23 ต.ค. 2023 เวลา 15:26 • หุ้น & เศรษฐกิจ

นักวิชาการชี้เศรษฐกิจไทยเสี่ยงเจอวิกฤต หากสงครามในตะวันออกกลางบานปลาย

อ.อนุสรณ์ ธรรมใจ
อ.อนุสรณ์ ธรรมใจ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานกรรมการบริษัท บีบีจีไอ ประเมินสถานการณ์สงครามอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสมีแนวโน้มขยายวงและยืดเยื้อหากอิหร่านเข้าร่วม เพราะจะมีการตอบโต้คว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ อิหร่านในฐานะผู้คุมเส้นทางการขนส่งน้ำมันในอ่าวเปอร์เซียอาจตัดสินใจปิดช่องแคบฮอร์มุซตอบโต้ชาติตะวันตก
ซึ่งจะส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกอาจพุ่งทะลุ 150 ดอลลาร์/บาร์เรลได้ เนื่องจากช่องแคบฮอร์มูซเป็นทางออกมหาสมุทรทางเดียวของประเทศที่ส่งออกปิโตรเลียมในอ่าวเปอร์เซียส่วนใหญ่ โดยแต่ละวันจะมีเรือบรรทุกน้ำมัน 15 ลำที่บรรทุกน้ำมันราว 16.5-17 ล้านบาร์เรล เดินทางผ่านช่องแคบนี้ซึ่งคิดเป็นจำนวน 40% ของการขนส่งทางเรือทั้งหมด หรือ 20% ของการขนส่งน้ำมันทั่วโลก หากมีการปิดช่องแคบนี้จะทำให้อุปทานน้ำมันหายไปจากตลาดน้ำมันโลกในทันทีประมาณ 1 ใน 5
หากอิหร่านไม่เข้าร่วมสงครามโดยตรง เศรษฐกิจไทยจะไม่ได้รับผลกระทบรุนแรงทางเศรษฐกิจ ไม่เกิดผลกระทบต่อการน้ำมันนำเข้า แต่หากสถานการณ์ลุกลามจนมีการปิดช่องแคบฮอร์มุซจะส่งผลกระทบต่อการนำเข้าน้ำมันดิบของไทยค่อนข้างมาก เนื่องจากไทยนำเข้าพลังงานและน้ำมันจากตะวันออกกลางสัดส่วนมากกว่า 50-52% ของการนำเข้าสินค้ากลุ่มดังกล่าวทั้งหมด
ไทยอาจต้องมีสำรองน้ำมันหรือพลังงานเพิ่มกว่าระดับปรกติ เพื่อป้องกันปัญหาขาดแคลนพลังงาน นอกจากยังต้องเตรียมรับมือกับสถานการณ์ราคาน้ำมันพุ่งสูง ด้วยกลไกและเครื่องมือในการรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันในระยะสั้นมีขีดจำกัดมากขึ้น ทั้งภาษีสรรพสามิตน้ำมันและกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
การลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันลงกว่าระดับที่เป็นอยู่มากก็ไม่ได้แล้วเพราะจะเพิ่มความเสี่ยงฐานะทางการคลัง ส่วนกองทุนน้ำมันฯ ต้นเดือน ต.ค.ติดลบประมาณ 65,000 ล้านบาท คาดการณ์ได้ว่าปลายปีนี้ฐานะของกองทุนน้ำมันฯ มีโอกาสติดลบทะลุ 100,000 ล้านบาทได้ การมีนโยบายให้กองทุนน้ำมันฯ
ต้องอุดหนุนราคาเพิ่มมากขึ้น ด้วยระยะเวลาที่ยาวขึ้นอาจเริ่มมีขีดจำกัดมากขึ้น การเร่งเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนและพลังงานชีวภาพอย่างยั่งยืนมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ต้องเดินหน้าลงทุนเพิ่มเติม รัฐบาลควรลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่ควรเป็นหน้าที่ของรัฐเพื่อรองรับการขยายตัวของการลงทุนของภาคเอกชนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนและพลังงานชีวภาพ
หากสงครามลุกลามมายังภูมิภาคตะวันออกกลางในลักษณะสงครามตัวแทนยังส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกและการท่องเที่ยวอย่างมีนัยยสำคัญอีกด้วย และหากขยายไปทั่วภูมิภาคตะวันออกกลาง ผลกระทบโดยตรงทางการค้าจะรุนแรงมากขึ้น ภูมิภาคตะวันออกกลางซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทย โดยในปี 2565 การค้าระหว่างไทย-ตะวันออกกลางคิดเป็นสัดส่วน 7.6% ของมูลค่าการค้ารวมทั้งหมดของไทย การส่งออกคิดเป็นสัดส่วน 3.8% ของการส่งออกรวม (ขยายตัว 23.5%) และการนำเข้าคิดเป็นสัดส่วน 11.2% ของมูลค่าการนำเข้ารวม (ขยายตัว 53.5%)
ซึ่งประเทศในกลุ่มนี้เป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ เป็นเป้าหมายการส่งออกของไทยเพื่อชดเชยตลาดหลักที่ชะลอตัวในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การเปิดความสัมพันธ์ในระดับปรกติกับซาอุดิอาระเบียทำให้การขยายตัวของการค้าระหว่างไทยกับภูมิภาคตะวันออกกลางขยายตัวเพิ่มอย่างมาก
ด้วยสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนในย่านตะวันออกกลาง ประเทศไทยควรลดความเข้มการใช้พลังงาน (Energy Intensity-EI) ลงมากว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้เดิม ด้วยการเพิ่มงบประมาณในโครงการหรือกิจกรรมอนุรักษ์พลังงาน ประหยัดพลังงานและใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การลงทุนทางด้านดิจิทัลและการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล (Digital Transformation) จะช่วยให้เกิดการลดการใช้พลังงานในกิจกรรมทางเศรษฐกิจและกิจกรรมต่างๆ
แผนยุทธศาสตร์อนุรักษ์พลังงานระยะยาว พ.ศ.2558-2579 กระทรวงพลังงานและรัฐบาลอาจต้องนำมาทบทวนใหม่เพราะสถานการณ์ความขัดแย้งทางการทหารในพื้นที่ตะวันออกกลางทำให้สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก
แผนอนุรักษ์พลังงานอาจต้องบูรณาการกับอีก 4 แผนหลักของกระทรวงพลังงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ได้แก่ (1) แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (2) แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (3) แผนการจัดหาก๊าซธรรมชาติของไทย และ (4) แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนใหญ่โดยเฉพาะต้องเริ่มต้นด้วยการส่งสัญญาณว่า
รัฐบาลจะทบทวนการอุดหนุนราคาพลังงานเพื่อให้ผู้บริโภคและผู้ผลิตทั้งหลายต้องใช้พลังงานอย่างประหยัดและอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น มาตรการช่วยเหลืออุดหนุนด้านการเงิน เพื่อเร่งให้มีการตัดสินใจลงทุนเปลี่ยนอุปกรณ์ เครื่องจักรการผลิตต่างๆ มาตรการอุดหนุนทางด้านการเงินนี้ต้องนำมาสู่การบริหารจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และตั้งเป้าลดความต้องการใช้พลังงานลง 10-30%
มาตรการสนับสนุนลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในกรุงเทพและปริมณฑลเหลือ 20 บาททั้งระบบโดยเร็ว ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้เริ่มต้นในบางเส้นทางแล้วควรต้องดำเนินการให้เร็วขึ้นอีก และขอให้รัฐบาลลงทุนระบบขนส่งมวลชนสาธารณะในต่างจังหวัดด้วย ระบบขนส่งมวลชนที่ใช้พลังงานสะอาดและราคาถูกจะทำให้สภาพแวดล้อมดีขึ้น บรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศลงได้บ้าง ประชาชนจะมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น
สถานการณ์สงครามในตะวันออกกลาง ทำให้รัฐบาลมีความจำเป็นในการเร่งพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลร่วมกันระหว่างไทยกับกัมพูชาเช่นเดียวกับที่ได้ดำเนินการกับมาเลเซีย สิ่งนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจ ต่อธุรกิจอุตสาหกรรมพลังงานอุตสาหกรรมต่อเนื่อง จะเป็นแหล่งพลังงานสำคัญของประเทศในอนาคต สามารถลดราคาพลังงานได้ในระยะยาว ลดต้นทุนภาคการผลิตและการดำเนินชีวิตของประชาชน สามารถทดแทนการนำเข้าพลังงาน ส่งผลบวกต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจไทย คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน
การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีพลังงาน ความก้าวหน้าของพลังงานทางเลือก พลังงานหมุนเวียนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าจะเข้ามาแทนที่พลังงานปิโตรเลียม พลังฟอสซิลแบบดั้งเดิมเกือบทั้งหมดไม่เกินสามทศวรรษข้างนี้ เป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนของข้อตกลงระดับโลกต่างๆ จะทำให้แหล่งพลังงานดั้งเดิม
ก๊าซธรรมชาติหรือน้ำมันมีมูลค่าลดลง หากไม่สำรวจและขุดมาใช้ในเวลาที่เหมาะสมจะเกิดการสูญเปล่าทางเศรษฐกิจ ความคุ้มค่าต่อการลงทุนพัฒนาจะลดลงตามลำดับ ภัยคุกคามต่อมนุษยชาติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาสจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อพลวัตของธุรกิจอุตสาหกรรมพลังงานในอนาคต จำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ที่สอดคล้องกับความเป็นจริงของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว
จากข้อมูลของหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ชี้ตรงกันว่าโลกมีเวลาอีกเพียง 10 กว่าปีเท่านั้นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อป้องกันไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส ด้วยปัญหาดังกล่าวพลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาดจะมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ตนขอเสนอให้รัฐบาลนำมาตรการและนโยบาย Green New Deal มาใช้
เริ่มต้นด้วยการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ทางด้านพลังงานหมุนเวียนและพลังงานทางเลือก การมีอากาศสะอาดสำหรับหายใจ การมีน้ำและอาหารสะอาดสำหรับดื่มกินเป็นหลักประกันพื้นฐานที่ Thai Green New Deal ต้องทำให้เกิดขึ้น ข้อเสนอเรื่อง Thai Green New Deal นี้ต้องให้หลักประกัน อากาศ น้ำ อาหารสะอาดปลอดภัยสำหรับคนไทย และเกิดความมั่นคงทางด้านพลังงานและอาหาร รวมทั้งให้มีเพียงพอสำหรับทุกคนในประเทศ
ภาครัฐต้องกำกับราคาเชื้อเพลิงในภาคขนส่งให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ส่งผลให้ผู้บริโภคตระหนักเรื่องราคาพลังงานและเปลี่ยนลักษณะการใช้พลังงาน ทำให้ความเข้มขันในการใช้พลังงานเทียบกับจีดีพีลดลง นอกจากนี้ขอสนับสนุนนโยบายของกระทรวงการคลังในการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ที่จัดเก็บตามปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
เพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งน้ำมันของประเทศ โดยพัฒนาระบบขนส่งน้ำมันทางท่อจะช่วยลดการใช้น้ำมันได้ประมาณ 40 ล้านลิตรต่อปี และขอสนับสนุนนโยบายและแผนงานของกระทรวงคมนาคมในการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานการจราจรและขนส่งโดยเฉพาะการเปลี่ยนล้อเป็นรางที่จะลดความต้องการใช้พลังงานขนส่งได้อีกมาก ศึกษา วางแผน และดำเนินการรองรับการใช้ยานยนต์พลังงานไฟฟ้า จะลดความต้องการในการใช้พลังงานลง
ภาครัฐควรมีมาตรการส่งเสริมการศึกษา วิจัย พัฒนาเทคโนโลยีอนุรักษ์พลังงานเชิงรุก การป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการอนุรักษ์พลังงานเพิ่มขึ้น นอกจากนี้รัฐบาล หน่วยงานกำกับตลาดทุน ธนาคารแห่งประเทศไทยและระบบธนาคารพาณิชย์ควรส่งเสริมให้ภาคธุรกิจ ภาคการผลิตอุตสาหกรรม
ยึดถือแนวทาง ESG การดำเนินกิจการ การให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม (Environment) ลดการใช้พลังงานและลดการปล่อยคาร์บอน, สังคม (Social) , ธรรมาภิบาล (Governance) ESG จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีคุณภาพ มีความยั่งยืน รวมทั้งทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนส่วนใหญ่ดีขึ้น เราไม่ควรกระตุ้นการบริโภคต่างๆ อย่างขาดความรับผิดชอบและไม่คำนึงถึงผลข้างเคียงระยะยาว
ส่วนเรื่องธรรมาภิบาลนั้น ประเทศไทยก็มีปัญหาเรื่องนี้ในทุกวงการในทุกระดับ Corruption Perception Index-CPI (ดัชนีภาพลักษณ์การคอรัปชันในภาครัฐ) ของไทยก็อยู่ในอันดับที่สะท้อนว่า ปัญหายังรุนแรงอยู่มาก ต้องเร่งแก้ไขอย่างจริงจัง การสนับสนุนการรณรงค์สร้างจิตสำนึกใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่า และเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้พลังงานครอบคลุมทุกภาคส่วน และครบทุกระดับอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในช่วงที่ราคาพลังงานอาจผันผวนมากที่สุดในรอบหลายปี
เครดิตที่มา: https://www.infoquest.co.th/2023/344875
ติดต่อทีมงาน Autonews : autonews.biz@gmail.com
โฆษณา