28 ต.ค. 2023 เวลา 17:44 • ประวัติศาสตร์

คุณพุ่ม บุษบาท่าเรือจ้าง ตัวมัมรัตนโกสินทร์

หากใครได้ดูละครเรื่อง "บุบษาลุยไฟ" ทางช่อง ThaiPBS เป็นละครอิงประวัติศาสตร์สมัยรัชกาลที่ 3 ของกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งมีคู่พระนางแสดงนำคือ เฌอปราง อารีย์กุล (BNK48) รับบทเป็น "ลำจวน" หญิงสาวผู้รอบรู้ที่กล้าท้าทายขนบ โดยมี "คุณพุ่ม" กวีหญิงชื่อดังในสมัยนั้นเป็นไอดอล และโทนี่ รากแก่น รับบท "ฮุน" ลูกจีนกำพร้าที่ใฝ่ฝ่นอยากเป็นช่างเขียนหลวง จนได้รับฝากตัวเป็นศิษย์ของครูคงแป๊ะ (หลวงเสนีย์บริรักษ์)
จะมีตัวละครสำคัญที่อยู่ในเรื่องบุษบาลุยไฟ ที่เป็นบุคคลต้นแบบของ "ลำจวน" และเป็นครูบาอาจารย์ของลำจวน และเราจะไม่พูดถึงคนนี้ไม่ได้เลยคือ "คุณพุ่ม" กวีหญิงที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นตัวมัมของกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นที่รู้จักกันในฉายา "บุษบาท่าเรือจ้าง"
ขนมธรรมเนียมประเพณีในแต่ละสมัยเป็นเครื่องกำหนดคุณสมบัติของสตรี ซึ่งมักวางกรอบคุณสมบัติสำคัญของสตรีให้ต้องเรียบร้อย อ่อนหวาน ทำงานบ้านเรือน แต่สำหรับคุณพุ่ม ธิดาของพระยาราชมนตรีบริรักษ์ (ภู่) กลับอยู่นอกเหนือกรอบนั้น แทบจะเรียกได้ว่า "หัวขบถ" เลยทีเดียว
ประมาณกันว่าคุณพุ่มน่าจะเกิดในช่วง พ.ศ. 2348-2350 เป็นธิดาของพระยาราชมนตรีบริรักษ์ (ภู่) ต้นสกุล “ภมรมนตรี” ข้าหลวงในสังกัดกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ตั้งอยู่ที่บริเวณวัดคฤหบดีในปัจจุบัน ต่อมาเมื่อกรมหมื่นฯ เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) จึงพระราชทานบ้านหลวงที่บริเวณท่าพระ (ท่าช้างวังหลวง) ให้พระยาราชมนตรีบริรักษ์
คุณพุ่ม เป็นกุลสตรีได้รับการศึกษาทั้งด้านอักษรศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ศาสนา และโหราศาสตร์มาเป็นอย่างดี มีความรู้รอบตัวดีมาก มั่นใจในตัวเองสูง คุณพุ่มเมื่อแรกเป็นข้าราชการฝ่ายใน ตำแหน่ง “พนักงานพระแสง” รับราชการอยู่ระยะหนึ่ง
เหตุที่ไม่สบายจึงขอลาออกมาอยู่บ้านพ่อ มีชื่อเสียงในแต่งกลอน สมัยนั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ชอบเล่นเพลงยาวและบทดอกสร้อยสักวา (สักรวา) กันอย่างแพร่หลาย เมื่อคุณพุ่มอยู่แพหน้าบ้านพ่อ ก็จะมีเจ้านายมาเล่นสักวากับคุณพุ่มอยู่เสมอ เช่น เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ หรือ เจ้าฟ้าน้อย (พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) รวมถึงข้าราชการท่านอื่นๆ เช่น หลวงนายสิทธิ์ หรือ จมื่นไวยวรนาถ หรือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ในเวลาต่อมา
ในสมัยรัชกาลที่ 4 (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) คุณพุ่มได้อาศัยพึ่งบารมีของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาส พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านารีรัตนา (ตามลำดับ หลังสิ้นบิดา) ทั้ง 3 พระองค์ล้วนเป็นโอรส-ธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้รับราชการในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร พระราชธิดาในรัชกาลที่ 3 ทรงชุบเลี้ยง ทั้งคุณพุ่มยังทำหน้าที่บอกสักวา
คุณพุ่มมีชื่อเสียงเป็นผู้บอกบทสักวาเรื่อง “อิเหนา” และมักได้รับการแจกตัวให้รับบท “บุษบา” ส่วนท่าเรือจ้าง เนื่องจากมีบ้านอยู่ละแวก “ท่าพระ” (หรือ ท่าช้าง) จึงมีฉายาว่า “บุษบาท่าเรือจ้าง” เมื่อสิ้นบุญผู้เป็นพ่อ ฐานะคุณพุ่มยากจนลงจนต้องหาเลี้ยงชีพด้วยการเขียนกลอนขาย ไม่ปรากฏว่า รักหรือใช้ชีวิตคู่กับชายคนใด และ เสียชีวิตเมื่อใด
กรมศิลปากร ได้จัดพิมพ์ผลงาน “กวีนิพนธ์คุณพุ่ม” เมื่อปี พ.ศ.2563 ภายในเล่มได้รวบรวมผลงานกวีนิพนธ์ อาทิ เพลงยาวสามชาย, เพลงยาวเฉลิมพระเกียรติ, เพลงยาวนิราศวัดบางยี่ขัน, เพลงยาวคุณพุ่ม, เพลงยาวแม่ปุกสุขสวรรค์, เพลงยาวนิราศฮ่องกง (สำนวนที่ 1-2) รวมถึงภาคผนวก เพลงยาวชาววัง, บทเห่กล่อมพระบรรทม, เพลงยาวสามสิบชันษา ที่สันนิษฐานว่า เป็นผลงานของคุณพุ่ม
คุณพุ่มเป็นกวีหญิงฝีปากกล้า วาจาคมคาย สำบัดสำนวน โวหารไม่เป็นรองใคร ไม่เกรงกลัวกล้าต่อปากต่อคำ มีเกร็ดของท่านที่เล่ากันมา เช่น ครั้งหนึ่งคุณพุ่มเข้าแย่งเอาพระแสงดาบของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ พูดเยาะผู้ใหญ่บางท่านด้วย “คำอธิษฐานของคุณพุ่ม 12 ข้อ”
คำอธิษฐานของคุณพุ่ม 12 ข้อ ปรากฎใน “สาส์นสมเด็จ” เล่มที่ 13 ลายพระหัตถ์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ.2504 จัดจำหน่ายโดย องค์การค้าของคุรุสภา)
1.ขออย่าให้เป็นคนชิดของเจ้าคุณผู้ใหญ่
2.ขออย่าให้เป็นคนใช้ของเจ้าพระยานคร
3.ขออย่าให้เป็นคนต้มน้ำร้อนของพระยาศรี
4.ขออย่าให้เป็นมโหรีของพระยาโคราช
5.ขออย่าให้เป็นลูกสวาสดิ์ของพระองค์ชุมสาย
6.ขออย่าให้เป็นฝีพายของเจ้าอาภรณ์
7.ขออย่าให้เป็นละครของแม่น้อยบ้า
8.ขออย่าให้เป็นดวงชตาของอาจารย์เซ่ง
9.ขออย่าให้เก่งเหมือนคุณหญิงฟัก
10.ขออย่าให้เป็นสมปักของพระนายไวย
11.ขออย่าให้เป็นดอกไม้ของเจ้าคุณวัง
12.ขออย่าให้เป็นระฆังวัดบวรนิเวศ
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ยังได้ทรงอธิบายความหมายของคำอธิษฐานของคุณพุ่ม 12 ข้อ ดังนี้
1.อธิบายบทอธิษฐานว่า “ขออย่าให้เป็นคนชิดของเจ้าคุณผู้ใหญ่” นั้นไม่มีในสมุดพก แต่หม่อมฉันทราบเรื่องอยู่ เจ้าคุณผู้ใหญ่นั้นคือ เจ้าพระยาบดินทรเดชา (ต้นสกุล สิงหเสนี) เล่ากันว่า เมื่อถืออาญาสิทธิเป็นแม่ทัพไปรบญวนในรัชกาลที่ 3 นั้น ฆ่าคนง่ายๆ แม้จนคนรับใช้ใกล้ชิด ถ้าทำความผิดไม่พอใจก็ให้ฆ่าเสีย
2.อธิบายบทอธิษฐาน “ขออย่าให้เป็นคนใช้ของเจ้าพระยานคร” นั้น อธิบายในสมุดพกตรงกับที่เล่ากัน คือ เจ้าพระยานคร (น้อย) ชอบใช้คนอย่างนอกรีตต่างๆ ดังเช่น เวลาไปเรือ ถ้าเรือแล่นช้าไม่ทันใจ ว่าเรือขี้เกียจให้ยกขึ้นคว่ำบนบกแล้วให้ฝีพายถองเรือทุกคน เรือก็กลัวเจ้าพระยานคร ไปไหนพายแล่นเร็วเสมอ
3.อธิบายบทอธิษฐาน “ขออย่าให้เป็นคนต้มน้ำร้อนของพระยาศรี” นั้น (ในสมุดพกเขียนว่า อย่าให้เป็นน้ำร้อนของพระยาศรี ไม่ได้ความ นึกได้ตามเคยได้ยินมาว่า “คนต้มน้ำร้อน” เช่นนั้นจึงจะได้ความ) พระยาศรีคนนั้นคือ พระยาศรีสหเทพ (เพ็ง) เมื่อเจ้าพระยาบดินทรเดชา ที่สมุหนายกไปตั้งทัพอยู่เมืองเขมร ทางกรุงเทพฯ พระยาศรีไปเป็นราชเลขานุการกระทรวงมหาดไทย มีคนยำเกรงไปหาสู่มากทั้งกลางวันและกลางคืน ต้องต้มน้ำร้อนเลี้ยงแขกตั้งวันละ 2 กระถาง คนต้มไม่มีเวลาหยุดมือเลย
4.อธิบายบทอธิษฐาน “ขออย่าให้เป็นมโหรีพระยาโคราช” นั้น คือ พระยานครราชสีมา (เห็นจะเป็นคนที่ชื่อว่าทองอิน ซึ่งภายหลังได้เป็นเจ้าพระยา เมื่อยกศักดิ์เมืองนครราชสีมาขึ้นเป็นเอก ในรัชกาลที่ 3) อยากมีมโหรีเหมือนขุนนางผู้ใหญ่กรุงเทพฯ เก็บเอาเด็กผู้หญิงพวกลูกเชลย เป็นข่าบ้าง ลาวพวนบ้าง เขมรบ้าง ประสมวงหัดเป็นมโหรี เห็นจะกะมอมกะแมมเต็มทีจึงเป็นของสำหรับค่อนกัน
5.อธิบายบทอธิษฐานว่า “ขออย่าให้เป็นลูกสวาสดิ์ของพระองค์ชุมสาย” นั้น ที่เรียกว่า ลูกสวาสดิ์ในที่นี้ เห็นจะหมายความเพียงว่าเป็นมหาดเล็กตัวโปรด จดอธิบายไว้ในสมุดพกว่า ใช้ไม่เลือกว่าการไพร่การผู้ดี แม้ที่สุดจนไกวเปลเด็ก
6.อธิบายบทอธิษฐานว่า “ขออย่าให้เป็นฝีพายของเจ้าอาภรณ์” นั้น จดไว้ในสมุดพกว่า เจ้าฟ้าอาภรณ์โปรดให้ฝีพายเรือลำทรงขานยาวร่ำไปจนหัวเรือเกยตลิ่ง (เห็นจะเป็นเมื่อจะเข้าเทียบท่า)
7.อธิบายบทอธิษฐานว่า “ขออย่าให้เป็นละครของแม่น้อยบ้า” นั้น ไม่ทราบเลยทีเดียว ในสมุดพกก็ไม่บอกไว้
8.อธิบายบทอธิษฐานว่า “ขออย่าให้เป็นดวงชตาของอาจารย์เซ่ง” นั้น อาจารย์เซ่งดูเหมือนจะเป็นพระ ในสมุดพกจดไว้ว่า เป็นผู้ชอบผูกดวงชะตา (เห็นจะมีชื่อเสียงในทางโหราศาสตร์) แม้จนหมาที่เลี้ยงไว้ออกลูกก็ผูกดวงชะตาลูกหมา
9.อธิบายบทอธิษฐานว่า “ขออย่าให้เก่งเหมือนคุณหญิงฟัก” นั้น ใครเป็นคุณหญิงฟักคนนั้น หม่อมฉันไม่เคยได้ยิน จดไว้ในสมุดพกว่า ถ้าโกรธอาจถึงแก้ผ้าได้ หม่อมฉันอยากจะขอให้ผ่อนลงมาเพียงขัดเขมรถึงง่ามก้น
10.อธิบายบทอธิษฐานว่า “ขออย่าให้เป็นสมปักของพระนายไวย” นั้น คือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เมื่อยังเป็นจมื่นไวยนรนาถอยู่ในรัชกาลที่ 3 สมปักไหมลายต่างกันตามชั้นยศเป็นของพระราชทานขุนนาง
เมื่อทรงตั้งเป็นตำแหน่งสำหรับให้นุ่งเข้าเฝ้า โดยปกติขุนนางนุ่งผ้าสามัญ ต่อเมื่อถึงเวลาจะเข้าท้องพระโรงจึงสลัดผ้านุ่งสมปักไว้ที่วัง (ดูเหมือนมีรูปภาพขุนนางกำลังผลัดผ้าเช่นว่า เขียนไว้ที่พระอุโบสถวัดราชประดิษฐ์) ออกจากเฝ้าก็ผลัดนุ่งผ้าเดิมกลับไปบ้าน ชรอยสมปักพระนายไวย จะใช้อยู่แค่ผืนเดียวนุ่งจนเก่า ไม่มีผืนสำรองสำหรับเปลี่ยน คุณพุ่มจึงแกล้งค่อน
11.อธิบายบทอธิษฐานว่า “ขออย่าให้เป็นดอกไม้ของเจ้าคุณวัง” นั้น เจ้าคุณวังคือ เจ้าจอมมารดาตานี รัชกาลที่ 1 อันเป็นธิดาของเจ้าพระยามหาเสนาบุนนาค เกิดด้วยภรรยาเดิม และเป็นเจ้าจอมมารดาของกรมหมื่นสุรินทรรักษ
ท่านชอบและชำนาญการร้อยดอกไม้มาก หม่อมฉันเกิดไม่ทันท่าน แต่ทันได้เห็นเมื่อต้นรัชกาลที่ 5 เวลามีงานในวัง เคยเห็นหม่อมเจ้าหญิงในกรมหมื่นสุรินทรรักษ อันเป็นหลานและเป็นศิษย์ของเจ้าคุณวังเดินตามกันเป็นแถวตั้งห้าหกองค์เข้าไปร้อยดอกไม้ในงานหลวงเป็นนิจ ที่คุณพุ่มอธิษฐานขออย่าให้เป็นดอกไม้ของเจ้าคุณวัง คงหมายความว่า พอผลิก็ถูกเด็ดไม่ได้อยู่จนโรย
12.อธิบายบทอธิษฐานว่า “ขออย่าให้เป็นระฆังวัดบวรนิเวศ” นั้น ธรรมดาวัดย่อมมีกลอง มีระฆัง กิจที่ตีกลองมีวันละ 3 ครั้ง คือ ตีบอกเวลาเพลครั้ง1 ตีบอกเวลาสิ้นเพลครั้ง1 ตีบอกส่วนบุญแก่สรรพสัตว์เมื่อไหว้พระสวดมนต์เสร็จแล้วเวลาเย็นครั้ง1กิจที่ตีระฆังนั้น ตีเมื่อแสงอรุณขึ้นบอกให้พระสงฆ์ครองผ้าและเตรียมตัวออกบิณฑบาต ครั้ง1 ตีเวลาพลบค่ำ เป็นสัญญาเรียกพระสงฆ์ให้ไหว้พระสวดมนต์ครั้ง1
เมื่อทูลกระหม่อม (รัชกาลที่ 4) ทรงผนวชเสด็จครองวัดบวรนิเวศ เพิ่มการตีระฆังเรียกพระลงโบสถ์เช้า เวลา 2 โมงกับเวลาค่ำ 2 ทุ่มเป็นปกติ และให้ตีระฆังเป็นสัญญาณเรียกพระในกิจอย่างอื่นอีก ตกว่าระฆังวัดบวรนิเวศตีมากกกว่าวัดอื่นๆ คุณพุ่มจึงเอาไปเข้าในคำอธิษฐาน
แหล่งที่มาและเรียบเรียง
นริศรานุวัดติวงศ์, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้า กรมพระยา, 2406-2490 (2505). สาส์นสมเด็จ เล่ม 13 ลายพระหัตถ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศนานุวัดติวงศ์ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. องค์การค้าของคุรุสภา.
โฆษณา