6 พ.ย. 2023 เวลา 03:21 • ข่าว

'ต้องเต' หวังรัฐบาลไทยหนุนภาพยนตร์ไทยเต็มกำลัง หลังยก 'สัปเหร่อ' ขึ้นแท่น Soft Power ของไทย

จากกรณี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง โพสต์ผ่านแพลตฟอร์ม เอ็กซ์ หลังชม ภาพยนตร์เรื่องสัปเหร่อร่วมกับนางสาวแพทองธาร ชินวัตรประธานคณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ และคณะรัฐมนตรี ว่า ..."'สัปเหร่อ' คือภาพยนตร์ที่ถ่ายทอดวิถีชีวิต วัฒนธรรม และความเชื่อของภาคอีสานผ่านสายตาของคนรุ่นใหม่ออกมาได้อย่างน่าชื่นชม ผมเชื่อว่า สิ่งหนึ่งที่ทำให้หนังเรื่องนี้ประสบความสำเร็จคือการที่ผู้กำกับ และทีมงานภูมิใจในรากเหง้าของตัวเอง ควรค่าแก่การสนับสนุนครับ
รัฐบาลเราสนับสนุน Soft Power ทุกมิติ ด้านภาพยนตร์เองก็เช่นกัน เราพร้อมที่จะผลักดันให้ภาพยนตร์ไทยพาวัฒนธรรมของเราออกไปสู่สายตาชาวโลกเป็น ‘จุดขาย’ ไปสร้างชื่อเสียง สร้างรายได้และความชื่นชอบให้กับประเทศไทย"
เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 66 นายธิติ ศรีนวล หรือ ต้องเต ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องสัปเหร่อ กล่าวในรายการอยู่ดีมีแฮง ช่อง ThaiPBS ว่า "ผมคาดหวังว่าเรื่องต่อ ๆ ไป ไม่ใช่แค่ของผม อยากให้มาสนับสนุนจริง ๆ หน่อย ไม่ใช่แค่มาถ่ายรูป คุณอาจจะไม่ได้เข้าใจหนัง #สัปเหร่อ จริง ๆ เลยก็ได้ แค่มาถ่ายรูป แล้วบอกว่า 'สัปเหร่อ' เป็น ซอฟต์เพาเวอร์ (SoftPower)
"อย่างตัวผมเองยังไม่รู้ว่า ซอฟต์เพาเวอร์ คืออะไร ตอนผมทำ ผมยังแบบ 'เอ๊า!! หนังผมเป็น ซอฟต์เพาเวอร์' เหรอ ผมยังไม่รู้เลย แต่ถ้าผมได้รู้ หรือได้ทำความเข้าใจว่า ซอฟต์เพาเวอร์ คืออะไร หนังไปไกลกว่านี้ มี 'ซอฟต์เพาเวอร์' จริง ๆ แน่นอน
"ดังนั้น ถ้ามีการพูดคุยหรือเสวนาในวงการที่อยากจะเอา ซอฟต์เพาเวอร์ เผยแพร่ต่อต่างประเทศ อยากให้พาไปจริง ๆ"
ด้าน นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีและรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงประเด็นนี้ทางทวิตเตอร์ หรือ X ว่า "รัฐบาลเพิ่งได้เข้ามาเริ่มผลักดันนโยบาย #SoftPower และไม่ได้คิดจะเคลมผลงานใด ๆ จากความสำเร็จของภาพยนตร์ #สัปเหร่อ ครับ แต่มีเจตนาที่จะสนับสนุน และชี้ให้เห็นตัวอย่างหนึ่งของผลงานที่มีคุณภาพ
"ในฐานะคอหนัง ผมเป็นคนหนึ่งที่เข้าชมภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยความตั้งใจ และประทับใจผลงานด้วยใจจริง
"
"หวังอย่างยิ่งว่าในเร็ว ๆ นี้ ความสนใจและตั้งใจจริงของรัฐบาลชุดนี้ ที่จะสนับสนุนธุรกิจสร้างสรรค์แขนงต่าง ๆ ให้เติบโตและเป็นที่ยอมรับในวงกว้างขึ้น จะเห็นผลเป็นรูปธรรมโดยเร็วครับ
"การสนับสนุนอุตสาหกรรมโดยภาครัฐ ไม่ได้มีเพียงกลไกเอาเงินทุนไปให้ หรือไปช่วยประชาสัมพันธ์ แต่สิ่งที่รัฐบาลทำอยู่ คือการดึงภาคเอกชนมาร่วมกันให้ข้อมูล ว่าการทำงานที่เป็นอยู่ ติดขัดปัญหาหรือข้อกฎหมายอย่างไรแล้วรัฐในฐานะผู้สนับสนุนจึงจะช่วยปลดล็อกข้อจำกัดต่าง ๆ เพื่อให้เอกชนได้ขยายศักยภาพของตนเองได้เต็มที่มากขึ้นครับ #SoftPower #รัฐบาลเศรษฐา”
"อันนี้เป็นนโยบายของ #พรรคเพื่อไทย ที่ใช้หาเสียง เฉพาะในส่วนของ 'ภาพยนตร์' ก่อนนะครับ ยังมีส่วนของวงการอื่น ๆ อีกครับ”
ขณะที่ทางด้านเฟซบุ๊กเพจ 'ตุ๊ดส์review' ได้โพสต์เกี่ยวกับประเด็นนี้ ว่า ภาพยนตร์ #สัปเหร่อ กับคำว่า #SoftPower ของรัฐบาลไทย
1) จริง ๆ รัฐไม่ได้เข้าใจด้วยซ้ำว่าเราจะสร้าง Soft Power กันยังไง เราแค่รอมันดังแล้วไปถ่ายรูปคู่ ไม่ได้ร่วมสร้าง ร่วมลงทุน และผลักดันโดยรัฐบาลตั้งแต่ก้าวแรกของการทำงาน
2) การดูกันเอง ชื่นชมกันเอง สนุกสนานกันเองในประเทศ แต่ไม่ได้ผลักดันสู่การสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในตลาดโลก หรือพาหนังไปสร้างอำนาจละมุน ตามคำว่า Soft Power เพื่อพาวัฒนธรรมประชาชนไปสั่นสะเทือนวงการและอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ก็เท่ากับว่า "มันยังไม่ได้เกิดขึ้นจริง และไม่ได้มีการลงมือทำอะไรเป็นรูปธรรม"
3) การรอฉกฉวยโอกาสของรัฐ ที่มีต่อสิ่งที่ดังด้วยตัวมันเอง ซึ่งเกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยประยุทธ์ กำลังถูกสานต่อโดยยุคสมัยของเศรษฐา โดยที่ยังไม่เห็นนโยบายที่เป็นกลยุทธ์ และแนวทางการสร้างความสำเร็จ นอกจากรูปถ่าย PR เท่านั้น ที่ออกมาสร้างการรับชมกันเองในชาติ โดยที่ต่างชาติไม่ได้มาร่วมอึ้ง หรือซาบซึ้งใด ๆ กับเรา
4) ถ้าบอกว่าสนับสนุนเพื่อให้ Soft Power ไทยไปไกลในตลาดโลก รัฐต้องลงทุน และมีหน่วยงานที่เอาผลผลิตอุตสาหกรรมบันเทิงไทยไปเจาะตลาดโลก ตั้งแต่ Day One โดยร่วมวางแผนการสร้าง Soft Power ให้ก้าวแรกมีเนื้อหาสาระ นักแสดง กลยุทธ์ และแนวทางการประชาสัมพันธ์ที่ส่งเสริมการส่งออกแบบครบวงจร แต่เราไม่เห็นกระบวนการเหล่านั้นในการวางแผนการทำงาน
5) แค่ถ่ายรูป แล้วบอกว่าเป็น Soft Power มันมีประโยชน์น้อยมาก แถมยังสร้างความเหลื่อมล้ำในวงการหนังเสียอีก หนังไหนดัง รัฐถึงจะวิ่งปรี่เข้าไปเชิดชู ส่วนหนังเรื่องไหนไม่ทำเงิน ไม่มีกระแส กลับไม่เคยได้รับการแยแสจากรัฐ ทั้ง ๆ ที่หนังดี ๆ หลายเรื่อง ๆ ขาดการพูดถึง และให้คุณค่าจากสังคม แล้วทำไมรัฐไม่เป็นส่วนหนึ่งที่ให้โอกาสกับหนังไทยหลาย ๆ เรื่องได้แจ้งเกิดมากขึ้น โดยที่ไม่ต้องรอผู้กำกับมาทวงถาม
1
Soft Power แบบปลอม ๆ ก็ไม่ได้ไปไหนได้ไกลกว่าการเชยชมกันเอง เมื่อไหร่โลกทั้งใบจะเห็นศักยภาพของคนไทยและวงการบันเทิงไทย เราต้องทวงถามให้รัฐบาลทำงานเรื่องนี้กันอีกนานแค่ไหน
ไม่งั้น Soft Power ไทย ก็มีไว้เพียงเพื่อการโฆษณา
โฆษณา