Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ซับศิลป์
•
ติดตาม
20 ต.ค. 2023 เวลา 12:30 • ศิลปะ & ออกแบบ
“บาร์ที่โฟลีเบอร์เคเร” ผลงานชิ้นสำคัญชิ้นสุดท้ายของ เอดัวร์ มาเนต์
บาร์ที่โฟลีเบอร์เคเร (A Bar at the Folies-Bergère), 1882, เอดัวร์ มาแนต์ (Édouard Manet)
ผลงานนี้เป็นภาพวาดชิ้นสำคัญชิ้นสุดท้ายของเอดัวร์ มาเนต์ ซึ่งสร้างขึ้นในปี 1882 และจัดแสดงที่ Paris Salon ในปีเดียวกันนั้น ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตหลังจากนั้น 1 ปี หลังจากพัฒนาผลงานในรูปแบบอิมเพรสชั่นนิสต์มาอย่างยาวนานในช่วงสุดท้ายของชีวิตเขาป่วยหนัก และได้หวนกลับมาทำงานแบบเดิมอีกครั้ง ครั้งนี้เป็นงานที่มีเนื้อหาอย่างที่เขาชื่นชอบ นั่นคือความสนุกสนาน และการเฉลิมฉลองชีวิตของชาวปารีสด้วยฉากที่คุ้นเคยอย่าง ฉากในบาร์ คาเฟ่ และงานเต้นรำ
A Bar at the Folies-Bergère, 1882 ที่มาภาพ: https://en.m.wikipedia.org/wiki/A_Bar_at_the_Folies-Berg%C3%A8re
ขณะนั้นบาร์โฟลีเบอร์เคเรเปิดให้บริการมาแล้วประมาณ 10 ปี และได้รับความนิยมสูงสุดในฐานะสถานบันเทิงหลักในปารีส บาร์แห่งนี้ขึ้นชื่อเรื่องบรรยากาศที่มีชีวิตชีวา และการแสดงที่งดงามหลากหลาย เป็นสถานที่ที่มาเนต์แวะเวียนไปเที่ยวกับเพื่อนฝูงบ่อยครั้ง ทำให้เขาได้สเก็ตช์ภาพบาร์แห่งนี้เก็บไว้บ้าง
บาร์โฟลีเบอร์ (ถ่ายเมื่อปี 2013) ที่มาภาพ: https://en.m.wikipedia.org/wiki/Folies_Berg%C3%A8re
เมื่อมองแวบแรก โครงสร้างขององค์ประกอบภาพดูน่าสับสน นอกจากสาวเสิร์ฟที่เป็นจุดศูนย์กลางของภาพ ภาพส่วนใหญ่เป็นภาพสะท้อนในกระจกบานใหญ่ จะสังเกตได้ว่ามีผู้คนที่แต่งตัวทันสมัยอยู่แน่นขนัด มีการแสดงดนตรี และละครสัตว์ด้านล่าง ที่ด้านซ้ายบนยังเห็นรองเท้าบู๊ตสีเขียวของนักแสดงห้อยโหน
ด้านหลังสาวเสิร์ฟ มาเนต์ใช้ความสามารถทางศิลปะที่มีเลื่อนภาพสะท้อนของหญิงสาวไปทางขวา และเอียงเล็กน้อย เพื่อทำให้ภาพดูน่าดึงดูดยิ่งขึ้น ทำให้ตำแหน่งของชายสวมหมวกทรงสูงเป็นมุมมองเดียวกันกับผู้ชม นั่นอาจจะเป็นเจตจำนงของมาเนต์ที่ต้องการนำเสนอสภาพจิตใจของผู้หญิงที่ทำงานในธุรกิจบันเทิง และต้องแบกรับความรู้สึกหลายอย่างในเวลาเดียวกัน
หญิงสาวในภาพคือสาวเสิร์ฟชื่อ Suzon เธอเป็นตัวแทนของพนักงานประจำที่ต้องมาทำงานในเมืองใหญ่เพื่อหาเงินเลี้ยงชีพ สายตาของเธอดูเหนื่อยล้า แม้จะรายล้อมไปด้วยบรรยาการที่สนุกสนาน มีนักวิชาการหลายคนได้กล่าวว่าแท้จริงแล้ว Suzon นั้นไม่ใช่สาวเสิร์ฟแต่เธอเป็นโสเภณี เนื่องจากชามใส่ส้มที่อยู่ด้านหน้าของเธอนั้นเป็นสัญญะที่มาเนต์ใช้เพื่อสื่อถึงการค้าประเวณีในภาพวาดของเขา
ขวดเบียร์ที่ปรากฏเป็นเบียร์จากอังกฤษของแบรนด์ British Bass Pale Ale แทนที่จะเป็นแบรนด์ของเยอรมัน ซึ่งเน้นย้ำถึงความรู้สึกต่อต้านชาวเยอรมันในฝรั่งเศสในช่วงทศวรรษหลังสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซียน มาเนต์ยังเพิ่มลายเซ็นของเขาลงในขวดไวน์ทางด้านซ้ายด้วย
เนื่องจากมาเนต์ป่วยหนักและไม่สามารถไปวาดรูปที่บาร์ได้ทำให้เขาต้องทำงานในสตูดิโอโดยใช้ความทรงจำ ผสมกับภาพที่เคยสเก็ตช์ไว้ ผลลัพธ์ที่ได้คือภาพด้านหลังที่ไม่ค่อยมีรายละเอียดมากนัก อย่างไรก็ตามพื้นหลังที่ไม่ได้ละเอียดนี้เองที่ทำให้เกิดภาพสะท้อนที่พร่ามัวที่มีเสน่ห์ยิ่งขึ้น
ไม่ว่าจุดประสงค์ที่แท้จริงของมาเนต์ที่อยู่เบื้องหลังงานนี้จะเป็นเช่นไร งานชิ้นนี้ถือเป็นจุดสูงสุดของการทำงานของเขา ภาพนี้ได้รับคำชื่นชมว่าเป็นภาพตามแบบฉบับอิมเพรสชันนิสม์ที่ดีที่สุดของเขา และยังเป็นสัญลักษณ์ของยุค Bel Epoque หรือยุคสวยงาม ยุคสมัยของประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสและยุโรปที่มีการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และวัฒนธรรมอย่างรวดเร็ว มีความเจริญรุ่งเรืองมากมายทั้งเรื่องสังคม และเศรษฐกิจ
ภาพวาดนี้เป็นของ เอ็มมานูเอล ชาบรีเย (Emmanuel Chabrier) ซึ่งเป็นทั้งนักแต่งเพลง และเป็นเพื่อนสนิทของมาเนต์ ชาบรีเยเป็นเจ้าของภาพวาดนี้มายาวนาน จนปัจจุบันภาพนี้จัดแสดงที่ Courtauld Gallery ในลอนดอน ประเทศอังกฤษ
-ซับศิลป์-
ที่มา
https://www.widewalls.ch/magazine/bar-folies-bergere
https://www.britannica.com/art/Impressionism-art
https://courtauld.ac.uk/highlights/a-bar-at-the-folies-bergere/
4 บันทึก
4
1
4
4
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย