25 ต.ค. 2023 เวลา 02:57 • ความคิดเห็น

เวลาเห็นคำว่า Soft Power มากับคำว่า Quick Win จะรู้สึกแปลกๆ

Soft Power ไม่ใช่เรื่องที่จะคิดแบบอุตสาหกรรม ด้วยการโยนเงินลงทุนเข้าไป มีสูตร มีต้นแบบ มีสายพานการผลิต แล้วจะกดปุ่มออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ Quick Win ขึ้นมาได้นะครับ แต่มันคือเรื่องที่ต้องค่อยๆ 'ฟูมฟัก'
จริงๆ มีอยู่เรื่องหนึ่งที่คนหัวเราะเยาะรัฐบาล แต่ผมคิดว่าเป็นแนวคิดที่น่าสนใจ (แต่ยังไม่เห็นมีการทำอะไรต่อ) ก็คือการพยายามทำให้แต่ละครอบครัวมี 'ทักษะ Soft Power' บ้านละหนึ่งทักษะ (แต่ดันมีรัฐมนตรีคนหนึ่งไปพูดผิด ไม่ว่าจะพลั้งปากหรือพลั้งสมองไม่เข้าใจสิ่งที่ตัวเองพูดว่า จะทำให้เกิด 'หนึ่งครอบครัว หนึ่ง Soft Power' ขึ้นมา ซึ่งเป็นไปไม่ได้ คนเลยเอามาล้อกัน)
การทำให้ผู้คนทั่วไปมี 'ทักษะ' ด้าน Soft Power อย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ในตัวนั้น เป็นเรื่องไม่ง่าย เช่น คนนี้ทำแกงตูนเก่ง คนโน้นรู้วิธีทอผ้า อีกคนรู้วิธีถักแห ฯลฯ
แต่ที่ยากไปกว่านั้น ก็คือการจะ 'ฟูมฟัก' ให้ผู้คนสามารถรักษาและทะนุถนอม Soft Power ของตัวเองเอาไว้ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนต่างหาก เพราะเรื่องพวกนี้จะเกี่ยวพันไปถึงสิ่งแวดล้อม ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ฯลฯ ซึ่งโดยปกติแล้ว มักจะถูก 'เหยียด' จากวิธีคิดแบบ Centralization จนไม่สามารถนำ 'ทักษะ' Soft Power ที่พวกเขามีอยู่ (และคนอื่นอาจจะไม่เห็นคุณค่า) มาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้
ดังนั้น ถ้าจริงใจกับการส่งเสริม Soft Power (การเข้าใจนิยามคำนี้เป็นอีกปัญหาหนึ่ง) รัฐต้องสนับสนุนผู้คนตัวเล็กตัวน้อยในทุกมิติ เพราะเราไม่รู้หรอกว่า เรื่องที่เราคิดว่าไม่เห็นเป็นประโยชน์หรือมีคุณค่าในวันนี้ มันอาจเกิดมีคุณค่าขึ้นมาในอนาคตเมื่อไหร่ก็ได้
เรื่องพวกนี้ต้องค่อยๆ ฟูมฟักกันไป ไม่ใช่จะมาดีดนิ้วเอา Quick Win ซึ่งก็เหมือนการ 'เด็ดยอด' เอาอะไรบางอย่างที่ 'ปัจเจก' ดิ้นรนทำมาเป็นของตัว เหมือนดอกไม้ที่กว่าจะเติบโตทะลึ่งพรวดขึ้นมาจากน้ำได้ก็แทบตาย แล้วสุดท้ายรัฐไทยก็ชอบไป 'เด็ด' แค่ตรงส่วนยอดที่สวยๆ ออกมาบอกว่าเป็นผลงานของความเป็นไทยหรือกระทั่งของรัฐไทย จากนั้นก็บอกว่านี่ไง Quick Win คนอื่นๆ จงทำแบบนี้ รัฐจะสนับสนุน ทำหนังบ้านๆ ให้ได้ห้าร้อยล้านก่อนสิ แล้วนายกฯ จะไปดู
คำถามก็คือ - กลไกของการสนับสนุน 'อย่างเข้าใจ' ตั้งแต่ 'ต้นทาง' อยู่ตรงไหน เห็นความสำเร็จแล้ว มองย้อนกลับไปดูด้วย ว่ากว่าจะประสบความสำเร็จนั้น คนทำงานตัวเล็กตัวน้อยต้องเหน็ดเหนื่อยเพราะขาดการสนับสนุนมากขนาดไหน
เราเห็นภาพแบบนี้บ่อยครั้งมาก ตั้งแต่การเคลมนักกีฬา นักร้องนักดนตรี และนักอื่นๆ อีกมากที่ดิ้นรนด้วยตัวเองจนสามารถไปยิ่งใหญ่ในหลายระดับได้ แต่คนเหล่านี้ไม่ได้ดิ้นรนด้วยดอกผล ต้นทุน หรือการฟูมฟักจาก 'รัฐ' นะครับ พวกเขาดิ้นรนด้วยต้นทุนของตัวเอง
Soft Power คือเรื่องที่ส่วนหนึ่งต้อง 'เกิดขึ้นเอง' รัฐไป 'สั่ง' ให้เกิดไม่ได้ แต่ในอีกส่วนหนึ่ง รัฐทำได้ด้วยการค่อยๆ ฟูมฟักสิ่งใหม่ ฟูมฟักความสร้างสรรค์ใหม่ๆ ซึ่งแน่นอนว่าความสร้างสรรค์ใหม่ๆ เหล่านี้มักจะ 'ขัด' และ 'แย้ง' และ 'ขืน' ต่อ Preconceptions ของรัฐ ไม่ว่าจะในด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมแบบรัฐไทย อาการอำนาจนิยมที่ฝังอยู่ในรัฐ หรืออะไรก็ตาม
ถ้ายังคิดกันแค่ว่า จะต้อง 'รีบ' สร้าง Soft Power ให้ได้ในสองปีสามปี แล้วจะต้องเป็น Quick Win ที่เอาไป 'ขาย' ได้ในเวทีระดับโลก ก็ต้องบอกว่าถ้าย้อนกลับไปดูเกาหลีใต้ เขาใช้เวลาทำเรื่องนี้ยาวนานหลายสิบปีนะครับ โดยเริ่มตั้งแต่ต้นทาง ตั้งแต่การสร้าง 'สาธารณูปโภคทางปัญญา' ให้ผู้คน ซึ่งถือเป็น Knowledge Supply และที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ก็คือการสร้าง 'ความต้องการความรู้' หรือ Knowledge Demand ให้เกิดขึ้นในประชาชนด้วยวิธีการสารพัด
โดยเรื่องสำคัญที่สุดในการสร้าง Soft Power ที่แข็งแกร่งผ่าน Creative Economy บนฐานของ Knowledge Economy - ก็คือการขยาย Social Safety Net คือทำให้มนุษย์เดินดินกินข้าวแกงทั่วไป มีหลักประกันในชีวิตว่าจะไม่ 'ร่วงหล่น' จากความเป็นมนุษย์ เพราะมีอะไรบางอย่างมาคอยรองรับอยู่ แล้วพวกเขาก็จะหันไปทำเรื่องที่พวกเขาอยากจะทำในชีวิต โดยเฉพาะในยามว่างได้อย่างแข็งแกร่ง แล้วเรื่องพวกนั้นนั่นแหละ ที่จะค่อยๆ เติบโตกลายมาเป็น Soft Power ได้ในที่สุด ไม่ใช่ต้องหาเช้ากินค่ำ หาเงินเดือนชนเดือนอยู่ตลอดเวลา
จะเห็นว่า กระบวนการพวกนี้ต้องใช้เวลายาวนาน Soft Power ถึงจะเกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืน ไม่ใช่การไป 'สั่ง' ว่าให้ทำ Soft Power นะ แล้วอันไหนดี เดี๋ยวรัฐจะ 'เด็ดยอด' ไปเคลมว่าเป็น Quick Win ซึ่งการทำแบบนั้นก็คือการเอาซากเดนของวิธีคิดแบบ Hard Power มาสั่งการให้เกิด Soft Power ดีๆ นี่เอง
.
แล้ว Soft Power จะเกิดขึ้นได้อย่างไรกัน?
โฆษณา