Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Chasspong A.
•
ติดตาม
6 พ.ย. 2023 เวลา 01:36 • ประวัติศาสตร์
ฟรีดริคที่ 3 - จักรพรรดิผู้อาจเปลี่ยนประวัติศาสตร์โลกได้
ไกเซอร์ ฟรีดริคที่3 แห่งจักรวรรดิเยอรมัน
ความหวังของเสรีนิยมเยอรมันผู้สวรรคตก่อนวัยอันควร
เชื่อไหมว่าครั้งหนึ่ง มีความพยายามโดยจักรพรรดิเยอรมันในการปฏิรูปเพื่อให้พระองค์เองเป็นกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ บางท่านอาจรู้จักจักรพรรดิผู้นี้ แต่สำหรับส่วนใหญ่อาจจะไม่ทราบ ย่อมไม่แปลก เพราะรัชสมัยของพระองค์นั้นแสนสั้นและไม่ได้รับความสำคัญมากเท่าไรในการศึกษาวิชาประวัติศาสตร์ของไทย แต่หารู้ไม่ว่าหากชายผู้นี้มีชีวิตที่ยืนยาวกว่านี้สักนิด ..ประวัติศาสตร์โลกอาจเปลี่ยนไปได้เลยทีเดียว
ไกเซอร์ฟรีดริคที่ 3 มีพระนามเต็มว่า ฟรีดริค วิลเฮล์ม นิคโคเลาส์ คาร์ล แห่งปรัสเซีย ประสูติวันที่ 18 ตุลาคม ค.ศ. 1831 ที่กรุงพอทซ์ดัม ราชอาณาจักรปรัสเซีย เป็นพระราชโอรสในจักรพรรดิ ไกเซอร์วิลเฮล์มที่ 1 กับพระนางเอากุสทาแห่งซัคเซิน-ไวมาร์-ไอเซอนัค
ฟรีดริคทรงสมรสกับเจ้าหญิงวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักรและไอร์แลนด์ พระราชธิดาองค์โตของพระราชินีวิกทอเรียแห่งองักฤษ เมื่อปี 1858 ทั้งคู่มีโอรสธิดาด้วยกันถึง 8 พระองค์ หนึ่งในนั้นคือ ฟรีดริค วิลเฮล์ม วิคทอร์ อัลแบร์ท ผู้ซึ่งจะกลายเป็นจักรพรรดิ ไกเซอร์วิลเฮล์มที่ 2 ในเวลาต่อมา
ใน ค.ศ. 1861 พระราชบิดาของพระองค์ขึ้นครองราชสมบัติ เป็นพระมหากษัตริย์แห่งปรัสเซีย และพระองค์ได้รับสถาปนาเป็นมกุฏราชกุมาร. พระองค์ได้บังคับบัญชากองทัพ และมีชัยชนะในสงครามสเลสวิกครั้งที่สอง ทรงนำทัพในสงครามออสเตรีย-ปรัสเซีย ปี 1866 และสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย ปี 1871 นับได้ว่าทรงมีความสามารถในการบัญชาการรบที่ยอดเยี่ยม
แม้ว่าฟรีดริคจะประสบความสำเร็จในสงคราม และเป็นผู้นำทางทหารที่โด่งดัง ทว่าฟรีดริคกลับแสดงออกถึงการต่อต้านความรุนแรงและความไม่ประสงค์จะทำสงครามอย่างจริงจัง และด้วยคุณธรรมที่สูงส่งของฟรีดริค ทำให้พระองค์เป็นที่กล่าวขานไปยังบุคคลต่างๆ แม้แต่ศัตรูยังยกย่องฟรีดริคว่าเป็นผู้มีมนุษยธรรมสูง
ฟรีดริคในชุดจอมพลของปรัสเซีย
นอกจากจะทรงพระอัจฉริยภาพด้านการทหาร และเป็นผู้มีคุณธรรมแล้ว ยังทรงเป็นบุคคลผู้มีแนวความคิดอันก้าวหน้า ทรงสนับสนุนการปกครองแบบเสรีนิยม รวมถึงการปฏิรูปสภา ทั้งยังหันไปผูกมิตรกับอังกฤษ เหล่านักการเมืองฝ่ายซ้ายของเยอรมันในขณะนั้นจึงตั้งความหวังไว้ที่ฟรีดริคมาก เพราะหวังว่าพระองค์จะทรงปฏิรูปการปกครองเยอรมันให้กลายเป็นกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ และมีรัฐสภาที่มีอำนาจแท้จริงแบบอังกฤษ
ฟรีดริคและมเหสีของพระองค์นับว่าเป็นบุคคลซึ่งมีแนวคิดที่ทันสมัย ฟรีดริครู้สึกว่ารัฐธรรมนูญของจักรวรรดิเยอรมันยุ่งเหยิงและสร้างความโกลาหล เขาวางแผนที่จะแก้ไขจุดบกพร่องในระบบการปกครองเยอรมันแบบอนุรักษนิยมที่มหาเสนาบดีบิสมาร์กวางรากฐานเอาไว้ โดยจะแทนที่สำนักนายกรัฐมนตรีที่ขึ้นตรงต่อจักรพรรดิ ด้วยคณะรัฐมนตรีภายใต้รัฐสภาแบบอังกฤษ
มหาเสนาบดีบิสมาร์กผู้ดื้อรั้นเริ่มกังวลถึงอนาคตของสิ่งที่ตนสร้างขึ้น จักรพรรดิวิลเฮล์มที่ 1 ก็มีพระชนมายุมากแล้ว ทั้งตัวบิสมาร์กเองก็มีอายุถึง 70 บิสมาร์กกลัวว่าเมื่อวันใดวันหนึ่งจักรพรรดิวิลเฮล์มและตนจากโลกนี้ไป และฟรีดริคได้ขึ้นมามีอำนาจ ฟรีดริคจะแต่งตั้งบุคคลหัวก้าวหน้าเสรีนิยมขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี .. บิสมาร์กจึงกีดกันฟรีดริคซึ่งขณะนั้นมีพระยศมกุฎราชกุมารออกจากตำแหน่งต่างๆที่มีอิทธิพลในทางการเมือง และใช้วิธีที่สกปรกต่าง ๆ เพื่อไม่ให้ฟรีดริคเป็นที่นิยม (ตามคำบอกเล่าของ Michael Balfour)
อย่างที่บรรดาผู้ศึกษาประวัติศาสตร์เยอรมันจะทราบดีว่า รัฐเยอรมันน้อยใหญ่ทั้งหลายเพิ่งจะมารวมตัวกันเป็นจักรวรรดิเยอรมันภายใต้การนำของราชรัฐปรัสเซียได้ไม่นาน สถานการณ์ในจักรวรรดิจึงเอาแน่เอานอนไม่ได้ บ้านเมืองยังไม่มีเสถียรภาพ โดยเฉพาะเมื่อบั้นปลายชีวิตกษัตริย์ชรา อย่าง วิลเฮล์มที่ 1 จึงเป็นธรรมดาที่เหล่าขุนนางและนักการเมืองจะต้องเริ่มมองหาหนทางและบุคคลซึ่งพักพิงได้ เรียกสั้นๆคือ แบ่งพรรคพวกเพื่อเกาะแข้งเกาะขาว่าที่กษัตริย์
ด้วยความที่วิลเฮล์มที่1 ซึ่งมีพระชนมายุยืนยาวถึง 90 ปี ทั้งลูกชาย และหลานชายซึ่งเป็นพระรัชทายาทของพระองค์ต่างก็เจริญวัยได้ที่
จากซ้ายไปขวา: ฟรีดริคที่ 3, วิลเฮล์มที่ 1, วิลเฮล์มที่ 2
ว่าที่กษัตริย์ทั้ง 2 พระองค์ คือ ฟรีดริคที่ 3 และ วิลเฮล์มที่ 2 กลับมีแนวคิดที่ต่างกันราวฟ้ากับเหวทั้งที่ทั้งสองเป็นพ่อ-ลูกกัน : ฟรีดริค ผู้พ่อ มีแนวคิดเสรีนิยม มีคุณธรรม และนิยมอังกฤษดังที่กล่าวไว้ ส่วนวิลเฮล์ม ผู้ลูก เป็นพวกชาตินิยมเยอรมัน นิยมความเป็นทหาร ชอบอุปโลกน์ตนเป็นสมมติเทพเสมอต่างจากปู่และพ่อ และวิลเฮล์มไม่ค่อยถูกกับพ่อ-แม่ด้วยเหตุผลหลายอย่าง เช่น เกลียดแม่ซึ่งเป็นชาวอังกฤษ โดยกล่าวโทษว่าหมอซึ่งทำคลอดที่เป็นชาวอังกฤษเป็นผู้ทำให้ร่างกายเขาไม่สมประกอบ
ปลายรัชสมัยของวิลเฮล์มที่ 1 ฟรีดริคประชวรด้วยพระโรคมะเร็งกล่องเสียง ทรงรับการรักษาและการผ่าตัดจากแพทย์ชั้นนำหลายคน แต่พระอาการก็ไม่ได้ดีขึ้น ทรุดหนักลงตลอดเวลา และด้วยพระชนมายุ 50 กว่า ประกอบกับวิทยาการการแพทย์ในสมัยนั้น จึงทำให้พระอาการย่ำแย่ลงเรื่อย ๆ ระหว่างที่พระองค์ประชวร มีประชาชนเยอรมันจำนวนมากมายซึ่งมีความรักในตัวฟรีดริคนำดอกไม้มาถวายและมาเยี่ยมให้กำลังใจพระองค์ที่หน้าประตูรั้วของพระราชวังในทุก ๆ วัน
9 มีนาคม 1888 วิลเฮล์มที่ 1 จักรพรรดิแห่งเยอรมันเสด็จสวรรคต . ฟรีดริค มกุฎราชกุมาร เสด็จขึ้นครองราชย์ในขณะที่พระอาการประชวรแย่ลงทุกขณะ ฟรีดริคไม่สามารถกำหนดนโยบายในการที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ของพระองค์ได้ ความฝันถึงการเปลี่ยนแปลงเยอรมนีไปสู่ระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ และการปกครองแบบเสรีนิยมนั้นสูญสิ้นไป ความหวังของเหล่านักการเมืองฝ่ายซ้ายก็แตกสลาย และในท้ายที่สุด ทุกฝ่ายก็หันไปเข้าหา วิลเฮล์มที่2 ผู้ซึ่งยังเป็นหนุ่ม ทะเยอทะยาน และแสวงหาความเป็นชาตินิยมเยอรมัน ทั้งที่เต็มใจ และที่ไหลไปตามน้ำ
พระศพของฟรีดริคที่ 3
ด้วยการพยาบาลที่ล้มเหลว วันที่ 15 มิถุนายน 1889 ไกเซอร์ฟรีดริคที่ 3 เสด็จสวรรคตเมื่อพระชนมายุ 56 ปี และครองราชสมบัติได้เพียง 99 วัน … วิลเฮล์มผู้ลูกได้สืบราชสมบัติ เป็นจักรพรรดิวิลเฮล์มที่2 นับตั้งแต่นั้นจนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 ในปี 1918
ยิ่งไปกว่านั้น วิลเฮล์มที่ 2 ผู้เป็นชาตินิยมอย่างสุดโต่ง ละทิ้งเจตนารมน์และความฝันของพระราชบิดา พระราชมารดาทุกสิ่งอย่าง ..จากที่เยอรมันมีความหวังว่าจะก้าวสู่ความเป็นเสรีนิยม แต่ตอนนี้ เยอรมันกลายเป็นรัฐที่มีความเป็นชาตินิยมสูง และด้วยการสนับสนุนของวิลเฮล์ม เยอรมันเริ่มสั่งสมอาวุธและกำลังรบ เป็นจุดเริ่มต้นของความตึงเครียดในยุโรป
..นับว่าการสวรรคตของฟรีดริคเป็นจุดเปลี่ยนของประวัติศาสตร์เยอรมัน และโลกที่สำคัญมากทีเดียว
หากฟรีดริคไม่ป่วยและไม่ชิงสวรรคตไปเสียก่อน และทรงขึ้นครองราชสมบัติ ปกครองจักรวรรดิเยอรมัน ย่อมจะทรงออกนโยบาย คำสั่ง และมาตรการเปลี่ยนแปลงหลาย ๆ สิ่ง ทั้งการปฏิรูปสภา การสนับสนุนเสรีนิยม การปรับพระองค์ลงมาอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ และการเข้าหาอังกฤษ …
ประวัติศาสตร์ของเยอรมันจะเปลี่ยนไปทันทีหากฟรีดริคมีชีวิตที่ยืนยาว สงครามโลกครั้งที่ 1 อาจไม่เกิดขึ้น
สงครามเกิดจากเหตุความตึงเครียดต่อยุโรปที่ก่อตัวมานานนับตั้งแต่การรวมชาติเยอรมัน โดยมีความทะเยอทะยานของจักรวรรดิออสเตรีย การแผ่ขยายอำนาจเผื่อแสวงหาทรัพยากรของเหล่าจักรวรรดิต่ออาณานิคมต่างๆ รวมทั้งความกระหายสงครามของวิลเฮล์มที่ 2 ทำให้ทั้งภูมิภาคยุโรปเป็นชาตินิยม หรือรัฐชาติทหาร เป็นปัจจัยสำคัญในการเกิดสงคราม ทั้งยังสร้างความตึงเครียดในภูมิภาคจนท้ายที่สุดได้ปะทุขึ้นมาเป็นสงคราม และการล้มตายของหลายล้านชีวิต
เมื่อสงครามไม่เกิดขึ้น ประวัติศาสตร์อาจเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง และจอมเผด็จการอย่างอดอล์ฟ ฮิตเลอร์และระบอบฟาสซิสต์ของเขา ก็อาจไม่เกิดขึ้นเลยก็เป็นได้
นี่เป็นบทความแรกของผม ปัจจุบันผมเป็นนิสิตชั้นปีที่ 3 คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้และบทความต่อ ๆ ไป จะเป็นประโยชน์แก่ท่านผู้อ่านทุกคน และหากมีข้อผิดพลาดประการใด ผมต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย
ชัสส์พงศ์ อัสสมกร
ประวัติศาสตร์
ยุโรป
เยอรมนี
บันทึก
4
4
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย