7 พ.ย. 2023 เวลา 13:00 • บันเทิง

‘พรหมลิขิต’ ผิดจังหวะ (?) : ความ(ไม่)สงบสุข เลิฟไลน์ และยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง

สำหรับแฟนละครพีเรียด และเหล่าชิปเปอร์ ‘โป๊บเบล’ ช่วงนี้คงเป็นเวลาที่รอคอย เนื่องจาก ‘พรหมลิขิต’ ภาคสองของพีเรียดแห่งทศวรรษอย่าง ‘บุพเพสันนิวาส’ ออกฉายทั้งทางจอแก้ว และระบบสตรีมมิง
คงไม่ต้องพูดถึงผลตอบรับที่ล้นหลาม เพราะเพียงละครออนแอร์ตอนแรก ก็ทำเอาแฮชแท็กละครพุ่งไปเป็นอันดับ 1 ของเทรนด์ทวิตเตอร์ไทยในคืนนั้นอย่างรวดเร็ว ไม่รวมถึงกระแสพูดถึงอย่างกว้างขวางต่อจากนั้น ราวกับทำให้คิดถึงปรากฏการณ์ที่เกิดจากละครชุดนี้เมื่อ 4 ปีก่อน
เรื่องราวของ ‘พรหมลิขิต’ ดำเนินไปในช่วงเปลี่ยนผ่านราชวงศ์ หลังการรัฐประหาร พระเพทราชา ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ สถานการณ์บ้านเมืองผันผวน แตกต่างจากเรื่องราวในภาคก่อนหน้าที่เรื่องราวทั้งหมดดำเนินไปในยุค “บ้านเมืองยังดี” อย่างรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์เป็นเจ้า ที่เขาว่ากันว่าเป็นยุคทองของทุกอย่าง
และปฏิเสธไม่ได้ว่าช่วงเวลา 4 ปีที่ผ่านมา เกิดความเปลี่ยนแปลงมากมายที่สะท้อนให้เห็นว่ามุมมองของผู้คนได้เปลี่ยนไป ความสุขแบบเรียบง่ายพอเพียงอันเป็นสารที่ละครต้องการบอกเราถูกยกขึ้นมาถกเถียงอย่างหนัก เราจึงสนใจว่า ‘พรหมลิขิต’ อยากสื่อสารสิ่งใดกับเรา ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว รุนแรง และอาจพลิกผันได้ตลอดเวลา
  • Timeline ยุคเปลี่ยนผ่านที่ประดักประเดิด
‘บุพเพสันนิวาส’ จบลงด้วยเหตุการณ์ ‘รัฐประหาร’ ปลายรัชสมัยพระนารายณ์ ครอบครัวของ ‘หมื่นศรีวิสารวาจา’ พระเอกของเรื่องซึ่งเป็นชนชั้นสูงจะต้องมีส่วนร่วมในการรัฐประหารดังกล่าวอยู่แล้ว (ไปย้อนดู Ep. สุดท้ายได้) แต่เมื่อเราดู ‘พรหมลิขิต’ ตอนแรก การกล่าวถึงเหตุการณ์รัฐประหารครั้งนั้นกลับกลายเป็นเรื่องกลืนไม่เข้า คายไม่ออก ครอบครัวตัวเอกบ่ายหน้าหนี ไม่รู้ ไม่รู้ ไม่รู้ เสียอย่างนั้น
แน่นอนล่ะ ในยุคสมัยหนึ่งเราอาจเคยภูมิใจกับอะไรผิดหลักการ แต่เวลาผ่านไปสิ่งนั้นกลับกลายเป็นตราบาปที่ไม่อยากพูดถึง ซ้ำยังเปลี่ยนยุคสมัยไปอย่างรวดเร็วจนดูเหมือนข้ามเหตุการณ์รัฐประหารไป นอกเหนือจากนี้ ในช่วงราชวงศ์บ้านพลูหลวงก็เกิดความระส่ำระส่ายหลายครั้ง แค่กบฏในช่วงเริ่มราชวงศ์ก็ปาเข้า 4 รอบแล้ว ซึ่งในละครไม่ได้กล่าวถึง หากอยากอ่านรายละเอียดเต็ม ๆ สามารถอ่านได้ ที่นี่
นัยหนึ่ง การเลือกที่จะเบลอรัฐประหารเหล่านี้ออกไปก็เป็นเรื่องสมเหตุสมผล ด้วยความที่เป็นสื่อบันเทิง เหตุการณ์ที่เลือกนำเสนอก็ควรจะ ‘ส่ง’ เนื้อเรื่องให้สนุกยิ่งขึ้น แต่อีกแง่ การเบลอเหตุการณ์เหล่านี้ก็อาจสะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกของสังคมไปด้วย
เทียบกันง่าย ๆ ว่าหากรัฐประหารพระเพทราชาข้ามยุคสมัยมาเป็นรัฐประหาร 2557 การที่คนชื่นชมยินดีกับรัฐประหารในครั้งนั้นกลับกลายมาปฏิเสธความรับผิดชอบที่มีต่อเหตุการณ์ดังกล่าว ไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อม ในการหาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมา แต่ละพรรคก็พยายามชูจุดยืนของตนว่าจะไม่มีทางสนับสนุนให้พรรคของผู้ที่ก่อการรัฐประหารด้วย
ในขณะเดียวกัน จากวัฒนธรรม Cancel culture ก็มีส่วนให้ผู้มีอิทธิพลในสังคมฉุกคิดและปรับความคิดของตน หรือไม่อย่างนั้น ก็ไม่กล้าเปิดเผยตนว่า ‘เคย’ มีส่วนเรียกรถถังมาเรียกร้องความสงบอย่างที่ตนต้องการในตอนนั้น
ความละอายที่เกิดขึ้นจึงเป็นผลจากปรากฏการณ์การ ‘ตื่นรู้’ ที่แบ่งบานในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาจนทำให้ความอินที่เกิดขึ้นกลับกลายมาเป็นความรู้สึกที่เปลี่ยนไปของผู้ชม นี่อาจเป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับการทำละครพีเรียดที่ต้อง ‘ดีล’ กับความรู้สึกเช่นนี้ไปด้วย
  • ความเปลี่ยนแปลงของตัวละครที่แจ่มแจ้ง
จุดขายสำคัญของจักรวาลบุพเพฯ คืออนุภาคการข้ามภพชาติและสลับวิญญาณ
การข้ามภพของ ‘แม่พุดตาน’ มายังโลกอดีต แม้จะเป็นการกลับมาพบกันของจิตวิญญาณแฝดสองดวงที่ผู้เขียนจะเรียกต่อไปว่า ‘การะเกด’ และ ‘เกศสุรางค์’ ทว่าสิ่งที่ทำให้ผู้ชมและชาวเน็ตตั้งคำถาม คือการใช้ตัวละครหลากหลายโดยมีผู้แสดงตัวเดียวกัน
นัยหนึ่ง การแสดงเป็น ‘แฝด’ ถือเป็นบททดสอบความสามารถของนักแสดงอย่างหนึ่ง แต่ในอีกแง่หนึ่ง อนุภาคการข้ามภพชาติถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ผู้ชม “อิน” กับเรื่องราวที่ละครชุดนี้ต้องการนำเสนอมากขึ้น ราวกับเราเอาตัวเองลงไปสวมกับตัวละครว่า ถ้าเป็นฉัน ฉันจะแก้ไขสถานการณ์เช่นนี้อย่างไร
ซึ่งบุพเพสันนิวาสทำสำเร็จจนเกิดปรากฏการณ์ “ออเจ้าฟีเวอร์” ทั้งบ้านทั้งเมือง ซึ่งเราอาจกล่าวได้ว่าเป็นเพราะความเป็น “โรแมนติกคอมเมดี้” ที่โดนเส้นคนทั่วประเทศ พร้อม ๆ กับการนำเสนอบทบาทของตัวละครไม่ว่าจะเป็นมูลนายหรือบ่าวไพร่ที่มีชีวิตธรรมดา ๆ แบบที่เราใช้ ประกอบกับความ ‘ผิดฝาผิดตัว’ ของบริบทที่ปรุงรสเหตุการณ์ในบุพเพสันนิวาสสนุกยิ่งขึ้น
ในภาคต่ออย่าง ‘พรหมลิขิต’ ก็มีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น จากการใช้คำอธิบายว่าแม่พุดตานเป็น ‘นางฟ้า’ ที่เทวดาฝากยายกุยดูแล แต่ด้วยเส้นเรื่องที่เปลี่ยนจากความเป็นโรแมนติกคอมเมดี้มาสู่สเปกตรัมของ ‘เมโลดรามา’ และขับเน้นความสำคัญของเส้นเรื่องรองอย่างความขัดแย้งระหว่างแม่พุดตานกับหลานยายกุยอย่าง ‘แม่กลิ่น’ มากขึ้น ก็เป็นเรื่องที่ท้าทายให้เราดูกันว่าในซีซันนี้จะผสานรสขมดรามา กับรสหวานกุ๊กกิ๊กโรแมนติกอย่างไรบ้าง
  • ระบอบความสุขที่เปลี่ยนความหมาย กับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป
ถ้าจุดมุ่งหมายของรัฐบาลก่อนหน้าคือการ ‘คืนความสุข’ แล้ว ‘บุพเพสันนิวาส’ เข้ามาตอบโจทย์ความสุขที่รัฐบาลต้องการ แล้ว ‘พรหมลิขิต’ จะเข้ามาตอบโจทย์อะไรในวันที่จุดมุ่งหมายของสังคมเปลี่ยนไป
ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งที่ทำให้ ‘บุพเพสันนิวาส’ ประสบความสำเร็จคือการสร้างเสียงหัวเราะให้กับคนในช่วงเวลาที่ต้องการความสุข เบื่อหน่ายสถานการณ์บ้านเมือง และสัมพันธ์กับสิ่งที่รัฐต้องการให้เห็น
หากยังจำกันได้ ช่วงที่ซีซันแรกออกอากาศ รัฐบาลในขณะนั้นได้ขานรับกระแสด้วยการออกนโยบายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมการสร้างเนื้อหาละครพีเรียด การเรียกผู้จัดละครรวมถึงนักแสดงเข้าพบที่ทำเนียบรัฐบาล ตลอดจนการจัดอีเวนต์ย้อนยุคเพื่อสร้างกระแสสำนึกเกี่ยวกับ ‘ความสุข’ ให้ชัดเจนทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ หรือภาคเอกชน
Sara Ahmed นักวิชาการเฟมินิสต์เสนอว่า ความสุขของคนไม่ใช่แค่เรื่องของเราคนเดียว แต่เป็นเรื่องใหญ่ถึงขั้นระบบสังคมที่ต้องสร้างให้ประชาชนมีความสุขในอุดมคติเดียวกัน ระบอบความสุขเช่นนี้จึงเป็นตัวกำหนดกรอบเกณฑ์ว่าชีวิตแบบใด จึงจะเป็นชีวิตที่เหมาะสมที่สุดสำหรับประชาชน
การฉายภาพความสุขของผู้คนที่เกิดขึ้นในละครซีซันที่ผ่านมาจึงไม่เพียงแต่จะประสบความสำเร็จกับประชาชนในฐานะปัจเจกเท่านั้น แต่ยังประสบความสำเร็จกับภาครัฐ ด้วยนโยบายและการจัดอีเวนต์ต่าง ๆ ดังที่กล่าวมา นัยหนึ่ง ความสุขเหล่านี้อาจสอดคล้องกับแนวคิดเรื่อง “การหวนหาอดีต” (Nostalgia) ที่ในเมื่อปัจจุบันไม่สามารถสร้างความสุขได้ การเลือกที่จะกลับไปหาอดีต (ที่ไม่มีจริง) ก็เป็นวิธีหันเข้าหาความสุขที่ดีกว่า
แล้วในเมื่ออดีตกับปัจจุบันมันดูจะจับต้องความสุขไม่ได้ แล้วเราฝากความหวังในอนาคตได้แค่ไหนกัน
Ahmed เสนอว่า การมองโลกในแง่ร้ายก็เป็นส่วนหนึ่งของการสร้าง “อนาคต” แก่สังคมได้ กล่าวคือ การปฏิวัติสังคมส่วนหนึ่งมีรากฐานมาจากความวิตกกังวลและการหมดหวังต่ออนาคตของสังคม ซึ่งขัดกับความคุ้นชินของเราที่ว่า การมองโลกในแง่ดีเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิด “ความหวัง” อันเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เรามองเห็น “ความสุข” ในอนาคตได้
เมื่อเรามองสังคมไทยด้วยความคิดเช่นนี้ เราจะพบว่าขบวนการความเคลื่อนไหวในสังคมไทยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ขัดกับอุดมการณ์ความสุขอันเป็นเรื่องปกติของสังคม กลับกัน ภาพยนตร์และสื่อบันเทิงชนิดที่เรียกว่า “โรแมนติกคอมเมดี้” เข้ามาส่งเสริมอุดมการณ์ความสุขเหล่านี้อย่างแจ่มแจ้ง ซึ่งเรามองว่า ความเป็นโรแมนติกคอมเมดี้ที่ประสบความสำเร็จของบุพเพสันนิวาสเป็นเงาที่ท้าทายเหล่าผู้จัดต้องเผชิญเมื่อต้องสร้างภาคต่อขึ้นมา ราวกับว่าจะสานต่ออุดมการณ์ความสุขที่เกิดขึ้นอย่างไรให้ได้ผล
อนึ่ง บทความนี้เผยแพร่เมื่อละครออนแอร์ได้เพียง 4 ตอนเท่านั้น ยังไม่สามารถชี้วัดความสำเร็จของละครได้อย่างชัดเจน เราคงต้องติดตามดูกันต่อไปว่าละครภาคต่อเรื่องนี้จะสามารถเอาชนะใจประชาชนได้อย่างเคย หรือทำให้เราถอดบทเรียนอะไรได้บ้าง
เพราะสื่อบันเทิงมีอิทธิพลต่อการรับรู้ไม่แพ้สื่อสาระ ความตระหนักในสื่อเหล่านี้จึงสำคัญไม่แพ้การรู้เท่าทันข่าวสารเช่นกัน
โฆษณา