2 พ.ย. 2023 เวลา 05:58 • ท่องเที่ยว

อัฟกานิสถาน EP 05 – มัสยิดงามเก้าโดม และมัสยิดเขียวในเมือง บัลค์

เมื่อเอ่ยชื่อบัลค์หรือบักเตรีย สิ่งที่ผุดขึ้นมาในความคิดคือ ความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรลูกผสมกรีก-บักเตรีย (Greco - Bactria Kingdom) แหล่งกำเนิดพุทธศิลป์สกุลคันธาระ ศูนย์กลางศาสนาโซโรแอสเตอร์และศาสนาพุทธในยุคโบราณและยุคกลาง คิดแค่นี้ก็ตื่นเต้นที่จะได้ย้อนเวลาไปเยี่ยมชมเมืองที่มีอดีตเก่าแก่ถึงสองสามพันปีแล้ว
พร้อม & prompt! เราพร้อมเยือนโบราณสถาน 4 แห่งจาก 4 ยุคสมัยแล้วค่า
วันนี้เป็นวันสุดท้ายของการท่องเที่ยวใน จว บัลค์ ต้องเปลี่ยนพาหนะจากรถตู้ 2 คันมาเป็นรถตู้คันใหม่แต่ไม่ใหม่ 1 คันและรถแท็กซี่อีก 1 คันเพราะรถตู้ 2 คันเดิมต้องกลับไปรอรับพวกเราที่สนามบินคาบูลเที่ยงวันรุ่งขึ้น เนื่อง จากอุโมงค์ซารังที่สร้างโดยความร่วมมือระหว่างอัฟกานิสถานกับโซเวียตบนถนนระหว่างมาซารีชารีฟกับบามิยันปิดซ่อมแซมหลายเดือน ต้องใช้ถนนชนบท ขับอ้อมไปบามิยัน ฟังว่าอาจใช้เวลา 12 - 13 ช.ม. จะสะบักสะบอมเกินงาม จึงเปลี่ยนเป็นขึ้นเครื่อง บินย้อนลงใต้ไปคาบูล จากนั้นจึงนั่งรถขึ้นเหนือไปบามิยัน
(ระยะทางคาบูล – บามิยันเกือบ 200 ก.ม. ใช้เวลาประมาณ 4 ช.ม.)
ฮอจี ปิยอแด หรือมัสยิดเก้าโดม (Haji Piyada or Nine - Cupola Mosque)
    เมืองบัลค์ห่างจากเมืองเอกมาซารีชารีฟประมาณ 20+ ก.ม. นั่งรถไม่ถึงชั่วโมงก็ถึงจุดหมายแรก(ที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน) ประตูรั้วปิด ต้องโทรให้เจ้าหน้าที่มาเปิดประตูรั้ว ข้างในมีแปลงเพาะปลูกทั้งด้านซ้ายขวา ดูเหมือนแปลงผักผลไม้
สมาชิกตาลีบันพร้อมอาวุธพาเดินไปยังบริเวณที่มีรั้วโปร่งล้อมโบราณสถานไว้อีกชั้นหนึ่ง ด้านในเป็นเนินดินสูง มีนั่งร้านค้ำยันหลายจุดและหลังคาชั่วคราวคลุมด้านบนของโบราณสถานไว้ ที่นี่คือ มัสยิดเก้าโดม (Nine - Cupola Mosque หรือ Masjid-e No Gombad/Noh Gonbad) เพียงแรกเห็นก็ตะลึงในความวิจิตรและอลังการของโครงสร้างที่เหลืออยู่ รวมทั้งความคมชัดของลวดลายปูนปั้นที่ท้าทายกาลเวลามาได้นับพันปี
ชาวอัฟกันเรียกที่นี่ว่า ฮอจีปิยอแด (หรือ ฮาจิพิยะดา Haji Piyada = Walking Pilgrim) ตามชื่อสุสานนักบุญในบริเวณเดียวกัน ชื่อนี้มีที่มาจากนักบุญฮอจีบาบา (Haji Baba = the old man who performs his hajj pilgrimage) ชาวบัลค์ผู้มีศรัทธาแก่กล้า เดินเท้าจากบัลค์ไปแสวงบุญที่เมกกะ ระยะทาง 3,000 กว่า ก.ม. (เดินไป-กลับรวม 6,000 กว่า ก.ม.!) เมื่อกลับมายังบ้านเกิด ได้สร้างมัสยิดนี้ซึ่งอาจจะเป็นแห่งแรกในอัฟกานิสถาน คนท้องถิ่นเชื่อว่า มัสยิดนี้พังเสียหายเพราะถูกกองทัพเจงกิสข่านทำลาย(ในคริสตวรรษที่ 13)
ตำนานเล่าขานไว้เช่นนั้น แต่สิ่งที่ต้องพิสูจน์คือ นักบุญฮอจีบาบามีสถาน ภาพทางสังคม ปัจจัยและกำลังความสามารถมากพอที่จะระดมยอดสถาปนิก ช่างฝีมือและแรงงานทาสมาร่วมรังสรรค์สถานที่ขนาดใหญ่ที่มีสถาปัตย กรรมซับซ้อน งดงามมลังเมลืองเช่นนี้ได้หรือ ปริศนานี้ไม่มีคำตอบและค้างคาเรื่อยมา
จนกระทั่งช่วงทศวรรษที่ 1960s(ปี 2500 เศษ) ลิซ่า โกลอมเบก และเดบราห์ คลิมเบิร์ก ซอลเตอร์ ชาวอเมริกันสองคนมาสำรวจร่องรอยโบราณสถานที่ถูกกองทัพเจงกิสข่านบุกทำลายราวปี ค.ศ. 1220 (พ.ศ. 1763 ก่อนการก่อตั้งสุโขทัย 29 ปี) ชาวอัฟกันพาเธอมายังมัสยิดซึ่งถูกดินกลบสูงถึงครึ่งอาคาร
แต่หลังจากค้นพบที่นี่ไม่นาน อัฟกานิสถานตกอยู่ในภาวะสงครามกลาง เมืองยืดเยื้อนานถึง 40 - 50 ปี โครงการเพื่อฟื้นฟูมัสยิดนี้เพิ่งเริ่มโดยขึ้นทะเบียนกองทุนอนุสรณ์สากลในปี พ.ศ. 2549 และได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานระหว่างประเทศหลายแห่ง การขุดค้นและบูรณะเพิ่งเริ่มในปี พ.ศ. 2552 นี่เอง
ผังศาสนสถานนี้เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาด 20 x 20 ม. มีซุ้มโค้งรวม 15 ซุ้ม ด้านในมีโถง (bay) ระหว่างเสารวม 9 โถง ด้านบนแต่ละโถงเคยมีหลังคาโดม จึงเป็นที่มาของชื่อมัสยิดเก้าโดม แต่ตอนนี้ไม่เหลือโดมหรือโครงหลังคาแล้ว ผนังบางส่วนได้รับการบูรณะขึ้นใหม่แล้ว ยังมีลายปูนปั้นหลงเหลืออยู่ บางส่วนยังชัดเจน
รอบๆเสาและซุ้มโค้งด้านบนเสาที่เคยรองรับหลังคาโดมประดับด้วยปูนปั้นหลายรูปแบบ เช่น ลายกุหลาบโรเซตตา (เอกลักษณ์ของกรีก-โรมัน) ลายเม็ดมะม่วงหิมพานต์ ใบองุ่น การปั๊มลายต่างๆบนอิฐดินหรือปูนปั้นฉาบเสา ยังเหลือร่องรอยสีฟ้าและแดงที่ตกแต่งเสาหรือผนัง สีฟ้าคือลาพิสลาซูรี ผู้รู้ว่า ลวดลายพรรณพฤกษาเช่น ลายใบองุ่นคล้ายคลึงกับลายตกแต่งมัสยิดเมืองซามาร์ราในเมโสโปเตเมียของราชวงศ์อับบาสิด (อิรักปัจจุบัน) ที่สร้างกลางคริสตวรรษที่ 9
เดิมผู้รู้เคยสันนิษฐานว่ามัสยิดเก้าโดมนี้น่าจะได้รับอิทธิพลด้านสถาปัตย์ฯจากอับบาสิด
แต่ผลการทดสอบด้วยคาร์บอนในปี 2560 ระบุว่าที่นี่น่าจะมีอายุราวปลายคริสตวรรษที่ 8 ถึงต้นคริสตวรรษที่ 9 (ตรงกับช่วงกลางยุคทวาราวดีของเรา) เป็นมัสยิดเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในอัฟกานิสถาน นักโบราณคดีอิตาเลียนชื่อ ตอนเนียตติ (Tonietti) ตั้งข้อสังเกตว่า มัสยิดในซามาร์ราอาจจะได้รับอิทธิพลจากที่นี่ซึ่งมีอายุเก่ากว่า นอกจากนี้ มีการตกแต่งลวดลาย
แบบอื่นๆ จึงสันนิษฐานว่าบางส่วนของมัสยิดอาจจะสร้างหรือตกแต่งในเวลาที่ต่างกัน
นักวิชาการหลายแขนง (นักประวัติศาสตร์ โบราณคดี นักวิชาการด้านแผ่นดินไหว ฯลฯ) ได้ขุดค้น วิจัย ทดสอบด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์ รวบรวมเปรียบเทียบข้อมูล และค่อยๆได้ข้อสรุปทีละเปลาะ(ไม่ใช่ความกระจ่างแจ้งในคราวเดียวตั้งแต่ต้น) เช่น ยืนยันวัตถุประสงค์การปลูกสร้างอาคารเป็นมัสยิดเพราะพบซุ้มมิหรอบ
การขุดค้นต่อไปพบว่า มัสยิดสร้างบนโครงสร้างเดิมของศาสนสถานพุทธ (เนื่องจากช่วงปลายคริสตวรรษที่ 8 สถานภาพของศาสนาพุทธในภูมิภาคนี้เสื่อมถอยลงมาก) เมื่อขุดฐานเสาลงลึกราว 1.5 ม. พบหลักฐานที่เชื่อมโยงกับศาสนสถานของโซโรแอสเตอร์อีก
ข้อมูลด้านแผ่นดินไหวสรุปได้ว่า โดมและโครงสร้างมัสยิดแห่งนี้น่าจะพังทลายลงไม่กี่สิบปีหลังการก่อสร้างเพราะเกิดแผ่นดินไหวขึ้นช่วงต้นคริสตวรรษที่ 9 และเกิดขึ้นอีกครั้งร้อยกว่าปีต่อมา ไม่มีข้อมูลว่าหลังจากนั้นมีการบูรณะหรือไม่ก่อนที่จะถูกกองทัพเจงกิสข่านโจมตีในคริสตวรรษที่ 13
บทความบางชิ้นบอกว่า จุดเด่นของที่นี่คือความลงตัวด้านสถาปัตย์ (แต่ไม่อธิบายรายละเอียดว่าเป็นอย่างไร) และการนำวัสดุที่มีธรรมชาติต่างกันมาผสมผสานใช้ร่วมกัน (เช่น อิฐที่ใช้ก่อเสาอาคาร อิฐที่ใช้ก่อซุ้มโค้ง อิฐดิบที่ใช้ก่อผนังโดยรอบ วัสดุที่ใช้สออิฐแต่ละจุด ปูนปั้นที่ใช้ตกแต่งลวดลาย) ไกด์บอกสุสานฮอจีบาบาอยู่ข้างมัสยิดนี้ แต่เราจำไม่ได้แล้ว
ผู้รู้บางกลุ่มว่า มัสยิดนี้สร้างด้วยสถาปัตย์ฯที่นิยมในภูมิภาคซึ่งได้รับอิทธิพลจากศิลปะซัสซาเนียน(เปอร์เซีย)และพุทธ บ้างว่ามัสยิดนี้เป็นผลงานที่งามวิจิตรชิ้นหนึ่งของสถาปัตย์ฯยุคซามานิด (ซามานิดหรือซามาเนียนปกครองพื้นที่ครอบคลุมแคว้นซามาร์คันด์ เฟอร์กานา ทัชเคนต์และเฮรัต ระหว่าง ค.ศ. 819 - 999 ต้นราชวงศ์นี้เป็นเจ้าที่ดินในแคว้นบัลค์)
แม้แวดวงวิชาการที่เกี่ยวข้องจะมีองค์ความรู้เกี่ยวกับมัสยิดนี้เพิ่มขึ้น แต่ยังคงไขปริศนาว่าใครเป็นผู้สร้างไม่ได้
ตาลีบันสองนาย
ในสมัยก่อนเมื่อถึงเทศกาลวันอี๊ด อัล-อัดฮา ผู้คนจากทั่วสารทิศที่ไม่สามารถไปร่วมพิธีฮัจจ์ที่เมกกะ จะเดินเท้ามาแสวงบุญ ทำทาน สวดมนต์ที่นี่ ประเพณีนี้ยังทำกันสืบเนื่องจนถึงทุกวันนี้และผู้แสวงบุญมักจะสักการะสุสาน ของฮอจีปิยอแดซึ่งอยู่ใกล้อาคารมัสยิดด้วย ฟังว่านักการศาสนาและกวีเอก รูมิ ซึ่งเกิดในแคว้นบัลค์ ผู้เป็นต้นกำเนิดแนวคิดเรื่องระบำหมุนตัว (whirling dervishes) เคยมาแสวงบุญที่นี่เช่นกัน
จุดหมายต่อไปคือมัสยิดเขียวซึ่งไม่ไกลกันนัก ปรากฏว่าสมาชิกตาลีบัน (พร้อมอาวุธปืน)จากมัสยิดเก้าโดมร่วมเดินทางไปกับเราทั้งวัน คันละ 1 คน เดาเองว่าติดตามไปเพื่อช่วยป้องปรามเหตุร้ายที่อาจจะเกิดกับนักท่องเที่ยวมั้ง!?! ตาลีบันทั้งสองคนชโลมกายด้วยไขแพะ กลิ่นฉุนใช้ได้เลย คงทาตัวเพื่อรับมือกับอากาศสุดขั้วที่บัลค์ กลางวันแดดแผดเผา กลางคืนค่อนข้างหนาวเย็น จมูกเล็บพวกเราก็เริ่มปริจนเจ็บเหมือนกัน นั่งรถกันไปสักพัก เริ่มคุ้นเคยกับกลิ่นไขแพะ!
มัสยิดเขียว (Green or Sabz Masjid)
    มัสยิดนี้อยู่ใจกลางเมืองโบราณบัลค์ สร้างเมื่อปี ค.ศ. 1419 - 1421 (พ.ศ. 1962 - 1964 ตรงกับรัชกาลเจ้านครอินทร์ อยุธยาตอนต้น) สมัยชาห์รุคห์ มีร์ซา หรือ ชาห์รุคห์ ข่าน (พระโอรสองค์เล็กที่เกิดจากนางสนมตาเคย์ ตาข่าน อะกา Taghay Tarkhan Agha แต่ได้รับการเลี้ยงดูจากซาราย มุลค์ คานุม พระมเหสี)
บ้างว่ามัสยิดนี้อาจจะสร้างโดยชาห์รุคห์ มีร์ซา บ้างว่าโดย กอว์ฮาร์ ชาด (Gawhar Shad) พระมเหสีของพระองค์
มัสยิดเขียวสร้างด้วยสถาปัตยกรรมติมูริด ซึ่งมีลักษณะเด่นคือ สิ่งปลูกสร้างรวมถึงซุ้มทางเข้าทรงโค้งปลายแหลมมีขนาดใหญ่โตราวกับจะประกาศความยิ่งใหญ่เกรียงไกร มีเสาเกลียว (corkscrew pilaster) ขนาบซ้าย-ขวาของซุ้มทางเข้า การตกแต่งเพดานของโถงทางเข้าแบบหินย้อยหรือรวงผึ้งซ้อนชั้น หรือแบบเพดานเรียบ
ด้านนอกอาคารและซุ้มโค้งทางเข้ากรุด้วยกระเบื้องสี แต่งเป็นลายเรขาคณิต พรรณพฤกษาและอักษรคูฟิก(ใช้ข้อความจากคัมภีร์อัลกุรอาน) โดมหัวหอมแบบเรียบหรือแบบลอนโค้ง (fluted dome) แต่งปลายแบบหินย้อย กรุด้วยกระเบื้องสีฟ้าสดใส
ผนังด้านในนิยมตกแต่งด้วยเทคนิคปาปิเยร์มาเช่ (Papier Mâché) วาดลวดลายสีสันต่างๆ
สถาปัตย์ฯติมูริดรับอิทธิพลจากเปอร์เซีย มองโกลและเอเชียกลางในยุคก่อนหน้าเพราะกวาดต้อนช่างฝีมือจากดินแดนต่างๆที่ยึดครองได้ พัฒนาลักษณะเฉพาะของตน และมีอิทธิพลต่อสถาปัตย์ฯยุคซาฟาวิดและสถาปัตย์ฯมุสลิมในเอเชียกลางยุคต่อมา พวกเราจะได้ชมสถาปัตย์ฯติมูริดแบบเต็มๆอีกครั้งเมื่อไปเที่ยวเมืองเฮรัตช่วงท้ายของทริปนี้
โดมของมัสยิดเขียวเป็นแบบลอนโค้ง เพดานของซุ้มประตูโค้งเป็นแบบเรียบ เสียดายที่ไม่ได้เข้าในมัสยิด จึงไม่ได้ชื่นชมงานตกแต่งผนังด้านใน เราเพ่งพินิจงานกระเบื้องโดยเฉพาะอย่างยิ่งชิ้นที่กรุส่วนโค้งเว้า เช่นแจกันรองรับเสาเกลียว กระเบื้องแต่ละชิ้นผลิตให้เข้ากับความโค้งเว้าของแจกันและเสาเกลียว โดยลวดลายยังต่อเนื่องกับกระเบื้องชิ้นข้างเคียง
ลานโล่งด้านหน้าอาคารมัสยิดมีโลงหินหลายโลง บ้างวางบนฐานยกพื้นสูง ไม่รู้ว่าเป็นสุสานของผู้ใด ในเมืองเก่าบัลค์มีสถานที่แห่งหนึ่งชื่อ ศาล
ควาจา อาบู นัสร์ พาร์ซา (Shrine of Khwaja Abu Nasr Parsa) เป็นสุสานนักการศาสนาคนสำคัญยุคนั้น สร้างปี ค.ศ. 1598 (พ.ศ. 2141 ตรงกับสมัยพระนเรศวร) ไม่แน่ใจว่าคือที่เดียวกับมัสยิดนี้หรือไม่ บางเว็บย้ำว่าอย่าปะปนสับสนกับมัสยิดเขียว
มัสยิดเขียวอยู่ในสภาพทรุดโทรม ยอดของหอขาน/หออะษานซ้าย-ขวาหักพังลงมา กระเบื้องกรุผนังด้านนอกและกรุโดมหลุดร่อนไปมาก ความเสียหายอย่างหนักเกิดจากความเก่าแก่ของมัสยิด ขาดการดูแลรักษามายาว นานและจากสงครามโซเวียต - อัฟกัน (บัลค์อยู่ชนแดนกับสาธารณรัฐสังคม นิยมโซเวียตอุซเบก)
สงครามกลางเมืองต่อเนื่องระหว่างคู่ขัดแย้งที่เปลี่ยนไปนานกว่า 40 ปียิ่งทำให้ขาดการดูแล แม้ว่าปัจจุบันนี้หลังจากกองกำลังนาโต้ภายใต้การนำของสหรัฐอเมริกาได้ถอนทัพออกไปและบ้านเมืองสงบลงแล้ว แต่ถ้ารัฐบาลมีรายได้ไม่เพียงพอ ขาดกำลังคนที่มีความรู้ มัสยิดนี้ก็คงต้องรอคอยไปเรื่อยๆกว่าจะได้รับการบูรณะอย่างจริงจัง
อาณาบริเวณของมัสยิดมีรั้วเหล็กโปร่งสูงเมตรกว่าล้อมไว้ คนท้องถิ่นมานั่งๆนอนๆในและนอกรั้วพอควร
การรุกรานและปกครองโดยจักรวรรดิติมูริด
ช่วงต้นคริสตวรรษที่ 13 เมื่อกองทัพมองโกลของเจงกิสข่านมีชัยชนะเหนือดินแดนแถบนี้แล้ว มีการก่อตั้งรัฐสุลต่านในเครือข่ายของจักรวรรดิมองโกลขึ้นคือ รัฐสุลต่านอิลคาเนต และรัฐสุลต่านชากาไตปกครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของอิหร่านและอัฟกานิสถานปัจจุบัน
ค.ศ. 1370 (พ.ศ. 1913 ตรงกับสมัยพระราเมศวรหรือขุนหลวงพะงั่ว) เมื่อฮุสเซ็นแห่งแคว้นบัลค์ อดีตพันธมิตรของติมูร์ถูกสังหาร ติมูร์แห่งทรานโซเซียนาถือโอกาสเข้าปกครองบัลค์อย่างเป็นทางการ จากนั้นแต่งงานกับซาราย มุลค์ คานุม อดีตมเหสีของฮุสเซ็น และยกย่องให้เป็นมเหสีของตน
ซาราย มุลค์ คานุม เป็นลูกหลานสายตรงของเจงกิสข่านรุ่นที่ 7 (สายชากาไต - ลูกชายคนที่สามในจำนวนลูกชายสี่คนของเจงกิสข่าน) ตามประเพณีของมองโกล ติมูร์ไม่มีสิทธิ์ครองตำแหน่งข่านหรือปกครองดินแดนของมองโกลเพราะพ่อเป็นหัวหน้าเผ่าเติร์กแม้ว่าแม่จะเป็นมองโกล การแต่งงานกับซาราย มุลค์ คานุมทำให้มีฐานะเป็นราชบุตรเขย ขึ้นครองตำแหน่งข่านหรือปกครองดินแดนของมองโกลได้ และสถาปนาจักรวรรดิติมูริด
(ซาราย มุลค์ คานุมคือ ผู้เลี้ยงดู ชาห์รุคห์ มีร์ซาเสมือนโอรสของตน และตามข้อสันนิษฐานก็คือ เป็นผู้สร้างมัสยิดและมาดราสซา บีบี้ คนุมในเมืองซามาร์คันด์ อุซเบกิสถาน)
ค.ศ. 1381 (พ.ศ. 1924 ตรงกับสมัยขุนหลวงพะงั่ว) แม้จะครอบครองดินแดนส่วนใหญ่ของโฆราซานแล้ว ติมูร์ยังขยายดินแดนต่อไป เข้าโจมตีเฮรัต ราชธานีของราชวงศ์คาร์ติด เฮรัตถูกทำลายล้างเพราะต่อสู้แข็งขืน ประชาชนถูกสังหารเกือบหมดสิ้น จากนั้นเข้าโจมตีและยึดกันดาฮาร์ และเดินหน้ายึดครองรัฐสุลต่านอิลคาเนต รัฐสุลต่านชากาไต รวมถึงแว่นแคว้นแถบคอเคซัส
ค.ศ. 1405 (พ.ศ. 1948 ตรงกับสมัยสมเด็จพระรามราชาธิราช โอรสพระราเมศวร) หลังจากติมูร์เสียชีวิตระหว่างเดินทางจะไปทำศึกทวงคืนดินแดนจีนจากราชวงศ์หมิง (ซึ่งโค่นล้มราชวงศ์หยวนของมองโกล) เกิดการต่อสู้แย่งชิงบัลลังก์ระหว่างพระโอรสนานหลายปี
สุดท้ายในปี ค.ศ. 1409 (ตรงกับสมัยเจ้านครอินทร์) ชาห์รุคห์ มีร์ซา พระโอรสองค์เล็กชนะและสืบทอดบัลลังก์ของจักรวรรดิติมูริดทางตะวันออก ครอบคลุมรัฐสุลต่านอิลคาเนต และรัฐสุลต่านชากาไต (คือส่วนใหญ่ของเปอร์เซีย ทรานโซเซียนา และอัฟกานิสถานปัจจุบัน)
มัสยิดเขียวนี้สร้างขึ้น 10 - 12 ปีหลังจากชาห์รุคห์ มีร์ซาขึ้นปกครองจักรวรรดิ
เมื่อถ่ายรูปและชมมัสยิดเขียวจนพอใจและสมควรแก่เวลา ชาวเรานั่งไทม์แมชชีนย้อนกลับไปยังอาณาจักรลูกผสมกรีก-บักเตรีย
To be continued in EP 06
โฆษณา