1 พ.ย. 2023 เวลา 17:37 • ประวัติศาสตร์

110 ปี ที่คนไทยมีนามสกุล

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ออกตรา “พระราชบัญญัติขนานนามสกุล พระพุทธศักราช ๒๔๕๖” เมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ.2455 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2456
เพื่อให้คนไทยทุกคนต้องมีชื่อตัวและชื่อสกุลให้แพร่หลายทั่วถึงพลเมืองตลอดทั่วพระราชอาณาจักรเพื่อที่จะได้ทราบรูปพรรณสัณฐานบุคคล และเทือกเถาเหล่ากอสืบมาแต่บิดามารดาใด เพื่อที่จะได้จัดทำทะเบียนคนเกิด คนตาย และการจดทะเบียนสมรสไว้เป็นหลัก มาจนถึงบัดนี้ (พ.ศ.2566) ก็เป็นเวลา 110 ปี บริบูรณ์
นับแต่โบราณมา จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) คนไทยเราไม่เคยมีนามสกุลใช้มาก่อน มีเพียงชื่อเรียกเดี่ยว ๆ แถมแต่ละคนยังมีชื่อเรียกซ้ำกันอีกด้วย
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักถึงความสำคัญของนามสกุล ซึ่งทรงมีพระราชดำรินี้มาตั้งแต่ยังไม่ได้ทรงครองราชสมบัติ ดังเช่นพระราชนิพนธ์ "ฉายาหรือชื่อแซ่" ในวารสารทวีปัญญา พ.ศ.2449 ที่กล่าวถึงมูลเหตุแห่งการมีนามสกุลในฝั่งยุโรป และความสำคัญของการใช้นามสกุล
พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสกุลโดยทรงพิจารณาจากบรรพบุรุษผู้เป็นต้นสกุล ตัวอย่างเช่นนามสกุล “บุณย์รัตพันธุ์” ใช้ตามนามของเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช (บุญรอด) ผู้เป็นบรรพบุรุษที่มีชื่อเสียงปรากฏในพงศาวดาร เป็นผู้ที่ได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณพระมหากษัตริย์ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริตและจงรักภักดี เป็นตัวอย่างอันดีแก่บุตรหลาน
ดังนั้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ออกตรา "พระราชบัญญัติขนานนามสกุล พระพุทธศักราช ๒๔๕๖" ขึ้น โดยออกประกาศในวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ.2455 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2456 เป็นต้นไป
ด้วยทรงพระราชดำริเห็นว่าคนไทยทุกคนควรจะมีทั้งชื่อตัวและชื่อสกุล เพื่อช่วยกำหนดตัวบุคคลได้แน่นอนกว่าการเรียกชื่อเพียงอย่างเดียว และทรงวางหลักสำคัญในการสืบสกุลไว้โดยถือเอาสายสัมพันธ์ทางบิดาผู้ให้กำเนิดแต่ฝ่ายเดียว
"พระราชบัญญัติขนานนามสกุล พระพุทธศักราช ๒๔๕๖" ได้แสดงไว้อย่างชัดเจนถึงการที่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้ประกาศให้ทราบทั่วกันว่า
“....ทรงพระราชดำริห์เห็นสมควรจะมีบัญญัติวิธีจดฐะเบียรคนเกิด คนตาย และ ทำงานสมรส ให้เปนการมั่นคงชัดเจนสืบไป แลวิธีจดฐะเบียรอันนี้ย่อมอาศรัยสอบสวนตำหนิรูปพรรณสัณฐานบุทคนแลเทือกเถา เหล่ากอสืบมาแต่บิดามารดาใด ให้ได้ความแม่นยำก่อนจึงจะทำได้ เพื่อจะให้เป็นผลสำเร็จดังพระราชประสงค์นี้ทรงพระราชดำริห์ว่าบุทคนทุกๆคนจำ ต้องมีทั้งชื่อตัวและชื่อสกุล แลวิธีขนานนามสกุลนั้น ควรให้ใช้แพร่ลายทั่วถึงประชาชนพลเมืองตลอดทั้งพระราชอาณาจักร....”
นอกจากการจัดตั้งนามสกุลจะเป็นแนวทางหนึ่งของการจัดระเบียบสังคมตามโลกตะวันตกแล้ว ยังเป็นเครื่องเตือนใจให้เจ้าของสกุลประพฤติแต่สิ่งดีงาม เพื่อรักษาเกียรติของสกุล ตลอดจนเป็นหลักของการสืบเชื้อสาย และก่อให้เกิดความเป็นหมู่คณะด้วย
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชหฤทัยคิดถึง "เจ้าพระยายมราช" ผู้เป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในสมัยนั้นเป็นคนแรก จึงทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงเจ้าพระยายมราชเป็นการส่วนพระองค์ และพระราชทานนามสกุล"สุขุม" ให้แก่เจ้าพระยายมราช (ปั้น) เป็นสกุลแรก เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ.2456 ทั้งที่ยังมิได้มีการประกาศใช้ "พระราชบัญญัติขนานนามสกุล" อย่างไรก็ตามในประกาศชุดแรกตามพระราชบัญญัตินี้ นามสกุล "สุขุม" ที่ทรงพระราชทานแด่เจ้าพระยายมราช ก็ได้ถูกแสดงไว้เป็นรายการที่ 1 ด้วย
นามสกุลพระราชทาน 5 สกุลแรก มีดังนี้
1. สุขุม พระราชทานแก่เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เสนาบดีกระทรวงนครบาล
2. มาลากุล พระราชทานแก่พระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ (ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ เป็นเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี) เสนาบดีกระทรวงธรรมการ กับพระยาอนุรักษ์ราชมณเฑียร (ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยาธรรมาธิการณาธิบดี) เสนาบดีกระทรวงวัง
3. พึ่งบุญ พระราชทานแก่พระยาประสิทธิ์ศุภการ (ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยารามราฆพ ) จางวางมหาดเล็กห้องพระบรรทม
4. ณ มหาไชย พระราชทานแก่พระยาเทพทวาราวดี (ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระบาบำเรอบริรักษ์) อธิบดีกรมมหาดเล็ก
5. ไกรฤกษ์ พระราชทานแก่พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ อธิบดีกรมชาวที่ และพระยาจักรปาณีศรีศีลวิสุทธิ์ (ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยามหิธร) กรรมการศาลฎีกา
นามสกุลพระราชทาน เป็นนามสกุลที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อพระองค์จะพระราชทานนามสกุลแก่ผู้ใด พระองค์จะทรงศึกษาให้ทราบถึงความเกี่ยวดองซึ่งกันและกันของแต่ละสกุลโดยละเอียด หากทรงพบว่าบรรพบุรุษได้ทำคุณงามความดีมีวิทยฐานะและอาชีพอะไร ก็จะทรงแปลงคำมาจัดสรรให้ได้มงคลนามต่างๆ ขึ้นให้ไพเราะเหมาะสม
นามสกุลที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานไว้มีทั้งสิ้น 6464 นามสกุล แยกเป็นนามสกุลตามสมุดทะเบียน 6439 (ในสมุดทะเบียนลงลำดับที่นามสกุลที่ได้รับพระราชทานไปเพียง 6432 นามสกุล) นามสกุลพิเศษ 1 นามสกุล และนามสกุลสำหรับราชสกุลรัชกาลที่ 4 อีก 24 นามสกุล
นามสกุลพิเศษที่มิได้ลงลำดับในสมุดทะเบียนนามสกุลคือ ณ พิศณุโลก พระราชทานหม่อมคัธริน ในสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ
นามสกุลสุดท้ายที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน คือ ตันตริยานนท์ พระราชทานแก่ นายประดิษฐ์ ผู้ช่วยนายเวรกรมบาญชีกลาง กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ปู่ชื่อดันก๊กเหลียง บิดาชื่อตันเต็งหยง เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ.2468
ผู้ที่มีอายุน้อยที่สุดที่ได้รับพระราชทานนามสกุลคือ เด็กชายบัว อายุ 6 ขวบ มหาดเล็กรุ่นจิ๋ว ได้รับพระราชทานนามสกุลว่า ศจิเสวี เมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2465
โฆษณา