23 ต.ค. 2023 เวลา 05:51 • ท่องเที่ยว

อัฟกานิสถาน EP 04 – ตัคต์-อี รอสตัม คือ สถูปพุทธ ไฉนมีชื่อเป็นนักรบเปอร์เซียโบราณ

จุดหมายการท่องเที่ยวในวันนี้น่าสนใจหลายอย่าง เพราะเป็นสถูปพุทธอายุราว 1,500 - 1,600 ปี ในดินแดนที่พระพุทธศาสนาเคยรุ่งเรืองนานหลายร้อยปี แต่เหตุใดกลับถูกเรียกขานด้วยชื่อตัคต์-อี รอสตัม (Takht-e Rostam) ที่มีความหมายว่าบัลลังก์ของรอสตัม นักรบกระเดื่องนามผู้เก่งกล้าในตำนานเปอร์เซียโบราณ
สถูปนี้อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองไอแบ็ก/ไฮแบ็ก (Aybak/ Hybak) จังหวัดซามันกัน (Samangan) ห่างจากเมืองมาซารีชารีฟประมาณ 120 ก.ม. ใช้เวลาเดินทางราว 2 ช.ม. ถนนลาดยางระหว่างมาซารีชารีฟกับซามันกันส่วนใหญ่อยู่ในสภาพดี บางช่วงผิวถนนชำรุด ขรุขระ มีรถบรรทุกสินค้ามากพอควร ขนส่งฝ้าย มันฝรั่ง หญ้าแห้งสำหรับเลี้ยงสัตว์และใช้คลุมหน้าดินในแปลงเพาะปลูก ถนนสายนี้มีทางแยกไปถึงด่านชายแดน ตรงข้ามกับเมืองแตร์เมส (Termez) ในอุซเบกิสถาน (ชายแดนห่างจากมาซารีชารีฟแค่ 55 ก.ม.)
ทิวทัศน์สองข้างทางมีทั้งที่ราบแห้งผากเหมือนทะเลทราย เห็นแต่ความเวิ้งว้างและทิวเขาสีน้ำตาลแห้งแล้งสุดลูกหูลูกตา บางช่วงเป็นที่ราบ ปลูกพืชสวนพืชไร่ บางช่วงตัดผ่านทิวเขาสูงตระหง่าน ดูเพลินตา รู้สึกประทับใจกับการนั่งรถผ่านถนนคดเคี้ยวตัดเข้าไปในช่องเขาที่มีทิวเขาสูงขนาบซ้ายขวา คงเป็นเพราะวิวแบบนี้ไม่ค่อยเจอในบ้านเรา
จุดแวะพักระหว่างทางคือพีร์นัคชีร์ (Pir Nakhchir) แหล่งปลูกเมล่อนคุณภาพดีที่สุด รสชาติหวานฉ่ำที่สุดของอัฟกานิสถาน คนท้องถิ่นที่สัญจรไปมา จอดรถแวะซื้อเมล่อน พ่อค้าหลายวัย เป็นมิตรดี ยอมให้ลูกค้าทั้งท้องถิ่นและต่างถิ่น”อุ้มและแบก”เมล่อนลูกโตไปถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึก แอ๋มหัวหน้าทีมซื้อตุนหลายลูกให้พวกเราลิ้มลองหลายมื้อทีเดียว
เมื่อเข้าเขตจังหวัดข้างเคียง จะเจอซุ้มประตูแบ่งเขตเมืองเห็นเด่นชัดแต่ไกล บางจังหวัดมีซุ้มประตูแบ่งเขตระหว่างอำเภอด้วย มีด่านตรวจทุกซุ้มประตู หากเป็นเมืองใหญ่ก็จะมีเจ้าหน้าที่ตาลีบันจำนวนมาก ทุกคนไว้หนวดเคราราวกับเป็นอัตลักษณ์ประจำกลุ่ม เท่าที่เห็นทุกคนมีอาวุธสงครามประจำกาย เมื่อรถเข้าใกล้ด่านตรวจ ในรถจะเตือนกันให้แต่งกายเรียบร้อย ผู้หญิงต้องคลุมฮิญาบ
รถทุกคันต้องชะลอ เจ้าหน้าที่ตาลีบันจะมองส่องเข้ามาในรถ พอถึงรถเรา ส่องเห็นสาวงามเต็มรถ ทำท่าขึงขัง ชี้นิ้วให้จอดเลย ไกด์ต้องแสดงเอกสารปึกใหญ่ที่เตรียมไว้ในแฟ้มใส น่าจะมีข้อมูลสมาชิกและตารางการเดินทางของกลุ่ม ต้องตอบข้อซักถามจนเป็นที่พอใจ จึงจะผ่านไปได้ ตอนเดินทางเข้าเมืองกาซนี่ ด่านเข้มงวดถึงขั้นขอตรวจพาสปอร์ตและโทรหาใครไม่รู้ เมื่อคุยสายเรียบร้อย จึงปล่อยรถเราให้เดินทางต่อไปได้
เจ้าหน้าที่ตาลีบันดูเป็นมนุษย์แบบเราๆ บางคนยิ้มแย้ม โบกมือทักทาย แสดงความเป็นมิตร บ้างหน้านิ่งดั่งอิฐปูน
จักรวรรดิกุษาณะเข้ามามีอำนาจในดินแดนแถบนี้ตั้งแต่ราว ค.ศ. 30 ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของเอเชียกลาง อัฟกานิสถาน ปากีสถานและอินเดียในปัจจุบัน ยุคของพระเจ้ากนิษกะ (ปกครองระหว่าง ค.ศ. 127 - 151 หรือ พ.ศ 670 - 694) รุ่งเรืองมาก มีความสัมพันธ์กับจักรวรรดิโรมันและอาณาจักรอื่นๆทางทิศตะวันตก และราชวงศ์ฮั่น (Han Dynasty)ทางตะวันออก ทรงอุปถัมภ์และส่งเสริมศาสนาพุทธอย่างแข็งขัน
ไอแบ็กหรือซามันกันเป็นจุดแวะพักของคาราวานพ่อค้าตั้งแต่สมัยโบราณ และเป็นศูนย์กลางของศาสนาพุทธที่สำคัญแห่งหนึ่งของจักรวรรดิ การส่งเสริมพระพุทธศาสนาในสมัยนี้มีส่วนสำคัญต่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาจากจักรวรรดิกุษาณะไปยังเอเชียกลาง และตั้งมั่นในจีน ญี่ปุ่น เกาหลี
นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศสที่วิจัยและขุดค้นที่นี่สันนิษฐานว่า สถูปตัคต์-อี
รอสตัม น่าจะสร้างราวคริสตวรรษที่ 5 แต่บ้างเห็นต่างว่าน่าจะสร้างระหว่าง
คริสตวรรษที่ 3 – 4
ในสมัยอาณาจักรกุษาโณ-ซัสซานิดช่วงแรก ผู้รู้วิเคราะห์ตามหลักฐานทางโบราณคดี สถาปัตย์ฯและลักษณะของเหรียญกษาปณ์ที่พบว่า ที่นี่เป็นกลุ่มสถูป - วัด (stupa - monastery complex) นิกายเถรวาท (สรวาสติวาท) บางเว็บไซต์เอ่ยถึงอารามพุทธชื่อ นววิหารในบริเวณนี้ แต่ไม่เจอข้อมูลยืนยันว่าสถูปและถ้ำคูหาทั้งหมดที่อยู่บริเวณใกล้เคียงเป็นส่วนหนึ่งของนววิหารหรือไม่
ไอแบ็กในวันวาน คือ จุดแวะพักของกองคาราวานบนเส้นทางสายไหมและศูนย์กลางพระพุทธศาสนาที่สำคัญ แต่กาลเวลาเปลี่ยนแปลงทุกสิ่ง เมื่อยืนบนยอดเขา เหลียวมองโดยรอบ ไอแบ็กวันนี้มีแต่ความว่างเปล่า ร่องรอยความรุ่งเรืองในอดีตเหลือเพียงสถูปศิลาขนาดใหญ่ที่ทรุดโทรม และหมู่ถ้ำคูหาอีกกลุ่มหนึ่งที่อยู่ห่างไประยะทางรถวิ่งประมาณ 1 - 2 ก.ม.
ประมาณ ค.ศ. 230 จักรวรรดิกุษาณะปราชัยและสูญเสียดินแดนคันธาระ บักเตรีย และบางส่วนของเอเชียกลางให้แก่จักรวรรดิซัสซาเนียน ขณะที่ดินแดนด้านตะวันออกก็ถูกราชวงศ์คุปตะรุกรานแย่งชิงไป
จักรวรรดิซัสซาเนียนก่อตั้งอาณาจักรย่อยกุษาโณ-ซัสซาเนียนในดินแดนที่ยึดครองและแต่งตั้งเจ้าเมือง (Kushanshah) ขึ้นปกครองดูแลในฐานะส่วนหนึ่งของจักรวรรดิเรื่อยมาจนถึงราว ค.ศ. 360 - 370 จึงถูกเผ่าฮั่นคีดาไรต์ (Kidarite Hun) ช่วงชิงไป หลังจากนั้นเผ่าฮั่นขาวเฮฟธาไลต์ (Hephthalite Hun) โจมตีและครอบครองดินแดนนี้
(ฮั่นขาวเฮฟธาไลต์คือเผ่าเร่ร่อนที่โจมตี ทำลายศาสนสถานของพุทธยุคโบราณแถบตักศิลาในปากีสถานปัจจุบันเช่น มหาวิทยาลัยโจลเลียน ศาสนสถานธรรมราจิกา ฯลฯ)
ต่อมาอีกกว่า 200 ปี จักรวรรดิซัสซาเนียนจึงสามารถยึดดินแดนกุษาโณ-ซัสซาเนียนกลับคืนและปกครองเรื่อยมาจนล่มสลายเพราะพ่ายแพ้กองทัพมุสลิมอาหรับในคริสตวรรษที่ 7
ช่วงเวลาที่จักรวรรดิกุษาณะมีอำนาจคือราวคริสตวรรษที่ 1 - 3 ส่วนอาณา จักร กุษาโณ-ซัสซาเนียนปกครอง 2 ช่วงเวลา ช่วงแรกคริสตวรรษที่ 3 - 4 ช่วงที่สองในคริสตวรรษที่ 6 - 7
บางเว็บไซต์บอกว่า ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิซัสซาเนียน ศาสนาพุทธ โซโรแอสเตอร์ คริสต์ และศาสนามาณีกี (Manichean) เฟื่องฟูและอยู่ร่วมกันอย่างสันติใน”ดินแดนทางตะวันออก”ของจักรวรรดิ (ปัจจุบันคืออัฟกา นิสถานและบางส่วนเอเชียกลาง)
สถูปตัคต์-อี รอสตัมสร้างอยู่ในทิวเขา ห่างจากเมืองไอแบ็ก 2 - 3 ก.ม. เป็นสถูปพุทธที่มีลักษณะเฉพาะคือ ขณะที่สถูปทั่วไปก่อขึ้นรูปบนระดับพื้นดินหรือพื้นยกฐานสูง แต่สถูปตัคต์-อี-รอสตัมสร้างขึ้นโดยสกัดภูเขาลึกลงไปประมาณ 8 - 9 ม. ส่วนล่างสุดของสถูปสกัดเป็นทรงกระบอกเส้นผ่าศูนย์ กลางราว 28 ม. ถัดขึ้นมาเป็นรูปครึ่งวงกลมคว่ำหรืออัณฑะ (anda) ซึ่งสูงระดับเดียวกับพื้นที่ข้างเคียงบนยอดเขา
ด้านบนสุดสกัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมเกือบจัตุรัสขนาดใหญ่ เรียกว่า บัลลังก์หรือ
หรรมิกา (Harmika) ซึ่งเจาะด้านในเป็นคูหา หรรมิกาเป็นองค์ประกอบส่วนบนของสถูปซึ่งมักจะประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ และเป็นที่ตั้งเสาพร้อมฉัตร ยุคโบราณเป็นฉัตรหินขนาดใหญ่ แต่เสาและฉัตรน่าจะเสียหายและสูญหายไปแล้ว
นักวิชาการเสนอความเป็นไปได้ 2 ประการว่าทำไมสถูปแห่งนี้จึงสร้างโดยสกัดภูเขาลงไป แทนที่จะสร้างเหนือพื้นดินเหมือนสถูปทั่วๆไป ประการแรกว่าเป็นการอำพรางตนเพื่อปกป้องพระอารามจากผู้รุกราน ประการที่สอง คือเพื่อรับมือกับสภาพอากาศสุดขั้วในแถบนั้น
จากรูปถ่ายในอดีต เคยมีสะพานพาดด้านบนเพื่อเดินข้ามไปยังหรรมิกา แต่ตอนที่เราไป ไม่มีสะพานนี้แล้ว
รอบฐานองค์สถูปสกัดเป็นทางเดินทักษิณาวรรต กว้างประมาณเมตรเศษ จากสภาพสถูปทรงกระบอก มองเห็นหินบางช่วงเป็นกรวดและทรายที่อัดแน่นเป็นเนื้อเดียวกัน ไม่แน่ใจว่าแต่เดิมองค์สถูปเคยประดับลวดลายปูนปั้นใดๆหรือไม่ ส่วนบนฝั่งหนึ่งของสถูปถูกกระสุนหรือระเบิดเสียหาย มีการนำหินตัดเป็นก้อนสี่เหลี่ยมปะไว้
ก่อนเกิดสงครามกลางเมืองยืดเยื้อหลายสิบปี โบราณวัตถุที่พบในละแวกนี้จัดเก็บในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ช่วงสงคราม โบราณวัตถุที่เก็บไว้ถูกปล้นชิงหรือเสียหายจนซ่อมแซมไม่ได้
ตรงเชิงเขาเจาะเป็นอุโมงค์เข้าสู่ทางเดินรอบสถูป สกัดถ้ำคูหาอีก 5 ถ้ำและกุฏิย่อยอีกหลายถ้ำ บางถ้ำลึกเป็นอุโมงค์ทะลุอีกด้าน ลงไปถึงทางเดินทักษิณาวรรตได้ การขุดเจาะอุโมงค์ที่อยู่ได้นานนับพันกว่าปีเป็นความสามารถด้านวิศวกรรมที่เยี่ยมมาก ในถ้ำเจาะช่องไว้ด้านบนให้แสงส่องผ่าน แต่ละถ้ำเรียบง่าย ไม่มีการสลักลวดลายตกแต่ง สันนิษฐานกันว่า ถ้ำพวกนี้น่าจะเป็นที่ปฏิบัติธรรมหรือกุฏิที่พัก
มีคนท้องถิ่นแวะมาชมที่นี่หลายสิบคน มาเป็นกลุ่มๆ ระหว่างเดินสำรวจ เห็นเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นหรือตาลีบันสองสามคนนั่งยองๆสังเกตการณ์ ดูคล้ายนกเกาะคอน พอพวกเราตั้งท่าจะถ่ายรูปเท่านั้นแหละ วงแตกทันที
สถูปพุทธ แต่เหตุไฉนมีชื่อเหมือนนักรบเปอร์เซียโบราณ
เมื่อมุสลิมอาหรับเข้ามาปกครองดินแดนแถบนี้ คงมีมาตรการต่างๆให้คนท้องถิ่นหันมานับถืออิสลาม แต่อารยธรรมเปอร์เซียได้หยั่งรากลึกและยังคงมีอิทธิพลสืบเนื่องต่อวิถีชีวิต ศิลปะ วัฒนธรรมด้านต่างๆของประชาชนในภูมิภาคจนถึงทุกวันนี้
ส่วนศาสนาพุทธขาดการอุปถัมภ์ค้ำชูจากผู้มีอำนาจโดยตรงมายาวนาน ผู้ปกครองใหม่ที่นับถืออิสลามยุคนั้นก็ไม่มีความเข้าใจมากพอที่จะแยกความแตกต่างของโซโรแอสเตอร์กับศาสนาพุทธ ความรู้ความเข้าใจของคนในท้องถิ่นถึงเรื่องราวและวัตถุประสงค์ดั้งเดิมของการสร้างสถูปได้สูญหายไป บ้างเข้าใจผิดว่าที่นี่คือศาสนสถานของโซโรแอสเตอร์
นอกจากนี้ ช่วงคริสตวรรษที่ 8 – 11 เกิดกระแสการฟื้นฟูศิลปะวิทยาการของเปอร์เซีย (Iranian Intermezzo หรือ Persian Renaissance) ในดินแดนแถบนี้ กวีเอกชาวเปอร์เซียเฟอร์ดาวซี Ferdowsi ประพันธ์มหากาพย์ ชาห์นาเมห์ (Shahnameh) เล่าเรื่องราวของวีรบุรุษในตำนานปกรณัมเปอร์เซีย หนึ่งในนั้นคือนักรบผู้เกรียงไกรนามรอสตัมหรือรัสตัม (Rostam / Rustam)
รอสตัมได้รับมอบภารกิจไปปราบกบถที่ภูเขาสีขาว ระหว่างทาง ม้าคู่ใจชื่อรากช์ถูกขโมย รอสตัมรอนแรมตามหาม้าจนมาถึงเมืองซามันกัน และพักแรมในพระราชวังของพระราชา(ซึ่งต่อมาเรียกขานว่า ตัคต์-อี รอสตัม)
ค่ำคืนนั้น เจ้าหญิงทาห์มิเนห์ พระราชธิดาซึ่งได้ยินกิตติศัพท์ของรอสตัม ได้เข้าหาชายหนุ่มโดยสัญญาว่าจะช่วยตามหาม้าคืนมา หากอีกฝ่ายมอบทายาทให้แก่ตน
ก่อนการจากลาในวันรุ่งขึ้น รอสตัมได้มอบสร้อยประดับอัญมณีไว้เป็นที่ระลึกเพื่อมอบให้ลูก แม้จะเป็นเพียง One Night Stand เจ้าหญิงได้ให้กำเนิดบุตรชายนามโซห์รับ เจ้าชายหนุ่มเติบใหญ่เป็นนักรบ ต้องประมือกับรอสตัมโดยต่างฝ่ายไม่รู้จักกัน และพ่ายแพ้จนเสียชีวิต รอสตัมพบสร้อยหรือ Token ซึ่งเปรียบเสมือนผลตรวจดีเอ็นเอที่แขนของเจ้าชายหนุ่ม นักรบผู้พ่อจึงตระหนักในความสัมพันธ์ทางสายเลือดต่อกันในเวลาที่สายเกินการณ์
นี่เป็นเรื่องราวเล่าขานนานหลายร้อยปีที่เกี่ยวพันกับสถูปพุทธแห่งนี้ และเป็นที่มาที่สถูปใช้ชื่อนักรบโบราณของเปอร์เซีย
จากยอดเนินมองไปด้านล่าง เห็นทิวเขาเตี้ยๆ มีโพรงถ้ำหลายจุด ระยะทางเดินเท้าไม่น่าไกล แต่เป็นทางลาดชัน ถ้าเดิน พวกเราอาจจะหกล้มจนบาดเจ็บแน่นอน ไกด์พานั่งรถวกไปตามถนนลูกรังขรุขระ 1 - 2 ก.ม. อุณหภูมิเกิน 35 องศา C แดดเปรี้ยง ร้อนระอุ
ถ้ำคูหามีหลายห้อง การเจาะสกัดภูเขาฝั่งนี้อลังการงานสร้าง ห้องด้านหน้าเจาะโพรงให้แสงสว่างส่องเข้ามา ถ้ำสกัดเป็นห้องทรงกลม ลักษณะสถาปัตย์ของเพดานทรงโดมคล้ายกับโบราณสถานยุคซัสซานิดที่เมืองฟิรุสซาบัดใกล้เมืองชีราสในอิหร่าน ผนังรอบห้องสกัดต่างระดับเป็นซุ้ม ทั้งผนังด้านบนและเพดานโดมสลักเป็นรูปดอกบัว ต้องมองหานานหน่อยเพราะสึกหรอ รางเลือนมาก ด้านในสกัดเป็นห้องทรงกลมอีกห้องหนึ่ง
ถ้ำถัดไปหน้ากว้างมาก เจาะช่องแสงด้านหน้า 6 - 7 ช่อง ด้านในถ้ำสกัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาว ความลึกเป็นสองระดับ ห้องด้านนอกติดกับช่องแสง เป็นทางเดินยาว ไม่บึกมาก ไกด์บอกส่วนนี้คือ ตลาดแลกเปลี่ยนสินค้ายุคโบราณ ส่วนห้องด้านในเพดานโค้ง พื้นอยู่ระดับต่ำกว่า เจาะช่องแสงระหว่างสองห้อง มองถึงกันได้ ไกด์ว่าด้านล่างอาจจะเป็นคอกสัตว์ต่างของพ่อค้า
พวกเราเพลิดเพลินกับการถ่ายรูปกันมากเพราะมีมุมภาพและแสงสวยๆเยอะ
ถ้ำสุดท้ายเป็นไฮไลต์ของที่นี่ เพราะเพดานโดมสลักภาพบัวบาน (ที่จริงห้องอื่นก็แกะสลักไว้ด้วย แต่รางเลือนไปมาก) ผนังและเพดานทุกห้องมีคราบเขม่าดำหนา ฟังว่าเกิดจากชาวบ้านที่บุกรุกเข้ามาอาศัยใช้ถ่านหินหุงอาหารและให้แสงสว่าง จึงเป็นคราบสะสมนานปี
ช่วงสงครามกลางเมือง กองกำลังต่างๆรวมทั้งตาลีบันผลัดกันยึดถ้ำเหล่านี้เป็นที่มั่นและที่เก็บสรรพาวุธ จึงเป็นเป้าหมายการโจมตีจนทำให้องค์สถูปได้รับความเสียมาก
ตอนไปชมถ้ำกลุ่มนี้ มีเจ้าหน้าที่ตาลีบันคอยติดตามและคงสังเกตพฤติ กรรมของพวกเราอย่างใกล้ชิด คุณวรรณีสมาชิกกลุ่มที่มีฝีมือถ่ายรูปเหมือนมืออาชีพ เตรียมพัดลมแบบคล้องคอเพื่อรับมือกับอากาศร้อน พัดลมคล้องไว้ใต้ผ้าฮิญาบส่งเสียงหวึ่งๆ เมื่อรถเราไปส่งเจ้าหน้าที่ตาลีบันที่สำนักงาน เธอไม่ยอมลาจากไปง่ายๆ หน้าตาเคร่งเครียด คุยกับไกด์อยู่นาน จนไกด์ต้องหันมาถามว่าใครมีหมวกที่มีพัดลมหรือ พอส่งให้ เธอหยิบมาสำรวจดูอย่างละเอียด จริงจัง และยิ้มอย่างพอใจในที่สุด ช่างสังเกตมากนะเธอ!
ต้นปี 2564 ก่อนการถอนทหารของนาโต้และสหรัฐอเมริกา มีข่าวว่ารัฐบาลจะสร้างจุดแวะพักสำหรับนักท่องเที่ยว และจะบูรณะโบราณสถานนี้ โดยเริ่มจากการซ่อมแซมกำแพงยาว 4 ก.ม.ที่ล้อมรอบพระอารามแห่งนี้ หลังจากตาลีบันเข้ามาบริหารประเทศ ยังไม่เจอข่าวความคืบหน้าในเรื่องนี้
ซามันกันเป็นจังหวัดเล็กๆ หาร้านอาหารสำหรับคนต่างถิ่นอย่างเรายาก ไกด์เสาะหาได้หนึ่งร้าน รสชาติแพะย่าง ไก่ย่างและข้าวผัดพลอฟ อร่อยถูกปาก ปิดท้ายด้วยเมล่อนเลิศรสจากแหล่งพีร์นัคชีร์ ระหว่างที่อยู่ในร้านอาหาร มีผู้หญิงท้องถิ่นกลุ่มหนึ่งน่าจะอายุ 20 ปลายๆเดินผ่านห้องที่พวกเรานั่งหลายรอบและมองเข้ามา คงรวบรวมความกล้า ในที่สุดเดินเข้ามาขอถ่ายรูปหมู่ด้วย การเป็นเซเลบกับการเป็นของแปลกที่มีคนมาขอถ่ายรูปด้วย บางครั้งก็อาจจะแยกกันไม่ค่อยออก!
อิ่มท้องแล้วจึงเดินทางกลับไปพักที่โรงแรมอาร์สรันในมาซารีชารีฟตามเดิม
โฆษณา