31 ต.ค. 2023 เวลา 11:24 • หุ้น & เศรษฐกิจ

วันนี้เป็นวันออมแห่งชาติก็จะขอคุยถึงเรื่องการเก็บออมเงิน

ทุกวันนี้การเข้ามาของ mobile banking (ธนาคารออนไลน์ที่ให้บริการผ่านแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน) ทำให้การถือเงินสดลดน้อยลงในระดับที่ว่าเมื่อออกจากบ้านไม่จำเป็นต้องพกเงินสดหรือบัตรเครดิตแต่ต้องพกโทรศัพท์มือถือที่มั่นใจว่ามีสัญญาณอินเตอร์เน็ตใช้ตลอดเวลา
ซึ่งความสะดวกสบายก็มาพร้อมกับภัยอันตรายจากคอลเซ็นเตอร์ที่โทรมาหาผู้ใช้โทรศัพท์มือถือรวมถึงตัวผู้เขียนด้วยแทบทุกวัน หรือเว็บหลอกลงทุนที่ขึ้นผ่านหน้าจอมือถือขณะใช้แอพพลิเคชั่นโซเชี่ยลมีเดียต่าง ๆ ซึ่งคอลเซ็นเตอร์หรือเว็บเหล่านี้มักจะใช้จุดอ่อนในเรื่องความโลภ และความกลัวของคนมาทำให้เหยื่อติดกับดัก
การวางแผนการเงินพื้นฐานที่สุดที่ทุกคนต้องเคยได้ยินตอนเด็ก ๆ ก็ เช่น
“มีสลึงพึงบรรจบให้ครบบาท”
“อย่าหมิ่นเงินน้อย อย่าคอยวาสนา”
“เก็บเล็กผสมน้อย”
“เก็บหอมรอมริบ”
ฯลฯ
ตอนเด็ก สมัยเรียนอยู่ ม.๑ ผู้เขียนได้เงินไปโรงเรียนวันละ ๕ บาท จะเก็บไว้ ๑ บาทแล้วนำไปใช้ที่โรงเรียน ๔ บาท เมื่อโตมาถึงได้ทราบว่านี่คือหลักการเก็บเงินตามสมการที่ว่า:
🔹 รายได้ - เงินออม = ค่าใช้จ่าย 🔹
เพราะถ้าใช้สมการ รายได้ - ค่าใช้จ่าย = เงินออม ก็คงจะไม่มีเหลือเก็บเพราะใช้จนหมดแน่นอน
พอเก็บเงินได้จำนวนมากก็เอาไปอวดพ่อ พ่อก็บอกว่าให้เอาไปฝากธนาคารจะได้รับดอกเบี้ย สมัยก่อนธนาคารให้ดอกเบี้ยสูงมากประมาณ ๑๐% ต่อปี ดังนั้นผู้ที่ทำงานจนเกษียณอายุหากได้รับเงินเมื่อออกจากงาน ๒,๔๐๐,๐๐๐ บาท ก็จะได้ดอกเบี้ยปีละ ๒๔๐,๐๐๐ บาท เท่ากับว่ามีเงินใช้เฉลี่ยเดือนละ ๒๐,๐๐๐ บาท ก็สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างไม่ขัดสน
แต่ปัจจุบันเงินฝากธนาคารดอกเบี้ยลดลงเหลือเฉลี่ยไม่เกิน ๑% ทำให้คนที่มีเงินเก็บจำต้องหาแหล่งเงินออมที่ให้ผลตอบแทนสูง ซึ่งเราเรียกกันว่าลงทุน ที่นิยมกันก็คือลงทุนในหุ้นกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถ้าไม่ถนัดก็ลงทุนในกองทุนรวมหุ้นซึ่งจะมีผู้จัดการกองทุนคอยบริหารให้ แต่การลงทุนที่มีผลตอบแทนสูงก็มาพร้อมกับความเสี่ยงที่สูงเช่นกันดังนั้นที่สำคัญที่สุดคือเรื่องของความรู้แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเข้าใจต้องใช้เวลาและประสบการณ์พอสมควร
ดังนั้นเมื่อมีผู้เสนอแหล่งลงทุนที่มักจะโฆษณาว่าลงทุนง่ายได้ผลตอบแทนสูงคนก็มักจะสนใจแล้วก็ตกเป็นเหยื่อที่เรามักจะเห็นในข่าว โดยมากเป็นเรื่องของการฉ้อโกงออนไลน์โดยลักษณะคือการชวนลงทุนในช่วงแรกก็จะได้ผลตอบแทนสูงตามที่ได้รับการโฆษณาแต่มีเงื่อนไขคือต้องไปชักชวนผู้อื่นให้มาลงทุนต่อในลักษณะเป็นแชร์ลูกโซ่และในที่สุดก็จะไม่ได้รับเงินคืนเลยก็จะรู้ตัวว่าถูกหลอก
บางครั้งก็มาในรูปแบบของแอพหลอกให้กู้เงินที่ผู้กู้จะต้องจ่ายค่าดำเนินการเข้าไปในแอพก่อนแล้วถูกหลอกให้เพิ่มจำนวนขึ้นไปเรื่อย ๆ และสุดท้ายก็จะไม่ได้เงินกู้ และยังสูญเสียเงินที่เป็นค่าดำเนินการจึงรู้ตัวว่าถูกหลอก ผู้เขียนเคยพบจำเลยตัวจริงในคดีแบบนี้ซึ่งเป็นเยาวชนในขณะปฏิบัติหน้าที่ของที่ปรึกษากฎหมายแต่โชคดีที่ผู้ปกครองมีเงินมาจ่ายค่าเสียหายให้กับผู้เสียหาย คดีจึงเป็นอันยุติได้
เนื่องในวันออมแห่งชาติ ก็ถือเป็นโอกาสอันดีที่ผู้อ่านที่ไม่เคยตรวจสุขภาพการเงินของตัวเองมาก่อนจะได้ลองตรวจสอบสุขภาพการเงินของตัวเองดู โดยรวบรวมรายการทรัพย์สิน และหนี้สินทั้งหมด
หากพบว่าทรัพย์สินมากกว่าหนี้สินก็แสดงว่าสุขภาพการเงินแข็งแรง แต่หากหนี้สินมากกว่าทรัพย์สินก็แปลว่าสุขภาพการเงินต้องปรับปรุง หากมีทรัพย์สินที่ก่อให้เกิดรายได้โดยไม่ต้องทำงานเลย เช่นได้รับค่าเช่าบ้านเป็นประจำ ได้รับเงินปันผลจากการลงทุนเป็นประจำ ได้รับเงินจากส่วนแบ่งของผู้ที่ซื้อเฟรนไชส์ของเราเป็นประจำ ฯลฯ แสดงว่าสุขภาพการเงินแข็งแรงมาก
ขอให้ในวันออมแห่งชาตินี้ผู้อ่านทุกท่านได้ทบทวนสุขภาพการเงินของตนเองถ้าใครดีอยู่แล้วก็ขอให้ดียิ่งขึ้นหากใครที่ยังไม่น่าพอใจก็ขอให้มีสติในการ ใช้ชีวิตในเรื่องการเงินไม่ตกเป็นเหยื่อของภัยอันตรายจากมิจฉาชีพทั้งหลาย
หากใครสุขภาพการเงินยังไม่แข็งแรง มีหนี้เป็นจำนวนมากกว่าทรัพย์สิน ผู้เขียนเคยเขียนเรื่องการบริหารการใช้จ่ายไว้โดยเขียนจากประสบการณ์ตรงที่ใช้แก้ปัญหาได้สำเร็จมาแล้วอ่านได้ที่ https://intrend.trueid.net/post/26728
#FinanceAndLaw
#ทนายน้อยหน่า
ผู้ประกอบวิชาชีพรับอนุญาตจาก คปภ., กลต.,
สภาทนายความ
๓๑ ตุลาคม ๒๕๖๖
ภาพ: เมื่อครั้งรับวุฒิบัตรที่ปรึกษาการเงิน AFPT จากสมาคมนักวางแผนการเงินไทย
โฆษณา