8 พ.ย. 2023 เวลา 05:00 • สุขภาพ

อ้วนแล้วไง... โรคภัยถามหา

โรคอ้วน (Obesity) และภาวะน้ำหนักเกิน (Overweight) คือ ภาวะที่ร่างกายมีการสะสมของไขมันมากกว่าปกติ ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการที่ร่างกายได้รับพลังงานเกินกว่าที่ร่างกายต้องการ จึงเกิดการสะสมพลังงานที่เหลือนั้นเอาไว้ในรูปของไขมันตามอวัยวะต่าง ๆ ส่งผลเสียต่อสุขภาพและเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา
  • ระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง ความดันโลหิตสูง
  • ระบบทางเดินหายใจ เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
  • ระบบทางเดินอาหาร เช่น โรคกรดไหลย้อน ไขมันเกาะตับ
  • ระบบต่อมไร้ท่อและนรีเวช เช่น เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ประจำเดือนไม่สม่ำเสมอ
  • ระบบข้อและกล้ามเนื้อ เช่น ข้อเสื่อม เกาต์
  • ระบบผิวหนัง เช่น ติดเชื้อราบริเวณขาหนีบหรือรอยพับของผิวหนัง เส้นเลือดขอด
  • เพิ่มความเสี่ยงโรคมะเร็ง เช่น เต้านม มดลูก/ปากมดลูก ลำไส้ใหญ่
  • สุขภาพจิต เช่น รู้สึกเสียความมั่นใจในการเข้าสังคม ภาวะซึมเศร้า
เมื่อไรถึงจะเรียกว่าอ้วน ?
ในปัจจุบันมีการให้คำจำกัดความของโรคอ้วนไว้ว่า เป็นภาวะที่มีน้ำหนักตัวมากกว่าปกติ โดยคิดจากค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass index) ซึ่งสามารถคำนวณได้จากสูตร
ดัชนีมวลกาย (BMI) = น้ำหนัก (กิโลกรัม) / ส่วนสูง (เมตร)
การแบ่งระดับโรคอ้วนในผู้ที่มีอายุมากกว่าหรือเท่ากับ 18 ปี โดยใช้ดัชนีมวลกายของคนไทย
สภาวะร่างกายและดัชนีมวลกาย (กก./ม.^2)
  • น้ำหนักตัวปกติ > 18.5 - 22.9
  • น้ำหนักตัวเกิน (Overweight) > 23.0 - 24.9
  • อ้วนระดับ 1 > 25.0 - 29.9
  • อ้วนระดับ 2 > มากกว่าหรือเท่ากับ 30.0
ปัจจัยใดบ้างที่ส่งผลให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น?
ปัจจัยทางสรีรวิทยา
  • กรรมพันธุ์ หากมีคนในครอบครัวเป็นโรคอ้วนหรือมีน้ำหนักมากกว่าเกณฑ์มาตรฐาน จะทำให้มีความเสี่ยงที่จะอ้วนได้ง่ายกว่าคนอื่นๆ
  • การตั้งครรภ์ หญิงตั้งครรภ์อาจมีความเชื่อว่าการบริโภคอาหารมากๆ จะทำให้ทารกคลอดออกมาแข็งแรงสมบูรณ์ ประกอบกับมีกิจกรรมการเคลื่อนไหวร่างกายลดลง จึงส่งผลให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ
  • การหยุดสูบบุหรี่ สารพิษในบุหรี่ทำให้ต่อมรับรสลดลง เมื่อหยุดสูบบุหรี่ทำให้การรับรสเป็นปกติ จึงรับประทานอาหารได้มากขึ้น
  • การรับประทานยาบางชนิดที่อาจทำให้น้ำหนักขึ้น เช่น ยาจิตเวช ยากันชัก ยาคุมกำเนิด สเตียรอยด์โรคต่อมไร้ท่อ เช่น โรคถุงน้ำรังไข่ กลุ่มอาการคุชชิ่ง ภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ
ปัจจัยทางพฤติกรรม
  • การรับประทานอาหาร เช่น ทานจุบจิบ ทานอาหารและเครื่องดื่มที่ให้พลังงานสูง
  • พฤติกรรมการรับประทานอาหารผิดปกติ เช่น โรคกินไม่หยุด (Binge eating disorder)
  • การออกกำลังกายน้อย เช่น ไม่มีเวลาออกกำลังกาย พฤติกรรมทำงานใช้กำลังกายน้อย ขาดการออกกำลังระดับหนักพอควร และมีข้อจำกัดด้านร่างกายในการออกกำลัง
  • การอดนอน
แนวทางการรักษาโรคอ้วนมีอะไรบ้าง ?
เราสามารถแบ่งแนวทางการรักษาโรคอ้วนออกเป็น 2 แนวทางหลักๆ ด้วยกัน คือ
แนวทางการรักษาโดยไม่ใช้ยา ได้แก่
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิต
  • การควบคุมอาหาร: โดยรับประทานอาหารในสัดส่วนสมดุล (คาร์โบไฮเดรต 45-65%, ไขมัน 20-35% และโปรตีน 10-35%)1 ร่วมกับกลยุทธ์ต่างๆ เช่น ลดขนาดภาชนะของอาหารที่จะรับประทาน หลีกเลี่ยงอาหารที่ให้พลังงานสูง ใช้อาหารทดแทนมื้ออาหาร
  • การใช้พลังงาน และการออกกำลังกาย: แนะนำให้ใช้พลังงาน หรือออกกำลังกายในระดับหนักปานกลาง (Moderate intensity) เช่น ล้างรถ เช็ดกระจก ถูพื้น เดินเร็ว ว่ายน้ำ แบดมินตัน อย่างน้อย 150-200 นาทีต่อสัปดาห์
การผ่าตัดเพื่อลดน้ำหนัก (Bariatric surgery)
  • เหมาะกับผู้ป่วยโรคอ้วนที่มีดัชนีมวลกาย ≥30 กก./ม.2 4ที่ต้องการลดน้ำหนัก เพื่อควบคุมปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ จากโรคอ้วน รวมถึงโรคระบบหลอดเลือดหัวใจ หรือผู้ป่วยโรคอ้วนที่เป็นเบาหวาน เพื่อช่วยในการควบคุมโรคเบาหวานให้ดีขึ้น หรืออาจทำให้หายขาดไปได้ ซึ่งชนิดของการผ่าตัด มีทั้งการผ่าตัดลดขนาดของกระเพาะอาหาร (Mini gastric bypass), การตัดต่อลำไส้ให้ส่วนที่ดูดซึมอาหารสั้นลง (Roux-en-Y gastric bypass: RYGB) เป็นต้น
การส่องกล้องเย็บกระเพาะอาหาร (Endoscopic sleeve gastroplasty: ESG)
  • เป็นนวัตกรรมใหม่ที่ไม่มีการผ่าตัด หรือแม้กระทั่งการเจาะรูผ่านทางหน้าท้อง แต่เป็นการใส่กล้องเข้าไปในตัวผู้ป่วยทางปาก แล้วเย็บกระเพาะให้เล็กลง (Endoscopic suturing) เหมือนการผ่าตัดกระเพาะให้เล็กลงด้วยวิธี Sleeve gastrectomy แต่ไม่มีการผ่าตัดใด ๆ
แนวทางการรักษาโดยใช้ยา
พิจารณาในผู้ป่วยโรคอ้วนที่มีดัชนีมวลกาย ≥27 กก./ม.2 4 เมื่อใช้การควบคุมอาหารและออกกำลังกายไม่ได้ผล ซึ่งในประเทศไทยมียาที่ได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยาให้ใช้ในการรักษาโรคอ้วน 3 รายการ คือ Orlistat, Phentermine และ Liraglutide
  • Orlistat
  • ยับยั้งเอนไซม์ไลเปสที่ใช้ย่อยสลายไขมัน ร่างกายจึงดูดซึมไขมันได้น้อยลง ไขมันถูกขับออกมากขึ้น
  • ผลข้างเคียงที่อาจพบได้: ถ่ายเหลวมัน ท้องอืด ปวดมวนท้อง
  • Phentermine
  • เพิ่มปริมาณสารสื่อประสาทในสมอง (Norepinephrine และ Dopamine) ทำให้ลดความอยากอาหาร
  • ผลข้างเคียงที่อาจพบได้: ปากแห้ง นอนไม่หลับ ความดันโลหิตสูง อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น
  • Liraglutide
  • มีฤทธิ์คล้ายฮอร์โมน Glucagon-like peptide-1 (GLP-1) โดยจะไปจับกับตัวรับ GLP-1 ทำให้ลดความอยากอาหาร และทำให้รู้สึกอิ่ม
  • ผลข้างเคียงที่อาจพบได้: คลื่นไส้ อาเจียน ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ปวดท้อง อาหารไม่ย่อย

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา