31 ต.ค. 2023 เวลา 03:29 • เกม

Ahau: Rulers of Yucatan (2023)

Designer: Tamas Olah
[Ahau is pronounced as “ah-HOW,” with the emphasis on the second syllable.]
เกมนี้เป็นอีกเกมที่เราได้มาตอนอยู่งาน Essen เพราะเห็นว่าเป็นเกม KS ที่เราตกรถ 😅 เลยรีบสอย retail version มาเล่นโดยมีความรู้เกี่ยวกับเกมนี้น้อยมาก แต่เห็นว่า theme ดูน่าสนใจ และเป็นเกมกึ่ง area majority ที่มีบอทมาให้ด้วย น่าจะเล่น 2 คนพอได้ แถมในงานก็เป็น package แถมภาคเสริมด้วย เกมนี้จึงได้เข้ามาอยู่ในลิสต์การขนกลับไทยทันที
Ahau (ah-How) เป็นเกมที่จะให้คุณได้สวมบทบาทผู้สืบเชื้อสายราชวงศ์ในเผ่า Maya พยายามแผ่ขยายอำนาจ และชื่อเสียงไปในหัวเมืองต่างๆ ของดินแดนคาบสมุทร Yacatan ด้วยการสร้างวิหารปิระมิดบูชาเทพเจ้า เพื่อให้ได้รับการอวยพรจากเทพเจ้า, ใช้กำลังทหารยึดครองดินแดนหัวเมืองต่างๆ รวบรวมแผ่นดินเป็นปึกแผ่น และกลายเป็น K’uhul Ahau (เทวกษัตริย์) ผู้นำความสงบสุข และความรุ่งโรจน์มาสู่ดินแดนตราบนานเท่านาน
⚙️
เกมเป็นแนว Area majority ที่ผสมผสานกับการเล่น conflict resolution card (ลงการ์ดแต้มหรือความสามารถที่ต่างกัน เพื่อแย่งกันทำ action หรือ benefit บางอย่าง) มีการทำคะแนนได้จากหลากหลายแนวทาง แต่หัวใจหลักยังคงเป็นการยึดครองพื้นที่ให้ได้เยอะพอ และถูกตำแหน่ง ซึ่งจะทำให้คุณเล่น combo action ต่างๆ ได้ง่ายขึ้น และได้แต้มเยอะขึ้น
เกมจะเล่นกันเป็นเวลา 3 K’atun (3 ปีปฏิทินมายา; 1 K’atun = 19 ปีกว่าของปฏิทินทั่วไป) แต่อาจจะจบก่อนหากมีคนสร้างปิรามิดสำเร็จ หรือเล่นจน worker หมด
แต่ละรอบจะถูกแบ่งออกเป็น Movement phase และ Action phase โดยที่ใน movement phase ทุกคนจะเล่นการ์ดในมือ 2 ใบเลือกจากเลข 1-6 ใบนึงจะเป็นเลขที่บอกตำแหน่งพื้นที่ที่เราจะส่งคนไปทำ action และอีกใบจะเป็นเลขที่ใช้มาวัดดวงว่าเราอยากไปพื้นที่ดังกล่าวมากแค่ไหน และจะไปได้สำเร็จไหม
⚠️
หากบังเอิญเลือกพื้นที่มาชนกับเพื่อน ก็จะเกิด conflict กันขึ้นมา เราจะใช้เลขจากการ์ดใบหลังมา resolve conflict กัน โดยการวัด strength ใครมีค่าเลขการ์ด + modify จากค่าอาวุธของตนแล้วมากกว่าก็จะมีสิทธิไปในพื้นที่ที่ต้องการ ส่วนอีกคนก็จะต้องเปลี่ยนไปเลือกพื้นที่ว่างอื่นข้างๆ และไม่สามารถทำ action ที่อยู่ชายขอบดินแดนที่ตนแพ้ conflict ไปได้ด้วย และเมื่อทุกคนได้พื้นที่สำหรับเล่นแล้ว ก็จะมีสิทธิเลือก Pyramid tile ในพื้นที่นั้นๆ ไปเก็บไว้ได้หนึ่งชิ้น
ใน Action phase เราจะได้เลือกวาง worker หนึ่งตัวลงบนเมืองที่ติดกับพื้นที่ที่เราเลือกไป โดยแต่ละเมืองจะมีสัญลักษณ์ของเทพเจ้าต่างๆ กัน เราสามารถเลือกทำการ summon god ซึ่งก็คือการทำ action ที่ตรงกับสัญลักษณ์เทพเจ้านั้นๆ ได้ โดยที่ความแรงของการทำ action จะขึ้นกับจำนวน pyramid tile ที่เราสละทิ้ง บวกกับจำนวน pyramid tile บนปิรามิดของเราที่มีลายตรงกันกับเทพนั้นๆ ซึ่งหากมีตรงกันอย่างน้อยหนึ่งชิ้น ก็จะได้วาง marker ลงบนวัดของเทพองค์นั้นๆ สำหรับใช้สิทธิการคิดแต้มตอนจบรอบปีได้ด้วย
นอกจากนี้ใน action phase ยังให้เราเลือกอีกว่าจะ produce เพื่อเก็บ resources ข้างๆ worker ตัวเอง โดยยิ่งมีจำนวน worker ล้อมรอบ resources อยู่มากก็จะได้ของมากขึ้น ซึ่งทุกๆ ครั้งที่มีคน produce จะทำให้การนับรอบปฏิทิน K’atun เดินหน้า (produce ได้ 5-7 ครั้งขึ้นกับจำนวนผู้เล่น) หรือจะทำการ build เพื่อสร้างปิรามิด และสิ่งก่อสร้างอื่นเพื่อเสริมความสามารถพิเศษของตัวเอง
เมื่อจบหนึ่งปี K’atun ก็จะเป็นช่วงเวลาเฉลิมฉลอง และ reward แต้มให้แก่คนที่มี marker ของตนอยู่บนวัดของเทพแต่ละองค์ ถ้าไม่มี marker ก็จะไม่มีสิทธิคิดคะแนนเลย
👹
จุดเด่นสำคัญของเกม คือ ความสามารถ action god ของเทพเจ้าทั้ง 5 องค์ ซึ่งไม่เหมือนกันเลย เช่น Chief god ใช้ช่วยในการเลือกเก็บ tile pyramid สีที่ต้องการได้, Rain god ใช้ช่วยในการเก็บหา resources, God of trade ทำให้เราเคลื่อนย้าย worker ของเราได้ และยังแลกสลับ resources ที่มีเปลี่ยนไปตามเงื่อนไขได้, Sun god ช่วยให้เราเก็บการ์ดที่เล่นไปแล้วขึ้นมือได้ ซึ่งก็จะทำให้เพื่อนเดาทิศทางการลงพื้นที่ของเราได้ยากขึ้น สุดท้ายคือ Jaguar god ซึ่งใช้ช่วยปั๊แต้มได้ แต่ก็ต้อง sacrifice worker ออกจากกระดานไปด้วย
การแย่งกันลง worker ให้ได้ประโยชน์จากเทพเจ้าสูงสุด จึงนับเป็นจุดน่าตื่นเต้นที่อาจพลิกเกมได้เลย
💭
ส่วนที่ชอบของเกมก็คือ แนวคิดในการเลือกบูชาเทพเจ้านี่แหละค่ะ เทพเจ้ามีตั้ง 5 องค์ ถ้าบูชาได้หลากหลายก็จะได้ทำ action หลายรูปแบบ มีโอกาสส่ง marker คิดคะแนนไปได้มาก แต่ในขณะเดียวกันเนื่องจากความแรงของการทำ action ขึ้นกับจำนวนหน้าปิรามิดที่สะสมไว้
ดังนั้นก็ต้องชั่งน้ำหนักการสะสมหน้าปิรามิดตามสายที่ต้องการ กับการพยามส่ง marker ไปขึ้นวัดทำแต้มให้ดีๆ สิ่งนี้ทำให้ผู้เล่นอาจจะต้องวางแผนการเลือกสายเล่นระหว่างทางดีๆ และก็เป็นส่วนที่ทำให้เกมมีความน่าค้นหามากขึ้น เมื่อเราเลือก combo สายที่แตกต่างกันไปในแต่ละเกม ผลลัพธ์เกมก็จะเปลี่ยนไปได้สิ้นเชิง
ส่วนประทับใจอีกอย่างคือ เกมนี้มีทีมที่ปรึกษาเกมที่เป็นนักโบราณคดี นักประวัติศาสตร์ อาจารผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับอารยธรรม Maya จำนวนมากช่วยกันหล่อหลอมเกม ทำให้ระหว่างการเล่น เราอินไปกับ theme ได้ดีค่ะ คำศัพท์เฉพาะต่างๆ ที่ใช้ กฎการเล่นที่เออ เราจะมาพยามแย่งสืบบัลลังก์ ต้องทั้งขยายอิทธิพล ตีกันกับ candidate คนอื่นบ้าง แต่ไม่ได้ถึงกับทำเค้าย่อยยับ
ต้องมีการเก็บเกี่ยว/ สร้างผลผลิตเพื่อนำมาใช้ในการก่อร่างสร้างเมือง สร้างปิรามิดบูชาเทพเจ้า แถมวิธีการบูชาก็เห้ย อิน รักใครชอบใคร ก็ให้เอารูปเค้าติดฝาบ้านตัวเองเยอะๆ เดี๋ยวเค้าเห็นว่าเราศรัทธา เค้าก็จะสนับสนุนเราดี แต่ถ้ามากไป เทพอื่นเค้าก็หมั่นไส้ ไม่อวยพรนะ 😂 mechanic กับ theme เกมไปด้วยกันได้ดีเลยค่ะ
ข้อเสียของเกมที่เรามองเห็นคือ เรื่องความจุกจิกของของการจะทำ action god ค่ะ ต้องทั้งมี tile ลายตรงกัน แต่สีควรหลากหลาย เพราะมันเป็นตัวจำกัดตัวเลือกในบาง action เช่นกัน แถมถ้ามี tile อยู่ แต่ไม่เคยเอารูปท่านไปแปะฝาบ้าน ก็จะเสีย benefit การส่ง marker ไปใช้คิดคะแนนอีก ในขณะที่การสร้างปิรามิดกลับต้องการลาย และสีที่เหมือนๆ กันเพื่อนับแต้มให้ได้เยอะๆ เอาจริงๆ ก็ปวดหัวดีค่ะ เป็นข้อเสียที่เราชอบ กลายเป็นเกมที่เหมือนจะวิธีเล่นไม่ยาก แต่ก็เล่นให้ดีไม่ง่ายเลย
สำหรับเกมนี้เราเล่นครั้งแรก และเป็นเกมที่เล่น 2 คน ใส่ shadow player มาขัดค่ะ ถือว่าทำออกมาได้ดีในแง่ของเป็นตัวตัดผู้เล่นไม่ให้คิดแต้ม majority ง่ายไป และแย่งวัดพื้นที่ลงเล่นกันได้เป็นระยะ แต่ถ้าเป็น 3 คนขึ้นไปซึ่งการเลือกพื้นที่จะมีการต้องวัดใจกันมากขึ้น น่าจะเดือดพอสมควรเลย
PS; เกมมีโหมด family ในตัวด้วยนะคะ เค้าเคลมว่าปรับเพื่อให้ผู้เล่นอายุต่ำกว่า 9 ปี เล่นได้ง่ายขึ้น เผื่อใครเป็นสายชวนลูกเล่น ก็อาจจะสามารถมองเกมนี้ไว้เป็นตัวเลือกใน collection ได้ค่ะ
โฆษณา