19 ต.ค. 2023 เวลา 14:39 • หนังสือ

สิ​ คี​ ริ​ ยา

หากเอ่ยชื่อประเทศ​ศรีลังกา​ ผู้อ่านคนไทยส่วนใหญ่คงจะไม่คุ้นเคยและหลายคนก็คงไม่รู้จัก​
คุณโสภาค สุวรรณ​ ศิลปินแห่งชาติด้านวรรณศิลป์ประจำปี​พ. ศ. ๒๕๔๗​ นำประสบการณ์ที่เคยพำนักที่นั่นและข้อมูลทางประวัติศาสตร์มาแต่งเป็นหนังสือแนวจินตนิยายชื่อชุด "สิคีริยา" และ​"ศิขริน-เทวินตา" ซึ่งบริษัททัวร์ยังต้องแนะนำให้ผู้ที่จะไปท่องเที่ยวศรีลังกาทุกคนควรอ่านก่อนเดินทางทีเดียว
.
นิยายอิงประวัติศาสตร์​เรื่อง​ "สิคีริยา" เป็นงานประพันธ์ที่ผู้อ่านจะได้รับแรงบันดาลใจทางประวัติศาสตร์ และคติธรรมทางพุทธศาสนาได้อย่างดี งานเขียนชุดนี้จัดพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ. ๒๕๒๐ ผ่านมาถึงปัจจุบันนานกว่า ๔๐ ปีเนื้อหาก็ยังทันสมัยและอ่านได้อย่างสนุก
.
ผู้ที่สนใจประวัติศาสตร์จะได้รับอรรถรสของเรื่องราวของประเทศศรีลังกายุคกรุงอนุราธปุระเป็นราชธานี เรื่องราวของพระเจ้าดธุเสนา กษัตริย์สิงหลา พระเจ้ากัสสปะและพระราชินี ธรรมเนียมประเพณี ความเป็นอยู่ของชาวสิงหลหรือสิงหลา (Sinhalese) และชาวทมิฬ (Tamil) และความเป็นมาของปราสาทราชวังบนภูเขาสิคีรียา รูปเขียนสีบนผนังภูผาสิคีรียา ซึ่งผ่านมาเกือบสองพันปี บัดนี้เหลือแต่ซากปราสาท (รูปปกเล่มนี้)
.
นวนิยาย "สิคีรียา" เปิดฉากเมื่อพราหมณ์มาฆะเดินทางมารับตำแหน่งที่ปรึกษาประจำราชสำนักสิงหลา แต่ไม่ถูกชะตากับราเชนธรา ตัวเอกผู้ได้รับการวางตัวเป็นแม่ทัพสิงหลา แม้ราเชนธราจะไม่ได้มีอคติใดๆต่อพราหมณ์ผู้นี้ แต่ในที่สุดก็ต้องเผชิญกับเล่ห์เพทุบายของพราหมณ์มาฆะ
.
ราเชนธรา เป็นทหารเอกที่ได้รับการฝึกหัดอย่างดี และยังต้องฝึกสมาธิปฏิบัติควบคู่ไปด้วย เขาจึงไม่ใช่ทหารที่มีฝีมือเก่งฉกาจเท่านั้น ตลอดเรื่องผู้ประพันธ์สื่อให้เราเห็นว่าราเชนธราได้ใช้หลักธรรมอย่างอดทนอดกลั้นและน่าทึ่งเมื่อต้องเผชิญความเป็นความตายในเสี้ยวนาทีชีวิตหนึ่ง
.
กฎแห่งกรรมทำให้เขาตัดสินใจครั้งสำคัญได้ดีอย่างไร ซึ่งต่างกับทิศยา นางเอกผู้ที่ก็ได้รับการอบรมสมาธิปฏิบัติมาเช่นกัน แต่เมื่อต้องเผชิญเหตุการณ์สำคัญ ทิศยาปฏิบัติได้ไม่ดีเท่าราเชนธรา ทั้งสองจึงพบชะตากรรมที่ต่างกันและผลกรรมนี้เองมีผลต่อชีวิตในภพหน้า...
.
โสภาค สุวรรณ เขียนไว้ว่าท่านเชื่อในเรื่องกรรม และกฎแห่งกรรม เชื่อว่าชาติที่แล้วและชาติหน้ามีจริงในฐานะพุทธศาสนิกชนคนหนึ่ง ผู้แต่งนำเสนอเรื่องนี้เพื่อให้เราเห็นว่า กรรมเดินทางข้ามภพข้ามชาติได้อย่างไร สิ่งที่แอดคิดว่าน่าสนใจ คือ เนื้อหาและข้อมูลในนวนิยายมีลักษณะเป็นข้อเท็จจริง ถ้าเขียนเป็นสารคดีก็เหมาะสมอย่างยิ่ง แต่เมื่อท่านนำมาแต่งเป็นนวนิยาย เราจึงมีโอกาสอ่านเรื่องจินตนิยายเรื่องนี้อย่างเพลิดเพลิน
.
ผู้อ่านจะได้พบตัวเอกทั้งสองอีกครั้งรวมทั้งพราหมณ์มาฆะที่ต่างมากเกิดและมีชะตาชีวิตเกี่ยวข้องกันอีกในชาติใหม่ในนิยายชื่อ "ศิขริน-เทวินตา" ซึ่งอ่านสนุกไม่แพ้กัน ราเชนธราเกิดมาเป็น​ ดร.ศิขริน ทิศยาเป็น​ ดร.เทวินตา และพราหมณ์มาฆะเป็น​ ดร.ดรัล เรื่องนี้จะทำให้ผู้อ่านได้รู้จักและเข้าใจประเทศศรีลังกาและความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับประเทศไทยผ่านพุทธศาสนาด้วยค่ะ
.
ผู้สนใจหนังสือนิยายชุดนี้ สามารถคลิกดูรายละเอียดได้ที่นี่ค่ะ
#อ่านอีกครั้งก็ยังชอบ​ #สิคีรียา​ #ศิขรินเทวินตา​ #โสภาคสุวรรณ #สตรีสาร #จินตนิยาย #ศรีลังกา #สิงหล #ทมิฬ #พุทธศาสนา #กฎแห่งกรรม
โฆษณา