆ ยังกระจัดกระจาย เช่น ส่วนหน้าแข้งของนักบุญอัลบัน ถูกเก็บรักษาไว้ที่วัดเซนต์ไมเคิล (St.Michael’s Benedictine Abbey) ในเมืองฟาร์นโบโรห์ (Farnborough) ในแฮมป์เชียร์ (Hampshire) ซึ่งว่ากันว่า เป็นพระธาตุที่ได้มาจากโคโลญ ในช่วงทศวรรษที่ 1950
ตอนนี้ เรามีเรื่องเล่าของตำนานแห่งมรณสักขีที่เต็มไปด้วยปาฏิหาริย์ มีมหาวิหารที่สร้างขึ้นบูชานักบุญอัลบัน มีแท่นบูชาที่เก็บพระธาตุ ทว่า...ในแง่ประวัติศาสตร์ นักบุญอัลบันมีตัวตนจริงหรือไม่ หากมี ท่านถูกประหารเมื่อไหร่ นี่คือสิ่งที่นักประวัติศาสตร์ศาสนาพยายามหาคำตอบ
แรกเริ่มเดิมที มีการประมาณการกันว่า ปีที่เกิดมรณสักขี น่าจะเป็นช่วงประมาณ ค.ศ.209-305 แต่เมื่อสืบค้นเอกสารย้อนกลับไปในช่วงนั้น ก็ไม่ได้มีการพบหลักฐานร่วมสมัย ในขณะที่ชื่อของนักบุญอัลบัน น่าจะถูกกล่าวถึงเป็นครั้งแรกๆ จากบันทึกของนักบุญเจอมานัส (St Germanus of Auxerre) ซึ่งมีอายุอยู่ในช่วงปี ค.ศ. 378-448
นักบุญเจอมานัส เป็นผู้ที่มีความพยายามอย่างมาก ในการเผยแผ่ศาสสนาคริสต์ และต่อสู้กับลัทธิความเชื่อเรื่องพหุเทวนิยม (เทพเจ้าหลายองค์) ท่านจึงได้เดินทางไปทั่วเกาะอังกฤษ เพื่อเผยแผ่คำสอน และมีบันทึกว่า ในปี ค.ศ.429 ท่านได้เดินทางมาถึงเมืองที่นักบุญอัลบันเคยมีชีวิตอยู่ และเมื่อมาพำนักที่นี่ อัศจรรย์ก็บังเกิดขึ้น นักบุญอัลบันได้มาพบกับนักบุญเจอมานัสในห้วงนิทรา ในความฝันนั้น นักบุญอัลบันเล่าเรื่องราวของพระองค์
เมื่อนักบุญเจอมานัสตื่นขึ้นมา ก็ได้บัญชาให้วาดความฝันไว้ที่ฝาผนัง กลายเป็นเรื่องราวสั้นๆ ที่มีการกล่าวถึงนักบุญอัลบันเป็นครั้งแรกๆ และในเวลาต่อมา ก็มีการค้นคว้าเสริมแต่งเรื่องราวมากขึ้น พร้อมๆ กับที่โบสถ์ของนักบัญอัลบันก็ขยับขยายใหญ่ขึ้นด้วย
แต่ถึงกระนั้น ก็ยังถือว่า เรื่องของนักบุญอัลบันยังมีความสับสนในแง่ประวัติศาสตร์
ดร.จอห์น มอร์ริส (Dr.John Morris) ผู้ศึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์นักบุญ อาจจะเป็นผู้ไขปริศนา จากการค้นคว้าเอกสารมากมาย ดร.มอร์ริสฟันธงลงไปว่า นักบุญอัลบัน มีตัวตนจริงๆ ในหน้าประวัติศาสตร์อังกฤษ และวันแห่งมรณสักขีของท่าน คือ วันที่ 22 มิถุนายน ค.ศ.209
จากการสืบค้นเอกสาร ได้พบข้อเขียนของนักบุญเจอแมน (St.Germaine) ที่จารึกไว้ในปี ค.ศ.480 ว่า การประหารนักบุญอัลบัน เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน แต่ยังไม่ได้ระบุปีที่แน่ชัด อย่างไรก็ตาม ได้มีการพบเอกสารเก่าแก่เพิ่มเติมว่า ในยุคที่เซ็ปติมัส เซเวอร์รัส (Septimus Severus) เป็นจักรพรรดิโรมัน (ปกครอง ค.ศ.193-211) นั้น ได้เคยเดินทางมาอังกฤษ และพบว่ามีคริสเตียนจำนวนมาก จึงได้มีพระบัญชาให้กวาดล้าง แต่ก็เป็นการกวาดล้างอย่างละมุนละม่อม ไม่เคยถึงกับสั่งเอาชีวิต
แต่ถึงกระนั้น ก็มีบุคคลคนหนึ่ง ที่ต้องโทษประหารจากการนับถือศาสนาคริสต์ในช่วงนั้น ซึ่งเมื่อเกิดเหตุการประหารอันน่าหดหู่นี้ขึ้น ก็มีคำสั่งให้เลิกการเข่นฆ่า ห้ามไม่ให้มีการประหารอีก ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้สูงว่า ผู้ที่ถูกประหารเพียงหนึ่งเดียวนั้น คือ นักบุญอัลบัน ซึ่งตามบันทึกที่เทียบเคียงในช่วงเดียวกัน พบว่า เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ.209
ดังนั้น ผู้นับถือนักบุญอัลบัน จึงนับเอาวันที่ 22 มิถุนายนของทุกปี เป็นวันแห่งการฉลอง และถวายการบูชาแก่บักบุญอัลบัน
สำหรับผู้ที่ไปเที่ยวอังกฤษ และอยากไปสักการะนักบุญอัลบัน สามารถเดินทางได้ง่ายๆ จากกรุงลอนดอน ด้วยรถไฟ ลงที่สถานนีเมืองเซนต์อัลบันส์ หรือหากมีรถยนต์ส่วนตัว ก็ขับไปได้ไม่ไกลนัก ใช้เวลาเดินทางเพียงประมาณครึ่งชั่วโมง ก็จะได้พบกับเมืองโรมันเก่าแก่ และนอกจากมหาวิหารเซนต์อัลบันที่สวยงามตระการตาแล้ว ใจกลางเมืองยังมีพิพิธภัณฑ์เมืองเซนต์อัลบันส์ ซึ่งแม้จะเป็นพิพิธภัณฑ์เล็กๆ แต่ก็เก็บเรื่องราวทางประวัติศาสตร์อันน่าสนใจไว้มากมาย ส่วนตัวเมืองเอง ก็เป็นเมืองเล็กๆ เงียบสงบ งดงาม และน่าจดจำ
ด้านหน้ามหาวิหาร

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา