22 ต.ค. 2023 เวลา 05:51 • ความคิดเห็น

เทคนิคการพูดในที่สาธารณะ

ผมเคยเขียนเรื่องเทคนิคการพูดในที่สาธารณะไว้จากประสบการณ์ส่วนตัว เป็นบทความที่ยาวมากๆอยู่ แต่พอได้ฟังไซมอน ซิเนคพูดถึงเรื่องหัวใจสำคัญอีกเรื่องของ public speaking ซึ่งผมคิดว่ามันใช่เลย ก็เลยอยากจะบันทึกเพิ่มเติมไว้
2
ไซมอน ซิเนค นักเขียนและนักพูดสร้างแรงบันดาลใจที่ผมชอบมากๆคนนี้ เล่าถึงประสบการณ์ในอาชีพของเขาว่าคนที่พูดในที่สาธารณะ หรือบรรยายอะไรได้ดีและมีคนชื่นชมมากๆ นั้น
ไซม่อนสังเกตว่าสิ่งที่สำคัญมากก็คือการเปลี่ยนมุมมองตัวเองก่อนการไปพูด ก็คือการขึ้นพูดด้วยทัศนคติที่ต้องการมา “ให้” (giving attitude) เพราะสิ่งที่เขาเชิญเราไปพูดนั้นเพราะเรารู้อะไรบางอย่าง ทำอะไรมาบางอย่างหรือมีประสบการณ์อะไรบางอย่างที่เขาอยากเรียนรู้จากเรา ไม่ใช่ต้องการฟังเราโอ้อวดความเก่งของเราเอง
2
แต่มีผู้บรรยายจำนวนไม่น้อยที่พูดเพื่อที่จะเอาดีเข้าตัว เอาประโยชน์เข้าตัว ไซมอนบอกว่าให้สังเกตจาก บางคนตอบกั๊กๆเพื่อให้ไปซื้อหนังสือที่ตัวเองเขียน แทบทุกหน้ารวมถึงหน้าจบของ powerpoint ก็มี IG หรือ website เพื่อต้องการ follower เปิดหัวมาก็โม้ก่อนเลยว่าสำเร็จอะไรมาบ้าง ผมเป็นคนคิดอันโน้น เป็นที่ปรึกษาอันนี้ ผมหรือดิฉันนี่เก่งที่สุดแล้ว ไซม่อนบอกว่าสังเกตไม่ยากเลยว่าใครมาให้หรือใครมาเอา
1
ไซม่อนฟันธงเลยว่า 100% ของผู้พูดที่ดี ไม่ว่าจะใน ted talk หรือที่ไหนคือคนที่มาพูดเพื่อให้ทั้งนั้น ไม่ได้ต้องการอะไรกลับ ไม่ได้ต้องการสร้างตัวเองให้ยิ่งใหญ่ ไม่ได้ต้องการพิสูจน์ตัวเองหรือต้องการเสียงปรบมือดังๆ เสียงปรบมือนั้นเป็นผลพลอยได้
1
แต่เหตุผลที่ไปพูดนั้นก็เพื่อที่จะให้ และก็เป็นหัวใจหลักของการเป็นนักพูดที่ดีในมุมของไซม่อน ซิเนค ซึ่งผมคิดว่าทัศนคตินี้ใช้ได้ตั้งแต่การพูด จนถึงการเขียนเลยด้วยซ้ำ ซึ่งทำได้ไม่ง่ายในการเอาชนะอีโก้ตัวเอง แต่ถ้าทำได้แล้วการพูดหรือการเขียนของเราจะน่าฟังน่าอ่านขึ้นมาก
1
ซึ่งลองสังเกตเวลาเราเห็นคนโม้ๆถึงตัวเองเยอะๆ ทั้งงานพูดงานเขียนก็ได้นะครับว่าเราเองก็ยังฟังแล้วลมขึ้นเบาๆ มีอาการท้องอืดท้องเฟ้อเลย ในทางกลับกันเราก็จะได้รู้ว่าไม่ควรเอาอีโก้นำเวลาบรรยายหรือแม้กระทั่งพูดอะไรใน clubhouse แต่เอาทัศนคติการ “ให้” เป็นตัวตั้ง ก็น่าจะเป็นการเริ่มต้นการพูดในที่สาธารณะที่ดีเลยนะครับ
1
ก็เลยขอเอาเทคนิคการพูดในที่สาธารณะ (ของผม) มาลองแบ่งปันต่อจาก mindset ที่ไซมอนบอกไว้สำหรับคนที่มีปัญหาด้านการพูดกับคนหมู่มากต่อนะครับ
1
มีคนเขียนมาถามผมอยู่หลายคนถึงเทคนิคหรือวิธีการต่างๆ ในการบรรยายหน้าคนเยอะๆ หลังจากบทความที่ผมเขียนเรื่องการพูดในที่สาธารณะแพร่หลายออกไป ผมก็เลยคิดว่าเทคนิคหลายๆ อย่างที่ผมใช้ บางข้ออาจจะมีประโยชน์กับผู้ที่กำลังพยายามฝึกพูดหรือมีความจำเป็นต้องพูดกับคนหมู่มาก เลยลองรวบรวมเทคนิคที่ผมใช้แล้วได้ผลไว้หลายข้อจากการลองผิดลองถูก ครูพักลักจำ และการขึ้นเวทีมาน่าจะหลายร้อยครั้งในช่วงสิบปีที่ผ่านมาไว้
ต้องเกริ่นก่อนว่า ผมเริ่มจากคนที่พูดไม่ได้เลยเมื่อเกือบยี่สิบปีก่อน มีปัญหากับการออกไปพูดหน้าชั้น หน้าคนเยอะๆอยู่มาก ตั้งแต่ตื่นเต้นใจสั่น ปวดท้อง พูดไม่รู้เรื่อง พูดแล้วน่าเบื่อ ฯลฯ
1
ผมไม่เคยเรียนฝึกพูดที่ไหนแต่จำเป็นต้องพูดเพราะหน้าที่การงานบังคับ ลองหลายๆวิธีไปเรื่อยๆจนเริ่มมีคนเชิญไปบรรยายอย่างต่อเนื่อง ต้องลองบรรยายในหลายรูปแบบ หลากผู้ฟัง ทั้งแป้ก บ้างดีบ้าง จนตอนนี้ก็พอรับบรรยายได้ในหัวข้อที่ตัวเองถนัด แต่ก็ยังไม่เก่งพอที่จะพูดอะไรก็ได้หรือเป็นสุดยอดนักบรรยาย แค่พอไปวัดไปวาได้ บ่อยครั้งก่อนขึ้นเวทีก็ยังตื่นเต้นมากๆอยู่
ประสบการณ์หลายอย่างจึงเป็นเรื่องที่เจอส่วนตัว อาจจะตรงกับบางท่านไม่ตรงกับบางท่าน แต่จากแผลเป็นหลายแผลที่เรียนรู้มา ก็หวังว่าจะมีซักข้อสองข้อที่พอมีประโยชน์สำหรับนัก (อยาก) พูดบ้างนะครับ
1
ผมลองย่อยจากประสบการณ์ที่เล่นจริงเจ็บจริงมาเป็นข้อๆไว้ดังนี้
1
—กินผักและวิ่งบ่อยๆ
สมัยก่อนผมจะตื่นเต้นและกลัวไปล่วงหน้าก่อนพูดหลายวัน เป็นคนที่ขวัญกำลังใจต่ำมาก พอใกล้เวลาพูดจะชอบจินตนาการว่าถ้าเราพูดไปแล้วปวดท้องบนเวทีจะทำยังไง ถ้าท้องเสียจะทำยังไง แล้วก็จะกังวลตั้งแต่ก่อนพูดจนจบ รวมถึงหลายครั้งก็รู้สึกใจสั่น ยิ่งใกล้พูดทั้งใจทั้งมือยิ่งสั่นเหมือนจะเป็นลม หัวใจเต้นเร็วมาก คิดอะไรเลวร้ายไปต่างๆนานา
1
ผมลองมาหลายวิธี แต่ที่ช่วยมากๆสำหรับเรื่องปวดท้องก็คือการกินผักเยอะๆก่อนพูดซักสองมื้อ ทำให้ท้องไส้ปกติ พอเริ่มคิดแล้วหัวเช็คกับท้องก็ไม่มีอาการอะไร ความกังวลก็หายไป อีกวิธีที่ช่วยเรื่องใจสั่น ตื่นเต้นเยอะ คือการวิ่ง พอวิ่งบ่อยๆเข้าหัวใจแข็งแรงขึ้น เต้นช้าลง พอจะขึ้นเวทีมันเหมือนมี buffer ที่กว่าจะถึงระดับใจสั่นจะใช้เวลานานขึ้น ไม่ได้ยินเสียงหัวใจให้กังวลอีก ความมั่นใจทางด้านร่างกายก็จะเริ่มมา ก็ทำให้คลายใจก่อนขึ้นเวทีไปเปราะหนึ่ง
7
—วิธีลดความตื่นเต้นก่อนขึ้นเวที
ผมเป็นคนที่พานิคง่ายเพราะเคยเป็น panic disorder มาก่อน ต่อให้เหมือนหายไปแล้วแต่ความรู้สึกนานๆก็ยังมาอยู่ โดยเฉพาะก่อนขึ้นเวทีในบางครั้งเวลาที่ไม่ค่อยสบาย หรือเหนื่อยๆก็จะมีอาการหายใจไม่ทั่วท้อง กังวล ใจเต้น ผมได้เทคนิคง่ายๆจากการหัดนั่งสมาธิใน application หนึ่ง พอตื่นเต้นมากๆ เขาให้หายใจเข้าลึกๆนับ 1 2 3 ช้าๆ แล้วกลั้นหายใจ นับ 1 2 3 ช้าๆ แล้วหายใจออกนับ 1 2 3 ช้าๆ กลั้นหายใจนับ 1 2 3 ช้าๆ ทำซักสิบรอบก่อนขึ้นเวที จะช่วยบรรเทาความตื่นเต้นได้พอสมควร
4
—ไม่มั่นใจ ประหม่า ไม่ต้องออกตัว
บ่อยครั้งที่เราคิดว่าการออกตัวว่าพูดไม่เก่ง วันนี้ไม่ค่อยพร้อม หรือตื่นเต้นมากๆ จะเป็นการปรับความคาดหวังของผู้ฟังที่ดีทำให้คนสงสารเราเวลาพูดไม่ดี แต่จริงๆแล้วการออกตัวแบบนั้นทำให้ผู้ฟังเริ่มจากติดลบ และอาจจะค่อนข้างไปในทางจับผิดเรามากขึ้น นอกจากนั้น ผู้ฟังเขามาฟังเพื่อได้ประโยชน์ ได้เนื้อหาสาระไปปรับใช้ ความตื่นเต้น ไม่เก่ง ไม่พร้อม นั้นไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเขาเลย ต่อให้เราตื่นเต้นอย่างไร การออกตัวก่อนก็ดูเหมือนจะไม่ได้ช่วยอะไรนัก
2
—ใช้สไลด์รูปใหญ่ๆ มีตัวอักษรน้อยๆ ไว้เกาะ
มีสไลด์ไว้เกาะ เป็นภาษาของอาจารย์ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ที่เล่าเรื่องในที่สาธารณะได้ดีมากๆ อาจารย์มาบรรยายในคลาสที่ผมนั่งฟังอยู่ยังออกตัวเลยว่าต้องขอใช้สไลด์ไว้เกาะเพราะพูดไม่เก่ง แต่จริงๆแล้วผมว่านอกจากไว้เกาะแล้ว ยังทำให้เราไม่ต้องเครียดต้องจำเรื่องในหัวในรายละเอียด สามารถเห็นรูปแล้วเล่าไปตามสไลด์ได้เลย
ผมเองก่อนหน้านี้ใช้สไลด์เพื่อใส่ข้อมูลเนื้อหาเยอะๆเพื่อให้ผู้ฟังได้อ่านครบ กลัวตกหล่น ซึ่งผิดทางเป็นอย่างมาก เพราะยิ่งทำให้การบรรยายน่าเบื่อเพราะผมพยายามอ่านสไลด์และพูดตามสไลด์ให้ครบ ในขณะที่คนฟังเขาก็ไม่ได้อยากอ่าน บางทีทนอ่านจบไปก่อนผมพูดสไลด์นั้นเสร็จอีก ยิ่งทำให้น่าเบื่อไปใหญ่
1
ผมมาสังเกตคนที่เล่าเรื่องเก่งๆ ตั้งแต่ Steve jobs ตอนเปิดตัวสินค้า เจ้านายเก่าผมคุณ sigve brekke และอีกหลายคน เริ่มเห็นว่าเขาใช้สไลด์ที่มีรูปสวยๆหรือตัวอักษรใหญ่ๆเป็นคำๆ หรือประโยคเดียวเท่านั้น พอผมลองใช้วิธีนี้ดูถึงรู้ว่าการมีสไลด์สำหรับคนที่ไม่มีพรสวรรค์ด้านการพูดนั้นเอาไว้ “พิง” หรือ “เกาะ” เป็นจุดประสงค์หลัก ทำให้เรารู้คร่าวๆว่าถึงเวลาต้องเล่าเรื่องอะไรเมื่อสไลด์นั้นโผล่ขึ้นมา ทำให้เราไม่ต้องท่องจำแต่เล่าได้อย่างเป็นธรรมชาติ คนฟังก็ไม่ต้องอ่านแบบเบื่อๆแถมปวดตาอีก
2
นอกจากนั้น การเรียงสไลด์ต่อเนื่องกันแล้วทบทวนดูก็ทำให้เรื่องราวนั้นลื่นไหลเวลาเล่าต่อๆกัน เราสามารถผูกเรื่องเชื่อมโยงกันได้ง่ายขึ้น แถมรูปภาพสวยๆก็ยังทำให้คนไปมีโฟกัสที่รูปทำให้เราไม่ตื่นเต้นมากนักด้วย และหลายๆรูปก็สื่อความหมายได้ดีกว่าการพูดด้วยซ้ำ เป็นมุกให้ขำก็ได้ ให้ซึ้งก็ได้ quote ดีๆก็ช่วยถ้าอยู่ในจังหวะหน้าสไลด์ที่เหมาะสมเช่นกัน
2
—หาเรื่องเปิดที่ทำให้ผู้ฟังรู้สึกว่าเราเป็นพวกเดียวกัน
เป็นเทคนิคเปิดการบรรยายที่ผมพยายามใช้เสมอ ผมพยายามหาทางเชื่อมโยงในทางใดทางหนึ่งเพื่อให้ผู้ฟังรู้สึกว่าเราเป็นญาติห่างๆ เช่นผมไปพูดที่ ปตทสผ ก่อนเข้าเรื่องหลักที่จะบรรยาย ผมก็จะเล่าถึงตอนที่ผมเริ่มทำงานใหม่ๆ เคสแรกๆที่ผมได้ทำคือ ปตทสผ ผมมาเป็นที่ปรึกษาการเงินตัวเล็กๆต้องเข้าๆออกๆที่ ปตทสผ หลายเดือน พร้อมเอ่ยชื่อพี่ๆบางคนที่ผมจำได้ ทำให้ผู้ฟังรู้สึกเชื่อมโยงได้ว่าเราไม่ใช่คนอื่นไกลและจะเปิดรับเรามากกว่าเดิม
4
ผมไปพูดที่ TOA ก็จะบอกว่าผมเป็นเพื่อนกับคุณจตุภัทร์ที่เป็นผู้บริหารระดับสูงมาหลายปี เผาคุณจตุภัทรนิดหน่อย ไปพูดที่มติชนก็จะบอกว่าผมเป็นผู้อ่านมานานมากพร้อมเอ่ยชื่อคอลัมน์ที่อ่านประจำ แม้แต่ที่ที่เชื่อมโยงได้ยากก็ยังต้องหาเรื่องเชื่อม เช่นไปพูดที่ขอนแก่นก็จะเริ่มว่าผมเป็นคนโคราช เป็นเด็กต่างจังหวัด เป็นลูกอีสานเหมือนกัน การเปิดแบบนี้ช่วยสร้างความมั่นใจเล็กๆตอนเริ่มพูดพอเห็นผู้ฟังที่เริ่มสนใจจากความเชื่อมโยง เป็นการเปิดบทสนทนาที่ดีที่สุดสำหรับผม
2
—พูดสั้น พูดกลาง พูดยาว มีเทคนิคต่างกัน
ปกติผมชอบบรรยายยาวๆประมาณชั่วโมงนึงเป็นอย่างน้อยเพราะผมรู้สึกถนัดและเล่าง่ายกว่า มีเวลาเล่ารายละเอียดเล็กๆน้อยๆ มีเวลาเปิดวีดีโอ มีเวลากล่อมให้คนเชื่อตามประเด็นที่เราคิดไว้ แต่หลายครั้งเราก็ต้องพูดในข้อจำกัดที่ต่างกันออกไป เช่นมีเวลาแค่ 3 นาทีในการเปิดงาน หรือมีเวลา 15 นาทีเวลาต้องขึ้นไปเล่าแบบ ted talk แชร์ประสบการณ์สั้นๆ เคยมีผู้ที่เก่งในด้านการพูดหลายคนสอนผมไว้และผมจำมาประยุกต์และก็ใช้ได้ผลดี
2
คุณซิกเว่ เบรกเก้ อดีตซีอีโอดีแทค ปัจจุบันเป็นซีอีโอบริษัทโทรคมนาคมระดับโลก เลยสอนผมว่าเวลาต้องขึ้นพูดสั้นๆ ให้นึกถึงอะไรก็ได้สามหัวข้อพอ แล้วก็พูด หนึ่ง สอง และสาม เราก็จะจำง่าย และคนก็จะจำที่เราพูดได้ด้วย เช่นขึ้นกล่าวโอวาทงานแต่งงานก็มีคำสอนสามข้อ พูดในงานปีใหม่ให้ทิศทางพนักงานก็พูดเป้าหมายสามข้อ เป็นต้น
1
ส่วนสูตรพูดระยะกลางประมาณ 15 นาที ที่เป็นเรื่องเล่าที่ดีที่ผู้ฟังจะฟังตั้งแต่ต้นจนจบ เข้าใจ และประทับใจนั้น พี่ป๊อบ อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา ซึ่งเป็นอาจารย์สอนด้านผู้นำและการพูดเคยแนะนำผมไว้ และพอผมเอามาใช้พูดเอง
รวมถึงโค้ชน้องๆที่ต้องพูดในเวลาจำกัดแล้วรู้สึกได้ผลดีอีกด้วย พี่ป๊อบได้ไอเดียมาจากอริสโตเติลถึงการเล่าเรื่องที่ทรงประสิทธิภาพว่าเรื่องไม่ว่าจะเล็กใหญ่แค่ไหนต้องมีสี่อย่าง ก็คือ ระทม (suffering) รันทด (struggling) ระทึก (turning) รอดจากทุกข์ (overcoming) ซึ่งผมมักจะเติมตอนจบไปอีกหน่อยว่า เรียนรู้ (learning) ว่าเราเรียนรู้อะไรจากประสบการณ์นั้นด้วย
เรื่องที่มีสี่หรือห้าอย่างนี้ มักจะเป็นเรื่องเล่าที่ดี คนชอบฟังและประทับใจ ยิ่งเรื่องเป็นเรื่องส่วนตัวยิ่งดี ผมเคยเล่าเรื่องตอนที่ผมอ้วนมากๆ ต้องเข้าโรงพยาบาลเข้าห้อง CCU แล้วต้องรันทดต่อด้วยการเป็น panic disorder หาทางออกไม่ได้ จนต้องพยายามลดน้ำหนักและออกวิ่ง ระทึกมากว่าจะช่วยหรือไม่ จะรอดจากทุกข์นั้นหรือไม่ และในที่สุดร่างกายก็แข็งแรง แล้วเราก็เรียนรู้ว่าร่างกายที่ดีนั้นสำคัญแค่ไหนรวมถึงรู้ว่าในวิกฤตินั้นมีโอกาส เป็นต้น
1
ส่วนในการพูดยาวๆ เทคนิคของผมคือการใช้สไลด์แล้วร้อยเรียงเป็นเรื่องเหมือนเขียนบทความหรือบทหนัง แล้วอ่านจากสไลด์ไปหลายสิบแผ่นดูว่าเรื่องราวตรงไหนเชื่อมโยงยังไง ตรงไหนน่าเบื่อ สไลด์นี้จะเล่าเรื่องอะไรเพื่อโน้มน้าวแล้วต่อด้วยตัวอย่างอะไรก่อน หลังจากนั้นก็ลองเล่าในใจดู แต่ในการหาเรื่องราวที่ดีนั้นเป็นอย่างไรก็มีอีกหลายวิธีที่จะเล่ากันต่อไป
1
—หน้าตาประชาชื่นเล่าเรื่องประชาชื่น รู้เรื่องประชาชื่นอย่าไปเล่าเรื่องยุโรปเยอะ
พอดีผมเป็นคนที่อยู่อาศัยแถวประชาชื่น เลยยกตัวอย่างเป็นประชาชื่นนะครับ
ผู้ฟังก่อนเข้ามาฟัง เขาจะมีภาพอะไรบางอย่างในหัวอยู่ อาจจะรู้จักเรามาก่อนหรืออ่านจากตำแหน่งหน้าที่การงานของเรา บริษัทที่เราทำงาน อายุ รูปร่าง ฯลฯ ในการที่เราพูดในเรื่องที่ขัดกับภาพที่เรามีหรือเป็นจะทำให้งานเรายากขึ้นหลายเท่า ยกตัวอย่างเช่น ถ้าผมดูโทรม ไม่แข็งแรง แต่มาพูดเรื่องการเปลี่ยนแปลง เรื่องสุขภาพ เรื่องการออกกำลัง คนก็จะไม่เชื่อ
หรือหน้าที่การงานทำงานบริษัทมาตลอดแต่มาพูดเรื่องวิธีทำ startup หรืออายุมากแล้วแต่พูดเรื่อง tech สมัยใหม่ หรือพูดเรื่อง disruption แต่ยังไม่เคยอยู่ในแวดวงนั้นมาก่อนเลยเป็นต้น เราสามารถเล่าได้ แต่มันจะยากกว่าเล่าเรื่องที่แบรนด์เราเป็นอย่างนั้นที่คนพร้อมจะเปิดใจตั้งแต่แรกอยู่มาก
ส่วนการรู้เรื่องประชาชื่นอย่าไปเล่าเรื่องยุโรป นั้นผมแปลงมาจากคำสัมภาษณ์ของคุณอุดม แต้พานิชเมื่อนานมาแล้ว คุณอุดมซึ่งเป็นคนบางกะปิบอกเทคนิคการพูดง่ายๆว่า ถ้ารู้ดีเรื่องบางกะปิ อย่าไปเล่าเรื่องยุโรป
ความหมายก็คือว่าเราเล่าเรื่องที่เรารู้จริง คลุกคลีอยู่กับมันจริงๆ จะดีและทรงพลังกว่ามาก มากกว่าไปพยายามหาเคสฝรั่ง ซิลิคอนวัลเล่ย์ แอปเปิ้ล อเมซอน กูเกิ้ล มาพูดซึ่งมีคนเล่าอยู่บ่อยแล้วและเราเองก็อาจจะไม่ได้รู้ลึกซึ้งกว่าการหาอ่านตามเว็บต่างๆด้วยซ้ำ เราเองก็จะมั่นใจด้วยเวลาเล่าเรื่องที่ตัวเองชอบ ถนัดและรู้จริง ผู้ฟังก็จะชอบฟังมากกว่า เรื่องยุโรปก็มีประโยชน์ในการเอามาประกอบเป็นน้ำจิ้มได้
1
—begin with end in mind
การเล่าเรื่องขนาดยาวทุกครั้งต้องนึกถึงตอนจบให้ได้ก่อนว่า เราเล่าเรื่องนี้แล้ว อยากให้ผู้ฟังพอฟังจบแล้วได้อะไร แล้วพรุ่งนี้ตื่นมาอยากให้ผู้ฟังทำอะไร
3
ซึ่งถ้าเราหาตอนจบที่เป็นเป้าหมายและทรงพลังพอที่จะทำให้ผู้ฟังฟังแล้วคิดตามและถึงกับอยากทำอะไรใหม่ๆได้ เรื่องเล่านั้นจะเป็นเรื่องที่ดีมาก พอได้ไอเดียอยากให้จบยังไงแล้วถึงเริ่มมาลองร่างสไลด์ที่จะนำไปสู่ตอนจบนั้นๆ ว่าจะเกริ่นด้วยเรื่องอะไร โน้มน้าวอย่างไร ใช้ fact ใช้เรื่องไหนในการเดินเรื่องจนไปจบอย่างที่เราคิดได้ พอเราขึ้นโครงได้ พอเราได้ไปฟังบรรยายดีๆ อ่านหนังสือบางเล่ม ก็จะรู้ว่าเรื่องนี้เอามาเสริมการบรรยายของเราได้ เป็นแกนให้เราเกาะในการพัฒนาเรื่องเล่าที่ดีมากๆ
3
—เดินหน้าหาวัตถุดิบ
วัตถุดิบที่ดีที่สุดคือประสบการณ์หรือความรู้ของเราเอง แต่วัตถุดิบที่มีประโยชน์ยังมีอีกหลายที่ เช่นการอ่านหนังสือ อ่านเรื่องราว ดูคลิปต่างๆ ไปฟังบรรยายบ่อยๆ หรือแม้กระทั่งเดินทางเพื่อเพิ่มประสบการณ์ส่วนตัว การออกจาก comfort zone ของตัวเองในหลายๆเรื่องก็เป็นวัตถุดิบที่ดี ไปหัดขี่จักรยาน แต่งงาน มีลูก ทำร้านอาหารแล้วเจ๊ง ไปเที่ยวขับรถเล่นต่างประเทศ ฯลฯ
เหล่านี้มีเรื่องราวที่มาเชื่อมโยงเวลาเล่าได้ทั้งสิ้น สมุดจดเล็กๆ หรือ note application ในมือถือก็ช่วยเยอะเวลาเห็น หรือได้ยินเรื่องราวดีๆ รูปที่โดนใจก็จดไว้ ถ่ายไว้ เก็บไว้
แต่ที่ช่วยมากๆทำให้รู้ว่าอันไหนน่าเก็บ น่าจดจำ ก็คือการมีโครงเรื่องที่อยากเล่าเตรียมไว้ในหัวซักสองสามเรื่อง พอได้เห็นได้ฟังได้อ่านเรื่องหรือ รูปหรือ quote ดีๆก็จะรู้ทันทีเลยว่าตรงนี้ต้องเก็บใส่เป้ไว้ เพราะมันเข้ากับเรื่องที่เราอยากเล่าพอดี
1
—เรื่องเล่าที่ดี
ผมสังเกตผู้ที่บรรยายดีๆ เล่าเรื่องเก่งๆมักจะใช้เรื่องราวสามเรื่องประกอบกันในหนึ่งประเด็น ก็คือเรื่องราวที่เป็นเรื่องสากล ต่อด้วยเคสที่ใกล้ตัวแบบไทยๆ แล้วเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับตัวเอง สามเรื่องนี้ทำให้ประเด็นทั้งชัด ดูยิ่งใหญ่จากเรื่องระดับโลก แล้วสัมผัสได้จากความใกล้ตัวและโดนใจพร้อมที่จะเชื่อเพราะเป็นเรื่องของผู้พูดเอง
1
ล่าสุดผมฟังอาจารย์ชัชชาติบรรยายเรื่อง innovative leadership อาจารย์ใช้ทั้งสามมุมตั้งแต่พูดถึง เนลสัน แมนเดลา เล่าถึงเคสการเปลี่ยนแปลงของร้านอาหารในเมืองไทย และทุกครั้งก็จะเชื่อมโยงกับเรื่องของตัวเองโดยเฉพาะบทเรียนที่ได้จากลูกชายคนเดียว ทั้งสามมุมแต่ประเด็นเดียว เป็นการบรรยายที่ฟังแล้วเพลิดเพลิน น่าเชื่อถือและในขณะเดียวกันก็ real มาก
3
ผมเองก็ใช้เทคนิคนี้อยู่ทุกครั้ง ยกตัวอย่างเช่นผมอยากเล่าเรื่องยิ่งมีวินัยยิ่งเป็นอิสระ เป็นวินัยของการออกกำลังกาย การเริ่มเปลี่ยนแปลง ก็จะเริ่มจากคิปโซเก้ ต่อด้วยตูน ก้อย และเล่าเรื่องตัวเองที่เข้าโรงพยาบาลแล้วต้องบังคับตัวเองให้มีวินัยด้านการออกกำลังเป็นต้น มีทั้งเทศ ไทย และตัวเอง อยู่ในประเด็นเดียว
—ผู้ฟังคือใคร
1
นอกจากประเด็นหลักที่เราต้องการสื่อสารแล้ว การทำความเข้าใจผู้ฟังว่าคือใครมีประสบการณ์อะไรนั้นสำคัญมาก ตัวอย่างในการยกก็ควรจะตามวัยที่เหมาะสม และในจังหวะที่เหมาะสมจะช่วยเสริมความสนุกในการบรรยาย แต่ถ้าผิดวัย ผิดจังหวะแล้วอาจจะทำให้เสียเครดิตในการพูดได้ เช่นพูดกับน้องๆนักศึกษา ในการยกตัวอย่าง อาโนล์ด ชวาชเน็กเกอร์หรือนูโวก็จะผิดฝาผิดตัวมาก น้องๆจะงงจนนึกไม่ออกหรือการพูดกับรุ่นใหญ่วัยใกล้เคียงกับเรา คุยเรื่องเทปคาสเซ็ทมีสองหน้า พอยืดต้องเอาเข้าตู้เย็น ก็เป็นประสบการณ์ร่วมที่เรียกรอยยิ้มได้
ในเวลาที่เขียนบทความนี้ ถ้าเจอวัยรุ่นสาวๆเยอะ พูดถึงพีพี บิวกิ้นในการเปรียบเทียบก็จะเรียกเสียงกรี๊ดได้ แต่ถ้ายังพูดถึงเรื่องเก่าๆ หนังไทยสมัยก่อนอยู่ก็จะดูเชยเป็นอย่างยิ่ง การตามเทรนด์ว่าอะไรฮิต การเข้าใจกลุ่มผู้ฟังนั้นมีส่วนช่วยเติมรสชาติให้กับเรื่องราวของเราได้เป็นผงชูรสที่ทำให้เรื่องที่เราเล่าน่าฟังขึ้น
2
—เป็นไปได้พยายามเห็นสไลด์ถัดไป
ถ้าเราบรรยายแล้วสามารถเห็นจอได้ ไม่ว่าจะเป็นจอจากคอมพ์ของตัวเอง หรือเป็นจอของผู้จัดงาน ถ้าเราสามารถเห็นสไลด์ถัดไปก่อนที่เราจะคลิก จะเป็นประโยชน์มากในการสร้างจังหวะการพูดในบางเรื่อง โดยเฉพาะการตั้งคำถามที่นำไปสู่การเฉลย เมื่อเราตั้งคำถามให้ผู้ฟังคิดตามแล้ว การเปิดสไลด์พร้อมภาพที่ถูกต้องในจังหวะที่เหมาะสมจะโดนใจผู้ฟังเป็นอย่างยิ่ง
ตัวอย่างที่ผมใช้เวลาเล่าเรื่องความคิดสร้างสรรค์จากการเอาใจเขามาใส่ใจเรา ผมเล่ากรณีศึกษาที่คุณหมอที่กำแพงเพชรมีบริการตรวจมะเร็งปากมดลูกให้ชาวบ้าน เพราะถ้าพบเจอปัญหาแต่เนิ่นๆก็จะลดอัตราความเสี่ยงได้มาก แต่ปรากฏว่าแทบไม่มีชาวบ้านมาตรวจเลย จนคุณหมอกลุ้มใจ และเริ่มหาต้นตอของปัญหา (ภาพสไลด์ตอนนี้คือภาพคลินิกว่างๆ) ว่าชาวบ้านผู้หญิงอายหมอ ไม่รู้จักมักจี่กันต้องมาแหกขาให้หมอดูอวัยวะภายในก็เลยไม่กล้ามา
ผมก็ถามผู้ฟังว่าแล้วเราจะแก้ปัญหานี้อย่างไร แล้วผมก็เฉลยว่าคุณหมอท่านนี้วันหนึ่งคงดูทีวีรายการเดอะมาสค์ซิงเกอร์แล้วนึกขึ้นได้ เอามาผสมกับปัญหาที่อยู่ในหัวเลยคิดไอเดียที่ทำให้คนไข้มาเต็มคลีนิคโดยไม่อายหมอ วันแรกวันเดียวก็มากกว่าที่ผ่านมาทั้งปี ใช่แล้วครับ (แล้วผมก็เปิดสไลด์เป็นรูปคนไข้นั่งเต็มคลีนิค ทุกคนใส่หน้ากากเหมือนกันหมด คุณหมอก็ใส่) พอใส่หน้ากากแล้ว เราก็ไม่รู้จักฉันไม่รู้จักเธอ คนไข้ก็ไม่อายหมออีกต่อไป คนฟังที่พยายามคิดตามหาทางออก พอเห็นภาพเต็มๆก็เฮกันขำกันใหญ่
1
จังหวะที่เปิดสไลด์ที่สองถ้าเรารู้ว่าหน้าต่อไปเป็นอะไรในใจก่อน เราจะกะจังหวะที่มีพลังสูงสุดได้ง่ายขึ้น ดังนั้นถ้ามีโอกาส พยายามรู้ล่วงหน้าโดยไม่ต้องท่องจำ แต่ใช้การดูจากจอ จะช่วยให้เรื่องไหลลื่นและมีจังหวะตึ่งโป๊ะที่โดนมากๆเลยครับ
1
—ใช้วีดีโอคลิปช่วย
ในบางเรื่องราวให้วีดีโอเล่าเรื่องก็เป็นเทคนิคที่ดีอย่างหนึ่ง ข้อดีของการใช้วีดีโอก็คือเราได้พักหายใจ ได้มีโอกาสทบทวนตอนต่อไปอีกด้วย วีดีโอดีๆก็ทำหน้าที่ได้ลึกซึ้งอยู่เช่นกัน แต่ต้องระวังในการเปิดวีดีโอเยอะๆเพราะการดูคลิปของคนฟังนั้นใช้พลังในการตั้งต้น มีสมาธิและใช้พลังคนฟังมากกว่าปกติ เปิดบ่อยๆจะทำให้เฝือและน่าเบื่อได้เหมือนกัน
1
—อย่าพยายามเทศน์หรือสอนคนฟัง
ผมได้เคล็ดลับนี้จากอาจารย์หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช ผู้ที่เป็นอัจฉริยะด้านการเล่าเรื่องและการเขียนหนังสือ อาจารย์สอนคุณ รงค์ วงษ์สวรรค์ นักเขียนระดับปรมาจารย์อีกท่าน ซึ่งคุณรงค์บันทึกไว้ในบทความหนึ่งว่า
ท่านพูดว่า : เอ็งเป็นนักเขียน ไม่ใช่นักเทศน์…
อธิบายต่อมาว่าการไม่อวดรู้หรือการสั่งสอนผู้อ่าน นักเขียนไม่ใช่คนนั่งถือตาลปัตรในลานบนธรรมาสน์ แต่นั่งอยู่บนเก้าอี้ระดับเดียวกัน เดินบนถนนเดียวกัน และเขียนออกมาด้วยความคิดเดียวกันกับผู้อื่น นักเขียนผู้ได้รับความนิยมอย่างสูงคือผู้มีความรู้สึกร่วมกันกับผู้อ่านจำนวนมากมายในประเทศ
เหมือนนั่งอยู่ในหัวใจ
ผมนำวิธีการดังกล่าวมาประยุกต์กับการเล่าเรื่องที่ได้ผลดีมาก ถ้าเราไม่พยายามสอนแต่พยายามเล่าในเรื่องที่เป็นระนาบเดียวกัน มีล้มเหลว ผิดพลาด มีบทเรียน มีภาษาที่ใช้เหมือนกันแล้ว โอกาสที่ผู้ฟังจะเปิดรับมีกว่าใครก็ไม่รู้มาเทศน์สั่งสอนโน่นนี่ให้น่าเกิดความหมั่นไส้กันได้ง่ายๆว่าตัวเองเก่งมาจากไหน
—ความอยากจะเล่า
อุดม แต้พานิช เคยพูดไว้ที่ไหนซักที่หนึ่งจากการตอบคำถามว่าอะไรเป็นเคล็ดลับของการเล่าเรื่องที่จับใจคนฟัง?
“อย่างอื่นไม่มีก็ได้นะ แต่ที่ขาดไม่ได้คือความอยากจะเล่า ถ้าไม่ได้ใส่ความปรารถนาอย่างแรงกล้าเข้าไป มันก็จะเป็นงานธรรมดาที่ไม่จับใจคน”
2
ความอยากจะเล่าคงมีองค์ประกอบหลายอย่าง เรื่องที่เราตื่นเต้นอยากจะเล่า เล่าแล้วรู้ว่าจะมีประโยชน์กับคนฟัง เล่าไปคนฟังตอบรับไป ฯลฯ แต่ละคน แต่ละบริบท แต่ละกลุ่มคงต่างกันออกไป แต่ควรถามหรือหาตัวเองก่อนเสมอว่า เราจะหามุมที่ทำให้เราเอง “อยากจะเล่า” ได้อย่างไร
—แป้ก แป้ก และ แป้ก
และอุดมคนเดียวกันก็บอกเคล็ดลับการเล่าเรื่องที่ดีไว้อีกข้อว่า
“ทุกๆ คนที่ทำอาชีพนี้จะต้องเรียนรู้
ที่จะเล่าอะไรแล้วแป้กก่อน
เพราะมันจะเป็นวัคซีนคุ้มกัน
ควรจะหาเวลาไปแป้กบ่อยๆ”
ซึ่งข้อนี้จากประสบการณ์ผมผู้ซึ่งมาจากติดลบอย่างมาก รู้ซึ้งถึงประโยชน์ของการแป้ก ซ้ำแล้วซ้ำอีก เพราะมันทำให้เราเก่งขึ้นทีละนิด เชื่อมั่นมากขึ้นทีละหน่อยโดยไม่รู้ตัว เหมือนการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ กล้ามเนื้อการเล่าเรื่องเราก็จะแข็งแรงขึ้นเราสามารถทดสอบเรื่องเล่าของเรา ผิดมาก็แก้ไข ลองใหม่จนคมขึ้น ได้ฝึกควบคุมการหายใจ ได้ลองแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ครั้งแรกแก้ได้ไม่ดี แต่พอเจอบ่อยๆก็จะเชี่ยวชาญขึ้น ผมขึ้นเวทีหลายร้อยครั้งมากกว่าจะเริ่มมั่นใจจริงๆ
1
ในหัวข้อทั้งหมดที่เขียนมา ผมคิดว่าข้อนี้สำคัญที่สุดครับ
ย้ำอีกครั้งว่า เทคนิคต่างๆเป็นประสบการณ์ที่ลองผิดลองถูกของผม อาจจะมีประโยชน์บ้างในบางข้อและไม่ได้เป็นสูตรสำเร็จอะไรนอกจากแต่ละคนต้องไปลองประยุกต์ใช้ดู แต่ที่แน่ๆและอาจเป็นกำลังใจให้ทุกคนได้คือ คนที่ห่วยมากๆ ขี้กลัวในการพูดหน้าชั้นตั้งแต่เด็กๆอย่างผม ยังสามารถลองแป้ก ผิดๆถูกๆ จนพอพูดได้ไม่อายคน ผมเชื่อว่าทุกท่านที่เริ่มต้นคงไม่ได้ติดลบหนักๆเหมือนผม ถ้าตั้งใจจริงๆแล้ว ไปลองแป้กดูบ่อยๆ รับรองทำได้อย่างแน่นอนครับ
1
โฆษณา