30 ต.ค. 2023 เวลา 18:48 • ประวัติศาสตร์

เปิดบันทึก "พิธีกรรมบูชายัญปีศาจ" ของชาวสยาม โดยวันวลิต

คำว่า "บูชายัญ" ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน กล่าวว่า การบูชาของพราหมณ์อย่างหนึ่ง หรือการเซ่นสรวงด้วยวิธีฆ่าคนหรือสัตว์เป็นเครื่องบูชา
การบูชายัญ แตกต่างกับการบวงสรวง สังเวยบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่กระทำกันโดยทั่วไป คือการนำอาหารปรุงสุกจำพวกหมู ไก่ เป็ด ผลไม้และขนมมงคลต่างๆ เมื่อเสร็จพิธีก็จะลาของเซ่นไหว้แล้วนำไปกินเพื่อความเป็นสิริมงคล
การบูชายัญเกิดขึ้นในทุกทั่วมุมโลก ตั้งแต่สมัยโบราณ ปัจจุบันยังมีให้เห็นบ้างในบางประเทศ บางลัทธิความเชื่อ สำหรับการบูชายัญของไทยเราที่เรามักจะได้ยินกัน คือตำนานการบูชายัญมนุษย์เพื่อเป็นผีบ้านผีเมือง ด้วยการจับมนุษย์ยัดใส่ลงหลุมแล้วฝังด้วย "เสาหลักเมือง" ทั้งเป็น แต่ทว่าในตำราพระราชพิธีนครฐานที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 1 ทรงยึดถือในการพระราชพิธีฝังเสาพระหลักเมืองกรุงรัตนโกสินทร์ ไม่มีการบูชายัญด้วยลักษณะนี้แต่อย่างใด ตำนานนี้ยังคงเป็นที่ถกเถียงและกล่าวถึงกันมาในปัจจุบัน
บางกลุ่มชาติพันธุ์ ก็มีพิธีกรรมการบูชายัญตามความเชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์นั้นๆ เช่น พิธีเลี้ยงผีปู่แสะ-ย่าแสะ (ประเพณีเลี้ยงดง) ในจังหวัดเชียงใหม่ โดยจะทำการเชือดควายเพื่อเป็นการบูชายัญแก่ผีปู่แสะ-ย่าแสะ เชื่อกันว่าเป็นผีบรรพบุรุษของชาวลัวะ ที่กลายเป็นผีบ้านผีเมือง ตามตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ และร่างทรงของผีปู่แสะ-ย่าแสะจะกินเนื้อควายและเลือดควายที่เชือดแล้วแบบสดๆ ในพิธี
เยเรเมียส ฟาน ฟลีต หรือที่คนไทยเรียกกันว่า วันวลิต พ่อค้าชาวดัตช์ (ประเทศเนเธอร์แลนด์ในปัจจุบัน) ที่เข้ามากรุงศรีอยุธยาในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ได้บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับกรุงศรีอยุธยาที่ค่อนข้างร่วมสมัย เป็นหลักฐานประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญของไทยที่นำมากล่าวถึง และอ้างอิงกันในทุกวันนี้
บันทึกเกี่ยวกับกรุงศรีอยุธยาของวันวลิต จะมีความละเอียดพิสดารตามประสาฝรั่ง มีเรื่องแปลกๆ เรื่องน่าสะพรึงกลัวในกรุงศรีอยุธยาที่ปรากฎอยู่ เช่นเรื่องความดุร้ายของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เรื่องการฝังคนทั้งเป็นในหลุมเสาหลักเมืองอย่างที่ได้กล่าวไป เรื่องออกหลวงมงคล นายทหารจอมขมังเวทย์
อีกหนึ่งเรื่องราวความน่าสะพรึงกลัวที่วันวลิตได้บันทึกไว้ นั่นก็คือ "พิธีกรรมบูชายัญปีศาจ" ซึ่งคาดว่าวันวลิตอาจจะได้พล็อตจากการบูชายัญปีศาจ หรือการบูชายัญของลัทธิซาตานมาบันทึกก็เป็นได้รึป่าวไม่รู้
บันทึกของวันวลิตเกี่ยวกับพิธีกรรมบูชายัญปีศาจ อยู่ในบันทึกที่ชื่อว่า "พรรณาเรื่องอาณาจักรสยาม" กล่าวไว้ดังนี้
" พวกนอกศาสนาเหล่านี้ เชื่อผีเชื่อลางอย่างยิ่งและมีศรัทธายึดมั่นในศาสนาของตน อย่างไรก็ตามพวกเขาได้บูชาพวกปีศาจอย่างเปิดเผย อันขัดต่อความคิดเห็นและการร่ำเรียนมาของพวกพระสงฆ์จำนวนมาก ปีศาจในความเห็นของพวกพระสงฆ์เป็นต้นเหตุของความชั่วร้าย เหมือนเทวดาทั้งหลายเป็นต้นเหตุของความดี
ในกรณีที่เกิดเจ็บไข้ได้ป่วย พวกเขาจะมีการเลี้ยงอาหารอย่างแปลกๆ เต็มไปด้วยพิธีรีตอง มีการเล่นการพนัน ดื่ม เต้นรำ กระโดด มีการนำผลไม้และสัตว์จำนวนมากมาสังเวย และเมื่อสัตว์เหล่านี้ตาย ในขณะที่การเต้นรำและการร้องเพลงกำลังดำเนินไป นี่เป็นเครื่องหมายว่าพวกเขาได้ปรองดองกับปีศาจแล้ว และคนเจ็บก็จะหายจากอาการป่วย
ในการบวงสรวงสังเวยปีศาจนั้น มีสิ่งน่ากลัวน่ารังเกียจและไม่น่าเชื่อเกิดขึ้นบ่อยๆ จนไม่เหมาะสำหรับพวกคริสเตียนที่จะดูพิธีเหล่านี้ เพราะบางทีในการจัดเลี้ยงนี้ มีผู้หญิงเข้าร่วมพิธีด้วย ซึ่งโดยวัยสูงอายุของพวกเขามีอาการหลังแข็งหลังค่อม ไม่อาจเต้นรำได้ แต่โดยอำนาจของปีศาจทำให้สามารถแสดงและกระโดดในลักษณะแปลกๆ ได้ ซึ่งไม่น่าจะไปกันได้กับสภาพที่อ่อนแอและสูงอายุของพวกเขา ถ้าหากเอาหญิงรุ่นๆ มาเต้นรำ ก็เชื่อแน่ว่า ปีศาจคงชอบใจมากกว่า
แน่ล่ะ ปีศาจถึงกับเกี่ยวข้องในทางกามกับหญิงสาวเหล่านั้นด้วย ด้วยการประกอบพิธีสังเวยและบูชายัญดังกล่าว พวกคนที่มีความคิดเหลวไหลน่าสงสารเหล่านี้ได้พยายามสร้างไมตรีกับเจ้านายที่มีอำนาจของเขา และด้วยเหตุผลนี้ เราอาจสรุปได้ว่าพวกเขาได้ยอมหมอบราบคาบแก้วให้แก่ความร้ายกาจของปีศาจอย่างสิ้นเชิง และเห็นว่าเป็นการทิ้งพระผู้เป็นเจ้าไปอย่างหมดสิ้น "
และนี่คือเรื่องราวความน่าสะพรึงกลัวอีกเรื่องของกรุงศรีอยุธยา ที่วันวลิตได้บันทึกไว้อย่างพิสดาร อย่างไรก็ตามก็มีบันทึกของ โยส เซาเต็น พ่อค้าดัตช์อีกคนที่เข้ามากรุงศรีอยุธยาในรัชกาลพระเจ้าทรงธรรมและพระเจ้าปราสาททอง ที่กล่าวถึงพิธีกรรมบูชายัญปีศาจของชาวสยามไว้อย่างคร่าวๆ
" ชาวสยามมีศรัทธาเลื่อมใสในศาสนาและกลัวพระเป็นเจ้าก็จริง แต่เขากลัวผีปีศาจมากกว่า เขาเชื่อว่าพวกผีเหล่านี้นำความเดือดร้อนมาให้ เช่นเดียวกับพระเจ้านำแต่สิ่งดีงามมาให้ เพราะฉะนั้นเมื่อชาวสยามเจ็บป่วยหรือตกทุกข์ได้ยากก็มักจะนำผลไม้หรือสัตว์ไปเซ่นสรวงภูติผีปีศาจด้วยพิธีการต่างๆ
การเซ่นไหว้ภูตผีปีศาจนั้น บางครั้งก็มีพิธีการที่พิสดารและน่ารังเกียจยิ่ง ซึ่งเราชาวคริสต์ไม่ควรจะเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย การที่ต้องมาเซ่นสรวงภูตผีปีศาจเช่นนี้เพราะเขาเข้าใจว่าพระเป็นเจ้าได้ละทิ้งเขาเสียแล้ว เขาจึงต้องหันมาเอาใจ ประจบพวกผีปีศาจ "
สุดท้ายนี้ จริงเท็จอย่างไรก็โปรดใช้วิจารณญาณ
แหล่งที่มาและเรียบเรียง
เซาเต็น, โยส (2504). ประชุมพงศาวดาร ภาค 76 จดหมายเหตุของโยส เซาเต็น พ่อค้าชาวฮอลันดาในสมัยพระเจ้าทรงธรรม และพระเจ้าปราสาททอง. บริษัทชุมนุมช่าง (แผนกการพิมพ์). https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:137306
โฆษณา