26 ต.ค. 2023 เวลา 08:04 • ประวัติศาสตร์

“สุข” หรือ “เสร็จ”? มองสัญญะทางกามารมณ์ในประติมากรรมความปิติยินดีของนักบุญเทเรซ่า

ยามที่จ้องมองนางข้าพเจ้าจำต้องพึงระลึกอยู่เสมอว่านางเป็นนักบุญ เพราะว่าท่าทางความปิติยินดีของนักบุญเทเรซ่ามันช่าง…ชวนเข้าใจผิด
Donatien-Alphonse-François, Marquis de Sade
ข้อความข้างต้นเป็นคำกล่าวของ “มากี เดอ ซาด” (Donatien-Alphonse-François, Marquis de Sade) ที่ได้เขียนบรรยายความประทับใจแรกที่ได้เห็นประติมากรรม “ความปิติยินดีของนักบุญเทเรซ่า” (The Ecstasy of St. Teresa) ในโบสถ์น้อยประจำตระกูลคอร์นาโรในโบสถ์ “ซานตา มาเรีย เดลลา วิตตอเรีย” (Chiesa di Santa Maria della Vittoria)
Gian Lorenzo Bernini ศิลปินชาวอิตาเลียนยุคบาโรก ผู้เป็นทั้ง จิตรกร,ประติมากร, และสถาปนิกในตัวคนเดียว
ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นประติมากรรมชิ้นเอกแห่งยุคบาโรกจากฝีมือของแบร์นินี่ ประติมากรลูกรักของวาติกันที่สร้างผลงานให้กับคริสตจักรมากมายในช่วงตอบโต้การปฏิรูปศาสนา
📌ความปิติยินดีของนักบุญเทเรซ่า
Ecstasy of St. Teresa, Close up ©Livioandronico2013 via common.wikimedia
ภาพของหญิงสาวนักบุญนอนเอนกายล้มพับบนก้อนเมฆที่ลอยล่อง ข้างกายของเธอก็ปรากฏเป็นเทวดาหนุ่มน้อย เงื้อมือถึงลูกศรทำท่าทางเสมือนจะปักเอาศรดอกนั้นเข้าไปที่กลางหัวใจของนักบุญหญิง ในขณะเดียวกันนักบุญหญิงก็แสดงสีหน้าท่าทางที่ดูเปี่ยมไปด้วยอารมณ์มากมายและชวนให้เข้าใจผิด ดังที่มากี เดอ ซาดกล่าวเอาไว้
ฉากของประติมากรรมถูกผลักระยะและสร้างสภาพแวดล้อมให้ดูเสมือนกับละครเวทีฉากใหญ่ที่ผนังซ้ายขวาปรากฏเป็นประติมากรรมนูนต่ำของผู้คนที่คอยมองดูเหตุการณ์เบื้องหน้านี้
Cornaro Family, Jastrow, via common.wikimedia, Public Domain
ประติมากรรมหินอ่อนชิ้นนี้ถูกแกะขึ้นมาจากหินอ่อนชิ้นเดียวที่แบร์นินี่ได้มาจากเหมืองคาร์ราร่า เพื่อสร้างผลงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดให้แก่เฟรเดอริโก คอร์นาโร พระคาร์ดินัลชาวเวเนเซียที่ต้องการที่จะให้มีรูปสลักของนักบุญองค์โปรดในโบสถ์น้อยประจำตระกูลของตน แบร์นินี่ใช้เวลานาน 5 ปีจึงสลักสำเร็จ
ซึ่งความงามของผลงานชิ้นนี้ทำให้เขาเป็นที่จับตามองโดยวาติกันและผู้อุปถัมป์หลายคน แต่อย่างไรก็ดี ในช่วงหลังเขากลับถูกใบปลิวปริศนาก่นด่าว่าเขา “ดึงนักบุญผู้สูงส่งมากลั้วเกลือกกับเปลือกดิน” มิหนำซ้ำหลังเขาตายก็ยังถูกมองว่าเป็นชายผู้นำเอาความลามกจกเปตรมาสถาปนาให้สูงส่ง
📌บันทึกของนักบุญเทเรซ่า ความอีโรติกในปาฏิหาริย์ของนักบุญ
“ความปิติยินดีของนักบุญเทเรซ่า” เป็นอีกหนึ่งหัวข้อทางศิลปะที่ได้รับความนิยมมากพอสมควรในยุคสมัยนั้น โดยเนื้อหาของภาพได้หยิบยกมาจากบันทึกส่วนตัวของนักบุญเทเรซ่าแห่งอวิลลา ความว่า
ข้าเห็นเทวดาถือลูกศรทองคำที่มีปลายศรเป็นเพลิงไฟ ข้ารู้สึกว่าบางครั้งเขาก็เอาศรนั้นปักใส่ดวงใจของข้าแล้วถอนออกไป ปล่อยให้เพลิงไฟปลายศรนั้นฝังลึกในอุรา ร้อนรุ่มอบอุ่นไปด้วยเพลิงไฟจากพระเจ้า ความเจ็บปวดนั้นมันทำให้ข้าครวญครางออกมา ทว่าความสุขที่เกิดขึ้นจากความทุกข์ทรมานที่ยากจะหาสิ่งใดเปรียบนี้มันสุขล้ำเกินจินตนากว่าที่ถวิลหาถึงจุดสิ้นสุด…
Teresa of Avila
ด้วยเนื้อหาจากบันทึกที่ฟังดูอีโรติกผ่านสัญญะต่าง ๆ นี้ ทำให้ศิลปินส่วนใหญ่เลือกที่จะสร้างชิ้นงานให้ดูอีโรติก เช่นเดียวกันกับงานของแบร์นินี่ เขาเลือกที่จะถ่ายทอดชิ้นงานออกมาผ่านมุมมองของผู้ชาย (Male gaze) ที่แฟนตาซีเรื่องเพศทางสัญญะเหล่านี้ แต่จริง ๆ แล้ว แบร์นินี่จงใจที่จะสร้างงานชิ้นนี้ด้วย (Male gaze) จริง ๆ หรือเปล่า?
📌ลาก็อง&อิริกาเรย์: “เสร็จจริง”หรือ “เสร็จเชิงสัญญะ”
Jacques Lacan, นักจิตวิเคราะห์ชาวฝรั่งเศส เจ้าทฤษฎี Mirror Stage, RSI และ Objet petit a
ลาก็อง (Jacques Lacan) ตีความงานของแบร์นินี่ผ่านทฤษฎีจิตวิเคราะห์ครั้งแรกผ่านเซมินาร์ในหัวข้อ Encore โดยเขาบอกว่าดูจากสีหน้านักบุญเทเรซ่าของแบร์นินี่แล้ว เธอมีอาการ “เสร็จ” แน่นอนอย่างไม่ต้องสงสัย และมองว่าแบร์นินี่จงใจที่จะให้ชิ้นงานนี้เป็นงานอีโรติกในสายตาของ male gaze อย่างเห็นได้ชัด โดยการเสร็จของนักบุญเทเรซ่านั้นเป็น Feminine Jouissance (การเสร็จในกรณีอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากเครื่องเพศ) ซึ่งนักบุญเทเรซ่าผู้ถือพรหมจรรย์นั้นไม่รู้ว่าความรู้สึกนั้นมันคืออะไร
แต่ในขณะเดียวกัน อิริกาเรย์ (Luce Irigaray) กลับมองว่าลาก็องตีความการ “เสร็จ” ผ่านรูปปั้นของแบร์นินี่(ที่ Male gaze)อย่างเดียวแต่ไม่พิจารณาบันทึกของนักบุญเทเรซ่า
Luce Irigaray, นักภาษาศาสตร์และสตรีนิยม เจ้าทฤษฎี Phallocentrism
เธอมองว่าลาก็องนั้นใช้มุมมองชายเป็นใหญ่ในการตีความ อีกทั้งยังคิดว่าควรตีความความปิติยินดีของนักบุญเทเรซาในฐานะของการ “เสร็จทางสัญญะ" ที่สะท้อนถึงแนวคิดในสมัยศตวรรษที่ 17 ซึ่งให้นักบวชหญิงหรือว่าแม่ชีนี้เป็นเจ้าสาวของพระเจ้า ร่างกายของพวกเธอเป็นของพระเจ้า นักบุญเทเรซ่าจึง “เสร็จ” โดยพระเจ้าที่ไม่ได้ทำให้นักบุญต้องมีมลทินมัวหมอง (หมายถึง “เสร็จ” เป็นเพียงการเปรียบเปรย ไม่ได้เสร็จจริง, คล้ายกับปฏิสนธินิรมล)
อย่างไรก็ดี องค์ประกอบต่าง ๆ ใน “ความปิติยินดีของนักบุญเทเรซ่า” ผลงานแบร์นินี่ไม่ได้บ่งชี้ถึงสิ่งที่อิริกาเรย์พยายามตีความไปถึง เพราะองค์ประกอบที่ทำให้งานชิ้นนี้มันอีโรติกไม่ได้มีแค่สัญญะที่ปรากฏในตัวประติมากรรมเท่านั้น
โดยสิ่งสำคัญที่ทำให้ชิ้นงานนี้กลายเป็นงานอีโรติก หรือสื่อลามกนั้น เกิดจากการหลอมรวมของศิลปกรรมทั้ง 3 ที่ยกพื้นที่ของชิ้นงานให้กลายเป็น “ฉากหนึ่งในละคร” และผู้ชมมีสถานะเป็น “ผู้ถ้ำมอง” (Voyeur) ที่มองถึงความเป็นไปที่เกิดขึ้นเช่นเดียวกันกับเหล่าสมาชิกตระกูลคอร์นาโรที่อยู่บนสองข้างผนังของโบสถ์น้อย
ทำให้การ “เสร็จ” ของนักบุญเทเรซ่า ถูกทำให้ “เสร็จจริง” ๆ เพื่อสนอง Male gaze ที่จับจ้องมองดูชิ้นงานในฐานะของสื่อลามกมากกว่าที่จะเป็นการ “เสร็จทางสัญญะ” อันเป็นเรื่องของศีลธรรมหรืออิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ใด ๆ (อาจจะบอกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งต้นเค้าของกระแสนิยมโรโกโกที่จะมาในภายหลัง)
ในท้ายที่สุดแล้ว “สุข” กับ “เสร็จ” ของนักบุญเทเรซ่าถูกหลอมรวมเข้าไว้ด้วยกันจนกลายสิ่งเดียวกัน คือความสุขที่มาจากการเสร็จ แต่ว่าในความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์ ตลอดจนถึงความป็นจริงของความหมายในงานศิลปะจะเป็นอย่างไร เรื่องนี้ก็ขอให้ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของผู้อ่านว่าจะเชื่อแบบไหน
ที่มาภาพหน้าปก:
ภาพมุมกว้างของโบสถ์น้อยคอร์นาโร (Cornaro Chapel)
Livioandronico2013 via common.wikimedia retrieved from https://commons.wikimedia.org/.../File:Cornaro_chapel_in...
#WestArtStories <- ดูแฮชแท็กเพื่ออ่านโพสต์ประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตกเรื่องอื่น ๆ จากเพจ WAS: West Art Stories ของเรา
อ้างอิง:
Nobus, Dany. "The sculptural iconography of feminine jouissance: Lacan's reading of Bernini's Saint Teresa in Ecstasy." The Comparatist 39 (2015): 22+. Gale Academic OneFile (accessed October 20, 2023).
Dumont, Montaine . “Ecstasy of Saint Teresa by Gian Lorenzo Bernini: Divine Bliss or Pure Erotic Pleasure?.” Daily Art Magazine. (accessed October 20, 2023). https://www.dailyartmagazine.com/ecstasy-of-saint-teresa/
โฆษณา