24 ต.ค. 2023 เวลา 01:00 • สิ่งแวดล้อม

"ตะแบกเกรียบ" ไม้พุ่มที่พบได้เกือบทุกภาคของไทย ยกเว้นภาคใต้

ตะแบกเกรียบ ชื่อวิทยาศาสตร์ : Lagerstroemia cochinchinensis Pierre ชื่อวงศ์ : Lythraceae
เป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูงได้ถึง 25 ม. เปลือกบาง มีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาลแดงตามใบอ่อน เส้นแขนงใบด้านล่าง ช่อดอก และหลอดกลีบเลี้ยงด้านนอก กิ่งด้านข้างมักเปลี่ยนรูปเป็นหนาม ใบรูปรีถึงรูปใบหอก หรือแกมรูปไข่ ยาว 4–15 ซม. ก้านใบยาว 0.2–1 ซม.
ช่อดอกออกที่ปลายกิ่ง ยาวได้ถึง 30 ซม. ก้านดอกเทียมยาวประมาณ 2 มม. ขยายในผลเล็กน้อย หลอดกลีบเลี้ยงเรียบ ยาวประมาณ 8 มม. กลีบรูปสามเหลี่ยม ยาว 3–4 มม. ด้านในปลายกลีบมีขน ดอกสีชมพู ม่วง หรืออมขาว กลีบรูปรีกว้างเกือบกลม ยาว 1.5–3 ซม. รวมก้านกลีบที่ยาวประมาณ 5 มม. เกสรเพศผู้วงนอก 6 อัน รังไข่มีขนสีขาว
ผลรูปรีเกือบกลม ยาว 1.4–1.7 ซม. เกลี้ยงหรือมีขนช่วงปลายผล
ในไทยพบแทบทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ ขึ้นตามป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และป่าดิบแล้ง
ที่มา : อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร จ.ศรีสะเกษ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่​ 9​ (อุบลราชธานี)​
#อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร #ตะแบกเกรียบ #กรมอุทยานแห่งชาติ #ศรีสะเกษ
โฆษณา