Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
BrandCase
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
22 ต.ค. 2023 เวลา 02:30 • ธุรกิจ
คุยกับเจ้าของ JOURNAL แบรนด์ไทย ที่ขายน้ำหอม กลิ่นแม่นาค กลิ่นกุมาร กลิ่นนางรำ
หลายคนน่าจะยังไม่เคยรู้ว่า มีน้ำหอม “กลิ่นแม่นาค” ซึ่งแบรนด์ที่ทำน้ำหอมกลิ่นนี้ เป็นแบรนด์ไทยที่ชื่อว่า “JOURNAL”
ทีนี้หลายคนน่าจะสงสัยต่อว่า กลิ่นแม่นาค มันเป็นอย่างไร ?
ลองมาดูการตีความกลิ่นแม่นาคของ JOURNAL
- Top Notes (กลิ่นแรก) คือ มะนาว ตัวแทนฉากแม่นาคหยิบมะนาวที่ทุกคนจำกันได้ดี
- Heart Notes (กลิ่นกลาง) คือ กุหลาบ ตัวแทนของความรักที่แม่นาคมีให้กับพ่อมาก
- Base Notes (กลิ่นพื้นฐาน) คือ ไม้กฤษณา ตัวแทนของบ้านไม้เรือนไทย และศาลาไม้ริมคลอง
นี่คือตัวอย่างความน่าสนใจในการตีความ และออกแบบกลิ่น ของน้ำหอมแบรนด์ไทยแบรนด์นี้
ซึ่งนอกจากกลิ่นแม่นาค JOURNAL ก็มีอีกหลายกลิ่นชื่อแปลก เช่น
- กลิ่นข้าวเหนียวมะม่วง
- กลิ่นกาสะลอง
- กลิ่นสงกรานต์
- กลิ่นกุมาร
- กลิ่นนางรำ
วันนี้ BrandCase มีโอกาสพูดคุยกับคุณป๊อด-จักรชลัช เกษจำรัส Chief Executive Officer (CEO) แบรนด์ JOURNAL
เรื่องราวของแบรนด์น้ำหอมไทย JOURNAL น่าสนใจขนาดไหน ?
BrandCase สรุปให้แบบเข้าใจง่าย ๆ
JOURNAL มีจุดเริ่มต้นมาจากความคิดสมัยเรียนที่ต่างประเทศของผู้ก่อตั้ง คือ คุณป๊อด-จักรชลัช เกษจำรัส
คุณป๊อด อยากทำสินค้าของไทย ให้เป็นของฝากประจำชาติ ที่ต้องซื้อไปฝากเพื่อน ๆ ต่างชาติ
เนื่องจากช่วงที่คุณป๊อดไปเรียนต่างประเทศ มีเพื่อนต่างชาติเยอะ
ซึ่งเวลาปิดเทอมแยกย้ายกันกลับประเทศตัวเอง เพื่อน ๆ แต่ละชาติก็มักจะมีของท้องถิ่นของตัวเองกลับมาฝากเสมอ
ทำให้คุณป๊อดเห็นว่า ของฝากจากไทยที่คุณป๊อดนำไปฝากเพื่อนต่างชาติ สำหรับเขาแล้วยังมีภาพลักษณ์ไม่ดูดีเท่าประเทศอื่น ๆ
จึงเกิดไอเดียที่อยากจะปรับโฉมสินค้าบ้าน ๆ ของไทยให้ดูดีขึ้น
และตั้งใจไว้ว่า “อยากทำธุรกิจอะไรสักอย่างที่สร้างรายได้ พร้อมกับความภูมิใจ”
หลังจากคุณป๊อดเรียนจบ จึงกลับมาเปิด Design Agency ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีวัตถุประสงค์หลักคือ การเพิ่มมูลค่าให้สินค้า และปรับโฉมสินค้าใหม่ให้หน้าตาดูดีขึ้น
เมื่อทำไปสักพักคุณป๊อดก็ได้มาเจอกับหุ้นส่วนที่ทำธุรกิจน้ำหอม ซึ่งเป็นแบรนด์ที่มีวิธีการผลิตน้ำหอมแบบไทย ๆ แต่คอนเซปต์ของแบรนด์ยังไม่ชัดเจน
ประกอบกับคุณป๊อดเอง ก็มีความต้องการที่อยากจะเอาความเป็นไทยมาเล่าต่อในมุมมองที่แตกต่าง
คุณป๊อดจึงตัดสินใจร่วมกับหุ้นส่วน ก่อตั้งแบรนด์ JOURNAL ขึ้นมาเมื่อปี 2017 ที่ถนนนิมมานเหมินท์ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นสาขาแรก
คุณป๊อดเล่าว่า ณ ตอนนั้นราคาน้ำหอมไทย ยังไม่มีแบรนด์ไหนที่กล้าขายในราคาหลัก 1,000 บาท
แต่ด้วยความเชื่อที่ว่า “เราสามารถทำน้ำหอมไทย คุณภาพดีได้”
ทำให้เขากล้าลองตั้งราคาขายที่สูงกว่าท้องตลาดในขณะนั้น
โดยมีกลิ่นเบสิกประจำแบรนด์ คือกลิ่น The Legacy
ซึ่งเป็นกลิ่นไม้กฤษณาของไทย ที่ในสมัยก่อนถูกใช้เป็นเครื่องบรรณาการที่ประเทศไทยส่งไปให้กับเมืองต่าง ๆ เพื่อแสดงไมตรีต่อกัน
และหลังจากเปิดขายในช่วงแรก ปรากฏว่าได้รับความนิยมจากลูกค้าชาวต่างชาติในทันที
เนื่องจากต่างชาติมองว่าไม้กฤษณาหรือไม้หอมไทย เป็นหนึ่งในวัตถุดิบของน้ำหอมที่มีราคาแพง เมื่อผสมเข้ากับความเป็นของไทย จึงทำให้ต่างชาติเกิดความรู้สึกอยากซื้อเป็นของฝาก
นอกจากนี้ทางแบรนด์ยังได้นำวิธีการปรุงน้ำหอมแบบสมัยโบราณมาผสมผสานกับการปรุงสมัยใหม่
ใช้ Essential Oil ที่สกัดออกมาจากพรรณไม้ ผลไม้ ดอกไม้ และสมุนไพรเป็นส่วนผสมหลัก
ทำให้น้ำหอมของ JOURNAL มีความหอมติดผิวนานขึ้น
จุดขายที่พิเศษของแบรนด์ก็คือ ถึงแม้จะฉีดน้ำหอมกลิ่นเดียวกันก็ตาม แต่กลิ่นหอมที่ได้ก็จะแตกต่างกันไปตามอุณหภูมิผิวของแต่ละบุคคล
จากจุดเด่นทั้งหมดนี้ ทำให้แบรนด์ JOURNAL ที่เพิ่งเปิดตัวได้ไม่นาน
กลายเป็นแบรนด์น้ำหอมไทย ที่ต่างชาตินิยมซื้อกลับไปฝากคนที่บ้านในทันที
แต่ต้องบอกก่อนว่าในช่วงแรก ๆ นั้น น้ำหอมของแบรนด์ JOURNAL ยังไม่เป็นที่รู้จักในกลุ่มลูกค้าคนไทยมากนัก
แต่จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ลูกค้าคนไทยรู้จักแบรนด์มากขึ้น เกิดขึ้นในช่วงที่มีโรคระบาด
เนื่องจากเดิมทีกลุ่มลูกค้าหลักของแบรนด์คือ ลูกค้าชาวต่างชาติ เกือบ 100%
แต่พอเกิดโรคระบาดขึ้น ทำให้นักท่องเที่ยวน้อยลง และธุรกิจก็ได้รับผลกระทบโดยตรง
แบรนด์จึงต้องวางแผนการตลาดใหม่ และหันมาทำการตลาดกับกลุ่มลูกค้าคนไทยมากขึ้น ด้วยการออกผลิตภัณฑ์ใหม่คือ Body Oil หรือออยล์บำรุงผิวขึ้นมา
และทำการสื่อสารผ่านอินฟลูเอนเซอร์ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ คุณยิปซี-คีรติ มหาพฤกษ์พงศ์ ซึ่งเป็นนักแสดงสาวผิวสวย
เนื่องจากคุณป๊อดมองว่า Body Oil เป็นสินค้าที่สามารถสู้กับแบรนด์อื่นที่อยู่ในระดับราคาหลักพันบาทเหมือนกันได้
และถือเป็นสินค้าที่คนไทยเปิดใจซื้อได้ง่ายกว่าสินค้าประเภทน้ำหอม
และแน่นอนว่าสินค้า Body Oil ก็ถูกแนะนำกันแบบปากต่อปาก และดังขึ้นมาในหมู่คนไทย
รวมถึงชื่อแบรนด์ JOURNAL เองก็เริ่มเป็นที่รู้จักและถูกพูดถึงเช่นกัน..
ปัจจุบันแบรนด์ JOURNAL มีสาขาทั้งหมด 5 สาขา
ได้แก่ สาขาวัน นิมมาน เชียงใหม่, สาขาเมญ่า เชียงใหม่, สาขาสยามสแควร์วัน, สาขาเซ็นทรัลเวิลด์ และ สาขาเซ็นทรัล พระราม 9
1
และจะสังเกตเห็นว่าส่วนผสมหลักในน้ำหอมของ JOURNAL ส่วนใหญ่เป็นสารสกัดจากธรรมชาติ
หลายคนอาจสงสัยว่าแบรนด์มีวิธีควบคุมสูตรการผลิตอย่างไร ให้ได้มาตรฐาน
ซึ่งสิ่งที่ JOURNAL ใช้ควบคุมมาตรฐานการผลิตน้ำหอมให้กับแบรนด์คือ การเลือกซัปพลายเออร์ที่ผลิตน้ำหอม ที่เป็นเจ้าเดียวกับที่ผลิตให้กับเคาน์เตอร์แบรนด์ดัง ๆ เพื่อให้น้ำหอมของ JOURNAL ได้มาตรฐานเดียวกับแบรนด์เหล่านั้น
นอกจากนี้คุณป๊อดยังได้เล่าเบื้องหลังแนวคิดและแรงบันดาลใจ ในการสร้างกลิ่นน้ำหอมที่แปลกใหม่ของ แบรนด์ JOURNAL ให้เราฟังว่า
“แบรนด์ JOURNAL เกิดขึ้นมา เพราะอยากเอาความเป็นไทยมาเล่าต่อในมุมมองที่แตกต่าง และให้คนต่างชาติจดจำ”
และถ้าหากใครได้รู้จักแบรนด์ JOURNAL จะค่อนข้างรู้สึกแปลกใจกับบางกลิ่นน้ำหอมของแบรนด์ที่ทำออกมาขาย เช่น กลิ่นแม่นาค กลิ่นกุมาร และกลิ่นนางรำ
โดยจุดเริ่มต้นของน้ำหอมคอลเลกชันนี้ ได้ไอเดียมาจากช่วงวันฮาโลวีน ที่คุณป๊อดเห็นว่า ผีต่างชาติ อย่างเช่น แดรกคูลา หรือแฟรงเกนสไตน์ ทำไมผีบ้านเขามันดังไปทั่วโลก
ในขณะที่ตำนานผีไทยเราก็ไม่ได้แพ้ต่างชาติ
นี่จึงเป็นเหตุผลที่ JOURNAL ทำน้ำหอมคอลเลกชันพิเศษ Thai Ghost Collection หรือน้ำหอมคอลเลกชันผีไทยออกมา
โดยคุณป๊อดได้ยกตัวอย่าง เรื่องราวและความหมายที่อยู่เบื้องหลังของน้ำหอมแต่ละกลิ่นให้ฟังอย่างน่าสนใจ
เช่น
- กลิ่นแม่นาค
แม่นาคพระโขนง คือหนึ่งในตำนานผีไทยที่ดังมาหลายยุคหลายสมัย
ซึ่ง JOURNAL ก็อยากนำเรื่องราวของตำนานแม่นาคนี้ มาเล่าผ่านความหอมให้คนต่างชาติและคนไทยได้สัมผัสกัน
โดยเริ่มจากซีนในภาพยนตร์ที่ทุกคนจำได้ คือฉากแม่นาคหยิบมะนาว ซึ่งไม่ว่าจะนำมารีเมกใหม่อีกกี่รอบก็ต้องมีฉากนี้
ต่อมาคือการตีความแครักเตอร์ให้กับแม่นาค แน่นอนว่า JOURNAL ไม่ได้มองแม่นาคเป็นเพียงแค่ผี
แต่มองไปถึงเรื่องราวของความรักที่แม่นาคมีต่อพ่อมาก ที่ไม่ว่าจะผ่านไปนานแค่ไหนก็ตาม
และสุดท้ายเรื่องราวนี้ก็เกิดขึ้นภายในบ้านไม้เรือนไทย และศาลาไม้ริมคลองย่านพระโขนง
ซึ่งเรื่องราวทั้งหมดนี้ ถูกออกแบบมาอยู่ในรูปของน้ำหอมกลิ่นแม่นาค
โดยจะมีความหอมเรียงเป็น 3 ระดับ คือ
- Top Notes (กลิ่นแรก) คือ มะนาว ตัวแทนซีนแม่นาคหยิบมะนาวที่ทุกคนจำกันได้ดี
- Heart Notes (กลิ่นกลาง) คือ กุหลาบ ตัวแทนของความรักที่แม่นาคมีให้กับพ่อมาก
- Base Notes (กลิ่นพื้นฐาน) คือ ไม้กฤษณา ตัวแทนของบ้านไม้เรือนไทย และศาลาไม้ริมแม่น้ำ
- กลิ่นนางรำ
สำหรับคนไทยหลายคนแค่นึกถึงนางรำ เราก็จะนึกถึงผีที่มีความน่ากลัว
แต่ในมุมมองของ JOURNAL กลับมองว่า นางรำ คือการแสดงชั้นสูงที่มีความเก่าแก่ และมีความคลาสสิกอยู่ในตัว
ทำให้การตีความแครักเตอร์นางรำในมุมมองของ JOURNAL ถูกนำเสนอออกมาเป็น ผู้หญิงที่มีความเซ็กซี่แต่ดูแพง
ต่อมาสิ่งที่เป็นซิกเนเชอร์เมื่อนึกถึงนางรำก็คือ ดอกไม้ทัดหู และสุดท้ายคือการนึกภาพถึงการแสดงของนางรำที่อยู่ในโรงละครไม้ที่หรูหรา
ซึ่งเรื่องราวทั้งหมดนี้ ถูกออกแบบมาอยู่ในรูปของน้ำหอมกลิ่นนางรำ
โดยจะมีความหอมเรียงเป็น 3 ระดับ คือ
- Top Notes (กลิ่นแรก) คือ เชอร์รี่ ตัวแทนความเซ็กซี่และความเย้ายวน
- Heart Notes (กลิ่นกลาง) คือ กุหลาบ ตัวแทนของดอกไม้ทัดหู
- Base Notes (กลิ่นพื้นฐาน) คือ ไม้กฤษณา ตัวแทนของโรงละครไม้ที่จัดแสดง
อีกจุดสำคัญที่น่าสนใจของ JOURNAL คือ ทุก ๆ กลิ่นน้ำหอมของแบรนด์ จะมีกลิ่นหอมสุดท้ายหรือ Base Nose (กลิ่นพื้นฐาน) เป็นกลิ่นไม้กฤษณา ซึ่งถือเป็นซิกเนเชอร์ของแบรนด์
ซึ่งถ้าดูจากบางกลิ่นแล้วค่อนข้างเป็นเรื่องยาก ที่จะนำเสนอสินค้าเหล่านี้ให้กับลูกค้าได้
แล้วแบรนด์ JOURNAL มีวิธีการสื่อสารและนำเสนอน้ำหอม ให้ลูกค้าเข้าใจในตัวสินค้า ได้อย่างไร ?
คุณป๊อดตอบสั้น ๆ เลยว่า “ของดี ถ้าไม่ได้ลอง ก็ขายไม่ได้”
ดังนั้นพนักงานของ JOURNAL จะไม่ได้อธิบายเพียงแค่กลิ่นน้ำหอมแต่ละระดับเท่านั้น
แต่จะเล่าเรื่องราวที่ส่งผ่านมาในรูปแบบกลิ่นน้ำหอมให้ลูกค้าได้ฟังด้วย
และสิ่งสำคัญที่สุดคือ
“ลูกค้าต้องรู้สึกประทับใจ หลังจากที่เดินออกจากร้านไป เพราะ JOURNAL เป็นแบรนด์น้ำหอมที่ขายประสบการณ์ ถ้าลูกค้าไม่ได้รับประสบการณ์จากเรา เขาก็จะจำเราไม่ได้”
ดังนั้น หน้าร้านของแบรนด์จึงต้องดิไซน์สวยเพื่อให้ลูกค้าเห็น พนักงานต้องบริการลูกค้าให้ดีที่สุด หรือสูงกว่าระดับมาตรฐานทั่วไป เพื่อให้ลูกค้าประทับใจที่สุด
ถ้าถามว่า JOURNAL อยากอยู่ตรงไหน ในวงการธุรกิจน้ำหอมไทย ?
คุณป๊อดตอบว่า “จริง ๆ แล้วเราอยากเป็นของฝากที่อยู่ใน Top of Mind ของคนต่างชาติที่เข้ามาเที่ยวในไทย คือมาเที่ยวเสร็จแล้วอยากซื้อของฝาก ก็อยากให้เขานึกถึง JOURNAL”
ซึ่งถ้าถามว่า อะไรคือสิ่งที่ทำให้แบรนด์ JOURNAL แตกต่างจากคู่แข่งรายอื่น ๆ
1
แน่นอนว่าคือเรื่องของคอนเซปต์และจุดยืนของแบรนด์ ที่เชื่อในเรื่องของคุณค่าความเป็นไทย
และการนำเอาคุณค่านั้น นำเสนอออกมาในรูปแบบใหม่ให้มันแตกต่างไปจากเดิม
และความพิเศษของ JOURNAL ไม่ได้มีแค่ความติดทนเท่านั้น แต่น้ำหอมของ JOURNAL ทุกกลิ่น สามารถฉีดผสมกันได้
เนื่องจากน้ำหอมของ JOURNAL จะมีส่วนผสมพื้นฐานคือไม้กฤษณา เหมือนกันหมดทุกตัว
ทำให้ลูกค้าสามารถเพิ่มลูกเล่นในการใช้ ด้วยการฉีดผสมกลิ่นได้ตามความชอบ
อีกทั้งคุณป๊อดยังได้เล่าถึงขั้นตอนในการผลิตน้ำหอมของ JOURNAL ว่าปกติแล้วจะมาจากสองทาง
- ทางแรกคือ มาจากเรื่องราว ที่ยังไม่มีกลิ่นหอม
- ทางที่สองคือ มาจากกลิ่นหอม ที่ยังไม่มีเรื่องราวให้เล่า
แน่นอนว่าการที่แบรนด์จะผลิตออกมาเป็นน้ำหอมหนึ่งกลิ่นได้นั้น
กลิ่นหอมนั้นจะต้องมีทั้งเรื่องราวความเป็นไทย และถูกเล่าผ่านกลิ่นหอมที่สมูท
และถึงแม้ว่าบางครั้งคุณป๊อดมีสักหนึ่งเรื่องราว ที่อยากจะเล่าผ่านกลิ่นมากแค่ไหน
แต่ถ้าส่วนผสมของน้ำหอมยังไม่ลงตัวหรือกลิ่นยังไม่นิ่ง เรื่องราวนั้นก็จะยังไม่ถูกถ่ายทอดออกมาให้ผู้คนได้ดมกัน
ในทางกลับกัน หากนักปรุงน้ำหอมมีสูตรน้ำหอมออกมาสำเร็จเรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่มีเรื่องราวไหนที่จะนำมาเล่าให้เข้ากับน้ำหอมสูตรนั้นได้ สูตรน้ำหอมนั้นก็จะยังไม่ถูกนำออกมาขาย
เพราะคุณป๊อดเชื่อว่า “ทุกกลิ่นน้ำหอมต้องเล่าเรื่องราวได้ ถ้ายังเล่าเรื่องไม่ได้ หรือยังเล่าได้ไม่ดี ก็จะยังไม่ขาย”
แล้วราคาน้ำหอม JOURNAL อยู่ที่ประมาณไหน ? ลองมาดูตัวอย่างราคา
- น้ำหอมขนาด 50 ml แบบ EDT ราคาจะเริ่มต้นที่ 1,600 บาท
- น้ำหอมคอลเลกชันพิเศษ เช่น กลิ่นแม่นาค กลิ่นกุมาร กลิ่นนางรำ ขนาด 50 ml ราคา 2,600 บาท
- Body Oil ขนาด 180 ml ราคา 1,090 บาท
- Hand Cream ขนาด 55 ml ราคา 490 บาท
และนี่คือเรื่องราวของแบรนด์ JOURNAL
แบรนด์น้ำหอมที่เปรียบเสมือนการเดินทาง ที่ต้องออกไปพบเจอสิ่งต่าง ๆ ในประเทศไทย และนำเรื่องราวที่ได้สัมผัส กลับมาถ่ายทอดในรูปแบบของน้ำหอม
และเรื่องราวเหล่านั้นก็จะถูกส่งต่อให้กับผู้คนได้สัมผัสกัน ผ่านกลิ่นของน้ำหอม JOURNAL นั่นเอง..
References
-สัมภาษณ์พิเศษกับคุณป๊อด-จักรชลัช เกษจำรัส Chief Executive Officer (CEO) แบรนด์ JOURNAL
-
https://www.journal-boutique.com/product/collections
ธุรกิจ
7 บันทึก
18
19
7
18
19
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย