Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ThailandOutdoor
•
ติดตาม
20 ต.ค. 2023 เวลา 06:46 • สิ่งแวดล้อม
คุ้มครองแต่ไม่เคยให้คุณค่า ตอน นกกรงหัวจุก
ผมเฝ้ามองการโต้เถียงกับเรื่องนกกรงหัวจุกหรือนกปรอดหัวโขน ระหว่างฝ่ายผู้เลี้ยงนกและ “นักอนุรักษ์” มาพักใหญ่แล้วในเรื่องว่า จะให้นกกรงหัวจุกคงอยู่ในบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองหรือจะปลดออก หลายคนคงมองว่านี่เป็นความขัดแย้งที่หาทางออกไม่ได้
แต่ผมกลับมองว่าถ้าเราเปิดใจมองร่วมกันและยอมรับวิธีคิดใหม่ๆ (ที่ประเทศอื่นเขาทำกันมานานแล้ว) เรื่องของนกกรงหัวจุกอาจจะเป็นโอกาสเปลี่ยนแปลงให้การอนุรักษ์ของประเทศนี้เดินไปในทิศทางที่ถูกต้องเสียทีนะครับ
ก่อนจะเข้าเรื่องนกกรงหัวจุก ผมขอเล่านิทานให้ฟังสักเรื่องหนึ่งก่อน อย่าเพิ่งเบื่อ อย่าเพิ่งมองว่ามันไม่เกี่ยวกันนะครับ เรื่องมีอยู่ว่า
พี่น้องสองคนทะเลาะกันเพราะแย่งส้มผลสุดท้ายในบ้าน ถึงขั้นตบตีกัน เสียงดังไปถึงแม่ แม่พยายามเจรจาให้แบ่งกันคนละครึ่งลูกก็ไม่มีใครยอม ต่างคนต่างบอกว่าต้องใช้ทั้งลูก
นานเข้าพ่อที่นั่งเล่นของเล่นอยู่ทนรำคาญเสียงไม่ได้ จึงเดินมาแยกลูกสาวทั้งสองที่เริ่มจะจิกหัวฟัดกันให้ตายไปข้างหนึ่ง แล้วถามรายละเอียด บอกพ่อหน่อยว่าจะเอาส้มไปทำอะไร
คนพี่สาวก็บอกว่าจะทำแยมส้ม ส่วนน้องสาวบอกจะทำน้ำส้ม เมื่อคุยกันเช่นนี้พ่อก็ปอกเปลือกส้มให้ลูกสาวคนโตไปทำแยม แล้วก็เอาเนื้อส้มให้ลูกสาวคนเล็กไปคั้นน้ำ ลงตัวไปได้ทั้งสองคน ส่วนพ่อก็เอาเมล็ดส้มไปปลูกไว้ข้างบ้านต่อไปจะได้ไม่ต้องแย่งส้มผลสุดท้ายกันอีก
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่าถ้าเราคุยกันดีๆมันจะมีทางออกที่ไม่ต้องมีคนแพ้คนชนะ แต่มันจะมองไม่เห็นเวลาทะเลาะกันจนหน้ามืด
ใครยังไม่ได้ติดตามข่าวยังไม่รู้เรื่องความขัดแย้งของนกกรงหัวจุก ผมขอเล่าความเป็นมาสักนิดครับ
นกปรอดหัวโขนหรือที่นักเลี้ยงนกเรียกว่านกกรงหัวจุกนี้เคยมีมากในธรรมชาติ สมัยที่ผมเป็นนักดูนกมือใหม่เมื่อสามสิบปีก่อน ไปที่ไหนก็เห็น มันมีสถานะเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง แต่ในขณะเดียวกัน เนื่องด้วยมันมีเสียงร้องเพราะ หน้าตาน่ารักสีสวย หลายคนก็เลยเลี้ยงมันเป็นนกกรง นิยมกันมากในภาคใต้
ด้วยความที่มีสถานะเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง การมีเลี้ยงไว้จึงเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ยกเว้นจะได้รับอนุญาต และจะต้องแสดงหลักฐานว่าซื้อนกมาจากการขยายพันธุ์ของผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เพาะพันธุ์เท่านั้น
เนื่องจากเป็นนกที่เลี้ยงกันอย่างแพร่หลาย กลุ่มผู้เลี้ยงนกจึงรวมตัวกันเรียกร้องให้ปลดนกปรอดหัวโขนออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง เพราะทุกคนพูดตรงกันว่าการขออนุญาตเลี้ยงนกสักตัวหนึ่งเป็นเรื่องยุ่งยากมาก ถ้าปลดออกก็จะทำให้การเพาะพันธุ์ทำได้กว้างขวางกว่านี้ และบอกว่านกในธรรมชาติแทบไม่มีเหลือให้จับแล้ว นกก็เหลืออยู่เพราะการเลี้ยงนี่แหละ
ทางฝ่ายคัดค้าน ซึ่งก็มีทั้งนักดูนก, “นักอนุรักษ์”, อาจารย์มหาวิทยาลัย ฯ มีความเห็นว่าไม่ควรปลดออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง เพราะตอนนี้นกในธรรมชาติแทบจะไม่มีเหลือแล้ว ถ้าปลดออกคนก็จะไล่จับมาขายจนหมดแน่ และบ้างก็บอกว่านกควรมีอิสระที่จะอยู่ในธรรมชาติ ไม่ใช่อยู่ในกรงเลี้ยง
ถึงแม้จะมีมุมมองที่ตรงกันข้าม แต่สิ่งหนึ่งที่ทั้ง 2 ฝ่ายพูดตรงกันคือ นกในธรรมชาตินอกเขตอนุรักษ์ (อุทยานแห่งชาติ, เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า)แทบจะไม่มีเหลือแล้ว แม้แต่ในเขตอนุรักษ์ก็มีเหลือน้อยมาก
คำถามคือ เมื่อในปัจจุบัน นกปรอดหัวโขนมีสถานะเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองมานานแล้ว แต่กลับมีจำนวนลดลงจนแทบไม่มีเหลือในธรรมชาติ การเถียงกันว่าจะเป็นสัตว์คุ้มครองหรือไม่ก็ไม่น่าจะเป็นประเด็นสำคัญเหมือนในนิทานที่พี่น้องตบกันแย่งส้ม
ดูเหมือนว่าทุกฝ่าย รวมทั้งกรมอุทยานเองซึ่งเป็นหน่วยงานอนุรักษ์ ตีกรอบไว้แค่ว่าการขยายพันธุ์นกปรอดหัวโขน (และนกธรรมชาติชนิดอื่นๆ) จะต้องทำในกรงโดยผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ขยายพันธุ์เท่านั้น
ทำไมเราไม่คุยกันว่าทำอย่างไรจะหาทางให้นกปรอดหัวโขนในธรรมชาติมีจำนวนเพิ่มขึ้นซึ่งจะทำให้นกปรอดได้อยู่อย่างอิสระในธรรมชาติ ขยายพันธุ์เอง ซึ่งก็จะได้สายพันธุ์ที่หลากหลายแข็งแรงกว่าการเพาะเลี้ยงในกรงมาก
ผมรู้นะว่าอ่านมาถึงตรงนี้ คุณก็คงบอกว่า “เป็นไปไม่ได้หรอก”
มันเป็นไปได้ครับ และเป็นอยู่ในมากมายหลายประเทศ ผมจะขอยกตัวอย่างเรื่องจริงให้ฟังสักเรื่องหนึ่ง แล้วหลังจากนั้นเรามาคุยกันว่าจะทำให้เกิดในบ้านเราได้อย่างไร มันไม่ยากครับ เราแค่ต้องเปลี่ยนความเชื่อพื้นฐานอะไรนิดหน่อย แล้วธรรมชาติของสัตว์และมนุษย์จะทำงานของมันเอง
นก Grey Partridge หรือนกกระทาเป็นนกที่เคยมีอยู่มากมายในท้องทุ่งของประเทศอังกฤษ มันเป็นอาหารของชาวนา เป็นนกที่ปราถนาของนักล่าสัตว์และสร้างรายได้ให้กับผู้ที่เป็นเจ้าของที่ดินที่มันอาศัยอยู่
แต่นกกระทาชนิดนี้ลดจำนวนลงอย่างรวดเร็วตั้งแต่ช่วงปี 1930 ในช่วงปี 1967 จนถึง 2015 ประมาณกันว่าลดลงถึง 92% เลยทีเดียว
ผู้ที่เคยได้ “ผลประโยชน์” จากการคงอยู่ของนกชนิดนี้ไม่ว่าจะเป็นชาวไร่ชาวนาที่ได้นกเป็นอาหาร, นักล่าสัตว์ที่ได้ออกไปยิงนก, เจ้าของที่ดินที่ได้เงินจากนักล่าสัตว์ ไปจนถึงผู้ผลิตกระสุนปืนสำหรับล่าสัตว์ ก็รวมตัวกันเพื่อหาทางปกป้องและฟื้นฟูนกกระทา โดยเริ่มจากการช่วยกันนับจำนวนนกที่ผสมพันธุ์ในช่วงฤดูใบไม้ผลิ และนับนกเต็มวัยในช่วงฤดูใบไม้ร่วง
การดูนกนับนกเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่แน่นอน ถ้านับกันอย่างเดียวนกไม่เพิ่มขึ้นแน่ กลุ่มนักยิงปืน, นักล่าสัตว์ และบริษัทผลิตกระสุนก็ได้สนับสนุนเงินนับล้านปอนด์เพื่อให้มีการวิจัยเพื่อฟื้นฟูนกกระทา โดยมีองค์กรที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อบริหารงานและเงินทุนนี้ในรูปแบบของทรัสต์ (Conservation Trust) ที่พัฒนามาเรื่อยๆจนกลายเป็น Game & Wildlife Conservation Trust (GWCT) ในปัจจุบัน
การวิจัยของ GWCT พบว่าการลดจำนวนลงอย่างรวดเร็วของนกกระทาธรรมชาติในอังกฤษนั้นเชื่อมโยงโดยตรงกับการทำการเกษตรสมัยใหม่ ที่ถึงแม้จะช่วยให้มีอาหารราคาถูกลงและเพียงพอสำหรับทุกคน แต่ก็แลกมาด้วยราคาของการสูญเสียธรรมชาติ
นอกจากพื้นที่อยู่อาศัยของนกกระทาที่อยู่รอบๆฟาร์มรูปแบบเดิมจะถูกทำลายหมดไปแล้ว สิ่งสำคัญต่อการคงอยู่ของเผ่าพันธุ์นกกระทาคืออาหาร ซึ่งก็คือแมลงและตัวอ่อนของแมลงที่นกจะต้องใช้เลี้ยงลูกในช่วง 2 สัปดาห์แรก ก็ถูกทำลายไปหมดจากการใช้ยาฆ่าแมลงและยากำจัดวัชพืช
(คุณอ่านถึงตรงนี้อาจจะบอกว่า เรื่องง่ายๆอย่างนี้มันใช่อยู่แล้ว ไม่เห็นต้องวิจัยเลย แต่ทำไมทีเรื่องนกปรอดหัวโขนเราไม่นึกถึงเรื่องนี้กันบ้างละครับ)
GWCT ไม่ได้เป็นเจ้าของพื้นที่ แต่ทำหน้าที่วิจัยและให้คำแนะนำแก่เจ้าของที่ดินที่อยากเพิ่มจำนวนนกกระทา โดยที่แนะนำให้ทำ 3 เรื่องที่สำคัญไปพร้อมๆกัน ก็คือ ดูแลสภาพแวดล้อมในการวางไข่, ให้นกมีอาหารตลอดทั้งปี และควบคุมสัตว์ผู้ล่าให้มีจำนวนเหมาะสม โดยที่การวิจัยและคำแนะนำนี้อยู่บนพื้นฐานของความสมดุลย์ระหว่างการทำการเกษตรและการฟื้นฟูธรรมชาติและสัตว์ป่าในพื้นที่
คำแนะนำเหล่านี้ไม่ได้ยากเกินไปที่จะปฏิบัติและไม่ได้กระทบกับการทำการเกษตรที่เป็นอาชีพหลักของชาวนามากนัก เช่นเขาพบว่า นกกระทาส่วนใหญ่ของอังกฤษทำรังวางไข่อยู่ที่ขอบไร่ชายทุ่ง โดยเฉพาะในพงหญ้าที่อยู่ใต้ดงไม้เล็กๆระหว่างไร่ คำแนะนำของ GWCT ก็คือควรจะปล่อยหญ้าเหล่านี้ไว้ ไม่ตัดไม่ถางไม่เผา ดงไม้ก็ควรมีการตัดสางบ้างไม่ให้ทึบจนเกินไป
ในเรื่องของอาหาร GWCT ก็แนะนำให้เว้นที่รอบแปลงเกษตรเป็นแถบแคบๆยาวๆให้มีพืชล้มลุกขึ้น (annual arables margin) กันพื้นที่ส่วนหนึ่งให้วัชพืชใบใหญ่ขึ้นโดยที่ไม่พ่นยาฆ่าแมลงและยากำจัดวัชพืชบ่อยนัก ไปจนถึงการปลูกแปลงไม้ดอกขนาดเล็กที่มีอายุหลายปีหลากหลายชนิด
ในทางตรงกันข้าม GWCT ไม่แนะนำให้มีการขยายพันธุ์นกกระทาในกรงเลี้ยงมาปล่อยในธรรมชาติ (แบบที่กรมประมงไทยชอบทำ) เพราะจะทำให้ยีนส์ของนกในธรรมชาติด้อยลง และถ้าสภาพธรรมชาติไม่พร้อมในเรื่องอาหารและที่อยู่ นกที่ปล่อยก็จะมาเบียดเบียนแย่งกับนกธรรมชาติ และนกก็อยู่ไม่ได้อยู่ดี
การพัฒนาสภาพธรรมชาติในฟาร์มแบบง่ายๆนี้นอกจากจะช่วยให้นกกระทาเพิ่มขึ้นแล้ว ยังฟื้นฟูสปีชี่ย์อื่นๆอีกนับพันชนิด ตั้งแต่แมลง, ผึ้ง, ผีเสื้อ, นกชนิดอื่นๆ, กระต่ายป่า ฯลฯ
ผลก็คือ ในช่วงปี 2000-2015 ในขณะที่ จำนวนนกกระทาในประเทศอังกฤษลดลงถึง 54% แต่นกในพื้นที่ที่ทำงานร่วมกับ GWCT กลับมีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 91% ทั้งๆที่เป็นพื้นที่ที่มีการให้ล่านกได้
การฟื้นฟูธรรมชาติในไร่นานี้เป็นเรื่องสำคัญของอังกฤษ เพราะเขามีพื้นที่สงวนสำหรับอนุรักษ์เพียง 8% อีก 92% ล้วนเป็นเป็นที่ที่มีเจ้าของหรือไร่นา
การฟื้นฟูธรรมชาตินอกเขตอนุรักษ์นี้ก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ หากเจ้าของที่ดินมี “แรงจูงใจ” มี “ผลประโยชน์” จากการฟื้นฟูนี้ เช่นเรื่องของนกกระทาในอังกฤษ
แล้วเราล่ะมีแรงจูงใจอะไรบ้างที่จะฟื้นฟูสภาพธรรมชาติในพื้นที่เกือบ 80% ที่อยู่นอกเขตอนุรักษ์ ?
ปัญหาอยู่ที่เราจัดสัตว์ป่าเกือบทุกชนิดเป็น “สัตว์ป่าคุ้มครอง”แต่เรากลับไม่เคยเห็น และไม่ให้ “คุณค่า” กับสัตว์เหล่านั้นเลย เพราะเรามองว่า การใช้ประโยชน์จากสัตว์ป่าเป็นเรื่องผิดทำไม่ได้ ส่งผลให้สัตว์ส่วนใหญ่ลดจำนวนลงแทบหมดไปอย่างกรณีนกกรงหัวจุกนี้
ตรงนี้ เรามาทำความเข้าใจเจตนารมณ์และเป้าประสงค์ของกฎหมายคุ้มครองสัตว์ป่าของประเทศเรากันสักนิดในภาษาที่เข้าใจง่ายๆนะครับ
ถ้าจะพูดกันง่ายๆ เรามีสัตว์อนุรักษ์ 2 ประเภท
สัตว์ป่าสงวนคือ สัตว์ป่าที่มีคุณค่าต่อการรักษาไว้ และมีจำนวนลดน้อยลงใกล้สูญพันธุ์ จึงเป็นสัตว์ที่ห้ามล่า ห้ามครอบครอง หรือใช้ประโยชน์โดยเด็ดขาด
สัตว์ป่าคุ้มครอง ตามชื่อที่บอกเลยครับ เป็นสัตว์ที่คุ้มครองโดยกฎหมาย ไม่ใช่ว่าจะไปล่าเล่น ยิงทิ้ง เอามากินเป็นอาหาร ถลกหนังขาย หรือจับใส่กรงขายได้ตามอำเภอใจหรืออำเภอไหนๆก็ตาม
