28 ต.ค. 2023 เวลา 07:16 • ความคิดเห็น

ถ้าคิดไม่ออกให้ออกไปเดิน

"ไม่ต้องสงสัยเลยว่านักปรัชญาหลายคนก็ชอบเดิน
โสเครตีสชอบเดินทอดน่องในอะกอรามากกว่าการทำสิ่งอื่นใด
นีทเชอผู้เดินท่องเทือกเขาแอลป์สองชั่วโมงเป็นกิจวัตรเชื่อว่า "ความคิดยิ่งใหญ่ทั้งหลายล้วนเกิดขึ้นได้จากการเดิน"
โธมัส ฮอบส์ มีไม้เท้าที่ทำขึ้นพิเศษให้มีที่ใส่หมึกติดไว้ เผื่อเขาจะจดสิ่งที่คิดขึ้นมาได้ระหว่างเดิน
อิมมานูเอล คานท์ กินอาหารเที่ยงตอน 12:45 น. แล้วออกไปเดินเป็นเวลาหนึ่งชั่วโมงเป๊ะ ไม่มากไม่น้อยไปกว่านี้ กิจวัตรนี้เสมอต้นเสมอปลายมากถึงขนาดที่ผู้คนในเคอนิคส์แบร์คตั้งนาฬิกาตามการปรากฎกายของเขา"
-Eric Weiner, The Socrates Express
-----
ใครที่เคยไปเที่ยวเกียวโตอาจจะเคยได้ไปเดินบนถนนสายนักปราชญ์ (The Philosopher's Path) ซึ่งเป็นทางเดินริมคลองส่งน้ำยาว 2 กิโลเมตรจากวัดกินคะคุจิ (วัดเงิน) ไปจนถึงวัดนันเซจิ
Johny Ive ที่เป็นคนดีไซน์ไอโฟนก็เคยเล่าว่าเขากับสตีฟ จ็อบส์ชอบไปเดินเล่นรอบออฟฟิศเพื่อคุยเรื่องใหญ่กันอยู่บ่อยๆ
ผมคิดว่าคนไทยได้ใช้เวลากับการเดินน้อยไปหน่อย คงเพราะสภาพอากาศและสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย เวลาไปไหนเลยต้องพึ่งพายานพาหนะตลอด การเดินจึงไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมคนไทย โดยเฉพาะในกรุงเทพ
สมัยผมเรียนที่นิวซีแลนด์ ในเมืองชื่อ Temuka ที่มีประชากรสี่พันคนและไม่เคยมีรถติด เวลาไปไหนผมมักจะปั่นจักรยานไป แต่ถ้าวันไหนลมแรงก็จะใช้วิธีเดิน เดินไปโรงเรียน เดินไปบ้านเพื่อน ใช้เวลาเดินเกือบชั่วโมงก็ไม่รู้สึกว่าเป็นภาระหรือไม่ทันใจ
เดี๋ยวนี้แม้จะไม่ได้เดินมากเท่าแต่ก่อน แต่ในวันที่ได้ทำงานที่บ้าน ถ้าผมไม่ติดประชุม ช่วงห้าโมงครึ่งผมจะไปเดินรอบหมู่บ้านโดยไม่เอามือถือไปด้วย ใช้เวลาประมาณ 15 นาทีก็เพียงพอให้คลายความเหนื่อยล้า
การเดินคือการได้อยู่กับตัวเองโดยไม่มีอะไรมาแทรกแซง เวลาผมมีโจทย์สำคัญให้ต้องขบคิด ผมจึงมักออกไปเดินรอบหมู่บ้าน เพราะการเดินช่วย "เขย่า" อะไรบางอย่างในตัว ช่วยให้เรามีมุมมองไม่เหมือนตอนนั่งอยู่กับโต๊ะหรือตอนคุยกับคนอื่น
ใครกำลังมีโจทย์ใหญ่ในชีวิต และรู้สึกว่าได้ทำรีเสิร์ชบนหน้าจอและนั่งคิดนอนคิดมามากพอแล้ว ลองหาโอกาสไปเดินเล่นดู แล้วเราอาจได้สัมผัสกับความรู้สึกที่คุ้นเคยแต่ห่างหายไปนาน
ถ้าคิดไม่ออกให้ออกไปเดินครับ
-----
ขอบคุณ Quote จากหนังสือ รถด่วนขบวนปรัชญา: เดินทางค้นหาบทเรียนชีวิตกับโสเครตีสและผองเพื่อน (The Socrates Express: In Search of Life Lessons from Dead Philosophers) ผู้เขียน Eric Weiner ผู้แปล ณัฐกานต์ อมาตยกุล สำนักพิมพ์ Bookscape
โฆษณา