2 พ.ย. 2023 เวลา 08:00 • การตลาด

สงครามน้ำเมาเดือด! ‘สิงห์-ช้าง-ไฮเนเก้น’ รุมรับน้องใหม่ ‘คาราบาว ตะวันแดง’

ภาพรวมตลาดเบียร์ในประเทศไทยมีมูลค่าประมาณ 2.7 แสนล้านบาท โดย 3 ขั้วใหญ่ ที่ทำตลาด ประกอบด้วย บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ของ “ตระกูลภิรมย์ภักดี” มีสินค้าหลากแบรนด์ในพอร์ตโฟลิโอ เช่น เบียร์สิงห์ ลีโอ ฯลฯ และบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด(มหาชน) ของราชันย์น้ำเมา “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” มีแบรนด์ ช้าง อาชา ฯลฯ เสิร์ฟคนไทย และกลุ่มธุรกิจทีเอที บิ๊กแบรนด์ระดับโลกจากเนเธอร์แลนด์ที่มี ไฮเนเก้น ครองความเป็นหนึ่งในเซ็กเมนต์พรีเมียม
1
ผู้ท้าชิงใหม่ลงสนาม ซึ่งแม่ทัพคนสำคัญ อย่าง “เสถียร เสถียรธรรมะ” ได้ประกาศจะต่อยอดความสำเร็จในการทำตลาดน้ำเมาสีอำพันผ่านโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดงมากว่า 20 ปี และสร้างประวัติศาสตร์ให้เกิดขึ้นอีกครั้ง
2
“คาราบาว” และ “ตะวันแดง” 2 แบรนด์เบียร์ใหม่
1
เสถียร ประกาศทุ่มงบลงทุนกว่า 4,000 ล้านบาท สร้างโรงงานผลิตเบียร์ที่มีกำลังการผลิตประมาณ 400 ล้านลิตรต่อปี แต่ใช้กำลังผลิตเบื้องต้นยังไม่เต็มที่เพื่อตอบสนองผู้บริโภค พร้อมกันนี้ กลุ่มคาราบาว โดยบริษัท โรงเบียร์ตะวันแดง 1999 จำกัด จะเปิดตัวเบียร์ 2 แบรนด์ใหม่ ได้แก่ “คาราบาว” และ “ตะวันแดง” อย่างเป็นทางการวันที่ 9 พ.ย.นี้
2
เบียร์น้องใหม่ยังจัดเต็มติดอาวุธการตลาดด้วย Sport Marketing กับแคมเปญใหญ่หวังดึงดูดชาวไทยไปสัมผัสประสบการณ์ฟุตบอลระดับโลก คาราบาว คัพ นัดชิง ที่กลุ่มคาราบาว เพิ่งทุ่มเงิน 18 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 800 ล้านบาท ต่อสัญญาเป็นผู้สนับสนุน คาราบาว คัพ (Carabao Cup) การแข่งขันฟุตบอลในอังกฤษ ไปอีก 3 ปี คือ ฤดูกาลแข่งขัน 2024/2025, 2025/2026 และ 2026/2027
2
เสถียร เคยกล่าวว่า ในการทำตลาดเบียร์ครั้งนี้ภายใต้แบรนด์คาราบาวและตะวันแดง ต้องการเป็นขั้วที่ 3 ของค่ายเบียร์ยักษ์ใหญ่ของเมืองไทย บริษัทจึงทุ่มสุดตัวทั้งเม็ดเงินก้อนโต และการร่วมมือกับสถาบัน VLB BERLIN ผู้เชี่ยวชาญการวิจัยและพัฒนาเบียร์ยาวนานถึง 140 ปี มาช่วยดูแลและพัฒนาคุณภาพสินค้า
1
สำหรับผลิตภัณฑ์เบียร์ 2 แบรนด์ ที่ออกมาทำตลาดมีทั้งสิ้น 5 ชนิด ได้แก่ 1.เบียร์ลาร์เกอร์ 2.บียร์ดำ หรือ Dunkel 3.เบียร์ไวเซ่น 4.เบียร์โรเซ่ และ5.เบียร์ไอพีเอ(India Pale Ale:IPA) โดยสินค้ามีทั้งแบบขวดแก้วและกระป๋อง ดังนี้ แบบขวดแก้วขนาด 620 มิลลิลิตร (มล.) กระป๋อง 490 มล. และกระป๋อง 320 มล. และจุดเด่นของเบียร์น้องใหม่คือการยึดกฎการทำเบียร์เยอรมัน(German Purity Law) ที่มีวัตถุดิบแค่มอลต์ ฮอปส์ และยีสต์เท่านั้น เพื่อตอบสนองนักดื่ม
2
จาก “ฐาปน” ถึง “เสถียร”
ไทยเบฟเวอเรจ แม้ธุรกิจ “เบียร์” ในไทยยังเป็นรอง ส่วนแบ่งตลาดไล่หลัง “บุญรอดบริวเวอรี่” หรือค่ายสิงห์ แต่ ไทยเบฟ ยิ่งใหญ่และแข็งแกร่งในตลาดเบียร์ระดับภูมิภาคอาเซียนเพราะมีส่วนแบ่งทางการตลาด “แถวหน้า” (รวมเบียร์ของไทยเบฟและ SABECO เวียดนาม เบียร์ในประเทศเมียนมา)
ในงานแถลงแผนประจำปี 2566 ของไทยเบฟ แม่ทัพใหญ่อย่าง “ฐาปน สิริวัฒนภักดี” ได้กล่าวตอนหนึ่งว่า มีโอกาสได้เจอคุณอาเสถียร ยังเอ่ยถึงเลยว่าที่ท่านตัดสินใจเข้ามาลงทุนในธุรกิจเบียร์ และกำลังออกสินค้าตัวใหม่ เป็นเรื่องที่ดี และเป็นการสร้างสรรค์ในเรื่องแข่งขันของตลาด ซึ่งผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์
1
“ตราบใดที่เป็น Healthy Competition มองว่าการแข่งขันเป็นเรื่องปกติ เราคงบอกไม่ได้ว่าเราเห็นการแข่งขันเป็นเรื่องที่ไม่ดี ขณะที่ในการทำธุรกิจเราต้องปรับตัวตลอดเวลา โดยเฉพาะการเรียนรู้พฤติกรรมผู้บริโภค เพิ่มขีดความสามารถขององค์กร การแข่งขันเป็นเรื่องปกติ ที่สุดแล้วต้องอยู่ในกฎเกณฑ์ กติกาเดียวกัน ไม่งั้นลำบาก”
สำหรับการบุกตลาดเบียร์ของไทยเบฟ นอกจากในประเทศได้ออกสินค้าใหม่เซ็กเมนต์พรีเมียมอย่างช้าง อันพาสเจอร์ไรซ์ บริษัทยังเดินหน้าขยายตลาดต่างประเทศต่อเนื่อง โดยเฉพาะการทุ่มงบลงทุน 4,000 ล้านบาท สร้างโรงงานผลิตเบียร์ในประเทศกัมพูชา ยังเดินหน้าขยายโรงงานผลิตเบียร์ในประเทศเมียนมา ผ่านเฟรเซอร์แอนด์นีฟ(เอฟแอนด์เอ็น) และซาเบโก้(SABECO) เดินหน้าซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นในกลุ่มโรงเบียร์ต่างๆ เพื่อเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ด้วย
3
โฆษณา