22 ต.ค. 2023 เวลา 09:14 • ความคิดเห็น

คุณภาพชีวิตคนคือผลรวมของการตัดสินใจ

ชีวิตของเราที่เดินทางมาถึงจุดนี้ เป็นผลลัพธ์ของการตัดสินใจนับครั้งไม่ถ้วน
เวลาเราคิดถึงการตัดสินใจ เรามักจะนึกถึงเรื่องใหญ่ๆ เช่น เรียนคณะอะไร ทำงานที่ไหน แต่งงานกับใคร จะมีลูกหรือไม่
แต่การตัดสินใจที่มีผลไม่น้อยไปกว่ากัน คือการตัดสินใจเรื่องเล็กๆ ที่โดยตัวมันเองแล้วเหมือนจะไม่มีความหมายอะไร แต่เมื่อมองในเชิงผลลัพธ์ทบต้น (compound results) ในระยะยาวแล้วสามารถเปลี่ยนทิศทางชีวิตได้เหมือนกัน
ความอันตรายก็คือเพราะมันเป็นเรื่องเล็กๆ เราจึงไม่ค่อยใส่ใจและมักจะไม่รู้ตัว
จะนั่งท่าไหนตอนทำงาน
จะหยิบงานยากหรืองานง่ายขึ้นมาทำก่อน
ปวดฉี่แล้วจะลุกไปเดี๋ยวนี้หรือจะนั่งทำงานต่อ
เวลา Slack หรือไลน์เด้ง จะตอบทันทีหรือจะโฟกัสกับงานตรงหน้า
เวลามีคนมาขอให้ช่วยเหลือจะ say yes จะปฏิเสธ หรือจะต่อรอง
เวลาใครมาพูดไม่ดีจะตอบโต้ทันทีหรือจะสงวนวาจา
เวลาพ่อแม่หรือลูกโทรมาตอนงานยุ่งๆ เราจะรับสายหรือไม่
การตัดสินใจเล็กๆ นี้เกิดขึ้นตลอดวัน
สมมติว่าวันหนึ่งเรานอน 7 ชั่วโมง แสดงว่าเรามีช่วงเวลาตื่นนอน 17 ชั่วโมง
สมมติว่ามีเรื่องให้ต้องตัดสินใจทุก 10 นาที ใน 1 ชั่วโมงก็จะมี 6 เรื่องให้ตัดสินใจ
ในหนึ่งจะมีเรื่องให้ตัดสินใจ 17x6 = 112 เรื่อง หรือหนึ่งปีเราจะได้ตัดสินใจประมาณ 112x365 = 40,000 ครั้ง
สมมติว่าการตัดสินใจที่ถูกทำให้ชีวิตเราดีขึ้น 1 ในพันเปอร์เซ็นต์ หรือ 0.001% และสมมติว่าการตัดสินใจที่ผิดทำให้ชีวิตเราแย่ลงในอัตราเดียวกัน
ถ้าตัดสินใจถูก 40,000 ครั้ง ชีวิตเราจะดีขึ้นปีละ 1.00001^40,000 = 1.49 หรือประมาณ 49%
แต่คงไม่มีใครที่จะตัดสินใจถูกทุกครั้งได้ ถ้าใน 40,000 ครั้ง เราตัดสินใจถูก 30,000 ครั้ง ตัดสินใจผิด 10,000 ครั้ง คุณภาพชีวิตเราจะดีขึ้น 1.00001^20,000 = 22%
ถ้าชีวิตเราดีขึ้นปีละ 22% ติดต่อกัน 7 ปี ชีวิตเราจะดีขึ้น 4 เท่า (1.22^7 = 4)
สมมติว่าเด็กจบใหม่ เงินเดือน 20,000 บาท ทำงานไป 7 ปีเงินเดือนอาจไต่ไปถึง 80,000 บาท สำหรับผู้อ่านบางท่านอาจมองว่าเป็นไปได้ยาก แต่ถ้าใครทำงานอยู่ในฝั่ง tech หรือธุรกิจที่กำลังเติบโตก็จะรู้ว่าเงินเดือนแบบนี้นั้นเป็นไปได้
(ผมยกตัวอย่างเป็นเงินเดือนเพื่อให้จับต้องได้เฉยๆ ในความเป็นจริงแล้วคุณภาพชีวิตไม่ได้ดูที่เงินเดือนอย่างเดียว ต้องดูเพื่อนร่วมงาน โอกาสเรียนรู้และสร้างอิมแพ็ค ความสัมพันธ์ ชีวิตส่วนตัว ทรัพย์สิน-หนี้สิน และอื่นๆ อีกหลายมิติ
และไม่มีใครที่จะชีวิตดีขึ้นได้ตลอดไป พอพ้นวัย 40 สังขารก็เริ่มโรยรา เด็กรุ่นใหม่ก็เก่งกว่า ทักษะของเราอาจหมดคุณค่าในตลาด เราจึงยิ่งจำเป็นต้องตัดสินใจให้ถูกต้องบ่อยยิ่งกว่าตอนวัยหนุ่ม เพื่อชะลอความถดถอยในหลายๆ ด้าน ไม่ต่างอะไรกับการเดินขึ้นบันไดเลื่อนที่กำลังเลื่อนลง)
2
ในทางกลับกัน ถ้าเราตัดสินใจถูก พอๆ กับการตัดสินใจผิด ชีวิตย่อมย่ำอยู่กับที่
และถ้าเราตัดสินใจผิดมากกว่าตัดสินใจถูก คุณภาพชีวิตก็จะร่อยหรอลงเรื่อยๆ เช่นถ้าใน 40,000 ครั้ง เราตัดสินใจถูก 15,000 ครั้ง ตัดสินใจผิด 25,000 ครั้ง ชีวิตเราจะแย่ลงปีละ 1-(0.99999^10,000) = 10%
ดังนั้น หากอยากเพิ่มโอกาสที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดี - หรืออย่างน้อยคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น - เราก็ควรใส่ใจการตัดสินใจของเราให้ออกมาถูกต้องมากที่สุด
2
และนี่คือบางไอเดียที่จะช่วยให้เราตัดสินใจถูกต้องได้บ่อยขึ้น
#มีเป้าหมาย - เมื่อมีเป้าหมายชัดเจน เราจะรู้ว่าอะไรสำคัญ และอะไรที่ไม่สำคัญ - เราจึงจะจัดสรรเวลาให้กับเป้าหมาย และลดความสำคัญของกิจกรรมอื่นๆ ที่ไม่ได้สอดคล้องกับเป้าหมายลงไปโดยปริยาย
5
#วางแผน - การวางแผนว่าแต่ละวันจะทำอะไรบ้าง จะเป็นเหมือนไหล่ถนนที่ช่วยป้องกันไม่เราตกคูและไม่ออกนอกเส้นทาง
2
#สร้างอุปนิสัยที่ดี - Habit ที่ดีจะทำให้เราตัดสินใจถูกต้องได้โดยไม่ต้องใช้เจตนาหรือความพยายาม
3
#ออกกำลังกาย - เมื่อเราออกกำลังกาย อ็อกซิเจนจะไปหล่อเลี้ยงสมอง ทำให้หัวปลอดโปร่ง คิดอะไร มองเห็นอะไรได้ชัดเจน
1
#นอนให้พอ - เวลานอนไม่พอแล้วเราจะตัดสินใจผิดได้บ่อยมาก
1
#หาความรู้ - บางทีการตัดสินใจผิดก็เกิดจากความรู้หรือความเชื่อที่ผิดๆ ดังนั้นหากเราหมั่นขยายคลังความรู้ของตัวเอง (โดยความรู้นั้นต้องมาจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ) เราก็จะเพิ่มโอกาสที่จะตัดสินใจได้ถูกต้องเช่นกัน
#ตั้งคำถามกับแนวทางที่ตัวเองยึดถือ - อะไรที่เราทำมานานอาจจะเป็นจุดบอดที่เรามองข้ามได้ง่ายที่สุด ดังนั้นอย่าลืมสำรวจตรวจสอบความเชื่อของตัวเอง อะไรที่เคยตอบโจทย์เมื่อ 10 ปีที่แล้วอาจไม่ได้ตอบโจทย์อีกต่อไป อะไรที่เคยต้องการเมื่อ 10 ปีที่แล้วอาจไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการอีกต่อไป
#ฝึกสติ - หลายครั้ง การตัดสินใจที่ผิดพลาดเกิดจากอารมณ์ชั่ววูบ การฝึกสติจะช่วยสร้างช่องว่างระหว่าง "สิ่งเร้า" จากภายนอก และ "ปฏิกิริยา/การตอบสนอง" (reaction/response) จากภายใน
หากเราใช้เครื่องมือทั้งหมดที่กล่าวมา เราก็น่าจะตัดสินใจได้ถูกต้องมากขึ้น ตัดสินใจผิดพลาดน้อยลง ซึ่งนั่นน่าจะเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการ
เพราะสุดท้ายแล้ว คุณภาพชีวิตคนคือผลรวมของการตัดสินใจครับ*
-----
* แน่นอนว่าคุณภาพชีวิตไม่ได้ขึ้นอยู่กับความพยายามของปัจเจกบุคคลแต่เพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมอย่างสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และการเมืองด้วย
โฆษณา