แต่เป้าประสงค์ของกฎหมายคือ “คุ้มครอง” เพื่อให้มี “การจัดการ” ให้มีจำนวนที่ “เหมาะสม” ไม่สูญพันธุ์ และไม่ให้มากเกินไปจนรบกวนสัตว์อื่นในธรรมชาติจนเสียสมดุลย์ และสามารถอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ได้ ควบคุมปริมาณได้ ไม่ใช่ห้ามแตะต้องโดยเด็ดขาดเหมือนในกรณีของสัตว์ป่าสงวน (ไม่งั้นมันก็คงจัดเป็นสัตว์ป่าสงวนไปหมดแล้ว)
เพื่อให้เข้าใจเป้าประสงค์ของกฎหมายและเห็นความแตกต่างนี้ ขอยกตัวอย่างว่า เมื่อแรกที่เรามีกฎหมายคุ้มครองสัตว์ป่านั้นยังมีการออกใบอนุญาตล่าสัตว์ป่าคุ้มครองหลายๆชนิดอยู่จนกระทั่งการจัดการเรื่องสัตว์ป่าล้มเหลวไปจึงได้ยกเลิกการออกใบอนุญาต
สัตว์คุ้มครองนี้ อาจจะมีทั้งชนิดที่เหลือน้อยใกล้สูญพันธุ์ หรือ บางชนิดมีมากเกินไปแล้ว เช่น ลิง, เหี้ย ฯ แต่เราขาดการจัดการที่เหมาะสมกับปัญหาการมีน้อยเกินไปหรือมากเกินไปนี้ เพราะคนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจความหมายของ “สัตว์ป่าคุ้มครอง” ที่ถูกต้อง ไม่เข้าใจว่าเราจะต้องมีการจัดการเพื่อรักษาสมดุลย์ธรรมชาติ จะจัดการอะไรก็กลายเป็นกระแสสังคมไปหมด
กลับมาที่คำถามสำคัญ ถ้าเราอยากจะฟื้นฟูธรรมชาติในพื้นที่นอกเขตอนุรักษ์ซึ่งเป็นพื้นที่ถึงเกือบ 80% ของประเทศ เรามีแรงจูงใจอะไรให้กับเจ้าของที่ดิน?
นกปรอดหัวโขนหรือนกกรงหัวจุกนี่อาจจะเป็นโอกาสที่ดีนะครับ เพราะมันสัตว์ที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ
เพียงถ้าเราเปิดใจกว้างขึ้นนิดว่าเรายอมให้มีการใช้ประโยชน์จากสัตว์ป่าในธรรมชาติได้บ้างบางส่วน แลกกันว่าการใช้ประโยชน์นั้นจะทำให้สัตว์ป่าชนิดนั้นซึ่งแทบจะหมดไปจากธรรมชาติแล้วกลับมาเพิ่มจำนวนขึ้น อยู่รอดได้ในธรรมชาติ โดยที่มีคนคอยดูแลมัน
ถึงแม้ว่าจะต้องมีนกส่วนหนึ่งมาอยู่ในกรงบ้าง แต่ก็ยังดีกว่าการที่นกทั้งหมดจะถูกเพาะเลี้ยงขึ้นมาในกรงและใช้ชีวิตในกรงไปตลอด
ขออนุญาตลองนำเสนอแนวทางที่อาจจะพอเป็นไปได้ดูนะครับ
แทนที่จะบังคับว่านกที่ถูกกฎหมายทุกตัวจะต้องมาจากผู้เลี้ยงนกที่ได้รับอนุญาตจากกรมอุทยานและจะต้องเพาะเลี้ยงในกรงที่มีการตรวจสอบโดยเจ้าหน้าที่เท่านั้น
ลองมั๊ยครับ ลองหาพื้นที่ทดลองนำร่อง อาจจะเป็นพื้นที่การเกษตรในหุบเขาสักแห่งที่ไม่ใหญ่เกินไปพอจัดการได้ ยังพอมีนกปรอดธรรมชาติเหลืออยู่บ้าง ถ้าเป็นที่ภาคใต้ที่ชอบเลี้ยงนกยิ่งดี เขารักนกกันอยู่แล้ว และผมว่าชุมชนคนใต้เข้มแข็งจัดการอะไรแบบนี้ได้สบายมาก
และผมก็เชื่อว่าสาเหตุที่นกปรอดหัวโขนลดจำนวนลงไปมากนั้นไม่ได้มาจากการโดนจับขายเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเพราะมันสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัยตามขอบไร่ชายทุ่งเช่นเดียวกับนกกระทาในอังกฤษ ในขณะที่ป่าอนุรักษ์ของเราส่วนใหญ่เป็นที่เขาสูงและป่าทึบไม่เหมาะกับการอยู่ของนกปรอดมากนัก
เจ้าหน้าที่อุทยานแทนที่จะทำหน้าที่ตรวจสอบหรือจับกุม มาทำวิจัยกันว่าต้องปรับปรุงปัจจัยอะไรบ้างที่จะทำให้นกปรอดหัวโขนเพิ่มจำนวนขึ้นได้เองในธรรมชาติของไร่นา ในกรมอุทยานมีคนเก่งๆเรื่องนี้มากมายครับ หลายคนไปจบด็อกเตอร์เรื่องการจัดการสัตว์ป่ามาโดยตรง ถ้าทางกรมให้โอกาสแสดงฝีมือ เราจะได้เห็นได้รู้จักคนเก่งๆอีกมากมาย
แล้วมาตั้งกฎเกณฑ์กันไว้ล่วงหน้าเลยครับ ว่าถ้าชุมชนสามารถเพิ่มจำนวนนกในธรรมชาติได้ถึงระดับที่กำหนดจะอนุญาตให้จับนกขายได้ตามสัดส่วนที่เหมาะสม ทั้งหมดนี้ไม่ต้องแก้ไขหรือออกกฎหมายใหม่อะไรเลย
คนเลี้ยงนกและนักอนุรักษ์ นักดูนกก็มีส่วนร่วมในการฟื้นฟูธรรมชาตินี้ได้นะครับ คนเลี้ยงนกสามารถสนับสนุนโครงการได้โดยการให้เงินสนับสนุนล่วงหน้าและได้ผลตอบแทนเป็นนกเมื่อโครงการประสบความสำเร็จ แบบเดียวกับ Kick Starter ทั้งหลาย นักอนุรักษ์ นักดูนกก็มาช่วยกันในการฟื้นฟูธรรมชาติก็จะได้ความภูมิใจได้อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ ได้เห็นนกกลับมาในธรรมชาติอีกครั้ง
ช่วงแรกอาจจะต้องให้เจ้าหน้าที่ดูแลและให้คำแนะนำ ผมเชื่อว่าเมื่อเริ่มดำเนินการไปแล้ว ชุมชนจะสามารถดูแล ปกป้องนกที่เขาเลี้ยงไว้ในธรรมชาติได้เอง เพราะมันมีคุณค่าในตัวมันและเขาอยู่ตรงนั้นทุกวัน
นอกจากจะได้นกปรอดหัวโขนกลับมาแล้ว เรายังจะได้ธรรมชาตินอกเขตอนุรักษ์กลับมา และเป็นประโยชน์กับ “สัตว์ป่า” อื่นๆอีกมากมาย
ใช่ครับมันยากกว่าการห้ามอย่างเดียวที่หน่วยราชการไทยชอบทำกัน มันต้องอาศัยความคิด การวางแผน การลงมือทำ และการร่วมมือกับชาวบ้าน
แต่ผมเชื่อว่ามันเป็นเรื่องที่ทำให้เกิดขึ้นได้ และเป็นแนวทางเดียวที่เราจะสามารถฟื้นฟูธรรมชาติของเรากลับมาได้
นั่นคือความคิดเห็นและมุมมองของผม ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องนก หรือเรื่องสัตว์ป่าใดๆ แต่ผมอาจจะเห็นธรรมชาติจริงมามากกว่านักวิชาการหลายๆคน และผมก็มีเพื่อนเป็นชาวไร่ชาวนา เคยทำงานกับชุมชนมาบ้าง ความคิดเห็นของผมอาจจะไม่ถูกต้อง หลายคนอาจจะไม่เห็นด้วย
แต่ผมเชื่อว่าถ้าเราไม่เรียนรู้ที่จะใช้ประโยชน์และสร้างคุณค่าให้กับธรรมชาติ ไม่มองหาวิธีใหม่ที่แตกต่างและยังอนุรักษ์ด้วยการห้ามแตะต้องแบบเดิมๆ เราจะได้เห็นการล่มสลายของธรรมชาติในสายตาของคนรุ่นเรานี่แหละครับ
ตาเกิ้น
20 ตุลาคม 2566
ข้อมูลเรื่องนกกระทาจากบทความ “Time to return the native” จากนิตยสาร The Field ฉบับเดือนกันยายน 2023
อนุรักษ์ธรรมชาติ
บันทึก
6
6
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย