Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Bank of Thailand
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
3 พ.ย. 2023 เวลา 14:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
การลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด: การพัฒนาทุนมนุษย์
ในระหว่าง 2-3 ขวบแรกของผม ซึ่งร่างกายและสมองของผมกำลังเติบโตในระยะที่สำคัญ ผมต้องการให้แม่ผมกับตัวผมได้รับประทานอาหารที่เป็นคุณประโยชน์ ผมต้องการไปโรงเรียน พี่สาวหรือน้องสาวผมก็ต้องการไปโรงเรียน จะได้มีความรู้หากินได้ และจะได้รู้คุณธรรมแห่งชีวิต ถ้าผมมีสติปัญญาเรียนชั้นสูง ๆ ขึ้นไป ก็ให้มีโอกาสเรียนได้ ไม่ว่าพ่อแม่ผมจะรวยหรือจน จะอยู่ในเมืองหรือชนบทแร้นแค้น”
ข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งของข้อเขียน “คุณภาพแห่งชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง: จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” โดย ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ในวาระที่บทความนี้มีอายุครบ 50 ปี การสัมมนาวิชาการของแบงก์ชาติปีนี้จึงจัดขึ้นในหัวข้อ “คน: The Economic of Well-Being” ซึ่งพาทุกท่านไปสำรวจชีวิตคนเราตั้งแต่วัยเด็ก วัยทำงาน จนถึงวัยชรา
ช่วงที่ผมประทับใจที่สุด คือ ช่วง “การพัฒนาทุนมนุษย์” ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมากและครอบคลุมในหลายมิติ ผู้จัดเชิญทั้งนักเศรษฐศาสตร์ “ดร.วีระชาติ กิเลนทอง” ที่วิจัยเรื่องทุนมนุษย์มาอย่างต่อเนื่อง “พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร หรือหมอโอ๋” ผู้เป็นทั้งกุมารแพทย์และคุณแม่ เจ้าของเพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน และ “ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล หรืออาจารย์ฮูก” นักการศึกษาจากคณะครุศาสตร์จุฬาฯ มานำเสนอมุมมองให้ร่วมด้วยช่วยคิดกัน
ดร.วีระชาติ อธิบายว่าทุนมนุษย์คือศักยภาพของมนุษย์ในการทำงาน (productivity) และการดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพ (quality of life) ทุนมนุษย์จึงประกอบไปด้วยหลายอย่าง เช่น ทักษะการแก้ปัญหา การสื่อสาร IQ EQ บุคลิกภาพ สุขภาพกายและใจ บ้านเมืองที่มีทุนมนุษย์ดีจะสามารถสร้างนวัตกรรม ทำให้เศรษฐกิจเติบโต นำไปสู่ความอยู่ดีกินดีได้
เรารู้ว่าทุนมนุษย์สำคัญ แต่เรารู้น้อยมากว่าควรทำอย่างไรดีในการพัฒนาทุนมนุษย์ จนอาจเรียกได้ว่าไม่มีสูตรสำเร็จ อย่างไรก็ดี นักวิจัยล้วนมั่นใจว่าการลงทุนในช่วงเด็กปฐมวัยมีผลตอบแทนในการพัฒนาทุนมนุษย์สูงที่สุด สาเหตุเพราะทักษะที่สั่งสมในช่วงเริ่มต้นของชีวิตจะส่งผลดีต่อการพัฒนาทุนมนุษย์ในช่วงเวลาต่อมา
การพัฒนาเด็กในช่วงปฐมวัยขึ้นอยู่กับปัจจัยหลัก 3 ด้าน คือ 1.ครูและโรงเรียน 2.พ่อแม่และการเลี้ยงดู 3.ชุมชนและโครงสร้างพื้นฐาน
ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์สามารถใช้การวิจัยเชิงทดลองเข้ามาช่วยวัดผลของนโยบาย ว่าการลงทุนแบบไหนที่เห็นผลลัพธ์ของการพัฒนาทุนมนุษย์ได้ชัดเจน เช่น การอบรมครูแบบ on-site training ที่ครูได้นำไปใช้ ช่วยเพิ่มคุณภาพการศึกษาปฐมวัยได้จริง เป็นต้น
หมอโอ๋เล่าจากมุมมองด้านสุขภาพและจิตวิทยา ว่า 1.เด็กต้องมีสุขภาพดีจึงจะสามารถพัฒนาสมองได้ดี 2.เด็กต้องมีสุขภาพใจที่ดีโดยเฉพาะกระบวนการพัฒนาตัวตน (self) ของเด็ก การสร้างความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยในช่วงขวบปีแรกเป็นสิ่งที่สำคัญในการสร้าง self ของมนุษย์
รวมถึงการมีโอกาสเล่นและลองผิดลองถูกโดยไม่โดนตำหนิหรือลงโทษ การไม่ถูกตีตราฝังใจว่าเป็นเด็กที่ไม่ได้เรื่อง การพัฒนาตัวตนจะเกิดขึ้นเมื่อเด็กค้นพบว่าตัวเองมีศักยภาพ มีความหมาย และเป็นที่รัก 3.การพัฒนาทักษะการจัดการของสมองขั้นสูง (executive function: EF) เป็นสิ่งสำคัญในการเรียนรู้ โดย EF จะพัฒนาจากการที่เด็กกำหนดเป้าหมาย กำกับตนเอง ทำกิจกรรมจนสำเร็จ
เช่น วาดรูป อ่านนิทาน ช่วยงานบ้าน การมี self-control ทำสิ่งต่าง ๆ จนสำเร็จจะช่วยพัฒนาสมองและการเรียนรู้ และ 4.สังคมต้องช่วยกันโอบอุ้มการเรียนรู้ของเด็ก ไม่ปฏิเสธหรือปัดทิ้งการตั้งคำถามของเด็ก ให้โอกาสในการถาม รับฟังความเห็น หาคำตอบและเรียนรู้ไปด้วยกัน
อ.ฮูก เล่าจากมุมมองของครู ไม่มีใครปฏิเสธว่าคุณภาพการศึกษาขึ้นอยู่กับคุณภาพของครูและโรงเรียนเป็นหลัก อ.ฮูก ชี้ว่ากุญแจสำคัญคือการกระจายอำนาจให้กับครู โรงเรียน และชุมชน เช่น ต้องช่วยให้ครูได้ใช้เวลากับเรื่องห้องเรียนให้มากที่สุดโดยลดภาระงานอื่นที่ไม่เกี่ยวกับการสอน
อีกทั้งโรงเรียนมีความแตกต่างหลากหลาย ไม่มีนโยบายที่ one size fits all ดังนั้น ต้องให้ทรัพยากรแก่โรงเรียนและชุมชนช่วยกันตัดสินใจ เพราะในพื้นที่รู้ดีที่สุด โรงเรียนที่มีชื่อเสียงแต่มีนักเรียนมากถึงห้องละ 40 คน เด็กอาจได้รับคุณภาพการศึกษาต่ำกว่าโรงเรียนที่ไม่ดังแต่นักเรียนน้อยกว่า ทำให้ครูรู้จักเด็กทุกคนและดูแลใกล้ชิดกว่าก็เป็นได้ หรือบางโรงเรียนเลี้ยงทั้งอาหารเช้าและกลางวันทำให้เด็กมีโภชนาการที่ดีและพร้อมจะเรียนรู้ เป็นต้น
ผมอยากชวนทุกท่านฟังคลิปงานสัมมนานี้เพราะยังมีอีกหลายแง่มุมที่ไม่ได้เล่าด้วยพื้นที่มีจำกัด โดยขอทิ้งท้ายว่าการลงทุนเพื่อพัฒนาทุนมนุษย์เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน ทั้งพ่อแม่ลงทุนกับการใช้เวลาคุณภาพมากขึ้นในการเลี้ยงลูก รัฐบาลลงทุนกับการศึกษามากขึ้นโดยอาจลดงบประมาณอื่นที่ไม่จำเป็นลง ชุมชนช่วยกันลงทุนสร้างพื้นที่ส่วนกลางเพื่อการเรียนรู้ โดยอาจระดมผู้สูงอายุมาช่วยดูแลเด็ก ฯลฯ ยังมีอีกหลายช่องทางที่เราลงทุนกับเรื่องนี้ได้ เพราะการพัฒนาทุนมนุษย์คือการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุดครับ
** บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด **
ผู้เขียน : นิธิสาร พงศ์ปิยะไพบูลย์
ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย
ช่องทางติดตามอื่นๆ
Facebook:
https://www.facebook.com/bankofthailandofficial
X:
https://twitter.com/bankofthailand
YouTube:
https://www.youtube.com/bankofthailandofficial
Instagram:
https://www.instagram.com/bankofthailand.official/
Line: @bankofthailand
การเงิน
การลงทุน
เศรษฐกิจ
3 บันทึก
11
4
3
11
4
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย