20 ต.ค. 2023 เวลา 12:00 • ธุรกิจ

กรณีศึกษา Thai Reinsurance บริษัท “รับประกันภัยต่อ” ทำธุรกิจอย่างไร

ถ้าพูดถึงธุรกิจที่ช่วยแบกรับความเสี่ยงภัย หลายคนน่าจะนึกถึงธุรกิจประกันภัยกัน
แต่รู้หรือไม่ว่า ธุรกิจประกันภัยเองก็ต้องหาวิธีจัดการกับความเสี่ยงภัย ที่ตัวเองต้องแบกรับเช่นกัน
 
โดยวิธีหนึ่งก็คือ การโอนความเสี่ยงภัยไปให้ “บริษัทรับประกันภัยต่อ” ช่วยรับความเสี่ยงอีกทอดหนึ่ง
ซึ่งตัวอย่างธุรกิจแบบนี้ในไทย ก็อย่างเช่น บริษัท ไทยรับประกันภัยต่อ จำกัด (มหาชน) หรือ THRE
แล้วโมเดลธุรกิจของบริษัทนี้ เป็นอย่างไร ?
BrandCase สรุปให้ แบบเข้าใจง่าย ๆ
ธุรกิจการรับประกันภัยต่อ คืออะไร ?
อธิบายง่าย ๆ คือ การรับเอาทุนประกันภัยจากบริษัทรับประกันเจ้าอื่น ๆ มารับประกัน หรือรับความเสี่ยงต่อ
โดยสาเหตุที่ต้องมีการรับประกันภัยต่อ เนื่องจากบริษัทรับประกันภัยเดิม
อาจจะไม่สามารถรับความเสี่ยงภัยเองได้ทั้งหมด
จึงต้องทำการโอนความเสี่ยงภัยบางส่วน ไปให้บริษัทรับประกันภัยต่อ
ให้เข้ามาช่วยแบกรับความเสี่ยงภัยด้วยกัน
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ เช่น
ผู้รับเหมาโครงการหนึ่ง ได้ตกลงทำสัญญาประกันภัยงานก่อสร้าง กับบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่ง มีทุนประกันภัย 30 ล้านบาท
แต่เนื่องจากทุนประกันมีมูลค่าสูงมาก หากเกิดอุบัติเหตุในไซต์งานก่อสร้างนี้ขึ้น
บริษัทประกันภัยอาจจะต้องเสียค่าสินไหมทดแทน ให้ผู้เอาประกันภัยทั้งหมด 30 ล้านบาท เต็ม ๆ
ซึ่งบริษัทรับประกันนี้ก็บอกว่า อยากกระจายความเสี่ยงนี้ ไปให้คนอื่นช่วยแบกด้วย
ด้วยเหตุนี้ บริษัทประกันภัยอาจจะเลือกทำสัญญาประกันภัยต่อ กับบริษัทที่รับประกันภัยต่อก็ได้
เพื่อกระจายความเสี่ยงออกไป
เช่น บริษัทประกันภัยอาจเลือกที่จะรับประกันภัยเอง 5 ล้านบาท
ส่วนทุนประกันภัยที่เหลืออีก 25 ล้านบาท ก็ส่งต่อให้บริษัทรับประกันภัยต่อรับไป
คือหากเกิดเหตุ ให้บริษัทรับประกันภัย ต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทน 30 ล้านบาท
บริษัทรับประกันภัยแรกก็จะจ่ายค่าสินไหมทดแทนเพียง 5 ล้านบาท เท่ากับจำนวนทุนประกันภัย
ที่ตัวเองรับประกันภัยเท่านั้น
ส่วนอีก 25 ล้านบาท จะเป็นหน้าที่ของบริษัทรับประกันภัยต่อแทน โมเดลเป็นแบบนี้..
ซึ่งประโยชน์ของธุรกิจการรับประกันภัยต่อมีหลายอย่าง เช่น
- เป็นการกระจายความเสี่ยงภัย ทำให้การรับประกันภัยมีความมั่นคงมากขึ้น
- ทำให้ธุรกิจรับประกันภัย สามารถรับประกันภัยมูลค่าสูงกว่าทุนจดทะเบียนได้
- ดึงเงินทุนให้ไหลเข้าประเทศ ผ่านการรับประกันภัยต่อจากต่างประเทศ
ตัวอย่างของบริษัทที่ทำธุรกิจแบบนี้ในไทย ก็อย่างเช่น บริษัท ไทยรับประกันภัยต่อ จำกัด (มหาชน) หรือ THRE
แล้วโมเดลธุรกิจของบริษัท THRE เป็นอย่างไร ?
ผลิตภัณฑ์หลักของ THRE คือ การรับประกันวินาศภัยต่อจากบริษัทรับประกันภัยในประเทศ
ถ้าเรามาดูสัดส่วนเบี้ยประกันภัยต่อรับสุทธิ แบ่งตามภูมิภาคปี 2565 ของบริษัท
1. เบี้ยประกันภัยต่างประเทศ 2%
2. เบี้ยประกันภัยในประเทศ 98% แบ่งเป็น
- ประกันภัยเบ็ดเตล็ด 54%
- ประกันภัยรถยนต์ 30%
- ประกันภัยทรัพย์สิน 12%
- ประกันภัยทางทะเล 2%
นอกจากนี้ THRE ยังถือหุ้นจำนวน 65% ในบริษัท บลูเวนเจอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ BVG
ซึ่งบริษัท บลูเวนเจอร์ นี้ ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับ
- การให้บริการแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชัน สำหรับบริหารจัดการธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับประกันภัยรถยนต์ในประเทศไทย
- ธุรกิจให้บริการจัดการสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาลและสินไหมทดแทน
- ธุรกิจการให้คำปรึกษาด้านคณิตศาสตร์ประกันภัย
- ธุรกิจการให้บริการนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
ผลประกอบการของบริษัท ไทยรับประกันภัยต่อ จำกัด (มหาชน) หรือ THRE 3 ปีย้อนหลัง
ปี 2562 รายได้ 4,690 ล้านบาท กำไร 125 ล้านบาท
ปี 2563 รายได้ 4,430 ล้านบาท กำไร 220 ล้านบาท
ปี 2564 รายได้ 4,650 ล้านบาท ขาดทุน 360 ล้านบาท
ปี 2565 รายได้ 4,460 ล้านบาท ขาดทุน 190 ล้านบาท
6 เดือนแรก ปี 2566 รายได้ 2,345 ล้านบาท กำไร 68 ล้านบาท
โดยสัดส่วนรายได้ของ THRE ในปี 2565 แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ
1. รายได้จากการรับประกันภัย 89% แบ่งเป็น
- เบี้ยประกันภัยที่ถือเป็นรายได้สุทธิ 87%
- ค่าจ้างและค่าบำเหน็จ 2%
2. รายได้จากการลงทุน 1%
3. รายได้จากการให้บริการที่เกี่ยวเนื่องกับการประกันภัยผ่านบริษัทย่อย 10%
และนี่ก็คือโมเดลของ บริษัท ไทยรับประกันภัยต่อ
ที่ธุรกิจหลัก ๆ คือ รับเอาทุนประกันภัยจากบริษัทอื่น มารับประกันต่ออีกที นั่นเอง..
References
-รายงานประจำปี 2565 แบบ 56-1 ของบริษัท ไทยรับประกันภัยต่อ จำกัด (มหาชน)
โฆษณา