Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Anuj
•
ติดตาม
1 พ.ย. 2023 เวลา 02:25 • ปรัชญา
สงคราม ความล้นเหลือและความขัดสน
สงครามเป็นการขยายหรือรักษาพื้นที่ อำนาจ และการบริโภค โดยการใช้กำลังความรุนแรง เพื่อบรรลุหรือรู้ผลในเวลาอันสั้น ตลอดเวลาประวัติศาสตร์อันยาวนานนับหมื่นปี มนุษย์ได้ขยายการตั้งถิ่นฐานไปทั่วโลก เป็นผู้บริโภคสูงสุด ประวัติศาตร์นี้จึงเต็มไปด้วยสงคราม เกรอะกรังไปด้วยเลือด
บัดนี้มนุษย์ได้ถิ่นฐานจนแน่นโลก และเตรียมตัวที่จะไปตั้งถิ่นที่ดวงจันทร์ และดาวอังคาร สงครามที่มนุษย์กระทำต่อธรรมชาติแวดล้อม พืชและสัตว์ และกับมนุษย์ด้วยกัน จึงต่างกับสงครามในอดีต ทั้งในด้านขนาด รูปแบบ และผลกระทบ เป็นสงครามเดียวที่มนุษย์สามารถทำลายตนเองจนสูญพันธุ์ได้
ไม่ว่าสงครามจะเปลี่ยนไปอย่างไร พื้นฐานก็ยังเป็นเรื่องของพื้นที่ อำนาจ และการบริโภค นั่นคือ มีความสัมพันธ์กันระหว่างสงคราม กับความล้นเหลือและความขัดสน ซึ่งจะกล่าวต่อไป
โดยทั่วไป ความล้นเหลือบ่มเพาะสงคราม โดยเมื่อพื้นที่หนึ่ง มีความล้นเหลือมาก บ่งบอกถึงความเจริญและอำนาจ ก็ไปรุกรานดินแดนอื่นมาไว้ในปกครอง หรือในดินแดนหนึ่งที่มีความล้นเหลือสูง ก็ตกเป็นเป้าหมายให้พื้นที่อื่นต้องการโจมตีปล้นชิงความมั่งคั่งนั้น ถึงขั้นเผาทำลายเมืองนั้นๆไปด้วย
ในช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์ ได้เกิดลัทธิจักรวรรดิ และลัทธิอาณานิคมขึ้น โดยชาติต่างๆในยุโรปได้เข้ายึดครองดินแดนและประชากรเกือบทั้งโลกเป็นอาณานิคมหรือกึ่งอาณานิคม ซึ่งยังมีซากเดนตกค้างอยู่ถึงปัจจุบัน เช่น ลัทธิคนขาวเป็นใหญ่ ลัทธิชาติพิเศษหรือชาติที่ถูกเลือก เกิดเป็นความสัมพันธ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ซับซ้อน แต่กฎเกณฑ์ยังคงเป็นอย่างง่ายๆว่า สงครามเป็นเครื่องมือในการสร้างความล้นเหลือแก่ตนเอง และโยนความขัดสนให้ผู้อื่น ในเวลาอันสั้น
โลกในขณะนี้แปลกกว่าในยุคก่อนคือ ด้านหนึ่งมีความล้นเหลือมหาศาล อีกด้านหนึ่งมีความขัดสนอย่างเหลือเชื่อ โลกถูกแบ่งเป็น 2 ส่วนคือที่มั่งมีกับส่วนที่ไม่มี สิ่งนี้เกิดขึ้นทั้งภายในชาติหนึ่ง และระหว่างประเทศ เป็นเชื้อเพลิงสำหรับสงครามในสมัยนี้ ซึ่งพื้นฐานได้แก่ ทรัพยากรของโลกขาดความอุดมสมบูรณ์ เกิดมลพิษของเสีย และภัยธรรมชาติรุนแรง ทำให้โลกเคลื่อนไปสู่ความขัดสนอย่างแก้ไขได้ยาก
ด้านหนึ่งเกิดความรู้สึกแหนหวง อีกด้านหนึ่งเกิดความต้องการปล้นชิงพื้นที่และทรัพยากรเหล่านี้ เกิดการปะทะแย่งชิงความเป็นใหญ่ทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่เร่งความขัดสนขึ้นอีก
นอกจากนี้ ในทางเศรษฐกิจ ยังมีเชื้อเพลิงแห่งสงครามกระจายอยู่ทั่วโลก2 แบบด้วยกัน เชื้อเพลิงเหล่านี้เกี่ยวเนื่องกับการที่ธรรมชาติขาดความอุดมสมบูรณ์ แบบแรกได้แก่หนี้สินที่พอกพูนขึ้นทุกที เห็นชัดในช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด-19 เป็นเหมือนการเป่าลมทรัพย์สินหรือความล้นเหลือให้ดูใหญ่สวยงามน่าชื่นชม ส่วนของจริงเล็กกว่ามาก การก่อหนี้ที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการขยายการเติบโตทางเศรษฐกิจ จึงใช้ได้ยากขึ้น ความขัดสนรออยู่ที่หน้าประตู
เชื้อเพลิงแห่งสงครามในด้านเศรษฐกิจแบบที่สองได้แก่ ความเหลื่อมล้ำ เป็นพลังสนับสนุนลัทธิจักรวรรดิและลัทธิอาณานิคม สงครามสมัยนี้ที่สำคัญเป็นเพื่อรักษาความเหลื่อมล้ำไว้ ผู้อ่อนแอกว่าถูกสังหาร หรือถูกทำให้ขัดสนยิ่งกว่าเดิม
สงครามที่คล้ายกับเป็นทางออกง่ายๆ อย่างเคยปฏิบัติกันในอดีต ขณะนี้ยิ่งทำให้เรื่องทั้งหมดเลวร้ายลง สงครามเป็นเครื่องหมายและสัญญาณความขัดสนของผู้คน มีแต่การยุติสงครามลง มนุษย์จึงสามารถแก้ไขปัญหาความล้นเหลือและความขัดสนได้อย่างทั่วถึงและหมดจด
ภาพประกอบบทความโดย กันต์รพี โชคไพบูลย์
การเมือง
ปรัชญา
ความคิดเห็น
บันทึก
2
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย