22 ต.ค. 2023 เวลา 17:16 • ประวัติศาสตร์

เรือพระที่นั่งมหาจักรี พระราชพาหนะของพระพุทธเจ้าหลวง สู่เรือหลวงอ่างทองลำแรก

"เรือพระที่นั่งมหาจักรี" เป็นเรือสำคัญที่ใช้เป็นพระราชพาหนะของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ในการเสด็จประพาสทั้งในประเทศและต่างประเทศ อีกทั้งยังใช้เป็นเรือรับรองต่างๆ ตลอดรัชกาล
เรือลำนี้เป็นเรือพระที่นั่งประเภทเรือลาดตระเวน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และกัปตันรีเชอลีเยอ (พระยาชลยุทธโยธินทร์) ติดต่อกับบริษัทราเมจแอนด์เฟอร์กูสัน ของสกอตแลนด์ เพื่อทำการสร้างเรือลำนี้ โดยใช้เวลาสร้างถึง 10 เดือน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2434 เมื่อสร้างเสร็จแล้ว เรือพระที่นั่งมหาจักรีเดินทางจากสกอตแลนด์เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ.2435 ถึงประเทศสยาม (ไทย) จอดเทียบท่า ณ พระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย ท่าราชวรดิษฐ์ ในวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ.2435
เรือพระที่นั่งมหาจักรี ใช้เป็นพระราชพาหนะในการเสด็จประพาสในที่ต่างๆ ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เช่นการเสด็จประพาสเกาะสีชังเมื่อปี พ.ศ.2436 การเสด็จประพาสชวา (พ.ศ.2439) การเสด็จประพาสสิงคโปร์ (พ.ศ. 2445)
หลังจากการสู้รบระหว่างสยามและฝรั่งเศส (วิกฤติการณ์ ร.ศ.112) ทำให้สยามต้องเสียค่าปรับให้ฝรั่งเศสและสูญเสียดินแดนบางส่วน เป็นหนึ่งในมูลเหตุสำคัญของการเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรกในปี พ.ศ.2440 เรือพระที่นั่งมหาจักรี ได้จัดให้เป็นพระราชพาหนะในการเสด็จพระราชดำเนินครั้งนี้
เหตุการณ์สำคัญของการเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก เป็นที่รับทราบกันดี คือเหตุการณ์ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพบกับพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 แห่งจักรวรรดิรัสเซีย และทรงฉายพระรูปร่วมกันเพื่อนำไปเผยแพร่ลงหนังสือพิมพ์ประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรป
ปี พ.ศ.2450 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสยุโรปเป็นครั้งที่สอง เป็นการเสด็จแบบส่วนพระองค์เพื่อรักษาพระวรกายและทอดพระเนตรกิจการต่างๆ ในยุโรปเพื่อนำมาพัฒนาประเทศ เรือพระที่นั่งมหาจักรีก็ได้จัดเป็นพระราชพาหนะในการเสด็จฯ ครั้งนี้เช่นกัน
พระราชกรณียกิจสำคัญในการเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่สอง เช่นการทรงร่วมลงพระนามในสนธิสัญญาแลกเปลี่ยนดินแดนเขมรกับฝรั่งเศส ทรงหารือกับโรงหล่อซุสแฟร์เรื่องการสร้างพระบรมรูปทรงม้า และทรงเจรจากับอังกฤษเรื่องกู้เงินก่อสร้างทางรถไฟจากประจวบคีรีขันธ์ไปหัวเมืองมลายู เป็นต้น
เรือพระที่นั่งมหาจักรี ยังได้ใช้เป็นพระราชพาหนะของเหล่าพระราชโอรสในรัชกาลที่ 5 สำหรับการเสด็จประพาสและทรงศึกษาต่อในต่างประเทศ และใช้เป็นเรือรับรองของแขกบ้านแขกเมืองมาตลอดรัชกาล
จนมาถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสหัวเมืองชายทะเลตะวันออกและภาคใต้ในปี พ.ศ.2457 โดยจัดเรือพระที่นั่งมหาจักรีเป็นพระราชพาหนะสำหรับการเสด็จพระราชดำเนิน
ต่อมาในปี พ.ศ.2459 เรือพระที่นั่งมหาจักรี ที่ใช้เป็นพระราชพาหนะในรัชกาลที่ 5-6 มาโดยตลอด เป็นเรือพระที่นั่งมหาจักรีลำแรก ได้ปลดประจำการลง พร้อมขายตัวเรือ (ยกเว้นเครื่องยนต์) ให้กับบริษัทคาวาซากิ โกเบ ของญี่ปุ่น ต่อมาบริษัทคาวาซากิ โกเบ นำส่วนเครื่องยนต์จากเรือพระที่นั่งมหาจักรีลำแรกไปต่อใหม่เป็น "เรือพระที่นั่งมหาจักรี 2" เข้าประจำการเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2461
เรือพระที่นั่งมหาจักรี 2 ได้ใช้เป็นพระราชพาหนะของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการเสด็จประพาสสิงคโปร์ ชวา บาหลี (พ.ศ.2472) เสด็จประพาสอินโดจีนฝรั่งเศส (พ.ศ.2473) ต่อมาในปี พ.ศ.2478 หลังจากการปฏิวัติเปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นประชาธิปไตย เรือพระที่นั่งมหาจักรี 2 ถูกลดสถานะลงจากเรือพระที่นั่ง มาเป็นเรือช่วยรบในชื่อ "เรือหลวงอ่างทอง" ลำแรก
พ.ศ.2488 ซึ่งเป็นช่วงสุดท้ายของสงครามโลกครั้งที่ 2 เรือหลวงอ่างทองลำแรก ถูกทำลายโดยฝูงบินฝ่ายสัมพันธมิตรที่สัตหีบ จนเรือได้รับความเสียหายและไม่สามารถใช้งานได้ เรือหลวงอ่างทองลำแรกจึงปลดประจำการลง เป็นการปิดตำนาน "เรือพระที่นั่งมหาจักรี" โดยสมบูรณ์
กองทัพเรือสหรัฐฯ ได้ส่งมอบเรือ USS LST-924 ที่เสร็จสิ้นภารกิจการรบในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ให้กับกองทัพเรือไทย เมื่อปี พ.ศ.2490 เป็น "เรือหลวงอ่างทอง 2 " ปลดประจำการเมื่อปี พ.ศ.2549
ต่อมา กองทัพเรือไทยได้รับมอบเรือ LPD-791 เป็นเรือยกพลขึ้นบกจากสิงคโปร์ เมื่อปี พ.ศ.2555 เข้าประจำการเป็น "เรือหลวงอ่างทอง 3" และยังคงปฏิบัติภารกิจต่างๆ ของกองทัพเรือไทยมาจนถึงปัจจุบัน
โฆษณา